Skip to main content
sharethis
  • ปริญญามองว่าการออก พ.ร.ก.มาเพื่อเลื่อนการบังคับใช้ 4 มาตราในกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายของรัฐบาลประยุทธ์ตามคำขอของทางตำรวจนั้นไม่เป็นเหตุเป็นผลเนื่องจากที่ผ่านมาทาง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร.ก็เคยออกคำสั่ง สตช.ที่มีเนื้อหากำหนดให้ตำรวจที่จะทำการจับกุมต้องติดกล้องหรือถ่ายภาพวิดีโอการจับกุมไว้ตั้งแต่ปี 64แล้วและในคำสั่งดังกล่าวยังกำหนดรายละเอียดไว้ในกฎหมายมากกว่าที่ถูกเลื่อนออกไป แสดงให้เห็นว่าตำรวจเคยดำเนินการเรื่องนี้มาแล้ว
  • ปริญญายังชี้อีกว่าพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาของ สตช.กลับไม่มีการตรวจสอบการขอเลื่อนจากทาง สตช.แต่กลับยินยอมให้เลื่อนออกไปทั้งที่เท่ากับเป็นการทำให้สิทธิของประชาชนไม่ได้รับการปกป้อง อีกทั้งยังมีข้อสังเกตอีกว่าการเลื่อนออกไปถึง 1 ต.ค.66 ยังเป็นการเลื่อนไปหลังจาก ผบ.ตร.คนปัจจุบันเกษียณราชการในวันที่ 30 ก.ย.66 นี้แล้วเท่ากับเป็นการโยนเรื่องนี้ไปให้ ผบ.ตร.คนใหม่หรือไม่
  • รณกรณ์ บุญมี อ.นิติ มธ.ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตาม พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ เห็นว่าการออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้แม้จะขัดกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 172 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่ ครม.ที่ออก พ.ร.ก.มาอาจจะไม่ได้เข้าข่ายผิดตามมาตรา 157 เนื่องจากที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้การออก พ.ร.ก.มาเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เมื่อปี 62 ทำได้มาแล้ว อาจทำให้รัฐบาลคิดว่าทำได้อีก
  • อย่างไรก็ตาม รณกรณ์ก็ชี้ว่าการเลื่อนใช้ 4 มาตราใน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ออกไป 8เดือนนั้นต่างออกไปจากกรณีปี 62เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไม่เคยมีกฎหมายที่มีเนื้อหาลักษณะเดียวกันมาก่อนทำให้สิทธิของประชาชนถูกเลื่อนห่างออกไปอีก 8 เดือนด้วย
  • สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้ที่ร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้มองว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางหน่วยงานตำรวจรับรู้มาโดยตลอดว่าไทยกำลังจะมีการออกกฎหมายลักษณะนี้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และในหลายประเทศก็มีการดำเนินการลักษณะนี้มานานแล้วและทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ถูกประชาชนร้องเรียนน้อยลงอย่างมาก เหตุใดเจ้าหน้าที่ถึงไม่อยากให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้
  • นอกจากปัญหาความไม่พร้อมที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างแล้ว สุรพงษ์ยังกังวลถึงปัญหาการไม่บังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ด้วยเพราะกฎหมายไม่ได้ถูกเลื่อนใช้ทั้งฉบับแต่ยังคงเกิดเหตุการณ์ที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ เช่นในกรณีที่ ตม.ไทยผลักดันฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากลับไปเผชิญอันตราย และหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พ.ร.ก.นี้ตกไป ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตำรวจได้ดำเนินการติดกล้องแล้วหรือไม่
  • ทั้งนี้เวทีได้มีการย้ำว่า ครม.ชุดที่ผ่านมาและทางตำรวจจะต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ในทางใดทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดการออก พ.ร.ก.มาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายที่ทั้งสภาเห็นชอบแต่กลับถูกฝ่ายบริหารมาแก้ไขเช่นนี้อีก

25 พ.ค.2566 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีเสวนาประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญออกมาวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย(พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ) ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมีผลทางกฎหมายอย่างไรและร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีผลักดันโดยที่มีเนื้อหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญใครจะต้องรับผิดชอบ

ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รณกรณ์ บุญมีศูนย์กฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะรัฐมนตรียังเพิ่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และผู้ร่วมเสวนาอีกคน สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ทำงานผลักดันร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายมานานหลายปี

นายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจ แต่ไม่ตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริญญาเริ่มจากอธิบายของที่มาของ พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ว่าเป็นการเลื่อนใช้ 4 มาตราพ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดเอาไว้แล้วว่าให้เริ่มมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงราชกิจจานุกเบกษา 120 วัน ซึ่งเท่ากับว่าหลังพ.ร.บ.ถูกประกาศลงราชกิจจานุกเบกษาเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 แล้วจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.พ.2566 แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ยังไม่มีการดำเนินการอะไรแล้วก็ชงเรื่องขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปผ่านทางรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมให้เสนอถึงพล.อ.ประยุทธ์ที่เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองามก็บอกว่าให้เลื่อนได้

อาจารย์กฎหมายยังอธิบายว่าเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ส่วนที่จะถูกเลื่อนออกไปคือมาตรา 22-25 อย่างไรก็ตามในกฎหมายเองก็ไม่ได้กำหนดว่ากล้องที่ใช้ต้องเป็นแบบไหนซึ่งเท่ากับใช้อะไรก็ได้และเจ้าหน้าที่จะต้องบันทึกข้อมูลการจับกุมแล้วเมื่อญาติหรือทนายความขอข้อมูลเหล่านี้ทางเจ้าหน้าที่ก็จะต้องให้ข้อมูลซึ่งเป็นมาตราที่ไม่ใช่การปราบปรามแต่เป็นการป้องกัน ทำให้ประชาชนมีมาตราการป้องกันตัวเองได้ถ้าใครจะมาจับแล้วไม่มีการถ่ายวิดีโอจะไม่ยอมให้จับก็ได้และถ้าญาติขอข้อมูลการจับกุมแล้วไม่ให้ก็สามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ได้

ปริญญายังกล่าวอีกว่า มาตราของกฎหมายที่ให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนกลับถูกเลื่อนออกไปอีก 8 เดือนคือ 1 ต.ค.2566 แม้จะถูกทักท้วงแล้วว่าการเลื่อนใช้กฎหมายโดยที่ฝ่ายบริหารออกเป็นพ.ร.ก.มาเพื่อเลื่อนการบังคับใช้นั้นทำไม่ได้เพราะไม่เข้าเหตุจำเป็นตามรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายบริหารก็อาจจะคิดว่าออก พ.ร.ก.มาในช่วงที่รัฐสภากำลังจะหมดสมัยประชุมแล้วคิดว่าถูกนำเข้าเป็นวาระพิจารณาของสภาไม่ทัน แต่ด้วยเสียงเรียกร้องที่มีเป็นจำนวนมากสุดท้าย พ.ร.ก.ฉบับนี้ก็ถูกบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมสภาทัน และรัฐบาลก็จะแพ้แน่นอนเพราะแค่พรรคประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทยไม่โหวตให้ผ่าน พ.ร.ก.ก็จะตกไปทันที แล้ว พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ นี้ยังผ่านออกมาได้ด้วยความเห็นชอบจาก ส.ส.เกือบทั้งสภาผู้แทนราษฎร

อาจารย์กฎหมายกล่าวว่าเรื่องนี้ยังเกิดเหตุประหลาดอีกที่สุดท้ายมี ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาลเองที่ร่วมกันลงชื่อเสนอให้ส่ง ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเขาเองคิดว่าสุดท้ายแล้วศาลน่าจะบอก พ.ร.ก.นี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมีโอกาสที่จะผ่านไม่มากนักแล้วศาลก็ปัดตกจริงๆ ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่าแล้วจะเกิดผลทางกฎหมายอย่างไร รวมถึงจะต้องมีใครในรัฐบาลรับผิดชอบหรือไม่

ปริญญาชี้ในส่วนที่ศาลบอกว่าพ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญคือกฎหมายนี้ไม่เป็นตาม 172 วรรคหนึ่ง แม้ศาลจะยังไม่ได้ระบุเหตุผลโดยละเอียด แต่เขาเห็นว่าตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งก็ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าการที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.ได้นั้น ก็ต่อเมื่อ ครม.เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ แต่ พ.ร.ก.ที่เลื่อนการบังคับใช้ทั้ง 4 มาตราของพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ นี้กลับทำให้ประชาชนไม่ปลอดภัย เพราะ พ.ร.บ.นี้ออกมาเพื่อทำให้ประชาชนมีมาตรการในการป้องกันตัวจากการกระทำที่ไม่เป็นตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่

