Skip to main content
sharethis

คณะประชาชนทวงความยุติธรรม จัดกิจกรรมครบรอบ 13 ปี รำลึกผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม นปช. ปี'53 ที่แยกราชประสงค์ 

 

19 พ.ค. 2566 เวลา 17.00 น. ผู้สื่อข่าวประมวลภาพบรรยากาศ ที่บริเวณแยกราชประสงค์ 'คณะประชาชนทวงความยุติธรรม' ทำกิจกรรมรำลึกผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมของแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 2553 

ช่วงแรก เป็นกิจกรรมการถวายสังฆทานทำบุญให้แก่ผู้เสียชีวิต และมีการเปิดวิดีทัศน์ สรุปเหตุการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 15.12 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการปิดเส้นทางสกายวอล์ก ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้า BTS ชิดลม จนถึงหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) เปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้สังเวยชีวิตในเหตุการณ์ ครั้งนั้น 94 ราย ในจำนวนนี้มีชายไทยอายุราว 20 ปีที่ยังไม่อาจระบุชื่อ-สกุล ขณะที่ผลการไต่สวนการตายในชั้นศาลพบอย่างน้อย 18 รายเสียชีวิตด้วย "กระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่/ทหาร" นอกจากนี้ ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

'ธิดา' ส่งสารถึง ส.ว. โหวตหนุนรัฐบาลประชาธิปไตย ส่งท้าย

ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กล่าวปราศรัยบนเวทีว่า เธอมีข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมือง จำนวน 8 ข้อ 3 ข้อแรกโดยสรุป คือต้องการให้มีการตั้งกรรมการเพื่อเร่งรัด ตรวจสอบ และดูแลคดีที่ถูกแช่แข็งอยู่ และให้มีการบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม 

ธิดา ถาวรเศรษฐ

ธิดา ระบุต่อว่า ข้อสองแก้ไขกฎหมายให้ทหาร และนักการเมือง ที่ก่อคดีอาญาต่อประชาชน ให้มาขึ้นศาลพลเรือน เพราะนักการเมืองที่ทำผิดอาญา จะถูกส่งไปที่ศาลคดีอาญานักการเมืองที่มีโทษเบากว่า ส่วนข้อสาม ขอให้รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เฉพาะกรณีของการสลายการชุมนุมปี 2553 ส่วนทั้งหมดมี 8 ข้อ ส่วน 5 ข้อที่เหลือ เพื่อขอให้มีการทวงความยุติธรรมในอดีต เพื่อปัจจุบัน และอนาคต 

นอกจากนี้ เธออยากฝากไปยังพรรครัฐบาลใหม่ ให้มีการระบุในข้อตกลงร่วมกัน หรือ MOU ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกฎหมาย ไปจนถึงการลบล้างผลพวงของการทำรัฐประหาร กฎหมายต่างๆ เช่นมาตรา 112 ก็เป็นผลพวงจากรัฐประหาร เมื่อ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งเพิ่มโทษขึ้นมา

"ถ้าบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย อย่าหวังเลยว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้น ความยุติธรรมที่มีอยู่ เป็นความยุติธรรมของผู้ใช้ปืนกดหัวประชาชน กดหัวมานานหลายปี มา ณ บัดนี้ ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา นี่ถือว่าเป็นการต่อสู้ของประชาชน ที่ได้รับชัยชนะที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งนี้" อดีตประธาน นปช. กล่าว

ธิดา กล่าวต่อว่า เธออยากจะรู้ว่า ส.ว.จะท้าทายอำนาจประชาชน และเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนไปถึงไหน ประชาชนอดทนมานานมากแล้ว โดยเฉพาะคนเสื้อแดงอดทนมานานมากแล้ว 17 ปีแล้ว ดังนั้น เราต้องการที่จะส่งสารไปถึงทั้งรัฐบาล และ ส.ว. ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องปฏิบัติให้สมกับเป็น ส.ส. ในระบอบประชาธิปไตย ส่วน ส.ว. ที่มาของคุณนั้น คุณได้รับผลประโยชน์มากมายมายาวนานแล้ว ก่อนที่จะสิ้นสุด ขอสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากฝ่ายเลือกตั้งประชาธิปไตย ที่สนับสนุนให้พรรคก้าวไกล เพื่อไทย พรรคทั้งหลายได้เป็นรัฐบาลร่วมกัน ให้ได้ผ่านด่านของ ส.ว. ให้เป็นรัฐบาลให้ได้ มิเช่นนั้น ประชาชนน่าจะขาดความอดทน

