Skip to main content
sharethis

กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียใหม่ในการพยายามผลักดันให้มวลชนช่วยเหลือรัฐบาลต่อต้านการจารกรรมข้อมูล โดยระบุจะสร้าง "ระบบที่ทำให้เป็นมาตรฐาน" ที่ให้ประชาชนของตัวเองคอยทำงานสอดส่องและรายงานให้รัฐทราบว่าใครที่ต้องสงสัยเป็นสายลับ โดยจะมีการให้รางวัลคนที่รายงานด้วย

ก่อนหน้าที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไทยจะเดินทางเข้าพบ รมช.กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม สื่อฮ่องกงฟรีเพรส ได้รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ว่าทางกระทรวงความมั่นคงฯ ของจีนออกโครงการต่อต้านการจารกรรมโดยมีการใช้บัญชีโซเชียลมีเดียใหม่ของทางการในเรื่องนี้

กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน แถลงเปิดตัวโครงการใหม่ว่า ประชาชนชาติจีนทุกคนควรจะเข้าร่วมโครงการต่อต้านการจารกรรม เพื่อสร้าง "แนวคุ้มกันของประชาชนต้านการจารกรรม" และเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ

ทางการจีนจัดตั้งกระทรวงความมั่นคงสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2526 แล้ว ซึ่งเป็นกระทรวงที่ประกอบด้วยหน่วยงานด้านข่าวกรองและด้านความมั่นคงที่มักจะทำตัวไม่เด่นมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามในคราวนี้ทางกระทรวงได้เปิดตัวบัญชีโซเชียลมีเดียทางการในเว็บโซเชียลของจีน WeChat และเผยแพร่บทความลงในนั้นตั้งแต่ช่วงประมาณต้นเดือน ส.ค. เป็นต้นมา

ในบทความแรกของพวกเขาที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ทางกระทรวงบอกว่าเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงควรจะบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการจารกรรมอย่างเต็มที่ หลังจากที่เพิ่งจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวไปเมื่อไม่นานนี้ เนื่องจาก "ปฏิบัติการต่อต้านการจารกรรมในตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมและซับซ้อน"

บทความแรกนี้มีชื่อว่า "จะตอบโต้การจารกรรมได้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนสังคมทั้งหมด"

กระทรวงความมั่นคงฯ ของจีนระบุอีกว่าพวกเขาจะตั้ง "ระบบที่ทำให้เป็นมาตรฐาน" ในการช่วยให้ประชาชนคอยสอดส่องและรายงานกรณีต้องสงสัยว่าเป็นการจารกรรม โดยจะมีรางวัลคนที่รายงานผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสายลับให้กับรัฐบาลทราบ

วิธีการที่กระทรวงความมั่นคงของจีนใช้คือการตั้งบัญชีโซเชียล WeChat ขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อประสานงานกับทางกระทรวงได้โดยง่าย เพื่อให้ใครก็ตามสามารถรายงานต่อกระทรวงได้เกี่ยวกับเรื่องสายลับ มีทั้งแบบภาษาจีนและภาษาอังกฤษ โดยอนุญาตให้ "ผู้แจ้งเหตุ" ไม่ต้องเปิดเผยชื่อตัวเอง

โพสต์ WeChat ของทางกระทรวงความมั่นคงฯ จีน มีการปิดไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ในเนื้อหายังมีการระบุให้ผู้คนสามารถ "รายงานการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคง" ได้และขอให้ทางหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติรับแจ้งเหตุจากประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์, กล่องจดหมาย, ทางออนไลน์ รวมถึงให้ข้อมูลวิธีการรับแจ้งเหตุอื่นๆ ให้ประชาชน โดยอ้างว่าจะมีการ "จัดการตามที่รายงานอย่างทันท่วงทีและเป็นไปตามกฎหมาย ไปพร้อมๆ กับการปกปิดข้อมูลของผู้รายงานให้เป็นความลับ"

ทางการจีนเพิ่มจะผ่านร่างการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่อต้านการจารกรรมเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา มีการแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมขยายนิยามคำว่า "การจารกรรม" ให้รวมไปถึงการเป็น "สายลับจากองค์กรสอดแนม" ด้วย โดยมีการสื่อรวมไปถึงการกระทำอย่าง "การลักขโมย, การสอดแนม, การติดสินบน, การให้ข้อมูลของรัฐอย่างผิดกฎหมาย" รวมถึงกระทำในสิ่งที่เป็นการ "ยุยง, ล่อลวง, บังคับขู่เข็ญ หรือ ติดสินบนให้เจ้าหน้าที่ทางการจีนแปรพักตร์"

ในบทความที่สองของกระทรวงความมั่นคงฯ จีน ระบุว่า กฎหมายต่อต้านการจารกรรมฉบับใหม่เพิ่มนิยามการจารกรรมให้รวมถึง "การจารกรรมทางไซเบอร์" ด้วย และมีการป้องกันข้อมูลเอกสาร, สถิติ และวัตถุดิบเนื้อหาต่างๆ ที่ "เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์ของชาติ"

ทางกระทรวงความมั่นคงฯ จีนระบุอ้างในบทความว่า กฎหมายใหม่นั้นมีการ "เคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน" ด้วย


เรียบเรียงจาก
Chinese security ministry attempts to mobilise the masses to fight espionage with new social media account, Hong Kong Free Press, 03-08-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net