Skip to main content
sharethis

อัพเดท: ประชาไทประมวลข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปสุถานการณ์ผู้ที่ยังถูกคุมขังในคดีการเมืองและเกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออก และเข้าไม่ถึงสิทธิประกันตัว ล่าสุด (7 ก.ค.) ปรากฏว่ามีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองจำนวนอย่างน้อย 18 ราย แบ่งเป็นคดีสิ้นสุดแล้ว 11 ราย และคดีความที่ยังไม่สิ้นสุด 7 ราย โดยใน 7 ราย เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 4 ราย

คดีที่สิ้นสุดแล้ว

- อัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการระดับสูงขององค์กรภาครัฐแห่งหนึ่ง อายุราว 66 ปี ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกรวม 87 ปี ก่อนเจ้าตัวรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน (ราว 43.5 ปี) ในคดีมาตรา 112 จากการอัปโหลดและเผยแพร่คลิป 'บรรพต' นักจัดรายการวิทยุใต้ดิน ที่วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์ จำนวน 29 ครั้ง รวมความผิด 29 กรรม  ช่วงระหว่าง 12 พ.ย. 2557 ถึง 24 ม.ค. 2558  

สำหรับคำพิพากษาจำคุก 87 ปีของอัญชัญ นับเป็นอัตราโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 ที่สูงที่สุดที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยบันทึกไว้  

- ศุภากร (สงวนนามสกุล) ถูกศาลสั่งจำคุกราว 4 ปี 6 เดือน ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) และ 14(5) เมื่อปี 2563 เนื่องจากเขาสร้างบัญชีเฟซบุ๊กอวตาร และโพสต์ภาพตัดต่อ พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และ 10 จำนวน 9 โพสต์ โดยศุภากร ถูกจองจำตั้งแต่ 10 มี.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน (4 ก.ค.) รวม 847 วัน หรือระยะเวลานานกว่า 2 ปีแล้ว 

- 'มะ' ณัฐชนน (สงวนนามสกุล) ช่างไฟฟ้าบริษัทแห่งหนึ่ง อายุราว 25 ปี ถูกศาลสั่งจำคุก 6 ปี แต่รับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีครอบครองวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีที่ณัฐชนน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมที่ด่านตรวจโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า  ช่วงก่อนการชุมนุม 12 มิ.ย. 2565 เนื่องจากตำรวจค้นรถมอเตอร์ไซค์และกระเป๋าของณัฐชนน แล้วพบประทัดยักษ์

ทั้งนี้ ในวันที่ถูกจับกุม ศูนย์ทนายฯ ระบุด้วยว่า ณัฐชนนให้การรับสารภาพโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว จนกระทั่งเมื่อ 9 ส.ค. 2565 ศาลจึงมีคำสั่งจำคุกตามที่รายงานข้างต้น ท้ายที่สุด ณัฐชนน ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษา ส่งผลให้คดีความสิ้นสุดลง ทั้งนี้ 'มะ' ณัฐชนน ถูกจำคุกตั้งแต่ 12 มิ.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค. 2566) รวมระยะเวลา 391 วันแล้ว

- 'เมธิน' (นามสมมติ) อดีตพลทหาร อายุราว 21 ปี ถูกศาลทหารกรุงเทพ สั่งจำคุก 5 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน เนื่องจากรับสารภาพ จากกรณีพูดพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ขณะโต้เถียงกับคู่กรณีที่ขับรถยนต์มาเฉี่ยวชนกลางดึก เมื่อ 7 ก.พ. 2565 

เมธิน ถูกจำคุกภายในเรือนจำ มทบ.11 ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค.) รวมระยะเวลา 331 วัน

- กฤษณะ และวรรณภา ถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 หรืออั้งยี่ จากกรณีขายเสื้อมีโลโก้ 'สหพันธรัฐไท' โดยทั้งสองคนคุมขังเมื่อ 30 พ.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค.) รวม 220 วัน  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- "ปริทัศน์" (นามนสมมติ) ประชาชนอายุ 33 ปี ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1 ปี 6 เดือน ในข้อหา มาตรา 112  ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า คดีความของปริทัศน์ สิ้นสุดลงหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุกรวมทั้งสิ้น 1 ปี 6 เดือน ทำให้ปริทัศน์ต้องถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ปริทัศน์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ก่อนถูกคุมขังในคดีนี้ประกอบอาชีพรับจ้างพิมพ์งานมาก่อน ปริทัศน์สู้คดีความตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนกระทั่งคดีสิ้นสุดลงโดยว่าจ้างทนายความส่วนตัว ไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากศูนย์ทนายฯ แต่อย่างใด 

