Skip to main content
sharethis

ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประกาศยกเลิกโครงการประชุมวิชาการ ในวาระครบรอบ 55 ปี หลังภาควิชาฯ ถูกมหาวิทยาลัยฯ สั่งทบทวนกรณีเชิญ 'เพนกวิน' หลังมีข้อวิจารณ์ที่เคยมีคดี ม.112 และความเหมาะสมในการเป็น 'นักวิชาการอิสระ' ให้รับหน้าที่เป็น 'องค์ปาฐก' ในงาน

4 มิ.ย. 2566 บนแฟนเพจเฟสบุ๊คของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีประกาศเรื่อง ขอยกเลิกการจัดโครงการประชุมวิชาการ ในวาระครบรอบ 55 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยให้ข้อชี้แจงอย่างรวบรัดว่า “จากการที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างและก่อให้เกิดผลกระทบเกินกว่าเรื่องวิชาการ”  ภาควิชาฯ “รู้สึกเสียใจและเป็นกังวลต่อกรณีการจัดงานดังกล่าวที่อาจส่งผลต่อความขัดแย้งในอนาคต จึงขอยกเลิกโครงการ”  

โดยก่อนหน้านี้เว็บไซต์มติชนออนไลน์ได้รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ หลังจากที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘ธรรมศาสตร์พิทักษ์ธรรม’ เผยว่าคณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวรเชิญ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน มาปาฐกถาในโครงการประชุมวิชาการในวาระครบ 55 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ ‘เขียนสังคมใหม่ เขียนประวัติศาสตร์ประชาชน’ ในวันที่ 15 ก.ค. 2566 นี้  

หลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ปะทุขึ้น ในวันเดียวกันผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรได้สั่งการให้ ผศ.ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ เข้าชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดของการจัดงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบโครงการ ผศ.สุพรรณี เกลื่อนกลาด หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ และอาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ รศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม และ ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง พร้อมทั้ง น.ส.นภัสกร เหล่าวาณิชวัฒนา เลขานุการภาควิชาประวัติศาสตร์ และได้สั่งให้ภาควิชาฯ ทบทวนการจัดโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายทั้ง 14 แห่ง และให้ออกมาชี้แจงต่อสังคมโดยเร็ว

โดยประเด็นที่มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันนั้น คือ สถานะของเพนกวินที่เคยมีคดีความตามมาตรา 112 เหมาะสมที่จะได้รับการเรียกว่าเป็น “นักวิชาการอิสระ” และรับหน้าที่เป็นองค์ปาฐกในงานของภาควิชาหรือไม่? ทั้งนี้ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็ได้แสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กว่า การที่นายพริษฐ์จะถูกเรียกว่า นักวิชาการอิสระ (Independent scholar) และรับหน้าที่องค์ปาฐกที่มหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น “ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรและไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย” โดยให้เหตุผลว่า “เขาแค่มีความเห็นต่างทางการเมือง”  ดังนั้น การจะบอกว่าผู้ที่เคยมีคดีความตามมาตรา 112 ไม่มีคุณสมบัติเป็นนักวิชาการอิสระนั้น “เป็นคนละเรื่องกัน”

ทั้งนี้ ในขณะที่ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรขออภัย “ที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดในความเป็นกลางของมหาวิทยาลัย” แฟนเพจ NU-Movement ก็ได้เผยแพร่ข้อเขียนวิจารณ์มหาวิทยาลัยนเรศวรว่า ความเป็นกลางของมหาวิทยาลัยในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงแต่ย้อนแย้งและน่ากังวลว่าจะกระทบต่อเสรีภาพของงานวิชาการภายในมหาวิทยาลัยนเรศวรเพียงเท่านั้น แต่ยังน่ากังวลว่าจะนำไปสู่การลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย 

“ทั้งหมดนี้ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามดังเหตุการณ์สมมติ (หรือเหตุการณ์จริง) ที่บุคคลหนึ่ง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยแสดงความคิดเห็นที่ถูกมองว่า ‘เป็นภัยหรือขัดต่อความมั่นคงของรัฐ’ กรณีนี้มหาวิทยาลัยนเรศวรจะยืนยันให้ความคุ้มครองและไม่หันหลังให้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือมหาวิทยาลัยจะยังคงยืนยันว่าสถาบันศึกษาของตนมีจุดยืนบนความเป็นกลางที่พร้อมเมินเฉย และสนับสนุนให้ผู้กระทำความรุนแรงมีความชอบธรรม ตลอดจนทำให้เสียงของผู้ถูกกระทำเงียบหายไปจากสังคม” แฟนเพจ NU-Movement กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net