Skip to main content
sharethis

ประชาไทย้อนดูเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับ 'หยก' ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนอายุ 15 ปี ตั้งแต่วันที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด จนถึงวันที่ถูกพรากสิทธิด้านการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่อายุ 14 ปี ถูก ตร.คุกคามอย่างน้อย 3 ครั้ง

  • การคุกคามต่อธนลภย์ ผลัญชัย เป็นที่รับรู้ครั้งแรก เมื่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อ 14 ต.ค. 2565 มีเยาวชนอายุ 14 ปี (อายุขณะนั้น ของหยก) ถูก อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ด้วยข้อหามาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ จากการที่หยก แสดงออกทางการเมืองในที่ชุมนุม "13 ตุลา หวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป" ที่ลานเสาชิงช้า หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (หลังเก่า) นับเป็นข้อหามาตรา 112 คดีแรกของหยก และเป็นเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้นที่โดนดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 
  • หลังจากนั้น เมื่อ 20 ต.ค. 2565 และ 7 พ.ย. 2565 'หยก' เล่าว่า เธอเคยถูกตำรวจสันติบาลมาหาที่บ้านด้วยกันถึง 2 ครั้ง และมีตำรวจไปตามเธอที่โรงเรียนอีก 1 ครั้ง หลังถูกแจ้งความด้วยมาตรา 112 นอกจากนี้ ตำรวจยังมีการพูดจาคุกคามกับผู้ปกครองของหยก อาทิ ควรให้ลูกไปพบจิตแพทย์ หรือ "มีลูกแบบนี้ฆ่าตัวตายดีกว่า" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกแจ้ง ม.112 ครั้งที่ 2 ปราศรัยหน้า UN

22 ก.พ. 2566 'หยก' ถูกประธาน ศปปส. ร้องทุกข์กล่าวโทษข้อหามาตรา 112 ที่ สน.นางเลิ้ง เป็นคดีที่ 2 หลังจากเธอไปอ่านแถลงการณ์และฉีกหมายเรียกหน้าสำนักงานสหประชาชาติ หรือ UN ที่ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ เมื่อ 18 ก.พ. 2566

หมายเหตุ ทั้งสองคดีของหยก ยังอยู่ในชั้นสอบสวน โดยตำรวจยังไม่มีการส่งสำนวนไปที่อัยการ

'หยก' ธนลภย์ ผลัญชัย ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ที่มา: แมวลายวัว) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกหมายจับ แม้ขอเลื่อนรับทราบข้อหา ถูก ตร.ล่วงละเมิดทางเพศ 

  • 28 มี.ค. 2566 หยกถูกจับกุมตัวที่ สน.พระราชวัง หลังจากเธอเดินทางไปเพื่อติดตามการจับกุม 'บังเอิญ' ศิลปินอิสระวัย 25 ปี ผู้พ่นสเปรย์กำแพงพระบรมมหาราชวัง หรือวัดพระแก้ว

ทั้งนี้ การจับกุมหยกไม่มีการแสดงหมาย เป็นการจับกุมและดึงลากตัวหยก เข้าไปในห้องสอบสวนของ สน. ภายหลังตำรวจอ้างว่าหยก เป็นผู้บันทึกวีดีโอขณะพ่นสีที่กำแพง และจะแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมฯ 

ต่อมา เมื่อทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาถึงที่ สน.พระราชวัง ตำรวจกลับแจ้งทนายว่า หยกถูกจับกุมตามหมายจับจาก สน.สำราญราษฎร์ ปมร่วมชุมนุม '13 ตุลา หวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป' 

การออกหมายจับเกิดขึ้น แม้ว่าเมื่อ 15 ก.พ. 2566 เยาวชนอายุ 15 ปี เคยยื่นหนังสือเพื่อขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนของ สน.สำราญราษฎร์ เนื่องจากติดธุระด้านการเรียน และขอเลื่อนเป็นวันที่ 9 เม.ย. 2566 เวลา 10.00 น. แต่ทางตำรวจยังไปขอศาลออกหมายจับ

หยก เปิดเผยด้วยว่า ระหว่างการจับกุม ตำรวจชายคุกคามทางเพศโดยมีตำรวจผู้ชายหลายรายนั่งทับตัวเธอ และล้วงจับต้นขา รวมถึงล้วงเข้าไปบริเวณหน้าอก เพื่อพยายามยึดเอาไอแพดที่เหน็บไว้ในเสื้อด้านในออกไป 

หยกถูกยึดทรัพย์โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย เหตุจากไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกการจับกุมก่อนดำเนินการ นอกจากนี้ ระหว่างค้นตัวหยก ไม่มีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ และบุคคลอื่นๆ อย่างที่ปรึกษาทางกฎหมายอยู่ในสถานที่ เพื่อให้การตรวจค้นเยาวชนเป็นไปตามกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิ แม้ว่าคนสนิทที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ตำรวจจับกุมหยก จะทักท้วงแล้วก็ตาม แต่ทางตำรวจยังเพิกเฉย

