Skip to main content
sharethis

'ชลน่าน' แจง 3 ข้อครหา 'เศรษฐา' ปมซื้อที่ดินของบริษัทแสนสิริ การสลายขั้วความขัดแย้งทางการเมือง และการแก้รัฐธรรมนูญ เชื่อการหนุน 'เศรษฐา' เป็นนายกฯ เปลี่ยนความเห็นต่าง เป็นความเห็นร่วม และทำงานร่วมกัน

 

22 ส.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (22 ส.ค.) ที่ประชุมรัฐสภา ก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตอันดับหนึ่งของพรรคเพื่อไทย มีการเปิดให้สมาชิกทั้งสองสภาได้อภิปรายต่อตัวเศรษฐาว่าสมควรจะได้รับการเลือกให้เป็นนายกฯ หรือไม่ หลังการอภิปรายมาหลายชั่วโมง ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.เขต จังหวัดน่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นชี้แจงตอบข้อสงสัยปิดท้ายการอภิปรายก่อนเปิดลงมติเลือกนายกฯ 

ชลน่านกล่าวตอบ 3 ประเด็น 

ชลน่าน ตอบในประเด็นแรกเรื่องคุณสมบัติของเศรษฐา ที่มีประเด็นเรื่อความซื่อสัตย์และจริยธรรมตอนที่เศรษฐา ยังเป็นซีอีโอในบริษัทแสนสิริ ว่า พรรคเพื่อไทยได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติและให้ความสำคัญในการตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแล้วอย่างถี่ถ้วนและไม่ได้ละเลย เพราะเป็นเรื่องความรับผิดชอบ การตรวจสอบเรื่องการเลี่ยงภาษี เรื่องการตั้งตัวแทนมารองรับนั้น ทางพรรคได้ตรวจสอบข้อกฎหมายทุกอย่างแล้วรวมถึงเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์แล้วไม่มีเรื่องใดที่ผิดกฎหมาย ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีแต่ข้อกล่าวหาที่โน้มเอียงและเอาหลักฐานมาเชื่อมโยงกันแต่พิสูจน์ไมได้ ดังนั้น เศรษฐายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังคงมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์

ชลน่าน กล่าวว่า ประเด็นต่อมา เรื่องไม่สามารถเห็นชอบให้เศรษฐามา ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้าม แต่เป็นเรื่องพฤติการณ์ในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทย เคารพเสียงของประชาชนทุกเสียง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แม้ว่าจะมีการแบ่งฝ่ายว่าเป็นเสรีนิยม หรืออนุรักษ์นิยมก็ตาม 

พรรคเพื่อไทย ยึดมั่นและยึดถือในการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบรัฐสภาและ ส.ส.ในสภาก็ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน คนเหล่านี้ให้สิทธิแก่ตัวแทนเข้ามาในระบบตัวแทน พวกเขาเป็นประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นเผด็จการ แม้ว่าจะเคยผ่านการแบ่งแยกทางความคิด แต่ความคิดของประชาชนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลุ่มที่เป็นเสรีประชาธิปไตยก็มีแนวคิดและวิธีคิดแตกต่างกับอนุรักษ์นิยม และต่อสู้กันทางการเมืองมาตลอด พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์มาอย่างเจ็บปวด แต่คนที่เจ็บปวดที่สุดคือประชาชนไทย

พรรคเพื่อไทย มีอุดมการณ์ได้เห็นความย่อยยับความสูญเสียจากความคิดที่ต่างกันบนพื้นฐานความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน คนที่ต้องการรักษาเอกราชต้องการปกป้องสถาบันหลัก ทำให้เกิดการต่อสู้ทำลายล้าง แล้วจะปล่อยให้เกิดซ้ำได้อย่างไร 

เรายินดีส่งเสริมอำนาจประชาชน เรายินดีที่เห็นพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคอันดับ 2

"ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมบอกกับท่านประธานเลยก็ได้ว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีทางจับมือกับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล เรารอ เราเป็นพรรคอันดับ 2 เราสามารถแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้ากลไกการเมืองและรัฐธรรมนูญมันเป็นปกติ แต่ด้วยสภาพบังคับรัฐธรรมนูญแบบนี้เราไม่ร่วมมือกันไม่ได้ แต่เราก็คิดผิดครับ เราคิดผิดว่ายิ่งจับมือกันเรายิ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

