Skip to main content
sharethis

ชวนมาดูมุมมองของ "ผู้ใหญ่" จากองค์กรและหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนต่อนโยบายของรัฐ อย่าง เอริกา เมษินทรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม "Youth In Charge" และ สุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ทั้ง 2 คนมาร่วมคุยทั้งปัญหาพื้นที่ส่งเสียงของเยาวชนไทยในปัจจุบันทั้งในด้านทัศนคติของผู้ใหญ่ที่มีต่อเยาวชน กระบวนการของภาครัฐในการรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ ตลอดจนเงื่อนปมของการคลี่คลายปัญหาอาจอยู่ที่การรับฟังของทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การมีส่วนร่วมของเด็ก-เยาวชน ตัวชี้วัดประชาธิปไตยของประเทศ

โรเจอร์ เอ. ฮาร์ท (Roger A. Hart) นักวิชาการด้านสิทธิเด็ก เคยเขียนบทความ ‘Children’s Participation’ ระบุนิยามการมีส่วนร่วม คือในการตัดสินใจสิ่งที่มีผลกระทบต่อชีวิตของตัวเด็ก หรือชุมชนที่ตัวเด็กอาศัย และฮาร์ท มองด้วยว่าการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นมาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศ

เด็กและผู้ใหญ่ต้องไปด้วยกัน

งั้นระดับการมีส่วนร่วมของเด็กควรอยู่ที่ระดับไหนกันแน่ การมีส่วนร่วมของเด็กไม่จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ หรือผู้ใหญ่ควรตัดสินใจเรื่องต่างๆ ฝ่ายเดียวก็พอ คำตอบของฮาร์ท มองว่าการมีส่วนร่วมควรมาพร้อมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้รากฐานความเป็นประชาธิปไตย และได้พัฒนาทักษะความรับผิดชอบภายใต้การชี้นำจากผู้ใหญ่ เพราะการให้เด็กลงมือรับผิดชอบทุกอย่างในบางกรณีอาจเร็วเกินไป ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ได้เรียนรู้จากเด็กอีกด้วย

กรอบแนวคิดสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน ผ่านบันได 8 ขั้น

นักวิชาการด้านสิทธิเด็ก วางทฤษฎีประยุกต์ บันได 8 ขั้นของการมีส่วนร่วม เพื่อใช้เป็นกรอบหลักคิด และสร้างแนวทางการมีส่วนร่วมของเยาวชน ประกอบด้วย

ขั้น 1 การถูกบงการ เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ถูกดำเนินการทั้งหมดโดยผู้ใหญ่ แต่แสร้งว่างานเกิดขึ้นโดยความตั้งใจ หรือคำนึงถึงเยาวชน ต่อมา ขั้น 2 การเป็นไม้ประดับ เด็กและเยาวชนถูกใช้งานช่วยเหลือ หรือประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับประเด็นงาน โดยที่ไม่มีความเข้าใจในประเด็นงานดังกล่าว และขั้น 3 การทำพอเป็นพิธี เยาวชนได้รับโอกาสส่งเสียงแสดงความเห็น โดยมีตัวเลือกที่น้อย หรือแทบไม่มีเลย และเมื่อผู้ใหญ่รับความเห็นแล้ว ก็ไม่ได้นำไปใช้ในกระบวนการตัดสินใจ

สำหรับขั้นที่ 4 หรือมอบหมาย แต่แจ้งให้ทราบก่อน คือ เด็กและเยาวชนถูกมอบหมายให้รับบทบาทเฉพาะในงาน และได้รับการแจ้งเกี่ยวกับรายละเอียดความตั้งใจของโครงการ ร่วมลงมือปฏิบัติ และเยาวชนตัดสินใจอาสาเข้าร่วมด้วยตัวเองหลังจากที่ได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับงานแล้ว