ปริญญากล่าวอีกว่าที่ พ.ร.ก.นี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ก็เพราะวิปฝ่ายรัฐบาลมองว่ากฎหมายจะไม่ผ่านสภาแน่ๆ และถ้าไม่ผ่านจะเกิดผลกระทบกับพรรคร่วมรัฐบาลเพราะกำลังจะเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งแล้ว ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจึงมีการร่วมกันลงชื่อเพื่อให้ประธานสภาส่ง พ.ร.ก.ฉบับนี้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งถ้าศาลวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ไม่ขัดเรื่องก็จะกลับมาที่สภา แต่ถ้าศาลบอกว่าพ.ร.ก.เลื่อนกฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญก็จะต้องถูกยกเลิกไป

อย่างไรก็ตาม ศาลอาจจะกังวลเรื่องการกระทำที่เกิดขึ้นไปแล้วการที่ศาลวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่แรก จึงมีการเขียนเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่าไม่ให้มีผลกับกิจการที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้อยู่ซึ่งอาจมองว่าเป็นการช่วยเจ้าหน้าที่

ปริญญากล่าวถึงประเด็นผลทางการเมืองว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างไรซึ่งเขาเห็นว่าเรื่องนี้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรกเขาอธิบายว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหัวหน้าส่วนราชการจริงๆ คือนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 6 พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้นความบกพร่องละเลยของ สตช. ที่สภาให้เวลาแล้วไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายคนที่ต้องรับผิดชอบจึงไม่ได้มีแต่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่ผู้บังคับบัญชาอย่างนายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบด้วย

เขาอธิบายว่าเพราะนายกฯ ก็มีอำนาจแล้วก็มีหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชาด้วยที่จะแต่งตั้งหรือจะสั่งการ เมื่อ พ.ร.บ.ประกาศแล้วก็ต้องสั่งให้ดำเนินการด้วย แต่เมื่อ ผบ.ตร.มาขอเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายแทนที่นายกฯ จะมุ่งคุ้มครองประชาชนว่าจะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เพราะสภาก็ให้เวลาเพื่อเตรียมการมาแล้ว นายกฯ ก็เลือกที่จะไปคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ชอบใช้วิธีการอุ้มหายหรือซ้อมทรมานแทนแม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ชอบทำแบบนี้จะมีส่วนน้อย แต่เมื่อมีกฎหมายออกมาป้องกันแล้วก็ไปเลื่อนทำให้เกิดการอุ้มหายซ้อมทรมานทำได้ต่อไป

ปริญญาอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าส่วนที่ถูกเลื่อนออกไปนี้ในกฎหมายเองก็ไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงมาตรการที่ให้ประชาชนสามารถใช้ป้องกันตัวเองจากตำรวจไม่ดีเท่านั้น

นอกจากนั้นปริญญายังตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่อมาคือเรื่องที่มีการขยายเวลาออกไปถึง 1 ต.ค.อีกว่าทำไมจึงไม่เลื่อนไปเดือนอื่นซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเพราะ ผบ.ตร.คนปัจจุบันกำลังจะเกษียณในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เท่ากับเป็นการโยนเรื่องนี้ไปให้ ผบ.ตร.คนที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งแทน

อาจารย์กฎหมายยังตั้งคำถามถึงนักกฎหมายของรัฐบาลอย่างวิษณุ เครืองาม ที่มีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ตรวจสอบว่าการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีเกิดผลกระทบประชาชนอย่างไร และการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.นี้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่งหรือไม่ อีกทั้งไม่ตรวจสอบเหตุผลที่ทาง สตช.มาขอเลื่อน รวมถึงนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ใต้บังคับบัญชามาขอเลื่อนด้วยเหตุอะไร

ปริญญาชี้ว่าตลอด 9 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ยังเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยออก พ.ร.ก.มามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยคือ 31 ฉบับ เพราะบางรัฐบาลก็ไม่ออกเลยหรือมีออกมาบ้างแต่ไม่เยอะขนาดนี้ และมองว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมานี้ก็ออก พ.ร.ก.มาจนเป็นความเคยชินทำให้ไม่มีการตรวจสอบก่อนและรัฐบาลก็ไม่กลัวรัฐสภาเพราะเป็นเสียงข้างมากในสภามาตลอด แต่คงลืมไปว่าเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งแล้วทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดอยากรับเรื่องนี้ไว้เพราะจะเสียคะแนนเสียง จึงต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแทน

นอกจากนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญปัดตก พ.ร.ก.ฉบับนี้ในตอนที่ยุบสภาไปแล้วก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนจึงยังไม่มีกรณีให้เปรียบเทียบ เพราะถ้ายังมีสภาแล้ว พ.ร.ก.นี้ถูกปัดตกในสภาก็ต้องยุบสภาหรือ ครม.ต้องลาออกไปแล้ว แต่เมื่อเป็นแบบนี้แล้วคนในรัฐบาลและผบ.ตร.จะรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในสังคมก็ต้องการจะฟังคำตอบด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ฝ่ายบริหารถือว่าตัวเองมีอำนาจออก พ.ร.ก.มาแก้กฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาจึงเป็นการไม่เคารพต่อกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรให้ผ่านออกมาไม่เช่นนั้นก็จะมีคำถามว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรไว้ทำไมถ้าสภาผ่านกฎหมายมาแล้วฝ่ายบริหารไปแก้ตามอำเภอใจ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก และการออก พ.ร.ก.จะต้องเป็นเรื่องยกเว้นและมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ออก พ.ร.ก.ขัด รธน.แต่ ครม.อาจไม่มีความผิด

รณกร บุญมี เริ่มจากกล่าวถึงเนื้อหาของ พ.ร.ก.ที่ออกมาเลื่อนเป็นการเลื่อนบังคับใช้ 4 มาตราเท่านั้นมาตราอื่นๆ ยังบังคับใช้อยู่ดังนั้นบรรดาความผิดต่างๆ ตามกฎหมายหากมีผู้กระทำก็มีความผิดตามกฎหมายแล้ว การที่มีผู้บังคับบัญชารับรู้แล้วไม่ได้ห้ามก็ถือว่ามีความผิดด้วย

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหลังจากประกาศใช้กฎหมายทั้ง 39 มาตราถูกบังคับใช้และการที่ศาลวินิจฉัยว่าที่เลื่อนบังคับใช้ไม่มีผลตั้งแต่ต้นทำให้ใช้ได้เลย และแม้ว่ามาตราที่ถูกเลื่อนใช้ทั้ง 4 มาตรานั้นจะไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษไว้ แต่ไม่ใช่ไม่มีความผิดเพราะการไม่บันทึกภาพโดยเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายยังเป็นความผิดตามมาตรา 157

รณกรณ์กล่าวถึงประเด็นที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแบบนี้ แต่มีกรณีใกล้เคียงกันคือเมื่อปี 2562 รัฐบาลออกพ.ร.ก.เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ในครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าทำได้เพราะแม้จะเลื่อนกฎหมายฉบับนี้ที่ให้การคุ้มครองสิทธิมากกว่าออกไปแต่ยังคงมีพ.ร.บ.ครอบครัวที่ให้การคุ้มครองประชาชนอยู่แล้ว และจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 62 นี้อาจเป็นเหตุทำให้รัฐบาลคิดว่าสามารถออก พ.ร.ก.มาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กรรมการป้องกันซ้อมทรมานฯ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีพ.ร.ก.เลื่อนใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ว่าเป้นการออกมาโดยไม่เป็นไปตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องแล้วเนื่องจากกฎหมาย 4 มาตราที่ถูกเลื่อนออกไปนี้แตกต่างกับกรณีปี 62 คือ พ.ร.ก.นี้เป็นการเลื่อนใช้กฎหมายที่ไม่เคยมีอยู่ในกฎหมายอื่นมาก่อนออกไปอีก 8 เดือนทำให้สิทธิของประชาชนอยู่ห่างออกไปอีก 8 เดือนด้วย

นอกจากนั้นกฎหมายทั้ง 4 มาตรานี้ยังเป็นเงื่อนไขในการที่ไทยจะเข้าเป็นภาคีตามอนุสัญญาป้องกันการซ้อมทรมานด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลบอกว่าจะเข้าร่วมแล้วแต่เมื่อทั้ง 4 มาตรานี้ถูกเลื่อนออกไปจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเข้าร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญาได้อีกด้วย

