Skip to main content
sharethis

ดีไซเนอร์สาว ลูซี่ โจนส์ ออกแบบเสื้อผ้าสำหรับผู้พิการที่ต้องนั่งนานๆ เพิ่มฟังก์ชั่นและลักษณะพิเศษ เช่น กางเกงที่มีส่วนเข่ายืดหยุ่น - เสื้อที่มีข้อศอกหนา เพื่อลดการกดทับจากที่วางแขน


ลูซี่ โจนส์
(ภาพจาก 
http://www.walesonline.co.uk/news/wales-news/cardiff-fashion-designer-making-headlines-10724699)

4 ก.พ. 2559 ลูซี่ โจนส์ ดีไซเนอร์สาว จากคาร์ดิฟฟ์ ประเทศเวลส์ วัย 24 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สร้างสรรค์เสื้อผ้าที่จัดทำขึ้นเพื่อผู้พิการ โดยมีความพิเศษที่เป็นเสื้อผ้าซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อผู้อยู่ในท่านั่ง ทั้งนี้เธอเป็นหนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือก ในโครงการ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (30Under30) ประจำปี 2559 โดยนิตยสารฟอร์บ และได้รับขนานนามว่า เป็นการเปิดโลกใหม่ที่สดใสให้วงการแฟชั่น

เธอได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ครั้งนี้จากญาติชื่อเจค ผู้ซึ่งเป็นอัมพาตซีกซ้ายของลำตัว ซึ่งพบปัญหาอย่างมากในการสวมใส่เสื้อผ้า เธอจึงออกแบบกางเกงให้กับเขา ซึ่งเป็นกางเกงที่สามารถใส่ได้ด้วยมือเดียว

โจนส์กล่าวว่า วงการแฟชั่นยังต้องการอะไรที่แปลกใหม่และช่วยให้การเข้าถึงแฟชั่นของคนทุกคนนั้นง่ายขึ้น

เสื้อผ้าของเธอเป็นที่จดจำอย่างมากในนิวยอร์ก และได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลดีไซน์เนอร์เครื่องแต่งกายหญิงแห่งปี และรางวัลจาก XStyle.com ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกุชชี่, บาเลนซิเอก้า, สเตลล่า แมคคาร์ทนี่ ฯลฯ  รวมทั้งได้รับรางวัลจากโรงเรียนออกแบบพาร์สัน ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่รวมตัวของดีไซเนอร์ดังๆ จากทั่วโลกเช่น มาร์ก จาคอบ, ดอนน่า คาราน และอเล็กซานเดอร์ หวัง

ด้วยความช่วยเหลือของศูนย์โรคซีรีเบรล เพาร์ซี่ในแมนฮัตตันและบรู๊คลินต์ โจนส์ได้สัมภาษณ์คนพิการกว่า 100 คนเพื่อสอบถามปัญหาที่พบเกี่ยวกับการสวมใส่เสื้อผ้า และพบว่าแฟชั่นส่วนใหญ่นั้นมองข้ามความพิการ จึงต้องการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ทั้งการใช้วัสดุ การผูกยึด การกลัดติดกระดุม รวมทั้งการเย็บต่อพิเศษแบบต่างๆ สำหรับท่าทางที่เหมาะสมของข้อศอกและหัวเข่าของผู้สวมใส่


แขนเสื้อที่ที่มีการเสริมส่วนข้อศอก เพิ่มขนาดและความยืดหยุ่น
(http://fashionista.com/2015/05/lucy-jones-seated-design)


เธอเริ่มจากการประกาศหาอาสาสมัคร ผู้มาทดลองและสะท้อนฟีดแบค ผ่านเว็บไซต์เครกส์ลิสต์และยาฮู  จนพบ ‘รอนนี่’  หญิงสาวที่ป่วยด้วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือ MS ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกาย พวกเขานัดเจอกันทุกๆ อาทิตย์เพื่อลองชุด และรับฟังฟีดแบคของชุดเหล่านั้น

“ฉันเริ่มจากการให้รอนนี่ลองชุดเหล่านั้น จึงพบปัญหาหลายอย่างและเริ่มแก้ไขมันทีละขั้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ” เธออธิบาย


กางเกงจากคอลเลกชั่น "Seated Collection"
(http://fashionista.com/2015/05/lucy-jones-seated-design)


ปัญหาที่ซับซ้อนที่สุดที่เจอคือการออกแบบกางเกง เธอพบว่า กางเกงทั่วไปนั้นมีขาที่สั้นและมีด้านหลังที่ต่ำเกินไป เธอได้ปรับเปลี่ยนขากางเกงให้สามารถยืดและงอได้อย่างสะดวก เพื่อให้ผู้สวมใส่สามารถปรับเปลี่ยนท่าทางได้ง่าย และศึกษาน้ำหนักกดทับที่มีต่อก้นและช่วงต้นขา รวมทั้งกำจัด รอยเย็บ ตะเข็บต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกสบายออกจากส่วนเป้ากางเกง