"ดิฉันขอเรียกร้องว่าขอให้พวกเราทั้งหลายให้กำลังใจรัฐบาล และสนับสนุนรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ และให้เตรียมความคิดที่ว่าอาจจะมีอุปสรรคทั้งด่าน ส.ว. ด่าน กกต. และด่านอื่นๆ และสุดท้ายจะมีการทำรัฐประหารใหม่รึเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะเราเชื่อใครไม่ได้เลย 

"นี่เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ เราพยายามส่งไม้ต่อให้เยาวชนคนรุ่นหลัง ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็จะสู้จนถึงที่สุด เพื่อให้วีรชน คนเสื้อแดง ได้ตระหนักว่าเราไม่ทิ้งกัน เราไม่ลืม และเราจะสู้จนถึงที่สุด และมอบมรดกนี้ให้คนรุ่นต่อไป เพื่อไม่ให้ประชาชนที่ถูกฆ่าบนตายบนถนน และคนสั่งฆ่ายังลอยนวล ถ้าเราไม่ทำ ลูกหลานของเราก็มีโอกาสจะถูกเช่นนี้ได้เหมือนกัน" ธิดา กล่าว

รายละเอียดข้อเรียกร้อง

1. ทำการเร่งรัดตรวจสอบและผลักดันคดีความกรณีปี 2553 ที่ถูกแช่แข็งและบิดเบือน เพื่อมิให้มีการสังหารประชาชน "ลอยนวลพ้นผิด" เกิดได้อีกในอนาคต รวมทั้งตรวจสอบผลักดันคดีความในช่วงเวลาปัจจุบัน อันเป็นคดีความทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและกลั่นแกล้งทางการเมือง

2. แก้ไขกฎหมาย กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดต่อประชาชน พลเรือน ให้ขึ้นศาลพลเรือน

3. เมื่อได้เป็นรัฐบาล ขอให้ลงนามรับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553 ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการ ICC ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555

4. ดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง โดยการใช้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ รวมทั้งสนธิสัญญากรุงโรมที่ยังไม่ได้ลงนาม ก็ควรได้ลงนามในอนาคตหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว

5. แก้ไขกฎหมายอื่น อันเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร รวมทั้ง กอ.รมน. และกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง

6. ดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง เพราะ 3 แหล่งนี้เป็นกระบวนการกลุ่มอภิชนที่ยึดครองประเทศไทย ยึดอำนาจจากประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชน

7. กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค แก้ปัญหาระบบศักดินา ให้ผู้บริหารผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและถูกตรวจสอบได้ง่าย

8. ให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตา ส.ส. ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป หรือมิฉะนั้นก็ไม่ต้องมี

ประชาชนจุดเทียนรำลึกผู้เสียชีวิต

เวลา 18.45 น. กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 2553 และนักกิจกรรม ประชาชน ร่วมกันจุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิต ขณะที่มิตรสหายและสมาชิกครอบครัวของ สุวัน ศรีรักษา,สมาพันธ์ ศรีเทพ,กมลเกด อัคฮาด และฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง ผู้เสียชีวิตในปทุมวนาราม ถนนพระราม 1 เขียนรำลึกบนแผ่นป้ายข้อมูลการเสียชีวิตของพวกเขา

มนุษย์ม็อบ

“ตอนนี้เราก็อยากถามว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหน คนพวกนี้ยังไม่เคยถูกชำระแค้นหรือว่าติดคุกหรือจะทำอะไรกับเหตุการณ์(สลายชุมนุม) ที่เกิดขึ้นเลย” ชายที่ขอให้เรียกเขาเพียงว่าคนเสื้อแดงคนหนึ่งอธิบายเหตุที่ถือป้ายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ติดมาในงานรำลึกครบรอบ 13ปีที่ นปช.ถูก ศอฉ.ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งขึ้นมาเขาสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารช่วง เม.ย.-พ.ค. 53 ที่จัดขึ้นบริเวณแยกราชประสงค์

เขาบอกว่าบอกว่าก่อนที่จะกล่าวถึงการเมืองในวันนี้เขาขอพูดถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้วก่อนว่าผู้ที่สูยเสียในวันนั้นคือพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ผ่านเหตุการณ์ที่ตัวเขาเองก็ต้องหนีกระสุนมาอย่างหัวซุกหัวซุนมาจากเหตุการณ์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 10 เม.ย.2553