- "ต๊ะ" คทาธร (สงวนนามสกุล) สมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อายุราว 26 ปี ถูกตำรวจจับกุมเมื่อ 10 เม.ย. 2565 ระหว่างที่คทาธร และคงเพชร ขับมอเตอร์ไซค์เดินทางจากที่พักย่านดินแดง ไปเข้าร่วมกิจกรรม "#ยุติธรรมไม่มี 12ปีเราไม่ลืม" ที่แยกราชประสงค์ โดยระหว่างทางทั้ง 2 คนตำรวจเรียกตรวจค้น และพบวัตถุระเบิด ทั้งสองคนจึงถูกตำรวจดำเนินคดีข้อหาครอบครองวัตถุระเบิด และถูกฝากขังชั้นสอบสวนตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565 

ในระหว่างนี้ ทนายความของคทาธร ยังคงยื่นประกันตัว แต่ถูกปฏิเสธเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อ 7 มี.ค. 2566 ศาลอาญามีคำตัดสินลงโทษจำคุก 1 ปี 3 เดือน 15 วัน ในข้อหาครอบครองวัตถุระเบิด และขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน  

ภายหลัง คทาธร ตัดสินใจไม่ขอยื่นประกันเพื่ออุทธรณ์คำพิพากษา และตัดสินใจรับโทษจนครบกำหนดในวันที่ 24 ก.ค. 2566

สำหรับคทาธร นับเป็นผู้ถูกฝากขังยาวนานที่สุดในปี 2565 โดยถูกฝากขังก่อนมีคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 จนถึงปัจจุบัน (7 ก.ค. 2566) รวมระยะเวลา 453 วัน 

- 'แน็ค' ทัตพงศ์ เขียวขาว ประชาชนวัย 25 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุกรวม 3 ปี เมื่อ 31 พ.ค. 2566 จากคดีครอบครองวัตถุระเบิด ระหว่างเข้าร่วมชุมนุมทะลุแก๊ซ บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อ 21 พ.ย. 2564 เขาถูกคุมขังในชั้นสอบสวนจนครบกำหนดฝากขัง รวม 84 วัน และได้รับการปล่อยตัวครั้งแรก 8 ก.พ. 2566

ต่อมา 1 มี.ค. 2566 อัยการยื่นฟ้องคดีของทัตพงศ์ ต่อศาลอาญา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทัตพงศ์จึงถูกควบคุมตัวรอบสอง เรื่อยมา จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ซึ่งภายหลัง ทัตพงศ์ ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษา ทำให้คดีดังกล่าวสิ้นสุดลง 

- 'สุวิทย์' ถูกศาลชั้นต้นสั่งลงโทษจำคุก 1 ปี 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา คดีข้อหาครอบครองระเบิดปิงปอง กรณี #ม็อบ10สิงหา2564 และเมื่อ 24 เม.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลฎีกาก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในครั้งแรก ต่อมา สุวิทย์ได้ปรึกษากับครอบครัวแล้วจึงตัดสินใจจะไม่ยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อไปอีก และจะรับโทษจำคุกให้ครบตามกำหนด ส่งผลให้คดีสิ้นสุดลง

- เอกชัย หงส์กังวาน ถูกจำคุก 1 ปี ข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (4) กรณีโพสต์เล่าประสบการณ์ทางเพศในเรือนจำ ส่งผลให้เอกชัย ต้องเข้าเรือนจำทันทีวานนี้ (6 ก.ค.) ก่อนหน้านี้เอกชัยถูกคุมขังระหว่างฎีกามาแล้ว 154 วัน ทำให้ต้องรับโทษจำคุกอีกราว 6 เดือนเศษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คดีที่ยังไม่สิ้นสุด 