รณกรณ์กล่าวว่าผลหลังจาก พ.ร.ก.ถูกยกเลิกไปแล้วทำให้หลังจากนี้ตำรวจจะต้องทำการบันทึกวิดีโอและต้องแจ้งฝ่ายปกครองในท้องที่รวมถึงอัยการ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานอื่นๆ นอกจากตำรวจก็มีความพร้อมหมดแล้วเพราะมีการเตรียมแอพพลิคชั่นไว้เป็นการเฉพาะให้กรณีที่ตำรวจจะทำการจับกุมสามารถแจ้งผ่านแอพฯ ให้ทั้งฝ่ายปกครองและอัยการทราบได้ และถึงแม้ว่าบางท้องที่อาจจะยังไม่มีความพร้อมก็ยังมีการใชการแจ้งผ่านอีเมลเป็นการชั่วคราวได้อยู่แล้ว

ปริญญาเสริมในประเด็นนี้ว่าที่ผ่านมานอกจากตำรวจแล้วอัยการและฝ่ายปกครอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ก็ไม่เคยมีการบ่ายเบี่ยงและเตรียมพร้อมเอาไว้หมดแล้ว มีแต่ตำรวจที่ไม่ได้ดำเนินการอะไรในช่วงที่ผานมา

รณกรณ์กล่าวถึงประเด็นต่อมาเรื่องความรับผิดทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้ออกพ.ร.ก.

กรรมการป้องกันซ้อมทรมานฯ กล่าวว่าสำหรับส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน แม้ว่าศาลจะให้ พ.ร.ก.นี้ไม่มีผลตั้งแต่ต้น การที่ในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุมแล้วไม่ถ่ายวิดีโอ ไม่แจ้งนายอำเภอและอัยการ ไม่มีการทำบันทึกข้อมูลการจับกุม ก็ยังไม่มีความผิดเนื่องจากไม่ได้มีเจตนาที่จะทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะถึงศาลจะให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพ.ร.ก.ถูกประกาศใช้ออกมาแล้วทำให้มีผลบังคับใช้ทันที ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุมในช่วงที่ทั้ง 4 มาตราในพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ถูกเลื่อนใช้ออกไปไม่มีความผิด

ส่วนกรณี ครม.ที่ผ่านพ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่นั้น เมื่อรัฐบาลเชื่อว่าตนเองมีอำนาจออกได้ แม้ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ดูแล้วจะไม่ได้เข้าเงื่อนไขเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแต่สิ่งที่สนับสนุนการกระทำของรัฐบาลครั้งนี้ยังสามารถอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณี พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเมื่อปี 2562 เป็นตัวอย่างอาจทำให้รัฐบาลเชื่อว่าตนเองสามารถออก พ.ร.ก.มาเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายอื่นได้ขาดเจตนาที่จะกระทำผิดทางอาญาตามมาตรา 157

รณกรณ์จึงเห็นว่าสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้วน่าจะไม่มีความผิด แต่หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจออกมาว่าให้ พ.ร.ก.นี้ตกไปเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถอ้างว่ายังไม่พร้อมที่ทำตามกฎหมายไม่ได้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่จะต้องทางปฏิบัติตามกฎหมายทั้ง 4 มาตราจะด้วยวิธีไหนก็ตาม ถ้าไม่ทำถือว่าเจ้าหน้าที่มีความผิด

กฎหมายบังคับใช้แล้วแต่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม

สุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวว่าถึงประเด็นที่มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายว่าเกิดจากที่ทั่วโลกเห็นปัญหาร่วมกันจึงมาตกลงกันว่าจะออกกฎหมายมาป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำแบบนี้อีก แต่ที่ผ่านมาไทยก็ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีกับอนุสัญญาเรื่องนี้

เขากล่าวอีกว่าที่ผ่านมาทาง สตช.เองก็รับรู้เรื่องการออกกฎหมายนี้มาโดยตลอดเป็น 10 ปี นับตั้งแต่ตอนที่เขาเคยทำงานกับ กสม. เคยมีการศึกษาเพื่อร่างกฎหมายเรื่องนี้ออกแล้วก็เคยให้ทาง สตช.เข้ามาชี้แจงว่าจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง จนกระทั่งมีการร่างกฎหมายออกมาโดยให้ทางนิติศาสตร์ มธ.และเขาเองก็เคยเป็นคนช่วยยกร่างกฎหมายขึ้นมาจนมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แต่ในช่วงที่กำลังจะเกิดการเลือกตั้งในปี 2562 ทาง สนช.เองก็บอกว่าจะเอาเข้ามาพิจารณาแต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีวาระการประชุมเรื่องนี้ของ สนช.

