Skip to main content
sharethis

ประชาชนรวมกลุ่มที่หอศิลป์ "Respect My Vote" เรียกร้องยกเลิก ส.ว.หลังเมื่อวานทำผลงานงดออกเสียง-ขาดประชุม

14 ก.ค.2566  ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ประชาชนรวมกลุ่มชุมนุม "Respect My Vote" เรียกร้องยกเลิกวุฒิสภา หลังจากที่เมื่อวานนี้มีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล แต่ ส.ว.เกือบทั้งหมดลงคะแนนไม่เห็นชอบ งดออกเสียงหรือขาดประชุม โดยกิจกรรมครั้งนี้มีการประกาศผ่านทางแฟนเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อค่ำวานนี้

Mob Data Thailand รายงานวส่าเวลา 18.00 น. กิจกรรมเริ่มต้น ธัชพงศ์ แกดำ ทำหน้าที่พิธีกรและขอให้ผู้ชุมนุมที่มาร่วมชูโปสเตอร์ข้อความยกเลิกส.ว.ขึ้นมา พร้อมตั้งคำถามว่า มาเป็นส.ว.ทำไม ถ้าไม่เคารพเสียงประชาชน 

เวลา 18.05 น. แชมป์ จากคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปราศรัยว่า เมื่อวานเราโดนเหยียบย่ำจากส.ว. จากระบบที่ไม่เป็นธรรม ก่อนที่เราจะเข้าเรื่องเนื้อหาสาระผมเชื่อว่า เมื่อวานทุกคนในที่นี้ย่อมฟังการอภิปรายในสภาเหมือนผมและย่อมสังเกตได้ว่า มีคำพูดของส.ว.จำนวนหลายประโยคที่มันฟังแล้วทุเรศทุรนเหลือเกิน หนึ่งในนั้นที่ผมได้ยินแล้วผมรู้สึกสงสัยว่า พวกมึงจะมาเป็นส.ว.ทำไม คือ เขาบอกว่า ทำไมต้องกดดันส.ว. ทำไมต้องด่าส.ว.ด้วย ทำไมต้องบูลลี่ส.ว.ด้วย เอ้อ ทำไมต้องด่าเขา ถ้าด่ามากๆว่ามากๆ เดี๋ยวเขาไม่ทำหน้าที่นะ ขอโทษเถอะ มึงส.ว.หรือเด็กป.สอง อายุเท่าไหร่แล้ว แก่จะตายห่าอยู่แล้วทำไมจะด่าไม่ได้ แล้วท่านเป็นส.ว.ท่านก็บอกว่า ท่านเป็นตัวแทนประชาชนแล้วตัวแทนประชาชนที่ไหนมันด่าไม่ได้ เราส.ส.ได้ เราด่าผู้แทนเราได้ แล้วทำไมเราถึงด่าส.ว.ไม่ได้ ถ้ามึงอ่อนไหวขนาดนี้มึงไปนอนอยู่บ้านไป 

ส.ว.เมื่อวานนี้อ้างเหลือเกินว่า เขาได้ทำตามรัฐธรรมนูญ 60 รัฐธรรมนูญให้อำนาจกับเขาให้ความชอบธรรมกับเขาที่เขามานั่งอยู่ตรงนั้น ที่เขาได้โหวตเลือกนายกฯ เขาอ้างรัฐธรรมนูญตลอด เขาไม่อ้างประชาชนเลย ทุกท่านคงได้ฟังกันแล้วใช่ไหม ผมอยากจะบอกว่า ส.ว.มึงช่วยหยุดอ้างเถอะ รัฐธรรมนูญส้นตีนเนี่ย มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญของเรา รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้มาจากประชาชนใดๆ ทุกท่านในทีนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่าง เราไม่เคยบอกด้วยซ้ำว่า เราอยากได้อะไรในรัฐธรรมนูญ ไม่เคย ไม่เคยมีใครมีใครมาถามเรา ไม่เคยฟังเสียงเรา มันเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างมาเพื่อเผด็จการเท่านั้น ที่นี้ท่านจะเอามาอ้างเพื่อความชอบธรรมของท่านไม่ได้...เพราะฉะนั้นอย่าอ้างมันทุเรศ

