Skip to main content
sharethis

'เพื่อไทย' เป็นรัฐบาลเดินหน้าประชาธิปไตย รองโฆษกพรรคฯ เผยรัฐบาลใหม่เตรียมลุยทำประชามติ ชวนทุกฝ่ายผนึกกำลังจัดทำ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ให้สำเร็จ ปิดฉากเครื่องมือสืบทอดอำนาจ คสช. ขณะที่ 'อนุสรณ์' โวยรัฐบาลรักษาการพล.อ.ประยุทธ์ ปากประกาศวางมือ แต่ใจเหมือนคิดวางยา หรือไม่

14 ส.ค.2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้งเตรียมตัวไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อใช้แทนฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งมั่นใจว่า เสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบ ทั้งนี้ พรรคเพื่่อไทยได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 2 และ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ครั้งแรกซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะมีมติ ครม.ให้ทำประชามติโดยกระบวนการจัดตั้ง สสร. พรรคเพื่อไทยจะไม่บิดพลิ้ว โอ้เอ ประวิงเวลาเพราะตระหนักดีว่า คนไทยที่รักประชาธิปไตยกำลังรอคอยอยู่  

ตรีชฎากล่าวว่า สภาสมัยที่ผ่านมา แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคต่างๆ จะพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อปิดสวิตซ์ สว.แต่ก็ไม่สำเร็จ พยายามจะให้มี สสร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน เมื่อย้อนหลังกลับไปจะพบว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้เสนอญัตติให้ลงประชามติเพื่อนำไปสู่การมี สสร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ แต่เมื่อไปถึงวุฒิสภา วุฒิสภาได้ตั้่งคณะกรรมาธิการไปศึกษาก่อน เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อศึกษาเสร็จ วุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบให้ทำประชามติ กระบวนการจึงถูกตัดตอนไปไม่ถึง ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำประชามติ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ออกเสียงประชามติ 2 ครั้งหากจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะจัดทำฉบับใหม่ คือ ครั้งแรกก่อนจะมี สสร.มาจัดทำกับเมื่อ สสร.จัดทำเสร็จแล้ว ให้ลงประชามติอีกครั้ง หากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเห็นชอบถึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้

รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ด่านสำคัญที่พรรคเพื่อไทยจะต้องฝ่าข้ามไปให้ได้ คือการประสานและร่วมมือกับทุกพรรคทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับวุฒิสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนููญมาตรา 256 เพื่อให้กำเนิด สสร. จะมีที่มาอย่างไร จะให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้่งหมด หรือไม่ องค์ประกอบ คุณสมบัติ จำนวน อำนาจหน้าที่ ระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ อาจจะดูง่ายดาย แต่เอาเข้าจจริงอาจไม่ง่ายดังที่คิด  เพราะการเมืองและอำนาจระยะเปลี่ยนผ่านกรณีการโหวตนายกฯ และการฟอร์มรัฐบาลก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มีความยากลำบากอย่างยิ่ง อีกทั้่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เคยกำหนดไว้เป็นโนบายเร่งด่วนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย  แต่ผ่านไป 4 ปีก็ไม่ขับเคลื่อนให้เป็นจริง ทั้งๆ ที่มีการเคลื่อนไหวกดดันของหลายฝ่ายก็ไม่เป็นผล ดังนั้น การจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยจะต้องพยายามเต็มที่ โดยจะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อมิให้มีกลไกอำนาจใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง 

ตรีชฎากล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ที่ร่างโดย สสร.เป็นแบบอย่างในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการร่าง บทบัญญัติต่างๆ ก็เป็นที่ยอมรับ จัดเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง แต่ใช้ได้เพียง 8 ปี 11 เดือนก็ถูกฉีกโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ต่อมาประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 หลังจากใช้มาได้ 6 ปี 9 เดือน ก็ถูก คสช. ฉีกทิ้งในการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ประกาศใช้วันที่ 6 เมษายน 2560 ถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปี 5 เดือน นับว่านานพอสมควรแล้ว ดังนั้น จะต้องเร่งให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นโดยไม่ชักช้า  

“พรรคเพื่อไทยจะไม่ทำให้ผิดหวัง ขอยืนยันเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ตามแถลงการณ์และการหาเสียงซึ่งกำหนดเป็นนโยบายพรรคไว้ชัดเจนที่ประกาศว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน การสืบทอดอำนาจจะต้องถูกปิดฉากลงเสียที ขอเชิญชวนทุกพรรค ทุกฝ่ายมาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศร่วมกัน” รองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวย้ำ

อนุสรณ์ โวย รัฐบาลรักษาการพล.อ.ประยุทธ์ ปากประกาศวางมือ แต่ใจเหมือนคิดวางยา หรือไม่

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบวิธีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยกำหนดว่า เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 66 ว่า เศรษฐกิจแย่ บ้านเมืองเผชิญกับวิกฤตมาตลอด8-9ปี ประชาชนเดือดร้อนกันทั่วหน้า รัฐบาลรักษาการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความจำเป็นอะไรถึงต้องไปเพิ่มเงื่อนไขในคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว เป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ตอกย้ำระบบรัฐสงเคราะห์ที่เลือกปฏิบัติ เลือกให้เฉพาะคนจน หรือคนอนาถา ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักสากล เป็นการสร้างเงื่อนไขและเลือกปฏิบัติ ถือเป็นเรื่องที่กระทบสิทธิของพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลรักษาการ แต่ไม่รักษาอาการ เหมือนการวางยาทิ้งทวน ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ ผิดปกติวิสัยที่รัฐบาลรักษาการไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง รัฐบาลรักษาการควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการจะถูกต้องเหมาะสมกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปากประกาศวางมือ แต่ใจเหมือนคิดวางยาหรือไม่ อย่าผูกขาดทวงบุญคุณกับประชาชนว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น ที่จะดูแลผู้สูงอายุได้ นี่คือหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนว่าทำไม 10 เดือนถึงไม่รอ เพราะหากเวลาที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาช้าไปเท่าไหร่ ก็เท่ากับเป็นการเติมโปรโมชั่นพิเศษให้รัฐบาลรักษาการอยู่นานขึ้นไปเรื่อยๆ

“รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะรีบเข้ามาทำงานและผลักดันนโยบายที่จะเยียวยาแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปากท้องให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ค่าไฟ-น้ำมัน ลดทันที พักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอก ฯลฯ” อนุสรณ์ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net