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายที่อยู่ใน สนช.ยังมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมและในเนื้อหา ทำให้มีภาคประชาชนยกร่างกฎหมายขึ้นมาและนำเสนอต่อรัฐสภาประกบไปกับร่างอื่นๆ ที่มีการเสนอเข้าสู่สภา และร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายนี้เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก็ได้เสียงเป็นเอกฉันท์มาตลอด ส่วนตำรวจเองก็ทราบทุกขั้นตอนมาแล้วเป็นสิบปี แต่พอกฎหมายจะบังคับใช้กลับมีการเสนอขอเลื่อนใช้ 4 มาตรา แต่สุดท้ายเมื่อเรื่องการเลื่อนใช้กฎหมายนี้เกิดกระแสและทำให้ พ.ร.ก.ถูกเสนอเข้าพิจารณาในสภา

นอกจากนั้น พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายนี้ยังออกโดยรัฐบาลแต่คนที่เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกลับเป็น ส.ส. จากฝ่ายรัฐบาลเองที่บอกว่าฝ่ายตัวเองออก พ.ร.ก.นี้โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเรื่องแบบนี้มาก่อนอีกทั้งยังผิดมารยาททางการเมืองขนาดที่อาจจะถูกขับออกจากพรรคได้

สุรพงษ์ยืนยันเรื่องตำรวจรับทราบเรื่องนี้มาเป็นสิบปีแล้ว อีกทั้งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ติดกล้องระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็ทำกันหลายประเทศจนเป็นเรื่องปกติและขั้นตอนเหล่านี้ก็ทำให้ตำรวจถูกร้องเรียนน้อยลงมาก

ปริญญาเสริมในประเด็นนี้ว่าสำหรับเรื่องการเตรียมการต่างๆ ผบ.ตร.คนที่แล้วคือ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ก็เคยออกคำสั่ง สตช.มาเมื่อ 9 เม.ย.2564 สั่งให้ดำเนินการลักษณะเดียวกับ 4 มาตราในพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ และในคำสั่ง สตช.ยังลงรายละเอียดเอาไว้มากกว่าในกฎหมาย ทำให้เรื่องนี้มีการเตรียมการมานานแล้วตั้งแต่ปี 2564 ก่อนที่ร่างกฎหมายจะถูกส่งเข้าพิจารณาสภาโดยที่ไม่มีข้อโต้แย้งจากตำรวจเลย ดังนั้นแล้วเหตุผลที่ตำรวจมาขอเลื่อนนี้จึงไม่มีอยู่เลย การที่ ผบ.ตร.คนปัจจุบันยกเหตุผลเรื่องยังไม่มีความพร้อมและไม่เคยเตรียมการเอาไว้เลยนั้นจึงเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ

สุรพงษ์ตั้งคำถามว่าเหตุใดตำรวจจึงไม่อยากให้บังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งหลักการสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ คือการกำหนดบทลงโทษแก่เจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการซ้อมทรมานและอุ้มหาย รวมถึงการปฏิบัติอันโหดร้ายและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญความเสี่ยงต่อชีวิตด้วย และยังได้วางมาตรการป้องกันอย่างเช่นการให้ติดกล้อง การให้ผู้จับกุมต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและอัยการ

นอกจากนั้นในกฎหมายยังกำหนดนิยามของผู้เสียหายให้ครอบคลุมไปถึงครอบครัวของผู้ถูกกระทำไปจนถึงผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีหรือมีการจดทะเบียนสมรสให้สามารถขอข้อมูลรวมถึงการดำเนินการทางศาลได้ รวมถึงให้มีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติตดามข้อเท็จจริงของการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย

อีกทั้งกฎหมายนี้ยังทำให้เกิดการสอบสวนย้อนกลับไปถึงกรณีถูกอุ้มหายก่อนมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารที่กระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมด้วย