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ทางพรรคก้าวไกลกำลังจะยื่นให้มีการแก้กฎหมาย มาตรา 272 เพื่อที่จะให้ส.ว. ไม่สามารถจะโหวตนายกฯได้ ซึ่งกฎหมายตัวนี่ต้องการเสียงสนับสนุนจากตัวของส.ส.และส.ว.เช่นเดียวกันในการที่จะผ่าน ทีนี้ถ้ากฎหมายตัวนี้เข้าไปในสภาเมื่อไหร่ผมอยากฝากทุกท่านช่วยติดตามเพราะอะไร เพราะมันจะมีส.ว.จำนวนมากที่งดออกเสียง เขางดออกเสียงโดยเขาอ้างเหตุผลว่า เขาจะปิดสวิตช์ส.ว.  ปิดสวิตช์ตนเอง

ผมอยากบอกส.ว.ว่า ประชาชนไม่โง่นะ เขารู้ว่า งดออกเสียงเท่ากับไม่เห็นด้วยกับการให้พิธาเป็นนายกฯ เขารู้ เขาไม่โง่ อย่าเอาคำว่า งดออกเสียงมาอ้างว่า เป็นสวิตช์ส.ว. ถ้าท่านอยากจะงดออกเสียงจริง ท่านอยากจะปิดสวิตช์ส.ว.จริง ถ้ามีการพิจารณากฎหมายยกเลิกอำนาจส.ว.มาตรา 272 ท่านต้องเห็นด้วยและปิดสวิตช์ตัวเอง นี่คือสิ่งเดียวเท่านั้นที่ท่านจะทำได้ในการที่ยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชน และยังพูดได้ว่า ปกป้องประชาธิปไตย ถ้ามีการพิจารณากฎหมายยกเลิกอำนาจส.ว.มาตรา 272 แล้วส.ว.ไม่เห็นด้วย ส.ว.ยังคงมีอำนาจเลือกนายกฯนั่นหมายถึงว่า ท่านประกาศเป็นศัตรูกับประชาชนอย่างชัดเจนใช่ไหม

ริว

ริว เฟิร์สโหวตเตอร์อายุ 20 ปี พูดถึงความรู้สึกหลังพิธา 'ยังไม่ได้เป็นนายกฯ วานนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากโหวตไม่ผ่านรอบแรก ว่า ลึกๆ หวังนิดหนึ่งว่า ส.ว.จะโหวตให้ เพราะว่าจากข่าวที่ทางพรรคได้บอก ผิดหวังมากที่ประชาธิปไตยจะได้เดินหน้าต่อ เหลืออีกแค่ก้าวเดียว แต่ ส.ว. และ ส.ส. บางรายโหวตสวนมติประชาชน

ริว มองว่า การอภิปรายเมื่อวาน ส.ส. ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลพยายามเต็มที่ในการสื่อสารให้ทั้ง ส.ว. และ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านอยู่ข้างประชาชน ทั้งนี้ทั้งนั้นสุดท้ายผลก็ออกมาอย่างที่เห็น หลังจากนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ผลการโหวตรอบ 2 จะออกมาเป็นยังไง และอยากให้ประชาชน Active (กระตือรือร้น) ด้านการเมือง และติดตามอย่างใกล้ชิด

ริว มองถึงข้ออ้างที่ ส.ว. บอกว่าไม่เลือกพิธา เป็นนายกฯ เพราะว่ามีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ว่า หลายคนคงคิดเหมือนกันว่า ต่อให้ไม่มีมาตรา 112 ส.ว. ก็ยังมีข้ออ้างอื่นๆ ให้ไม่โหวตพิธาเป็นนายกฯ อยู่ดี ก็เลยไม่คิดว่าเป็นเหตุผลที่รับฟังได้

ส่วนเหตุผลที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้หน้า BACC ริว มองว่า การเมืองทั้งในสภาและนอกสภามีส่วนสำคัญมาก และเราเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นกับประเทศ เลยรู้สึกว่าอยากออกมาเรียกร้องสิทธิของเรา

ริว ยืนยันว่าอย่างไรก็ตาม อยากให้ ส.ว. โหวตตามฉันทามติประชาชน ในการลงมติเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2

"ผมว่าก็ต้องพูดอย่างเดิมคือ สุดท้าย ส.ว.คือยังแสดงให้เห็นว่าคุณเคารพเสียงประชาชน ยังมีโอกาสอยู่ แม้ว่าประชาชนไม่ชอบคุณก็จริง แต่คุณมีสิทธิที่จะแสดงออกว่าเราอยู่ข้างประชาชน มีอยู่เหมือนเดิม ทุกคนพร้อมให้เขาโหวตให้ประชาชน แต่อยู่ที่เขาอยู่ดีว่า เขาจะแสดงออกยังไง" ริว ทิ้งท้ายถึง ส.ว.