ขั้นที่ 5 การขอคำปรึกษาจากเยาวชนและแจ้งให้ทราบก่อน เกิดขึ้นเมื่อเด็กหรือเยาวชนได้รับการขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ ซึ่งเยาวชนรู้ว่าข้อเสนอที่ให้ไปจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังผ่านกระบวนการที่ดำเนินและตัดสินใจโดยผู้ใหญ่ ขั้นที่ 6 ผู้ใหญ่ริเริ่มโดยมีเด็กและเยาวชนร่วมตัดสินใจร่วม: ต้องเกิดการส่วนร่วมจากหลายกลุ่มโดยเฉพาะ เยาวชน ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางต่างๆ ซึ่งการมีส่วนร่วมในขั้นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อโครงการหรือกิจกรรมได้ถูกริเริ่มโดยผู้ใหญ่ แต่เยาวชนยังได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ใหญ่ 

ขั้นที่ 7 เด็กและเยาวชนริเริ่มโดยมีผู้ใหญ่รับบทบาทในเชิงสนับสนุน: ขั้นนี้เกิดขึ้นเมื่อเด็กและเยาวชนได้ริเริ่มกิจกรรมหรือโครงการด้วยตนเอง โดยมีผู้ใหญ่ทำหน้าที่ในเชิงสนับสนุนในโครงการที่นำโดยเด็กหรือเยาวชน และสุดท้ายคือขั้นที่ 8 เยาวชนริเริ่มโครงการและตัดสินใจร่วมกันกับผู้ใหญ่: เยาวชนสามารถใช้แรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบริเริ่มโครงการที่ต้องโจทย์วัตถุประสงค์และความต้องการของเยาวชนมากที่สุด โดยที่ยังมีผู้ใหญ่ร่วมในการตัดสินใจอยู่ในกระบวนการ

จากระดับการมีส่วนร่วมแต่ละระดับที่ได้นำเสนอไป จริงๆ แล้วไม่ได้มีความจำเป็นเลยที่เด็กและเยาวชนจะต้องพยายามมีส่วนร่วมในระดับที่สูงโดยตลอด เพราะเด็กและเยาวชนแต่ละคนมีเวลา ความรับผิดชอบ ความชอบ และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป การมีส่วนร่วมจึงต้องมีการปรับไปตามความเหมาะสมตามเวลา โอกาสที่เหมาะสมสำหรับเยาวชนแต่ละคนด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือทุกครั้งที่เราออกแบบกิจกรรมการมีส่วนร่วมของเยาวชน จะต้องพยายามออกแบบโดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เลือกเข้ามามีส่วนร่วมในระดับที่เหมาะสมกับความสามารถของพวกเขาเองตามแต่เวลาและโอกาสที่เหมาะสม

ไม่มีพื้นที่ตรงกลางแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้ใหญ่-เด็ก

สำหรับ เอริกา เมษินทรีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม "Youth In Charge" มองว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สถานการณ์พื้นที่การมีส่วนร่วมของเยาวชน ขาดพื้นที่การมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใหญ่ และเด็ก อย่างชัดเจน

เอริกา เมษินทรีย์

เอริกา มองว่าทัศนคติ และบริบทไทย มีความแบ่งแยกระหว่างเด็กและเยาวชน และผู้ใหญ่อย่างชัดเจน แม้ว่าผู้ใหญ่จะชอบบอกว่า ‘เด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติ’ ฟังดูดี แต่ความหมายจริงๆคืออยู่ในส่วนของคุณ ณ ตอนนี้ ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ถึงหน้าที่คุณ รออีก สิบปี ยี่สิบปี ตอนเรียนจบ พร้อมทำงานค่อยว่ากัน แต่มองในเชิงบวกคือเยาวชนมีความสำคัญ เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ในอนาคตจะขึ้นมาเป็นผู้นำ บางคนอาจขึ้นมาเป็นนายก ตัวแทนประเทศในเวทีต่างๆ