สุรพงษ์ชี้ปัญหาเขากังวลยิ่งกว่าเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าไม่มีความพร้อมแล้วคือเรื่องการไม่บังคับใช้กฎหมาย โดยยกตัวอย่างของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ เช่นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาสั่งตำรวจกลุ่มใหญ่ลงโทษโดยการให้ถอดเสื้อยืนตากแดด ทั้งเรื่องที่เจ้าหน้าที่ ตม.ไทยผลักดันฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากลับไปเผชิญความตายและสุดท้ายมีข่าวว่ามี 1 ใน 3 คนที่ถูกผลักดันกลับเสียชีวิต แต่รัฐไทยก็ไม่ชี้แจงอะไรเรื่องนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติก็ตอบเองเลยว่าไม่รู้เรื่องนี้ และยังมีเหตุเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทางเจ้าหน้าที่มีการบันทึกข้อมูลการจับกุมไว้ด้วยหรือไม่ และหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายตกไปเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการติดกล้องแล้วหรือไม่

ประธานผสานวัฒนธรรมยังกล่าวอีกว่าเมื่อเกิดความผิดพลาดในการออก พ.ร.ก.มาแบบนี้แล้วจะต้องมีคนรับผิดชอบหรือไม่ เพราะเมื่อได้รู้แล้วว่าขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วก็จะต้องไม่ทำผิดซ้ำอีก และจะต้องรับโทษหรือรับผิดด้วย ซึ่งในทางการเมืองอาจจะเริ่มจากขอโทษประชาชนที่ทำให้ล่าช้า และต้องรับโทษด้วยเพราะเป็นความผิด เพื่อให้สังคมเห็นว่าสำนึกจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะสร้างมาตรฐานขึ้นมาได้อย่างไรเมื่อรัฐออก พ.ร.ก.มาแล้วขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาอยากให้รัฐบาลที่รักษาการณ์อยู่ตอนนี้ต้องออกมารับผิดชอบเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีทำให้คนอื่นเห็นว่าจะไม่เกิดแบบนี้อีก และแม้ว่าจะยุบสภาไม่ได้ก็ยังสามารถรับผิดชอบในรูปแบบอื่นๆ ได้อีก

สุรพงษ์ยังเสนอถึงเรื่องการเยียวยาให้ในกรณีที่มีการกระทำที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ด้วยว่า เช่นการจับกุมที่ไม่เป็นตามขั้นตอนก็ให้มีการถอนฟ้องไปเลยเป็นต้น นอกจากนั้นจะสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาเพื่อไม่ให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ที่ขัดรัฐธรรมนูญได้อย่างไรเพราะโดยปกติการจะห้ามก็ต้องมีการลงลงโทษเพราะถ้าไม่มีการลงโทษก็จะเกิดขึ้นอีก

ปริญญาถามรณกรณ์เพิ่มเติมในฐานะที่เขาเป็นกรรมการป้องกันซ้อมทรมานฯ ว่าเบื้องต้นหลังจากได้กรรมการตามกฎหมายครบแล้ว คณะกรรมการชุดนี้มีเรื่องเร่งด่วนอะไรที่ต้องทำบ้าง

รณกรณ์ตอบว่าอย่างเรื่องการให้เจ้าหน้าที่ติดกล้องระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องมีการออกระเบียบออกมาโดยจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่เข้ามาชี้แจงด้วย นอกจากนั้นกรรมการชุดแรกในกฎหมายได้กำหนดให้มีหน้าที่วางแนวตีความกฎหมายและออกระเบียบการเยียวยาที่ในพ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้และระบุว่าอำนาจหน้าที่ให้กรรมการเป็นผู้ออกระเบียบมา นอกจากนั้นที่ผ่านมาก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเยอะแล้วก็จะต้องนำเรื่องร้องเรียนมาพิจารณา รวมถึงต้องย้อนดูปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงที่มีการเลื่อนใช้กฎหมายทั้ง 4 มาตราด้วย

ปริญญาตอบคำถามนักข่าวเรื่องการรับผิดชอบของการพยายามออก พ.ร.ก.ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาควรเป็นอย่างไรว่า ถ้าเป็นช่วงที่มีรัฐบาลอยู่ทำผิดขนาดนี้ก็ต้องลาออกหรือยุบสภาแล้วแต่ก็จะมีสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการณ์เพื่อให้มีการเลือกตั้ง และที่บอกว่าลาออกไม่ได้ก็ไม่จริงเพราะไม่ว่าจะผู้ดำรงตำแหน่งคนไหนป่วยตายก็เท่ากับลาออกโดยปริยาย ดังนั้นทุกตำแหน่งก็ลาออกได้หมด ถึงแม้เรื่องนี้อาจจะมองเป็นการประมาทเลินเล่อได้แต่ก็ยังต้องมีคนรับผิดชอบ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net