Skip to main content
sharethis

“สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” หรือ Right to Self Determination : RSD  หลักการเก่าแก่ยังเหมาะที่จะใช้อีกหรือไม่ กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีจะเดินไปในหลักการใด อ่านคำอธิบายจาก 2 นักวิชาการสันติภาพ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และ รุ่งระวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ชี้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสันติภาพที่ต้องใช้พลังต่อรองเยอะ แต่ยังต้องเผชิญวาทกรรมรัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้ เปิดผังความคิด RSD พล็อตเรื่องที่รัฐไทยกังวล ความล้มเหลวไม่เป็นท่าของ R2P สู่การกำเนิดหลักการใหม่ Peace as State Building สร้างรัฐให้เข้มแข็งสันติภาพจะเกิดขึ้น ต่างชาติไม่แทรกแซงแต่หนุนเสริม อนาคตชายแดนใต้/ปาตานีต้องเป็นสันติภาพเสรี ถ้ารัฐเผด็จการต้องบีบให้เป็นประชาธิปไตย

การเรียกร้องเรื่อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” Right to Self Determination : RSD ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมานานหลายปี แต่ข้อเรียกร้องนี้จะเหมาะสมหรือไม่ในบริบทปัจจุบัน หากไม่เหมาะสม แล้วกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จะเดินไปในหลักการใด

ในการเปิดตัวขบวนนักศึกษาแห่งชาติ Pelajar Bangsa เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ทำให้เกิดดราม่าว่า “เป็นการทำประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดน” ทั้งที่เป็นแค่การสอบถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย ?

RSD หลักการเก่าแก่ยุคปลดปล่อยอาณานิคม

การเคลื่อนไหวเรียกร้อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” หรือ RSD ในชายแดนใต้/ปาตานี เริ่มปรากฏมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นการอ้างถึงมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples)

มตินี้มีข้อความกำหนดไว้ในข้อ 1.1 ว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง การพัฒนา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี” ผลของมตินี้ ทำให้การปลดปล่อยดินแดนต่าง ๆ ที่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกประสบความสำเร็จ ได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

ทว่า ยุคของการปลดปล่อยอาณานิคมผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว หลักการ RSD ยังใช้ได้หรือไม่ ในการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้ ในขณะที่หลักการนี้มักถูกเข้าใจว่า ใช้กับการเรียกร้องเอกราชเพียงอย่างเดียว

ยิ่งเมื่อขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี หรือ BRN ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีได้เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขกับฝ่ายไทย ภายใต้หลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งมาตรา 1 ระบุไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

อ่านคำอธิบายจาก 2 นักวิชาการสันติภาพ ผู้ศึกษาปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้/ปาตานีมาอย่างต่อเนื่อง ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  ดังนี้

การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสันติภาพที่ต้องใช้พลังต่อรอง

รุ่งรวี ผู้ศึกษาเรื่องการต่อสู้ขบวนการ BRN กล่าวว่า BRN ก็นำแนวคิด RSD มาใช้ต่อสู้กับฝ่ายรัฐ แต่คิดว่าปัจจุบันแนวคิดนี้น่าจะพ้นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วสำหรับการเรียกร้องเอกราช

รุ่งรวี กล่าวว่า ปัจจุบันการต่อสู้ระหว่างฝ่ายขบวนการปาตานีกับฝ่ายรัฐไทยเป็นต่อสู้กันในพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งก็จะต้องมีการต่อรองกันในทางการเมืองมากขึ้นด้วย

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ยังมีเหตุผลอื่นที่พอจะเรียกร้องเอกราชได้ ถ้านานาชาติจะสนับสนุน

“แม้การต่อสู้ของปาตานีเคยอยู่ในบริบทนี้ในอดีต แต่หากนำ RSD มาอ้างในการต่อสู้เพื่อเอกราชจะมีน้ำหนักมากพอหรือไม่ในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองมีการตีความไว้หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน”