หลังจากการถูกจับกุมที่ สน.พระราชวัง ในช่วงกลางคืนของวันที่ 28 มี.ค. 2566 ตำรวจได้พาตัวหยก ไปที่ สน.สำราญราษฎร์ เพื่อไต่สวนการจับกุมในคดีมาตรา 112 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกควบคุมตัว 51 วันที่บ้านปรานี

  • 29 มี.ค. 2566 หยกถูกตำรวจนำตัวไปไต่สวนการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โดยระหว่างดำเนินการไต่สวนหยก แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ นั่งหันหลังให้บัลลังก์ผู้พิพากษา ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมที่เธอมองว่าไม่เป็นธรรม และไม่มีการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมาย

ท้ายสุด ศาลเยาวชนฯ ออกหมายควบคุมตัวหยกที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี (บ้านปราณี) จ.นครปฐม ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 2566 จนถึง 18 พ.ค. 2566 รวมระยะเวลา 51 วัน โดยหลังจากที่ออกมา หยก เป็นผื่นตุ่มแดงขึ้นเต็มแผ่นหลังจนต้องไปพบแพทย์เฉพาะทาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่มา แมวส้ม ประชาไท

ถูกแกนนำ ศปปส. ขู่ฆ่า หากไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม

  • 15 เม.ย. 2566 ระหว่างที่หยก อยู่ในบ้านปรานี ประธาน ศปปส. ไลฟ์สดบนเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง ขู่แจ้งความเพิ่ม และจะเอาชีวิตหยก หากไม่ยอมรับกระบวนการศาล 

เหตุการณ์โรงเรียนเตรียมพัฒน์: ถูกถอดจากสถานะนักเรียน หลุดจากระบบการศึกษา

  • 19 พ.ค. 2566 หลังจากได้รับการปล่อยตัว 'หยก' ได้เดินทางไปมอบตัวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ (เตรียมพัฒน์) พร้อมกับ เนติพร หรือบุ้ง นักกิจกรรมการเมือง ซึ่งทำหน้าที่ผู้ปกครอง โดยไม่มีรายงานพบปัญหาการมอบตัวในวันนั้นแต่อย่างใด และทางโรงเรียน "ยินยอมให้มอบตัวเข้าเรียน" 
  • 5 มิ.ย. 2566 'หยก' เริ่มทำสีผมและแต่งไปรเวทมาเรียนที่โรงเรียนเตรียมพัฒน์ เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพด้านเครื่องแต่งกาย และเสรีภาพทรงผมในสถานศึกษา เนื่องจากเธอมองว่าเครื่องแต่งกายไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการเรียน

ที่มา: เฟซบุ๊ก Thanalop Phalanchai

  • จนกระทั่ง 9 มิ.ย. 2566 บีบีซีไทย รายงานว่า เนติพร เปิดเผยว่า เธอได้รับโทรศัพท์จากทางโรงเรียนเตรียมพัฒน์ แจ้งว่าการมอบตัวมีปัญหา และต้องการให้เนติพร พาตัวผู้ปกครองตัวจริงของธนลภย์ และธนลภย์ มามอบตัวพร้อมกันที่โรงเรียนเตรียมพัฒน์ ภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2566 

"ถ้าเอาพ่อแม่ของน้องมาไม่ได้ ก็ไล่ออก" และกำหนดเส้นตายว่า "ถ้าวันที่ 10 มิ.ย. เอาพ่อแม่หยกมาไม่ได้ จะถูกลบรายชื่อจากโรงเรียนไปเลย" บีบีซีไทย รายงาน

  • 13 มิ.ย. 2566 'หยก' โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของเธอ ระบุว่าถูกอาจารย์เรียกไปคุยที่ห้องกับรองผู้อำนวยการโรงเรียน อาจารย์ประจำชั้น และอาจารย์ผู้ชาย รวม 6 คน อย่างไรก็ตาม รายละเอียดจากโพสต์ไม่ทราบว่าทำไมโรงเรียนถึงเรียกหยกไปคุย แต่มีการพูดจาทำนองว่าให้หยก ลาออกจากโรงเรียน โดยทางโรงเรียนจะคืนค่าเทอมให้ 

  • 14 มิ.ย. 2566 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ออกแถลงการณ์ฉบับแรก ระบุว่า 'หยก' ไม่มีสถานะเป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมพัฒน์ โดยโรงเรียนอ้างว่าไม่ได้ทำตามระเบียบการมอบตัวให้ครบถ้วน เหตุจากหยก ไม่ได้มามอบตัวพร้อมกับผู้ปกครองตามสายเลือด (บิดา-มารดา) ภายในวันที่ 10 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการกรอกข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบ 'DMC' ส่งผลให้หยก ไม่ได้เรียนในปีการศึกษา 2566 
  • 16 มิ.ย. 2566 หยกยืนยันว่ากระบวนการมอบตัวของเธอครบถ้วน และได้จ่ายเงินค่าเทอมแล้ว ฉะนั้น เธอควรมีสิทธิเข้าถึงการศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนมีการปิดประตูโรงเรียนไม่ให้เข้าเรียน เธอจึงปีนรั้วเข้าโรงเรียนเตรียมพัฒน์ และมีผู้พบเห็นตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมากเดินตามธนลภย์ เข้าไปในโรงเรียนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หยก' เล่าเหตุการณ์ในรายการ "Daily Topics" ทางช่อง "SpokeDark TV" เมื่อ 20 มิ.ย. 2566  ด้วยว่าเธอถูกกดดันให้เลิกล้มความตั้งใจในการกลับเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมพัฒน์หลายครั้ง 