กิต

"เป็นไปได้ อยากให้เป็นสภาเดี่ยว หรือให้ ส.ว.ยึดโยงกับประชาชน มีความชอบธรรม"

กิต เฟิร์สโหวตเตอร์อายุ 19 ปี ประชาชนที่เดินสัญจรผ่านไป-มาที่สกายวอล์ก กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบว่า พิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ ว่า ส.ว.ที่งดออกเสียง ไม่ได้ช่วยให้ พรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการเสียง 375 เสียง เพื่อส่งพิธา เป็นนายกฯ เลย รู้สึกว่าการงดออกเสียง มันเหมือนการลงมติ "ไม่เห็นด้วย" ทำให้การเลือกโหวตพิธา ซึ่งมาจากพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเสียเปรียบแต่แรก และที่มาของ ส.ว. ก็มีปัญหาด้วย

กิต มองว่า เป็นไปได้อยากเป็นสภาเดียว มีแค่ ส.ส.โหวตลงมติรับรองนายกฯ หรือเคยดูสื่อ ส.ว.ต่างประเทศ เขามีไว้เพื่อให้คำแนะนำ ส.ส. อันนั้นโอเค

"แต่ถ้าเขาจะมีเสียงจริงๆ ผมอยากให้เขามาจากแหล่งที่ เรียกว่าชอบธรรมมากกว่านี้ มากกว่าแต่งตั้งโดยรัฐประหาร" กิต กล่าว และบอกว่า อาจจะมาประชาชนก็ได้

กิต มองการอภิปรายเรื่องมาตรา 112 ถูกใช้เป็นข้ออ้างไม่เลือกพิธา เป็นนายกฯ นั้น ว่าอาจจะต้องถกเถียงกันเรื่อยๆ และต้องเข้าใจคนที่รักสถาบันฯ เขามีความศรัทธาของเขา เราอาจจะต้องเข้าใจเขา และหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ แต่การที่เขามาบอกว่า เราห้ามทำอะไร หรือพูดอะไร อันนี้คิดว่าไม่ถูกต้อง

กิต กล่าวว่า ตัวเลือกที่ดีที่สุดคือ พิธา เป็นนายกฯ แต่ถ้าเกิดไม่ได้พิธา จริงๆ อย่างน้อยขอให้นายกฯ จากฝั่งประชาธิปไตย เป็นเพื่อไทย ก้าวไกล คนอื่นๆ พอรับได้

"อยากให้จำไว้เสมอว่า ในรัฐธรรมนูญของเรา มีการอ้างอิงไว้ว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน" เพราะฉะนั้น เวลาทำอะไรก็ตาม อยากให้ตระหนักถึงข้อนี้ไว้เสมอ" กิต ทิ้งท้ายข้อความถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องการโหวตรับรองนายกฯ

เฟิร์ส

เฟิร์ส อายุ 20 ปี บอกหลังทราบข่าวว่าพรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่ได้เป็นนายกฯ ว่า รู้สึก "โกรธ" สั้นๆ เลย เพราะรู้สึกถึงความไม่แฟร์และไม่ยุติธรรมของสภาในประเทศไทย หลังจากที่เราเห็นว่า ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาตัดสินแทนประชาชน

เฟิร์ส มองว่าข้ออ้างว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบาย แก้ไขมาตรา 112 เลยไม่โหวตสนับสนุนพิธา ไม่สมเหตุสมผลเลย เพราะว่าเมื่อวานคือการเลือกนายกฯ ต้องโฟกัสเรื่องการเลือกนายกฯ ส่วนเรื่องมาตรา 112 โหวตเตอร์ที่เลือกก้าวไกลเขาเห็นด้วยในประเด็นนี้อยู่แล้วว่าตัวกฎหมายมีปัญหา และต้องได้รับการแก้ไข

"การที่ ส.ว. เขาแย้งหรือโต้ฝั่งก้าวไกล นั่นเท่ากับว่าโต้กับประชาชนที่ได้เลือกพรรคก้าวไกลมาด้วย" เฟิร์ส กล่าว