คือเรากำลังเตรียมกำลังคน พัฒนาคนไปสู่อนาคต ตอนนี้เยาวชนเก่งมาก มีศักยภาพหลายด้าน อาจเพราะโซเขียล ตระหนักถึงศักยภาพได้เร็วกว่าเดิมคือคำว่าอนาคตของชาติอีกนาน หลายอย่างเริ่มได้จากวันนี้ ทุกวันนี้เยาวชนมีบทบาทมากขึ้น มีเสียงมากขึ้น มีความมั่นใจในเสียงของตัวเอง มีพื้นที่ในออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น แต่ยังมีช่องว่างระหว่างสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ และเยาวชนทำอยู่หรืออยากส่งเสียงถึงผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเกิดได้จากช่องว่างระหว่างวัย ไม่มีพื้นที่ตรงกลางมากพอในการให้คนข้ามช่วงวัยได้มาเจอกัน ผู้ใหญ่ก็ยังเจอกับผู้ใหญ่ ประชุมกันเอง เด็กก็ทำกิจกรรมของเด็ก แต่กิจกรรมที่รวมคนหลายๆ เจน มารวมกันมันยังน้อย เลยอยากสร้างพื้นที่ตรงนี้ เพราะเราเชื่อว่าพลังที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากเด็กทำงานด้วยกัน แต่เกิดจากคนต่างเจนมาแลกเปลี่ยน เสริมซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนมีทั้งจุดเด่น จุดด้อย และสิ่งที่เสริมกันได้

ต่อถึงประเด็นพื้นที่ที่ให้เยาวชนส่งเสียงในปัจจุบันมีมากแค่ไหนนั้น เอริกา มองว่า พูดอย่างเป็นกลาง คือผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเสียงของเด็กมากขึ้น แต่ไม่ได้เอาไปทำทั้งหมด หรือฟังก็แบบผ่านๆ แต่ตั้งใจฟังก็มี โดยภาพรวม และมีเยาวชน และโครงการจากเยาวชนมาผนึกกำลังให้เสียงของเยาวชนดังขึ้น ตระหนักรู้มากขึ้น แต่ก็มีระดับเช่นพอเป็นพิธีจนถึงฟังแบบมองเขาเป็นภาคีจริงๆ มองว่าเด็กเป็นหุ้นส่วนทางความคิด เป็นคนทำงานด้วยกัน ไม่ใช้แค่มีส่วนร่วมพอเป็นพิธี ให้แค่ดูสวยงาม

"การส่งเสียงของเด็กออกมาเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่อยากให้จบแค่นั้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้จริง ถ้าหลังจากเวทีนั้นแล้ว มาคุยกันต่อ มาทำงานร่วมกันจริงๆ เสียงเด็กไปถึงผู้ใหญ่ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงคือการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่หรือเด็กอาจจะมีวิธีที่ต่างกัน ภาษา การสื่อสารที่ต่างกัน ทุกคนอยากเห็นสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่มันดีขึ้น เด็กเก่งอะไร ผู้ใหญ่เสริมอะไรได้ พาร์ทเทอร์ เงินทุน ซึ่งเด็กไม่มี แต่เด็กมีความว่องไว ความคิดนอกกรอบใหม่ๆ ความกล้า เพื่อนๆ มารวมกันมันยิ่งมีพลัง ทุกวันนี้อาจยังไม่มากพอ ผู้ใหญ่อาจมองว่าเด็กขาดประสบการณ์ ผู้ใหญ่อาจเมีความคิดดูเก่า ไม่น่าสนใจ คุยไม่รู้เรื่อง เปิดใจกันมากขึ้น หาแนวทางทำงานร่วมกันระยะยาว การปัจจัยที่เอื้อให้คนต่างวัยมาทำงานร่วมกัน นั้นคือเป้าหมายที่แท้จริงๆ" เอริกา ทิ้งท้าย