“10 ปี อยู่ในความระทมมากเพื่อนเราตาย เพื่อนร่วมอุดมการณ์เราตาย ญาติพี่น้องเราตาย เราเข้าไปช่วยเขาไม่ได้ เราทำอะไรไม่ได้ แถมยิงเราเหมือนหมูเหมือนหมา”

ชายคนนี้บอกว่าหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาเลือกจะเก็บเงียบมาตลอดเพราะหลังเหตุการณ์นั้นคนทั่วไปโจมตีพวกเขาว่าเผาบ้านเผาเมืองบ้างเป็นพวกล้มเจ้าบ้างจึงเลือกที่จะหลบไปและจากเหตุการณ์ทำให้เขาเศร้าอยู่พักใหญ่

ทั้งนี้เขาบอกว่า ณ วันนี้มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้เขารู้สึกดีใจเยาวชนเหล่านี้ได้เปิดหูเปิดตาเขาและทำให้เขาเห็นแสงสว่างเพราะมองเห็นถึงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงและมีแต่มือเปล่าจริงๆ ทำให้เขารู้สึกมั่นใจที่จะออกมาด้วย

“ผมขอแค่ว่าให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ฟังจากนโยบายหลายๆ อย่างของพรรคก้าวไกลที่เป็นคนรุ่นใหม่ ผมรู้สึกดีใจมากและคาดหวังว่าให้ประเทศไทยได้เจริญขึ้นสักที ไม่อยากให้จมปลักอยู่กับการรัฐประหารหรือเผด็จการ หรือการเอาอำนาจของประชาชนไปแล้วฆ่าประชาชนเป็นผักเป็นปลา” ชายคนนี้กล่าวถึงประเด็นการเอาทหารออกจากการเมืองที่ก้าวไกลใช้หาเสียงมาตลอด

ชายเสื้อแดงคนนี้หวังให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยว่าสักวันหนึ่งจะสามารถเอาความจริงมาเปิดเผยได้ และแสดงความดีใจกับทั้งสองพรรคขอให้จัดตั้งรัฐบาลได้

เขาทิ้งท้ายว่าสำหรับเขาและคนเสื้อแดงยินดีที่จะเปิดรับทุกฝ่ายที่หลุดพ้นจากการหน้ามืดตาบอดเห็นถึงความสว่างว่าที่ผ่านมาพวกเขาสู้ด้วยประชาธิปไตยและความจริงโดยที่ไม่ได้ตอบโต้และเป็นพวกเขาที่ถูกกล่าวหายัดเยียดมาตลอด

“แค่ทุกวันนี้เราไม่โดนตราหน้าว่าเผาบ้านเผาเมืองเราก็ดีใจแล้วครับ”

รินดา พรศิริพิทักษ์

“ทหารใช้ม.44 นำกำลังจำนวนมากมาจับกุมพี่อันนี้ไม่ใช่เรื่องมันไม่ใช่ปกติเลย ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสภาวะอะไรก็แล้วแต่ มันไม่ใช่เรื่องที่มาทำกับพลเมืองได้จนวันนี้พี่ยอมรับไม่ได้”

รินดา พรศิริพิทักษ์ หรือหลิน คนเสื้อแดงเล่าถึงผลกระทบจากที่เคยถูกรัฐบาล คสช.ดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นและพ.ร.บ.คอมฯ เมื่อปี 2558 จากการส่งต่อข้อความในไลน์ข่าวลือเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โยกย้ายเงินกว่าหมื่นล้านไปไว้ที่ธนาคารในสิงคโปร์ 

 

ศาลอาญายกฟ้อง 'รินดา' โพสต์ข่าวลือประยุทธ์โอนหมื่นล้าน ไม่เข้าข่าย 'กระทบความมั่นคง'

รินดากล่าวถึงจำนวนคดีการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นทั้งผู้ชุมนุมรวมถึงเด็กและเยาวชนแล้วคดีมาตรา 112 จำนวนมากไม่ว่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ก็มีการใช้มาตรานี้มาแจ้งความกันจนมีนักโทษการเมืองมากที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ จนมีการดำเนินคดีกับเด็กอายุ 14 ปี

“เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลเผด็จการ”