สำหรับเสื้อ ด้วยความที่ผู้พิการต้องวางแขนบนที่เท้าแขนเสมอ เธอจึงเสริมความหนาของผ้า ในบริเวณข้อศอก เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับ  และเพิ่มพื้นที่ในช่วงหัวไหล่และแขนให้สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก อย่างไรก็ดี เธอกล่าวว่า การออกแบบทางกายภาพนั้นสำคัญเท่าๆ กันกับความสวยงามมีสุนทรียะ ซึ่งก่อให้เกิดความสะดวกสบายทางอารมณ์ด้วย
 


คอเสื้อซึ่งสามารถดึงปรับระดับเข้าออก ได้อย่างง่ายดาย
(http://fashionista.com/2015/05/lucy-jones-seated-design)

เธอพยายามทำให้เสื้อผ้าเหล่านี้ เป็นเสื้อผ้าที่สะดวกสบายสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะสำหรับคนพิการ แต่รวมถึงคนไม่พิการที่ต้องนั่งนานๆ อีกด้วย และไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นนักออกแบบที่มุ่งปรับเปลี่ยน แต่อยากให้การออกแบบเช่นนี้ เป็นพื้นฐานของการออกแบบตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น

นอกเหนือจากเสื้อผ้าของโจนส์ อิซซี่ คามิลเลอรี่ ดีไซน์เนอร์ด้านแฟชั่นชาวแคนาดา ได้ออกแบบเสื้อผ้าเพื่อผู้พิการภายใต้แบรนด์ IZ Adaptive โดยออกแบบเสื้อผ้าชาย-หญิงให้มีฟังก์ชั่นพิเศษ เช่น เสื้อยืดคอกลมที่สวมใส่จากด้านหน้า (ด้านหลังเปิดติดกระดุมแม่เหล็ก), เสื้อแจ็กเก็ตที่สามารถแบ่งเป็น 2 ชิ้น ซ้าย-ขวา, เสื้อโค้ทที่มีด้านหน้ายาวและด้านหลังสั้น เพื่อให้ง่ายต่อการสวมใส่

 



ฟังก์ชั่นของกางเกงยีนส์ที่ออกแบบโดยไฮดี้
(http://www.creativemove.com/creative/alter-ur-ego/)

รวมถึง ไฮดี้ แมคคินซี่ หญิงสาววัย 29 ปี ผู้ซึ่งเป็นอัมพาตท่อนล่าง และมีความหลงใหลในกางเกงยีนส์อย่างมาก หลังจากเธอพบว่า กางเกงยีนส์ทั่วไปนั้น สวมใส่ยาก จึงออกแบบคอลเลกชั่นกางเกงยีนส์ ซึ่งมีความยืดหยุ่นของเนื้อผ้า สวมใส่ง่ายและมีฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ เช่น กระเป๋าที่ใหญ่และอยู่ด้านหน้า, ใส่ยางยืดที่ส่วนเอว และมีช่องเปิดบริเวณเป้าเพื่อใส่สายสวนปัสสาวะ

ในไทย มีความพยายามในการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับคนพิการเช่นกัน แต่พบว่า ยังไม่มีความหลากหลายของรูปแบบ ฟังก์ชั่นการใช้งาน และยังไม่ตอบสนองปัจจัยด้านความสวยงามเท่าไหร่นัก รวมทั้งเสื้อผ้าที่ออกแบบมา ก็ยังเป็นเสื้อผ้าที่ออกแบบเฉพาะสำหรับคนพิการเท่านั้น และไม่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสำหรับผู้ใช้งานที่ไม่พิการ เช่น ‘กางเกงซ่อน-แอบ’ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพนสูง ซึ่งเป็นกางเกงที่สามารถซ่อนถุงปัสสาวะไว้ในขากางเกง และช่วยลดการพันกันของสาย รวมทั้งป้องกันการไหลย้อนของปัสสาวะ

หรือการออกแบบกางเกงของนักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ออกแบบกางเกงจากผ้าฝ้าย ซึ่งมีลักษณะเบา บาง สัมผัสนุ่ม ช่วงสะโพกกว้าง เป้าหลังยาว และมีกระดุมเปิดปิดด้านหน้าเพื่อใส่สายสวนปัสสาวะ รวมทั้งมีแถบรัดสายถุงปัสสาวะกับต้นขาเพื่อซ่อนในกางเกงอีกด้วย

 

แปลและเรียบเรียงจาก
http://izcollection.com/
Parsons Student Lucy Jones is Using Fashion to Create Social Innovation
http://fashionista.com/2015/05/lucy-jones-seated-design
British designer creating fashion for disabled people named 'among world’s brightest entrepreneurs'
http://www.mirror.co.uk/news/uk-news/british-designer-creating-fashion-disabled-7171241
กางเกงซ่อน-แอบ
http://www.muangdho.com/ponsung/index.php?con=innovation3
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9540000000631

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net