Skip to main content
sharethis

โรคมาลาเรียระบาดหนักตามแนวชายแดนไทย - พม่า รัฐประหารพม่าในรัฐกะเหรี่ยงมีคนเป็นโรคมาลาเรีย 36,691 คนในปี 2565 จาก  8,707 ในปี 2563 (ก่อนรัฐประหาร) กลุ่มสาธารณสุขชาติพันธุ์ในท้องถิ่นระบุ กองทัพพม่าปิดกั้นยาไม่ให้ไปถึงรัฐกะเหรี่ยงและปิดกั้นการเดินทางโดยทั่วไปตามถนนเส้นใหญ่

 

21 ก.ค. 2566 Ko Phoe Kar (นามสมมุติด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย) เคยเกือบจะตาย 2 ครั้งในป่า หลังจากที่เขาทิ้งงานบาร์ที่โรงแรมของตัวเองเพื่อไปร่วมจับปืนร่วมสู้รบกับเผด็จการทหารในรัฐกะเหรี่ยง ไม่นานหลังเกิดรัฐประหารปี 2564 สิ่งที่ทำให้เขาเกือบตายไม่ใช่เพราะกระสุนหรือทุ่นระเบิด แต่เป็นโรคมาลาเรีย

Phoe Kar ผู้นำทีมปฏิบัติการพิเศษย่างกุ้งของกองกำลังต่อต้านเผด็จการพม่ากล่าวว่า มีนักรบมากกว่า 30 นายภายใต้การบัญชาการของเขาป่วยจากโรคมาลาเรียที่มียุงเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นโรคที่เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งตามเขตชายแดนที่ติดกับไทย

มีนักรบรายแรกๆ ที่เป็นโรคมาลาเรียพบเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เขามีอาการป่วยเป็นไข้สูงช่วงเริ่มฤดูฝน พวกเขาย้ายไปที่โรงพยาบาลในหมู่บ้านที่เมืองผาปูนซึ่งมีสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เป็นผู้ดูแล KNU เป็นองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในพม่า พวกเขาเข้าร่วมเป็นฝ่ายเดี่ยวกันอย่างแน่นแฟ้นกับขบวนการลุกฮือหลังรัฐประหาร

Phoe Kar กล่าวว่า พวกเขาเจ็บป่วยเพราะขาดยาและเสื้อผ้า พวกเขากำลังประสบปัญหาอย่างมากในป่า มีฝนตกหนักมาก ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินทาง ถนนหนทางถูกทำลาย ทำให้ยานพาหนะสัญจรผ่านไปมาไม่ได้ และยากที่จะหายารักษาโรคมาได้

กลุ่มด้านสาธารณสุขชาติพันธุ์ในท้องถิ่นกล่าวว่า กองทัพทำการปิดกั้นยาและเภสัชภัณฑ์ไม่ให้ไปถึงรัฐกะเหรี่ยงละรัฐกะยา ขณะเดียวกันก็ทำการปิดกั้นการเดินทางโดยทั่วไปตามถนนเส้นใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์กล่าวว่า กรณีคนเป็นโรคมาลาเรียกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือน มิ.ย.-ต.ค. เพราะมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ละมากๆ ของคนที่หนีจากการสู้รบ และการที่ระบบสาธารณสุขโดยทั่วไปในพม่ากำลังเสื่อมถอย

Saw Ba Win ประธานของกลุ่มเสริมสร้างระบบสาธารณสุขชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มเครือข่ายชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เน้นทำงานเรื่องสาธารณสุขในภาคตะวันออกของพม่า กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร พม่าสามารถควบคุมโรคมาลาเรียได้เป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากที่มีการรัฐประหาร อัตราการติดโรคมาลาเรียก็เพิ่มสูงขึ้นในแถบชายแดนไทย-พม่า

 

การกลับมาระบาดหนักของ 'โรคมาลาเรีย'

สมาคมการแพทย์พม่า (BMA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่ความขัดแย้งมานานมากกว่า 20 ปี ระบุว่า มีกรณีโรคมาลาเรียในรัฐกะเหรี่ยง 8,707 กรณีในปี 2563 เพิ่มขึ้นมาเป็น 15,848 กรณีในปี 2564 และ 36,691 กรณีในปี 2565