รุ่งรวี กล่าวว่า แม้ว่าในทางทฤษฎียังมีเหตุผลอื่นๆ ที่พอจะเรียกร้องเอกราชได้และน่าจะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ถ้าจะสนับสนุน ก็คือมีเหตุให้อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว เช่น ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือมีการเข่นฆ่ากันขนานใหญ่

“ถ้าไม่มีเหตุผลขนาดนี้นานาชาติก็คงไม่สนับสนุน ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดรัฐใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะไม่ดีต่อระเบียบโลก”

ยังต้องเผชิญวาทกรรม รัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้ แม้ไม่ใช่เอกราช

รุ่งรวี กล่าวว่า แม้การอ้าง RSD เพื่อเอกราชอาจไม่มีน้ำหนักพอ แต่สำหรับประเทศไทย การอ้างหลัก RSD เพื่อเรียกร้องการปกครองตนเอง ปกครองพิเศษหรือปกครองแบบไหนก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่เอกราช ก็ยังต้องเผชิญกับวาทกรรมเดิม ๆ จากสังคมไทยอยู่ดี ก็คือประเทศไทยเป็นรัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้

เปิดผังความคิด RSD ที่รัฐไทยไม่ยอมแน่

ศรีสมภพ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep south Watch : DSW) อธิบายกรณีนี้ว่า ในผังความคิดเรื่อง RSD ของฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ดังนี้

รัฐมองว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิของคนมาลายูในเอกราช ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐจะไม่ยอม ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐจะต้องใช้ความรุนแรงเข้าปราบ แต่เมื่อใช้ความรุนแรงปราบมันก็จะเข้าทางของฝ่ายที่มีข้อเสนอนี้ เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็จะขาดความชอบธรรมในการจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะใช้ความรุนแรงในการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดสภาวะของการล้างเผ่าพันธุ์ หรือมีการปลุกระดมการฆ่ากันระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนา ยิ่งแรงยิ่งกราบ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษาและผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)

เพราะเปิดทางต่างชาติเข้าแทรกแซง ความชอบธรรมของรัฐหายไป

ศรีสมภพ อธิบายต่อไปว่า เมื่อความชอบธรรมของรัฐเสียไป ก็เป็นเงื่อนไขให้มีการอ้างกฎหมายระหว่างประเทศอีกข้อหนึ่ง เรียกว่า R2P ย่อมาจากคำว่า Right to Protect หรือสิทธิในการปกป้องคุ้มครอง หมายความว่า เมื่อมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในรัฐใดรัฐหนึ่ง ต่างประเทศมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาแทรกแซงเพื่อจะปกป้องสิทธิมนุษยชนและภารกิจด้านมนุษยธรรมเพื่อให้มีการจัดการใหม่

ดังนั้น ตามหลัก R2P คำว่าอำนาจอธิปไตย (Sovereignty)ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่ารัฐที่มีอำนาจอธิปไตยแล้วจะทำอะไรก็ได้ ถ้าไม่ปกป้องประชาชนรัฐก็จะเสียความชอบธรรมไป จากนั้นประชาคมระหว่างประเทศทางด้านมนุษยธรรมก็จะเข้ามาจัดการปัญหานี้ สิ่งที่ตามมาคือการแทรกแซงของสหประชาชาติและกองกำลังสันติภาพจากต่างประเทศจะเข้ามาเพื่อยุติความรุนแรง ซึ่งแสดงว่าอำนาจอธิปไตยของรัฐเดิมลดลงและหมดความชอบธรรม

นี่คือพล็อตเรื่อง RSD ที่รัฐไทยกังวลมาก

หลังจากนั้นก็จะมีการจัดประชามติให้ประชาชนได้กำหนดใจตนเอง ตามหลัก RSD ถามว่าคุณต้องการการปกครองแบบไหน ซึ่งในสภาวะที่สังคมมีความวุ่นวายปั่นป่วนนั้นประชาชนก็จะลงมติว่าอยากเป็นอิสระ ดังนั้น องค์การระหว่างประเทศก็จะรับรองรัฐที่เกิดใหม่