เธอเล่าด้วยว่า หลังจากปีนเข้าไปในโรงเรียนแล้ว เธอเข้าไปนั่งในพิธีไหว้ครูของโรงเรียน ก็มีคนมาบอกว่า "เป็นบุคคลภายนอก" นะ นอกจากนี้ ตอนเดินเข้าไปเรียนในห้องเรียนคาบภาษาจีน มีการบอกให้ 'เหล่าซือ' (อาจารย์สอนภาษาจีน) ให้เรียกเธอไปคุย ตอนนั้นมีทั้งสมาคมผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และสภานักเรียน ก็มาคุยว่าเธอ เป็นบุคคลภายนอก และการแต่งตัวแบบนี้มันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่รุ่นพี่ รุ่นเพื่อน และรุ่นน้อง

ตอนไปเรียนคาบชุมนุม หยก ระบุว่า มีสมาคมผู้ปกครองมาดักที่ทางลงบันไดจำนวนมาก เธอจึงเลี่ยงออกมาอีกเส้นทาง แต่ทางผู้ปกครองได้ส่งคนอีก 2 คน วิ่งตามไปทุกที่ มีอาจารย์ฝ่ายปกครองมาบอกธนลภย์ ว่าเหนื่อยไหม ไม่ได้อยู่ในระบบ ทำไปก็ไม่ได้อะไรนะ เหนื่อยเปล่า

  • นอกจากนี้ เมื่อ 16 มิ.ย. 2566 ศปปส.ยื่นหนังสือถึงกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้เร่งรัดคดีมาตรา 112 กับผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก 'สหายนอนน้อย' ซึ่งทาง ศปปส. สงสัยว่า 'หยก' เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว อีกจำนวน 6 คดี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • 17 มิ.ย. 2566 โรงเรียนเตรียมพัฒน์ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 โดยยืนยันอีกครั้งว่า หยก ไม่มีสถานะเป็นนักเรียน เนื่องจากการมอบตัวไม่เป็นไปตามเงื่อนไข 

ทั้งนี้ รายงานจากประชาไท พบว่าเอกสารระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ 2 ฉบับ ได้แก่ "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา พ.ศ. 2548" และ "ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยทะเบียนนักเรียน พ.ศ.2535" ซึ่งบังคับใช้เป็นกฎหมายในขณะนี้ ไม่ได้ระบุว่าต้องให้ผู้ปกครองตามสายเลือดพาบุตร-ธิดาเข้ามอบตัวพร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แกนนำ ศชอ. โพสต์ภาพอ้างว่าเป็นบ้านหยก

  • 17 มิ.ย. 2566 นพดล พรหมภาสิต แกนนำศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือ ศชอ. โพสต์ภาพบนสื่อโซเชียลมีเดีย 'เฟซบุ๊ก' อ้างว่าเป็นสภาพบ้านของหยก และมีการแสดงข้อมูลสถานที่จาก Google Map 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • 19 มิ.ย. 2566 'หยก' สามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมพัฒน์ได้โดยไม่ถูกขัดขวาง แต่มีผู้พบเห็นตำรวจหญิง หรือกองร้อยน้ำหวาน ในโรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ ด้วย ซึ่งภายหลังโรงเรียนเตรียมพัมน์ ชี้แจงเหตุผลว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยธนลภย์ 
  • ปัจจุบัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมพัฒน์ ปฏิเสธที่จะพูดคุยหาทางออกกับ 'ผู้อุปการะ' จากพรรคการเมืองก้าวไกล ในการนำหยก กลับเข้ามาเรียน 
  • ท้ายที่สุด หยก ยืนยันผ่านรายการ Daily Topics ว่า เธอจะกลับไปเรียนแน่นอน เนื่องจากจ่ายค่าเทอมแล้ว และสิทธิการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ

"ไป (เรียน) ค่ะ เพราะว่าเราจ่ายค่าเทอมแล้ว กสม.ยืนยันด้วยว่าเรามีสิทธิ์เรียน การเรียนสำคัญต่อเด็กมากที่สุดค่ะ" หยก ทิ้งท้ายในรายการ Daily Topics' เมื่อพิธีกรถามว่า "เรื่องไปไกลขนาดนี้ หยกยังจะไปโรงเรียนอยู่ไหม" 

ธนลภย์ ผลัญชัย เมื่อ 16 มิ.ย. 2566 (ที่มา: ไข่แมวชีส)

หมายเหตุ - มีการปรับแก้ไขภาพกราฟิกไทม์ไลน์ เมื่อ 23 มิ.ย. 2566 เวลา 12.51 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net