Saw Nay Htoo ผู้อำนวยการ BMA กล่าวว่าจากเดิมที่กรณีโรคมาลาเรียในพม่ากำลังลดลงเรื่อยๆ แต่ในปี 2564 เป็นต้นมาก็กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่มีการสู้รบและกลุ่มประชากรพลัดถิ่นในรัฐกะเหรี่ยง

ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ก่อนหน้าที่จะมียุงชุมจากฤดูฝน BMA ได้ทำการตรวจพบผู้ป่วยมาลาเรีย 20,547 กรณี และคาดการณ์ว่าจะตรวจพบรวมแล้วมากกว่า 50,000 กรณี เมื่อถึงปลายปี

แม้กระทั่งตัวเลขจากฝ่ายเผด็จการทหารพม่าก็แสดงให้เห็นว่ามีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมาลาเรียแบบก้าวกระโดด รายงานของกระทรวงสาธารณสุขพม่าเมื่อเดือน ก.ค. 2565 ระบุว่า จำนวนของกรณีผู้ติดเชื้อมาลาเรียเพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศเป็น 79,001 กรณีในปี 2564 เพิ่มจาก 58,835 กรณีในปี 2563 ไม่มีตัวเลขรายงานจำนวนผู้ป่วยในปี 2565 และไม่มีความชัดเจนว่าเผด็จการทหารพม่าทำการเก็บข้อมูลในฝั่งชนบทของพื้นที่ๆ พวกเขาไม่ได้ปกครองได้อย่างไร

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาฝ่ายประชาธิปไตยพม่าที่ตั้งขึ้นมาคู่ขนานต่อสู้กับเผด็จการทหาร มีหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขของตัวเอง ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขของ NUG ยังไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคมาลาเรียอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของ KNU กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มาลาเรียไม่ได้ถูกจัดเป็นหนึ่งใน 10 โรคที่พบบ่อยในรัฐกะเหรี่ยง แต่พอหลังจากรัฐประหารมันก็กลายมาเป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 7 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขฯ ของ KNU Saw Diamond Khin ระบุว่าจากการตรวจผู้ป่วยด้วยชุดตรวจโรคแบบเร่งด่วนพบว่ามีอยู่ 1 ใน 3 เป็นโรคมาลาเรีย

ณ คลินิคแม่ตาว ที่ก่อตั้งขึ้นโดยหมอ ซินเทีย หม่อง ในปี 2532 เพื่อดูแลผู้ลี้ภัยจากพม่า มีผู้เป็นมาลาเรียมารับการรักษาเพียง 18 คนเท่านั้นในปี 2564 แต่ในปี 2565 กรณีผู้เป็นโรคมาลาเรียที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ก็มีเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 300 ราย และในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (2566) โรงพยาบาลแม่ตาวก็รับคนไข้มาลาเรียเข้ารักษาแล้วประมาณ 150 ราย

ซินเทีย หม่อง กล่าวว่า "คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาที่คลินิกเป็นแรงงานข้ามชาติและคนพลัดถิ่นจากฝั่งพม่า ในประเทศไทยนั้น ไม่มีการติดเชื้อมาลาเรียเกิดขึ้นในเขตเมือง มีแค่พื้นที่ชายแดนเท่านั้น อัตราประชากรในแม่สอดที่เป็นมาลาเรียอยู่ที่ร้อยละ 1 เท่านั้น"

เป็นไปได้ยากที่จะระบุตัวเลขผู้ติดเชื้อมาลาเรียได้อย่างแม่นยำในรัฐกะยา คนทำงานสาธารณสุขกับองค์กรเครือข่ายสุขภาวะพลเมืองและการพัฒนาที่เป็นเอ็นจีโอในท้องถิ่นระบุว่ารัฐกะยามีกรณีผู้ติดเชื้อมาลาเรียเพิ่มมากขึ้น แต่พวกเขาสามารถระบุจำนวนได้แน่นอนจากจำนวนป่วยที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้เท่านั้น