นี่คือพล็อตเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงวางไว้เกี่ยวกับการเรียกร้อง RSD เพราะฉะนั้น รัฐจึงกลัวที่จะเป็นไปตามพล็อตนี้

“ผมก็ไม่รู้ว่า ฝ่ายที่เคลื่อนไหวเรื่อง RSD ได้วางพล็อตเรื่องไว้อย่างไร” ศรีสมภพ กล่าว

ใช้หลัก R2P แทน ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เปิดเผยต่อไปว่า ในกฎหมายระหว่างประเทศยังมีหลักการอีกข้อหนึ่งซึ่งสำคัญมากในปัจจุบัน คือ สิทธิความเท่าเทียมกันของอำนาจอธิปไตย (Equality of Sovereignty) หมายถึง รัฐที่มีอำนาจอธิปไตย เป็นเจ้าของสิทธิที่เท่าเทียมกันในการปกครองตนเอง ไม่ว่ารัฐเล็กรัฐใหญ่ ในการจัดการปัญหาของตัวเองต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงไม่ได้

ปัจจุบันโลกกลับเข้ามาสู่หลักการนี้(Equality of Sovereignty) ต่างจากในช่วง 40-50 ปีก่อนหรือหลังสงครามเย็น ที่กองกำลังระหว่างประเทศหรือสหประชาชาติได้เข้าไปแทรกแซงประเทศต่าง ๆ ตามหลัก R2P แต่เอาเข้าจริงมันล้มเหลว และยิ่งทำให้เละหนักขึ้น

อาจจะมี 1-2 ประเทศเท่านั้นที่ประกาศเอกราชได้ด้วยวิธีการ R2P นอกนั้นกลายเป็นสงครามกลางเมืองในประเทศ ปั่นป่วนวุ่นวายไม่จบ หน่วยกองกำลังของสหประชาชาติเองก็โดนตีหัว ตัวอย่างเช่น ในบอสเนีย หรือ ซีเรีย

มีไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการใช้หลัก R2P ในการสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ ตัวอย่างที่อยู่ใกล้ๆ บ้านเราก็คือติมอร์เลสเต และกัมพูชา

ในกัมพูชา องค์กรระหว่างประเทศเข้าไปจัดการเลือกตั้งให้ แต่รัฐบาลที่เกิดขึ้นตอนหลังก็เป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว อ่อนแอ กลายเป็นรัฐบาลเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่งไปเลย ส่วนติมอร์เลสเตก็เป็นรัฐที่อ่อนแอ พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ต่างประเทศยังต้องให้เงินสนับสนุนอยู่จนถึงทุกวันนี้

กำเนิดหลักการใหม่ Peace as State Building

ศรีสมภพ กล่าวต่อไปว่า เมื่อหลัก R2P ล้มเหลว แล้วตอนนี้ก็เป็นเรื่อง Equality of Sovereignty ที่จะไม่แทรกแซงกิจการในประเทศ ทำให้มีอีกหลักการหนึ่งเกิดขึ้น ก็คือ State Building ให้รัฐอธิปไตยจัดการตนเอง แล้วให้ต่างประเทศเข้ามาช่วยเสริมความเข้มแข็ง เสริมประสิทธิภาพและเสริมความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชน

เพราะฉะนั้นจึงมีความช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามา แต่ต่างประเทศไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของรัฐ เพียงแต่เข้ามาเติมเต็มและต่อยอดให้

ในส่วนของประเทศไทย ก็มีองค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาตามหลักการนี้ เช่น UNDP, World Bank หรือ USAID ที่เข้ามาช่วยบางด้านของรัฐที่อ่อนแอให้มีความเข้มแข็งขึ้น เป็นการสร้างศักยภาพให้ แต่บางคนก็ไม่เข้าใจ ยังมองอีกด้านหนึ่งว่าเป็นการแทรกแซง

