Skip to main content
sharethis

สรุปวาทะ 3 ส.ว. ‘คำนูณ-เสรี-สมชาย’ อภิปรายค้านโหวต พิธา อ้างปกป้องสถาบันฯ

ส.ว. คำนูณ อ้างแก้ ม.112 กระทบสถาบันฯ-ความมั่นคง

“ผมเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่และสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยติดใจ ก็คือประเด็นนโยบายในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเวลาผมพูดถึงแก้ไขมาตรา 112 ขอให้เข้าใจว่าเป็นการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และก็เป็นนโยบายที่มีฐานมาจากร่างพระราชบัญญัติที่เคยเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2564”     

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. แต่งตั้ง อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม.112 ของพรรคก้าวไกล ระบุข้อเสนอแก้ไขครั้งนี้มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

  • กระทบรัฐ-ละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ ขัดกับมาตรา 6 ว่าด้วยองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ 
  • เสมือนเป็นการแก้รัฐธรรมนูญทางประตูหลัง เพื่อลดความคุ้มครองสถาบันฯ
  • เสมือนเป็นการนิรโทษกรรมจำเลยคดี ม.112 ทั้งหมด เพราะร่างที่เสนอต่อสภาฯ ทั้งไม่มีบทเฉพาะกาลให้มีผลบังคับใช้ได้ทันที

ส.ว. คำนูณ กล่าวด้วยว่า คีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญของการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลนั้น มีอยู่ 6 คำ คือ ย้ายหมวด ลดโทษ ยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ ให้เป็นคดีที่ยอมความได้ และจำกัดผู้ร้องทุกข์ 

ส.ว. คำนูณ ยกตัวอย่างข้อเสนอย้ายหมวด ระบุการย้ายออกจากความผิดต่อความมั่นคงของรัฐแล้วให้เป็นความผิดในระนาบบุคคลธรรมดาเป็นการกระทบสถาบันฯ อย่างใหญ่หลวง และ ส.ว.จำเป็นต้องคัดค้าน

“จากความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ กลายมาเป็นความผิดในระนาบบุคคลธรรมดา แล้วท่านก็นำเอาหลักของการหมิ่นประมาทคนธรรมดามาใช้กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งมันไม่ใช่หลักของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา” 

“ท่านนำเอาพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความมั่นคงของรัฐ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบอบการปกครองของประเทศนี้ลงมาเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดา และท่านก็ใช้มาตรฐานเดียวกันไปจับ”

“การธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญคุ้มครองฐานะอันเป็นที่สักการะฯ ขององค์พระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่เทียบเท่ากับที่เคยเป็นมาตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2475 มิให้กระทบหรือลดทอนลงไป…ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของ ส.ว. ในสถานการณ์ปัจจุบัน”

ส.ว. สมชาย กังวลแก้ ม.112

ลั่นอย่าอ้างเสียงข้างมากกดดัน

ส.ว. สมชาย แสวงการ ประกาศกลางสภา ไม่โหวตนายกพิธา ที่พรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเสนอ จวกมวลชน-อวตาร พยายามบีบบังคับ บูลลี่ ให้ ส.ว. ต้องโหวตเลือกนายกตามเสียงข้างมาก ย้ำม. 272 ผ่านคำถามพ่วงประชามติ อีกทั้งยังปรากฏความพยายามแก้ ม.112 และแก้รัฐธรรมนูญ

 

“ไปขุด ไปบูลลี่ ไปใช้ภาวะแวดล้อมต่างๆ ปลุกท่านขึ้นมาบอกว่าให้เปิดสวิตช์ พวกผมก็โดนครับเหมือนที่ท่านคำนูณและท่านสมาชิกอื่นๆ โดนทุกคนครับ ส.ส. ส.ว. มีทุกรูปแบบผมขออนุญาตไม่พูดในเรื่องวิชามารต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งครอบครัว ตัวบุคคล และสภาพแวดล้อม แต่พวกผม 250 คนยืนยันว่า สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างสมบูรณ์”

ส.ว. สมชาย ยืนยันส.ว. 250 คนที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างสมบูรณ์ แม้มาจากการสรรหา แต่มีสิทธิและคะแนนเสียงเช่นเดียวกับ ส.ส. จากการเลือกตั้ง

“แม้เราจะมาจากการสรรหา และแม้เราจะมาจากการเลือกตั้งกันบางส่วน และสรรหาอีกครั้งหนึ่ง การทำหน้าที่วันนี้ของวุฒิสมาชิกในฐานะสมาชิกรัฐสภา จะกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ”   