คนทำงานสาธารณสุขในรัฐกะยาบอกว่า มีคนเป็นมาลาเรียในแทบจะทุกเมืองของรัฐกะยา และจำนวนของผู้ติดเชื้อจริงๆ อาจจะมากกว่าตัวเลขที่ระบุไว้อย่างเป็นทางการ

 

ความยากลำบากในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

สหประชาชาติเคยประเมินว่ามีประชาชนในรัฐกะยาเกือบ 100,000 ราย ที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นเพราะการสู้รบ นับเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของรัฐเมื่อเทียบจากสถิติปี 2557

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นในพม่ายังเป็นตัวการในการเร่งให้เกิดวิกฤตสาธารณสุขในพม่าด้วย ทั้งจากการที่มีการสู้รบเกิดขึ้นในวงกว้าง และจากการที่ข้าราชการจำนวนมากทำการหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ไม่ยอมทำงานให้กับเผด็จการทหาร

Than Tun (นามสมมุติ) เป็นศัลยแพทย์ที่ลาออกจากงานในเมืองหลวงลอยก่อของรัฐกะยา เพื่อเข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืนต่อต้านรัฐประหาร และในตอนนี้กำลังทำงานให้กับองค์กรเอ็นจีโอท้องถิ่นด้านการแพทย์เคลื่อนที่ในรัฐกาเรนนีที่ชื่อ "ลอยัลตีโมบายทีม" Than กล่าวว่า การรักษาโรคมาลาเรียนั้นทำได้ยากขึ้นมาก เพราะพวกเขาไม่มียามากพอ ยาต้านมาลาเรียกำลังขาดแคลนและไม่สามารถส่งไปให้กับพื้นที่ๆ มีการระบาดเฉพาะภายในพื้นที่ได้

ทีมแพทย์เคลื่อนที่ของ Than Tun ได้ให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนราว 30,000 ราย ผู้อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 26 แห่ง ที่ตั้งอยู่เมืองดีมอโซ รัฐกะยา และในค่ายอีก 4 แห่งตามแถบชายแดนเมืองพรูโซ และเมืองบอละแค แต่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงค่ายผู้พลัดถิ่นในพื้นที่อื่นๆ ได้

Than Tun บอกว่าเป็นเพราะมีการสู้รบอย่างหนักทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ผู้พลัดถิ่นที่หนีตายจากสงครามไม่สามารถเดินทางไปที่คลินิกได้

Diamond Khin จากกระทรวงสาธารณสุขของ KNU กล่าวว่า มีเรื่องคล้ายๆ กันเกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง เขาประเมินว่าถ้าหากประชาชนพลัดถิ่นจากการสู้รบเพิ่มมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้กรณีคนเป็นโรคมาลาเรียเพิ่มมากขึ้นด้วย และถ้าเป็นเช่นนั้นพวกเขาก็ไม่มียามากพอ มีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการที่พวกเขาเดินทางไปในที่ต่างๆ ของรัฐได้ยาก ทำให้การลำเลียงเสบียงและยากลายเป็นปัญหาใหญ่

แพทย์ ฟรองชัวส์ นอสเทน กล่าวว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กรณีมาลาเรียเพิ่มสูงขึ้น เป็นเพราะการเข้าสู่ฤดูมรสุม ซึ่งเป็นฤดูที่จะมียุงเพิ่มขึ้น นอสเทนเป็นศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ในเขตร้อนชื้นและผู้อำนวยการของหน่วยวิจัยมาลาเรียโซโกล (SMRU) ในแม่สอด ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งในปี 2529 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่ประชากรชายขอบทั้งสองฟากฝั่งชายแดนไทย-พม่า

นอสเทนกล่าวอีกว่าทาง SMRU มีความยากลำบากในการจัดส่งเสบียงที่จำเป็นไปยังหมู่บ้านต่างๆ ในพม่า และมีความยากลำบากในการเข้าถึงยารักษามาลาเรียที่ชื่อ tafenoquine ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ P. vivax malaria ต้นตอที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรียได้