ภาครัฐตอบให้ความสำคัญกับเด็กเสมอ

สุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน จาก พม. ระบุว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน กรมกิจการเด็กและเยาวชน ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประการหนึ่งคือ เรื่องการส่งเสริมสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็ก ทางกรมฯและภาคส่วนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว ตามนโยบายกของระทรวง พม. โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เด็กและเยาวชนก็มีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับทางกรมอย่างใกล้ชิด

สุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ

นอกจากนี้ ช่วงสถานการณ์โควิด ทางกรมได้มีความร่วมมือกับ UNICEF ทางสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สำรวจสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนและผลกระทบที่เขาได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ร่วมกับสถาบันทางการศึกษา เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีเด็กและเยาวชนให้ความสนใจ ตอบแบบสอบถาม จำนวน 50,000 กว่าคน ซึ่งทางกรมฯ ได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และรวบรวมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการระดับชาติและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กต่อไป”

สุนีย์ ระบุต่อถึงประเด็นพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนว่า ตามกฎหมายและแนวทางการขับเคลื่อนของกรมฯ มีสภาเด็กและเยาวชนเป็นกลไกสำคัญที่เด็กและเยาวชนได้มารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็น เข้ามามีส่วนร่วม มีสิทธิ มีเสียงพร้อมกับทำกิจกรรมที่มีความหลากหลาย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับ ตั้งแต่ตำบล เทศบาล อำเภอ จังหวัด ในกรุงเทพมหานครก็มีสภาเด็กและเยาวชนทุกเขต และในระดับประเทศ จะมีสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย คอยดูแลภาพรวมทั้งหมด ปัจจุบัน มีสภาเด็กและเยาวชน ทั้งหมด 8,778 แห่งทั่วประเทศ โดยกิจกรรมที่เด็ก ๆ สนใจ จะมีความแตกต่างไปตามบริบทของพื้นที่ที่เด็ก ๆ อยู่ บางกลุ่มสนใจการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง การป้องกันการใช้สารเสพติด การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และหัวข้อใหม่ ๆ ที่เด็กให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาอาชีพ หรือการทำกิจกรรมจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ เด็กและเยาวชนจะช่วยกันคิด วางแผน จัดประชุม หารือ ตกลงร่วมกัน ออกแบบกิจกรรม และจัดทำรายละเอียดของโครงการเพื่อมาขอรับทุนสนับสนุน เรียกได้ว่า เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการ ซึ่งในแต่ละปี รัฐได้จัดสรรงบประมาณ ประมาณ 111 ล้านบาท สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศได้จัดกิจกรรม เพื่อแสดงออกทางความคิดและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชน

นอกจากนี้ ตัวแทนจาก พม. ยกตัวอย่าง ทางภาครัฐมีการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสไปเข้าร่วมประชุม ประกวดในเวทีระหว่างประเทศ มีกิจกรรมในระดับอาเซียนหลายโครงการ หลายกิจกรรมที่เราสนับสนุนงบประมาณ ค่าใช้จ่าย รวมทั้งคัดเลือกเด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมระดับอาเซียน และการประกวดต่าง ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ เราก็มาประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับทราบ ได้มีโอกาสเห็นรูปแบบการทำงานร่วมกันไม่ใช่แค่ของประเทศไทย เช่น กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านเยาวชน เป็นกรอบหลักที่ให้ความสำคัญกับเยาวชน มีผู้แทนเด็กและเยาวชนจากแต่ละประเทศในอาเซียนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเด็กจะได้มีโอกาสไปพบปะกับผู้นำของประเทศนั้น ให้เด็กได้มีประสบการณ์ว่าประเทศอื่น ๆ มีกิจกรรม รูปแบบการทำงานอย่างไร เพื่อที่จะได้มาประยุกต์กับบริบทของประเทศไทย ซึ่งกรมฯ ได้ก็ทำอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด 

รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่าง วันสิทธิเด็กสากลจะมีการจัดเวทีสิทธิเด็กสากล และสมัชชาเด็กและเยาวชน เป็นประจำทุกปี เพื่อทำเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล แยกเป็นด้าน เช่น ด้านความพิการ มีข้อเรียกร้อง หรือความต้องการสำหรับกลุ่มพวกเขาเป็นการเฉพาะ ด้านกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กและเยาวชนชายขอบ โดยเด็กและเยาวชนจะมารวมกลุ่มกันในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยกระทรวง พม. ท่านรัฐมนตรีก็กรุณาไปรับข้อเสนอของเด็ก ๆ ด้วยตนเอง เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 ถือเป็นสองกลไกสำคัญที่เด็กสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ ส่วนหนึ่ง คือ การให้เด็กและเยาวชนมีบทบาทกำหนดนโยบาย ในคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี มอบท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีตัวแทนของเด็กและเยาวชน เข้ามาเป็นกรรมการด้วย 3 คน ประกอบด้วย ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย 1 คน ตัวแทนฝ่ายหญิง 1 คน และตัวแทนฝ่ายชาย 1 คน มาช่วยในการกำหนด ให้ความเห็น ในการพัฒนานโยบาย กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นเพื่อเด็กและเยาวชน โดยเด็กและเยาวชนสามารถให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ตรงกับความต้องการของพวกเขา มากกว่ามุมมองของผู้ใหญ่ ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกัน

นอกจากนี้ เด็กและเยาวชน สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทาง Facebook เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน หรือถ้ามีเหตุได้รับความรุนแรง หรือพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สามารถแจ้งสายด่วน 1300 Mobile Application “คุ้มครองเด็ก” หรือติดต่อบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด 77 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาที่จะสนับสนุนและให้คำปรึกษา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีเด็กและเยาวชนหลายคนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง พวกเขาจะสามารถส่งเสียงของเขาไปถึงทางหน่วยงานของรัฐ หรือกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้อย่างไรบ้าง

สุนีย์ ตอบประเด็นนี้ว่า การเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนไม่ได้จำกัดเฉพาะเป็นประเด็นทางด้านสังคม ด้านทางการเมืองเอง กระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการก็มีการสนับสนุนการแสดงออกทางการเมือง “แต่คิดว่าการแสดงออกทางการเมืองต้องเป็นไปในรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ใช้ความรุนแรง” ทางกรมฯ ได้ร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลเรื่องนี้ เรายึดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นสำคัญ ซึ่งเด็กและเยาวชนเองก็เคยมาพบที่กระทรวง พม. เพื่อแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ

การส่งเสียงของเด็กและเยาวชนไทยนั้น บางส่วนไปถึงผู้ใหญ่ เกิดการรับฟังและส่งเสริมการมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการตั้งหน่วยงานรัฐ มีกลุ่มและองค์การเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมการมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ยังมีบางส่วนที่ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ลงมือทำ และมีส่วนร่วมในการนำกิจกรรม โดยได้รับการสนับสนุนของผู้ใหญ่ มากกว่าเป็นเพียงไม้ประดับ ซึ่งจากสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน เป็นการตระหนักและการรับรู้ถึงความรู้ความสามารถ และความต้องการแสดงออกของเด็ก โดยผู้ใหญ่จะมีหน้าที่รับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้ที่เป็นทั้งความรู้สึกนึกคิด และความต้องการของเด็กโดยตรง

อีกประการหนึ่ง คือ เด็กขาดความรู้ด้านสิทธิของตนเอง โดยไม่ควรมีเด็กคนไหนที่ถูกเอาเปรียบหรือถูกมองข้ามเพียงเพราะพวกเขาเป็นเด็ก ดังนั้นเด็กๆ เองควรรับรู้ถึงสิทธิของตนเอง และโดยเฉพาะผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก ยิ่งจำเป็นต้องรับรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก ทุกคนควรหันมาตระหนัก และให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเด็กอย่างจริงจัง

หมายเหตุ - เด็กและเยาวชนคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่เกิดถึง 18 ปี

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net