เฟิร์ส กล่าวว่า วันนี้อยากมาแสดงจุดยืน Respect my Vote เพราะว่าการแสดงออกของ ส.ว. วานนี้มันค้านสายตาประชาชน และพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ระบบ ส.ว. ไม่ได้ถูกต้องแต่แรกอยู่แล้ว เพราะแต่งตั้งจาก คสช. ซึ่งทำรัฐประหารเข้ามา

เฟิร์สโหวตเตอร์อายุ 19 ปี มองว่า ถ้าประชาชนออกมาแสดงมากพอ ก่อนวันที่ 19 ก.ค. ที่มีแผนว่าจะโหวตลงมติรับรองนายกฯ รอบ 2 อาจจะพอเปลี่ยนผลได้

"ขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่ออกมาด้วย ยิ่งประชาชนออกมาเยอะเท่าไร เท่ากับแสดงให้เห็นว่าคนไม่ยอมรับ การเลือกจอ ส.ว. ในครั้งนี้ ซึ่งยิ่งคนเยอะมากเท่าไร ยิ่งทำให้เห็นว่าประชาชนไม่เอาเขาแล้ว ไม่ยอมการตัดสินใจของเขาแล้ว" เฟิร์ส กล่าว

ส่วนที่มี ส.ว. ออกมาบอกว่าถูกรังแก (bully) นี่เฟิร์ส มองว่า มันคงไม่มีปัญหาถ้าโหวตตามเสียงประชาชน อันนี้คือค้านสายตาค้านคนเป็นล้านๆ มันก็ไม่แปลก ที่จะมีคนแสดงความไม่พอใจ

"ฟังเสียงประชาชนบ้างไม่งั้นอาจได้เจออย่างอื่นแทน" เฟิร์ส ฝากทิ้งท้ายถึง ส.ว.

นล อายุ 22 ปี วันนี้มาฟังปราศรัยที่ลานหน้า BACC ในกิจกรรม “Respect my Vote” รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และต้องหาทางต่อไป เมื่อวานมีหลายเรื่อง แต่ไม่พอใจ ส.ว.คนหนึ่งโหวต ‘เห็นชอบ’ ให้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ และค่อยมาเปลี่ยนตอนหลังเป็น ‘ไม่เห็นชอบ’ แม้ว่าจะเพียง 1 คะแนน แต่นนท์ คิดว่ามันสามารถเปลี่ยนอะไรได้ และมองว่าการโหวตไม่โปร่งใส  นนท์เล่าให้ฟังด้วยว่า เธอไปร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองเป็นประจำ 

นล กล่าวว่า คิดว่าเรื่องข้ออ้างมาตรา 112 มาเป็นเหตุผลไม่สนับสนุน ‘พิธา’ เป็นนายกฯ นั้น ไม่สมเหตุผล เนื่องจากเราต้องการคนที่มีคุณสมบัติเป็นนายกฯ ส่วนตัวไม่ได้เข้าข้างพิธา แต่โดยหลักเขาก็สมควรเป็นนายกฯ แต่การใช้มาตรา 112 ดูเป็นคนละเรื่อง เอาเรื่องล้มล้างกษัตริย์ เป็นเรื่องของกฎหมาย และกระบวนการสภาฯ แต่อันนี้เรากำลังเลือกนายกฯ ดูหลุดประเด็น

นล กล่าวต่อว่า ไม่เห็นความจำเป็นเลยว่า การมี ส.ว. จำเป็นในเรื่องไหน ทั้งเรื่องงบประมาณที่จ่ายเป็นเงินเดือน ส.ว. ก็น่าจะเอาไปสนับสนุนการบริหารงานด้านการศึกษา หรือการคมนาคม ตามที่เราควรจะได้ แต่กลับมาเสียกับกลุ่มคนที่ดูไม่ได้แคร์เสียงประชาชนอะไรขนาดนั้น และไม่รู้ว่าเขาทำให้ประชาชนบ้าง มันอาจจะเป็นเพราะระบบว่าเราไม่ได้เลือกเขา และอยู่ดีๆ เขามาจากไหนไม่รู้ มันกลายเป็นว่าเราจำยอม โดยที่เราทำอะไรไม่ได้

"ไม่แน่ใจว่าจะฝันไปไกลรึเปล่า แต่อยากให้เป็นสภาเดี่ยว .. หรืออาจจะให้ลดจำนวน (ผู้สื่อข่าว - สมาชิกวุฒิสภา) อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แต่กว่าจะไปเป็นสภาเดี่ยว ก็คงต้องใช้เวลา" นล ระบุ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net