นอสเทนบอกว่าถึงแม้ว่ายา tafenoquine จะจดทะเบียนในสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย และแคนาดา แต่มันก็ไม่มีในไทยหรือในพม่า พอไม่มียาตัวนี้แล้ว พวกเขาก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อมาลาเรียได้

 

เมื่อความก้าวหน้าถูกฉุดให้ถอยกลับไปที่เดิม

นอสเทนกกล่าวว่า ถึงแม้ว่ากรณีโรคมาลาเรียส่วนใหญ่จะมาจากเชื้อปรสิต P.vivax แต่เชื้อสายพันธุ์ P.falciparum เป็นตัวที่มีโอกาสจะทำให้เกิดการป่วยหนักและการเสียชีวิตมากกว่า นอกจากนี้มันยังมีความเสี่ยงที่ P.falciparum จะมีการดื้อยามากขึ้นแล้วทำให้ทางเลือกในการรักษาไม่มีเหลือ

ในปี 2565 ทาง SMRU ได้ทำการรักษาผู้ป่วยจากเชื้อ P. vivax ไป 32,000 กรณี และผู้ป่วยจากเชื้อ P. falciparum ไป 4,600 กรณี ในรัฐกะเหรี่ยง ในปี 2566 มีการรักษาผู้ติดเชื้อ P. vivax ไป 17,000 กรณี และ P. falciparum ไป 4,000 กรณี

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2553-2563 นั้นมีจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียในพม่าลดลงร้อยละ 90 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากมาลาเรียลดลงร้อยละ 99 และจำนวนเคสคนป่วยที่เป็นชาวชาติพันธุ์ลดลงร้อยละ 86 ในปี 2563 พม่าแทบจะขจัดการติดเชื้อ P. falciparum ได้สำเร็จ ซึ่งหมายความว่ามีจำนวนกรณีผู้ป่วยเหลืออยู่น้อยกว่า 1 ใน 1,000 คน

ในวันมาลาเรียโลกประจำปี 2566 ผู้อำนวยส่วนภูมิภาคของ WHO ปูนัม เคตราพัล สิงห์ ระบุว่า ชื่นชมว่าพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นพื้นที่เป็นผู้นำโลกในการลดโรคมาลาเรีย โดยการพยายามบรรลุเป้าหมายการเกิดมาลาเรียและการเสียชีวิตจากมาลาเรียให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี 2573

สิงห์ยังระบุอีกว่า เอเชียตะวันอออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่สมาชิก WHO พื้นที่เดียวที่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดมาลาเรียได้สำเร็จร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่ง WHO ประเมินว่า ประเทศภูฏาน, เนปาล, ไทย และติมอร์ตะวันออก มีโอกาสจะสามารถขจัดมาลาเรียให้หมดไปได้ภายในปี 2568

ในรายงานเรื่องมาลาเรียฉบับล่าสุดในช่วงปลายปี 2565 นั้น WHO ระบุว่าพวกเขามีข้อมูลเกี่ยวกับพม่าแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

Nay Htoo จากสมาคมแพทย์พม่ากล่าวว่าระบบการสาธารณสุขในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะยาทั้งหมดต้องการเสถียรภาพในการแก้ไขปัญหาไม่เพียงแต่โรคมาลาเรียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาฉุกเฉินด้านการแพทย์อื่นๆ ด้วย

นอสเทนกล่าวว่ามันเป็นความรับผิดชอบของเหล่าผู้นำทางการเมือง ในการที่จะทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อมาลาเรียตามแถบชายแดนไทย-พม่า ไม่ใช่ภาระของคนที่เผชิญผลกระทบในท้องถิ่น

"ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไร แต่ถ้าหากปราศจากเจตจำนงทางการเมือง พวกเราก็คาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิมก่อนที่มันจะดีขึ้น" นอสเทน กล่าว

 

 

เรียบเรียงจาก

Conflict shoots up malaria cases on the Thai-Myanmar border, Frontier Myanmar. 17-07-2023

https://www.frontiermyanmar.net/en/conflict-shoots-up-malaria-cases-on-the-thai-myanmar-border/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net