เธอบอกว่าการที่พรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาลก็เป็นนิมิตหมายที่ดีและเป็นความหวังใหม่จริงๆ เพราะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยและก็หวังว่านโยบายของพรรคก้าวไกลอย่างการลบล้างผลพวงรัฐประหารและเข้ามาจัดการคดีการเมืองทั้งของประชาชนและเด็กๆ ให้เป็นไปอย่างยุติธรรม และถ้ารวมถึงคดีที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลจากการรัฐประหารด้วยก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะนอกจากคดีของเธอแล้วยังมีคนที่โดนคดีในช่วงนั้นอีกมาก

“พี่ควรจะได้เป็นแม่บ้านอยู่บ้านเลี้ยงลูก ณ วันนั้น แต่การที่ต้องไปเสียเวลาในคุกต้องเสียชื่อเสียงมีคดีความอยู่ตั้งหลายปีตรงนี้มันก็เกิดขึ้นแล้ว ถ้าลบล้างผลพวงการรัฐประหารมันจะเกิดการเยียวยาหรือว่ามีการฟ้องกลับได้มั้ย เพราะสำหรับกรณีพี่ถึงจะชนะคดี แต่กว่าจะชนะคดีก็ 4-5 ปี วิ่งขึ้นศาล ไหนจะชื่อเสียงที่เสียหาย เวลาที่เสียไป”

“พี่เป็นพลเมือง ตั้งแต่เล็กจนโตพี่ไม่เคยมีคดีความ พี่เป็นเมียที่ดีแล้วก็เป็นแม่ที่ดี ถามว่าความเป็นพลเมืองของพี่คิดว่าสมบูรณ์แบบนั้น แต่การที่รัฐมาทำกับพี่อย่างนี้ไม่โอเค ไม่เหมาะสมเลย เพราะฉะนั้นพี่ถือว่ารัฐต้องรับผิดชอบอย่างหนักด้วย ไม่ใช่แค่แบบก็คุณออกจากคุกมาแล้วนิมีเบี้ยเลี้ยงในคุกวันละ 200 กว่าบาท มันบ้าไปแล้วนั่นมันค่าอะไรของคุณ เอาพลเมืองไปติดคุกมันต้องคิดใหม่นะ เพื่อให้ประเทศนี้ไม่เอาพลเมืองไปขึ้นศาลทหารหรือไปติดคุกแบบนี้อีก”

รินดาบอกว่าก็จะรอดูหลังมีรัฐบาลใหม่ว่าเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหารจะเป็นอย่างไรก็จะคุยกับทนายความเรื่องฟ้องกลับเหมือนกัน และถ้ามีรัฐบาลใหม่ก็หวังอยู่ว่าถ้าลงนามยอมรับศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างที่พรรคก้าวไกลเคยปราศรัยไว้ พี่น้องคนเสื้อแดงที่ตายไปก็จะถูกชำระว่าใครสั่งฆ่าและถูกนำตัวมาลงโทษ

“เสื้อแดงที่ตายไปก็จะได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่ตายเพราะอะไรไม่มีใครรู้มันไม่ใช่ คนตายไปตั้งเยอะแยะไม่มีใครรู้เป็นไปไม่ได้ แล้วมันเท่ากับปลดปล่อยความแค้นที่ฝังลึกในจิตใจพี่น้องเสื้อแดงด้วย เมื่อคดีถูกเคลียร์ไปชำระประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องแล้ว การปรองดองจริงๆ ก็จะเกิดขึ้นได้”

“ถ้าใครฆ่าเราแล้วเราอยากปรองดองมั้ย เราไม่อยากปรองดองหรอก แต่ถ้าคนที่ฆ่าเราได้มารับโทษแล้ว คดีมันเคลียร์ไปเราก็เข้าสู่การปรองดอง มันได้ปลดปล่อยตัวเองไง มันก็ปรองดองได้อย่างสนิทใจ ประเทศก็จะได้เดินต่อ”

รินดาอธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งกับเธอและคนเสื้อแดงมันเป็นเหมือนแผลในใจและคงมีคนคิดคล้ายๆ กัน ที่การถูกดำเนินคดีมีมลทินติดตัวไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเกิดขึ้นเพราะเธอเองก็คิดว่าตัวเองก็พลเมืองไม่ใช่หมูหมากาไก่ที่ใครจะทำอะไรกับเธอก็ได้ แล้วสำหรับสิ่งที่เกิดกับพี่น้องเสื้อแดงที่ผ่านมา 13 ปี คดีความก็ควรจะกระจ่างได้แล้วเพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ค้างคาใจอยู่แบบนี้ว่าใครฆ่าเพื่อน มีคนทำคนตาย คนทำก็ต้องรับผิดชอบ

ภาพบรรยากาศ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net