'ถิรนัย-ชัยพร' คดีครอบครองวัตถุระเบิด

ถิรนัย (สงวนนามสกุล) อายุราว 22 ปี และชัยพร (สงวนนามสกุล) อายุราว 22 ปี สองผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส ถูกตำรวจจับกุมที่แยกนางเลิ้ง ก่อนเริ่มกิจกรรม "CAR MOB CALL (ประยุทธ์) OUT" เมื่อ 29 ส.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตรวจค้นมอเตอร์ไซค์ที่ทั้งคู่ขับขี่มา และพบระเบิดปิงปองบรรจุขวด 2 ลูก ระเบิดปิงปองลูกบอลกลม 8 ลูก อยู่ในกระเป๋าที่ถิรนัย สะพายอยู่ และพบขวดบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง 4 ขวด ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้ตำรวจตั้งข้อหาครอบครองวัตถุระเบิดแก่ทั้งสองคน

เมื่อ 15 ก.พ. 256ุ6 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคนละ 6 ปี ก่อนลดโทษเหลือคนละ 3 ปี เพราะจำเลยรับสารภาพ ปัจจุบัน ทั้ง 2 คนถูกฝากขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาตั้งแต่ 15 ก.พ. 2566 จนถึงปัจจุบัน 7 ก.ค. 2566 รวม 143 วัน

'ชนะดล' คดีครอบครองวัตถุระเบิด 

'มาร์ค' ชนะดล ลอยมั่นคง สมาชิกทะลุแก๊สอายุราว 24 ปี ถูกฝากขังชั้นพิจารณาคดีศาลในคดีครอบครองวัตถุระเบิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันจัดการชุมนุม จากการชุมนุมทะลุแก๊ส เมื่อ 20 ส.ค. 2564 ก่อนศาลรับฝากขังและไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อ 15 มี.ค. 2566 สำหรับสมาชิกทะลุแก๊สวัย 24 ปี ถูกคุมขังระหว่าง 15 มี.ค. 2566 จนถึง 7 ก.ค. 2566 รวม 115 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วุฒิ' คดี ม.112 โพสต์เฟซฯ 12 ข้อความ

วุฒิ (นามสมมติ) อดีตช่างเชื่อม วัย 51 ปี ถูกอัยการมีนบุรีสั่งฟ้องในคดี มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความช่วงปี 2564 

กระทั่งเมื่อ 27 มี.ค. 2566 ศาลอาญามีนบุรีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั้นพิจารณาคดี ปัจจุบัน วุฒิ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 จนถึง 7 ก.ค. 2566 รวมระยะเวลากว่า 103 วันแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เวหา' คดี ม.112 ทวีต 'คุกวังทวีฯ' และ 'แอร์ไม่เย็น'

เวหา แสนชนชนะศึก ประชาชนอายุ 37 ปี ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุก 3 ปี 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เมื่อ 18 พ.ค. 2566 จากคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) ปมเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ "lll ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด" ทวีตเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคุกวังทวีวัฒนา และ 'แอร์ไม่เย็น' ซึ่งเป็นประเด็นที่โซเชียลมีเดียให้ความสนใจเมื่อช่วงปี 2564 และไม่ได้รับการประกันระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา เมื่อ 20 พ.ค. 2566

ปัจจุบัน เวหา ถูกควบคุมตัว 20 พ.ค. 2566 จนถึง 7 ก.ค. 2566 รวม 49 วัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทีปกร' คดีมาตรา 112 โพสต์-แชร์คลิปตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์

ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา กับ 'ทีปกร' วัย 38 ปี ในคดี ม.112 กรณีโพสต์-แชร์คลิปตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ ทำให้ทีปกร ถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนั้น โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว อ้างเหตุผลว่า "ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์และกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น"

ปัจจุบัน ทีปกร ถูกควบคุมตัวระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ระหว่าง 19 มิ.ย. 2566 จนถึง 7 ก.ค. 2566 รวมระยะเวลา 19 วัน

'วารุณี' คดีมาตรา 112 โพสต์ภาพพระแก้วมรกต สวมชุดแบรนด์ 'S'

เมื่อ 28 มิ.ย. 2566 'วารุณี' (สงวนนามสกุล) ประชาชนชาวพิษณุโลก วัย 30 ปี ถูกศาลชั้นต้นตัดสินโทษจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพจึงลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง 1 ปี 6 เดือน 

กรณีโพสต์ภาพบนเฟซบุ๊ก เป็นภาพรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเป็นชุดราตรีจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI โดยคดีนี้มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ คือ นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการจากกลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) 

ปัจจุบัน 'วารุณี' ถูกควบคุมตัวระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. 2566 จนถึง 7 ก.ค. 2566 รวมระยะเวลา 10 วัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net