"ไทยรักไทย พลังประชาชน เราหัวชนฝาเราเจ็บ เราเกิดก่อนเรามีประสบการณ์ แล้วเราจะเอาหัวชนฝาแล้วประเทศชาติ พี่น้องประชาชนเสียหายไปเราไม่ทำนะครับ สิ่งที่ดีที่สุดเราหันหน้ามา ฐานอำนาจดุลอำนาจที่มีอยู่ในประเทศนี้ ดีที่สุดคือจับมาดุลอำนาจมาประนีประนอมอำนาจแล้วให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองสูงสุด ผมว่านั่นน่าจะเป็นแนวคิดที่ดีที่สุดในโอกาสนี้" ชลน่าน กล่าว

ชลน่าน กล่าวต่อว่า เราต้องปกป้องสถาบันหลักของชาติคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทุกคนพูดเหมือนกันแต่วิธีการไม่เหมือนกัน ในชาตินี้มันทำให้เกิดความขัดแย้งแล้วเพื่อไทย อาสามาจัดการความขัดแย้งนี้และตอนนี้ที่ได้มาแล้ว 11 พรรค แต่หลังจากนี้ก็จะมีพรรคอื่นๆ ตามมาเพิ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งรัฐบาลที่มาจากประชาชน และเชื่อว่าแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้วิกฤตของประเทศ จะสลายความขัดแย้งต้องใช้กลไกนี้

ส่วนประเด็นสุดท้ายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งแต่ที่วิจารณ์มาก็จะถูกนำไปเขียนเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ข้อกังวลนั้นเราได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง วิกฤตเรื่องรัฐธรรมนูญที่ทำให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ แม้เขาจะเข้าใจว่าการเขียนรัฐธรรมนูญมาแบบฉบับ 60 นี้จะเขียนมาเพื่อปกป้องคุ้มครองนิสิ่งที่คนเขียนเห็นว่าสำคัญ แต่ถึงช่วงเวลาหนึ่งแล้วการคุ้มครองดังกล่าวก็ต้องสลายออกไปเพราะเป็นการดุลอำนาจที่ดี การแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องสำคัญแต่เราสัญญาว่าจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง 

เราแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งการทำแบบนี้ต้องทำประชามติ จึงประกาศว่าถ้าเป็นรัฐบาลจะทำสองเรื่องคู่กันไปคือเรื่องเศรษฐกิจเรื่องปากท้อง เรื่องที่ต้องทำคู่กันไปต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปีก็ทำประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะทำโดยใครก็เป็นคำถามในประชามติ ถ้าได้มติจากพี่น้องประชาชนก็เขียนเข้าไปในรัฐธรรมนูญถึงสิ่งที่เราต้องการแก้ และไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ความตั้งใจคือตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ก็ต้องไปเขียนรายละเอียดเพื่อให้มีดุลยภาพที่ดีและทำให้ทำงานร่วมกันได้

"บนพื้นฐานที่เราจะเป็นรัฐบาลแห่งความปรองดองเป็นรัฐบาลแห่งความสมัครสมานสามัคคี เห็นคนในชาติทุกคนมีค่า มีคุณค่าเท่ากัน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราทุกคนหันหน้าเข้าหากัน มาเริ่มต้นตรงนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว มีจิตปรารถนาดีต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน ไม่แตกต่างหรือไม่เป็นประเด็นอะไรที่จะเห็นแตกต่างกัน

"ความเห็นต่างเป็นสีสันในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะในระบบเสียงข้างมาก ภายใต้องค์พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุข ต้องมีความเห็นต่าง แต่เราจะแปลงความเห็นต่างเป็นความเห็นร่วมอย่างไร นั่นคือขึ้นกับพวกเรา 750 คนที่อยู่ตรงนี้" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว

ชลน่าน กล่าวว่า ถ้าให้ความไว้วางใจแก่เศรษฐา ด้วยมติของรัฐสภาก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้ความเห็นต่างเป็นความเห็นร่วม และทำงานร่วมกัน และหวังจะทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน แต่มันไม่เกิดขึ้นโดยเฉพาะสภาวะสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย เราต้องรับความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้และนำสิ่งที่เป็นอยู่มาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการให้เป็นโอกาสและความหวังที่ดีแก่ประชาชนมากที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net