ส.ว. สมชาย ระบุว่า เลือกอ้างเสียงข้างมาก 14 ล้านคน แล้วบังคับคนทั้งประเทศว่าจะต้องเปิดสวิตช์ ส.ว. มาเห็นด้วย ห้ามเห็นด้วยกับคนอื่นยกเว้นพิธา อย่างนี้ผิดหลักประชาธิปไตย มันเป็นเผด็จการ

“ต้องเลิกอ้างเสียงข้างมาก 14 ล้านเสียง แล้วบังคับคนทั้งประเทศว่าต้องเห็นด้วย แบบนั้นผิดหลักประชาธิปไตยแต่เป็นเผด็จการ เรากำลังเข้าสู่การเมืองที่เราอยากเห็นประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เราอยากเห็นความสงบ วันนี้เราเดินเข้าสู่ครรลองประชาธิปไตยแล้ว อย่าใช้สังคมกดทับ อย่าใช้ประชาธิปไตยแบบฟุ่มเฟือย หรือเลือกพวกข้าเท่านั้นที่ถูก เลือกพวกเอ็งผิด แบบนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าเลือกทางเดินแบบสุดโต่ง สร้างลัทธิสุดโต่งครอบงำเยาวชน ผมในฐานะสมาชิกรัฐสภา พิจารณาแล้วเห็นว่านายพิธา ยังไม่เหมาะสมเป็นนายกฯ”

ส.ว. เสรี อ้างแก้ ม.112-หนุนม็อบล้มล้าง

“คุณพิธาที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนี้ ไม่สมควรที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่าพิธาไม่สมควรเป็นนายก ตนให้ความเคารพประชาชน แต่ ส.ว. แยกส่วนกับเสียงของประชาชน ตนกลัวประชาชนจะไม่เข้าใจ ส.ว. เพราะต้องทำหน้าที่ปกป้องประเทศ สถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญ ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

“แต่เราก็ถูกกล่าวในถ้อยคำที่รุนแรงมาตลอดครับ ถามว่าเราไม่ให้ความเคารพประชาชนหรือ ก็ต้องเรียนพี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้เข้าใจ ว่าเราก็ให้ความเคารพ และในการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภานั้นก็แยกส่วนจากเสียงพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้ ส.ส. แต่พรรคเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นส่วนนั้นจบไปแล้ว”

“ประชาชนเลือกแล้วว่าพรรคไหนได้คะแนนเท่าไหร่ เลือกตั้งมี ส.ส. มาเท่าไหร่ แต่การทำหน้าที่ในรัฐสภาแห่งนี้เป็นกระบวนการอีกส่วนหนึ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เป็นหลักการสำคัญว่าบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ นั้น จะต้องไม่มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้”

“ผู้สื่อข่าวถามผมว่า ไม่กลัวเสียงพี่น้องประชาชนที่อยู่นอกสภาหรือ ซึ่งมีเสียงสนับสนุนคุณพิธาเป็นนายกฯ ก็ต้องตอบว่ากลัวประชาชนครับ กลัวมาก กลัวว่าท่านจะเข้าใจผิดว่าวุฒิสภาไม่ให้ความเคารพ ไม่ให้ความเกรงใจเสียงของประชาชน แต่ด้วยความเกรงกลัวเสียงประชาชนเหล่านั้นเราก็คำนึงถึงการทำหน้าที่ในวุฒิสภาเรานี้ ต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาปกป้องประเทศ รักษาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์”          

เสรีกล่าวต่อว่าก้าวไกลได้แค่ 14 ล้านเสียง ที่เหลือเป็นของพรรคการเมืองอื่น อย่าเอามารวมกันแล้วยกให้พรรคก้าวไกล เสียงที่ได้มาไม่ได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกมา ตนต้องเลือกตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามเรื่องหุ้นสื่อเอาไว้ ผู้นำต้องไม่ลบหลู่ดูหมิ่นสถาบัน โดยเฉพาะ ม.112

ส.ว. ทั้งหมดทนอยู่ท่ามกลางคำด่าเพราะเราต้องการปกป้องบ้านเมือง มีการสอนเยาวชนให้กระทำผิด จาบจ้วงสถาบัน ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มีการปลุกปั่นให้ปฏิรูปสถาบันและกระบวนการอื่น ให้ร้ายด่าทอ ปรากฏชัดเจนว่าสิ่งนี้คือการล้มล้าง

“ไปสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน ประชาชนคนทั้งหลาย กระทำการแต่เรื่องละเมิดสถาบัน ปรากฏอยู่เป็นคดีมากมาย จะเห็นได้ไง ท่านบอกท่านไม่ได้สนับสนุน เห็นได้ครับท่านประธาน เพราะมันปรากฏเป็นประวัติศาสตร์ เป็นบันทึกอยู่ในคลิปวิดีโอทั้งหลายมากมายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net