โดยหลักการ State Building นี้จะพัฒนาไปเป็นหลักการใหม่ในการสร้างสันติภาพ คือ Peace as State Building สันติภาพคือการสร้างรัฐให้เข้มแข็ง

สันติภาพคือการสร้างรัฐให้เข้มแข็ง ต่างประเทศไม่แทรกแซง แต่ช่วยเสริมพลัง

ศรีสมภพ ยกตัวอย่าง กรณี USAID หรือองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาว่า เวลาเข้ามาทำโครงการในประเทศไทยก็จะมีความระวังและเข้มงวดมาก ห้ามไม่ให้ทำอย่างโน้นไม่ให้ทำอย่างนี้ เพราะเกรงใจรัฐบาลไทยมาก แม้กระทั่งคำว่าปาตานีก็ยังไม่ให้ใช้ ก็เพราะใช้หลักการนี้

การเข้ามาเติมเต็มต่อยอดให้รัฐช่วยจัดการปัญหาให้ดีขึ้น เช่น เสริมศักยภาพ เสริมพลังเครือข่าย เสริมความร่วมมือของภาคประชาสังคม มาอบรม มาพัฒนาอะไรต่างๆ แต่ประเด็นร้อนจะไม่ยุ่งเลย

อีกอย่างมันเป็นเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองที่ต้องเอาใจรัฐไทย เพราะต้องการสู้กันจีน กลัวรัฐบาลไทยไปเข้ากับจีนแล้วก็จะเสียอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคไป

รัฐเองก็ไม่อยากให้ยุ่ง และองค์กรระหว่างประเทศเองก็ไม่อยากจะยุ่งมาก เพราะอาจจะเสียภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคไป ซึ่งตอนนี้ก็มีความอ่อนไหวอยู่ เพราะสงครามในยูเครนตอนนี้ก็ยังแก้ไม่ตก

สงครามในยูเครนกับรัสเซีย ก็ใช้หลักการไม่แทรกแซง ทั้งนาโต้และสหรัฐอเมริกาก็ไม่ส่งกองกำลังไป แต่ให้เงินช่วย ส่งอาวุธมาให้ เป็นเรื่องของการสร้างศักยภาพตามนิยาม State Building

สร้างรัฐให้เข้มแข็งสันติภาพก็จะเกิดขึ้น ถ้ารัฐเผด็จการต้องบีบให้เป็นประชาธิปไตย

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สรุปว่า เพราะฉะนั้น ในกรณีของประเทศไทย พล็อตเรื่องที่พูดไว้ตอนแรกก็ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างนี้ การแทรกแซงเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน เช่น ในกรณีพม่าที่เข้าไปแทรกแซงไม่ได้เลย

ดังนั้น ในการสนับสนุนเรื่องสันติภาพ จึงเกิดคือคำว่า Peace as State Building หมายถึง สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็คือต้องมีการสร้างรัฐให้เข้มแข็งก่อน จึงจะสามารถจัดการตนเองได้ สันติภาพก็จะเกิดขึ้นตามมา

หลักการก็คือ สร้างรัฐให้เข้มแข็งไว้ก่อน แต่บางทีมันก็เกิดเป็น “รัฐเผด็จการ” ขึ้นมาจะทำอย่างไร ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากต้องบีบให้ “รัฐเผด็จการเป็นประชาธิปไตย” ให้ได้

อย่างกรณีประเทศไทยตอนนี้ ถ้าพิธา ลิ้มเจริญรัตย์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ตั้งรัฐบาลก็โอเค แต่ถ้าพิธาไม่สามารถตั้งได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ได้อยู่ต่อมันก็ไม่ต่างจากเดิม นานาชาติก็ทำได้แค่บีบจากภายนอก ซักพักหนึ่งก็ให้กลับมาเลือกตั้งใหม่

ต่างประเทศจึงจับตากระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

ศรีสมภพ เล่าด้วยว่า ตอนนี้ต่างประเทศก็จะติดตามปัญหาภาคใต้อย่างใกล้ชิด มีทูตจากตะวันตกเข้ามาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศโดยเฉพาะในช่วงก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะการเมืองกำลังจะเปลี่ยน และกระบวนการสันติภาพที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม

เพราะฉะนั้นต่างประเทศจึงเข้ามาดูลู่ทางว่า จะเข้ามาเสริมความเข้มแข็งในพื้นที่ได้อย่างไร จะมาช่วยงานสันติภาพได้อย่างไรตามหลักการ Peace as State Building

แต่ก็มีพวกที่ไม่เข้าใจบอกว่าต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงอยู่ดี ซึ่งผมคิดว่าต่างประเทศเหล่านี้จะไม่แทรกแซง แต่จะเข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้รัฐด้วยซ้ำไป

ยิ่งถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล คิดว่าต่างประเทศก็คงจะเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะพรรคก้าวไกลจะเปิดกำแพงที่กั้นต่างประเทศไว้ ตั้งแต่สมัย คสช. ที่สร้างเงื่อนไขต่างๆ ไม่ให้ต่างชาติเข้ามา

เพราะฉะนั้นต่างประเทศซึ่งจึงเข้ามาดูกลไกต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม หน่วยงานของรัฐฝ่ายพลเรือนที่จัดการปัญหาในพื้นที่ว่าจะเข้ามาช่วยเสริมได้อย่างไรบ้าง

ชายแดนใต้/ปาตานีต้องเป็นสันติภาพแบบเสรี

ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ชี้ว่า เพราะฉะนั้นงานสันติภาพในชายแดนใต้จะเป็นไปในแนวของการสร้างความเข้มแข็งของรัฐ peace as state building ก็คือไปในทาง Liberal Peace คือเป็นสันติภาพแบบเสรี เพราะการสนับสนุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศตะวันตกและจากองค์กรระหว่างประเทศที่จะเข้ามา

นับเป็นจุดที่คนในพื้นที่น่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก บวกกับมาเลเซียเองโดยเฉพาะรัฐบาลของอันวาร์ อิบราฮิม ที่ประกาศว่าจะช่วยเหลือการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่

ถ้าไปไหนแนวนี้คนในพื้นที่ก็จะได้ประโยชน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาหลายๆอย่าง และองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับรัฐ และหน่วยงานพลเรือนของรัฐจะมีบทบาทที่เข้มแข็งขึ้น

ไม่ใช่สันติภาพอำนาจนิยม

ศรีสมภพ อธิบายคำที่ตรงข้ามกับสันติภาพแบบเสรี ก็คือ Authoritarian Peace หรือสันติภาพแบบเผด็จการ/สันติภาพแบบอำนาจนิยม ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในการจัดการปัญหา พร้อมกับยกตัวอย่างเป็นการทิ้งท้าย คือ กรณีรัสเซียใช้อำนาจจัดการเชชเนียโดยการปราบจนราบคาบ ใช้ปืนใหญ่ถล่มเมืองทั้งเมืองจนทำให้ชาวเชชเนียบางพวกต้องยอมเข้าร่วมกับรัสเซีย

หรือกรณีประเทศจีนในพื้นที่ซินเจียงก็ใช้วิธีการกดปราบ ปราบเสร็จก็พัฒนาใหม่ ถล่มเมืองเก่าทิ้งแล้วสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาโดยไม่แคร์ใคร

กรณีของศรีลังกาก็แบบเดียวกัน คือรัฐบาลใช้วิธีการปราบถ้าฝ่ายกบฏจนไม่เหลือ เพียงแต่ว่าตอนนี้ศรีลังกากลับกลายเป็นประเทศที่เจ๊งไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net