Skip to main content
sharethis

รวมท่าที ส.ว.หลังเลือกตั้ง 66 ใครบ้างโหวตไม่โหวต กลุ่มแก้ รธน.ตัดอำนาจ ส.ว.ยังยืนยันไม่ใช้อำนาจโหวต กลุ่มโควต้า ผบ.เหล่าทัพเลี่ยงข้อครหาไม่เป็นกลางงดออกเสียง บางส่วนขอดูสถานการณ์

16 พ.ค.2566 หลังการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ปรากฏผลชัดว่าพรรคที่ที่นั่งในรัฐสภามากที่สุดครั้งนี้คือพรรคก้าวไกลและตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยเป็นอันดับสอง โดยมีพรรคภูมิใจไทยเข้ามาเป็นอันดับที่สาม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ถูกพูดถึงตามมาคือจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไรเนื่องจากรวมเสียงฝ่ายค้านเดิมตามที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศไว้ว่าขณะนี้มีจำนวนส.ส.รวมแล้ว 309 คน(โดยไม่ได้รวมภูมิใจไทย) ยังไม่เกิน 375 เสียงหรือกึ่งหนึ่งของสภาร่วมที่จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จนเริ่มมีการพูดถึงผ่านแฮชแท็ก #สวมีไว้ทำไม และ #สวต้องฟังเสียงประชาชน

สมชาย แสวงการ ส.ว. ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวานนี้ว่าการโหวตของเขาขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้และเฉพาะจำนวนเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรยังไม่เพียงพอสำหรับเขา โดยเขาบอกว่าคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้จะต้องเป็นคนที่มีเกียรติและไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศ

“ฮิตเลอร์เคยได้รับเลือกตั้งมาจากเสียงส่วนใหญ่แต่ยังนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ถ้ามีความเป็นได้ว่าจะเกิดความแตกแยกขึ้นในประเทศ ผมจะไม่โหวตให้เขา” สมชายกล่าว

รอยเตอร์ยังได้สัมภาษณ์กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.นายกฯ คนต่อไปจะต้องเป็นคนที่จงรักภักดีต่อ 3 สถาบันหลักของชาติคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และต้องไม่ทุจริตด้วย

นอกจากในสัมภาษณ์ของรอยเตอร์แล้วมติชนออนไลน์ได้รายงานถึงคำพูดของกิตติศักดิ์ด้วนว่าเขาขอรอดูให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนของ ส.ว. ถ้าตั้งรัฐบาลได้แล้วถึงจะเข้าสู่กระบวนการเลือกประธานสภาและเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ว.  ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือยุ่งเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ เป็นเรื่องของสภาผู้แทนฯ ในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ซึ่งก้าวไกลก็จะต้องไปรวมเสียงให้ได้มากกว่า 250 เสียง

อย่างไรก็ตามยังมี ส.ว.ที่แสดงเจตนาแตกต่างออกไปอย่าง เจตน์ ศิรธรานนท์ ที่กล่าวว่าเขาจะเคารพแต่เสียงของคนส่วนใหญ่ และบอกว่า ส.ว.ไม่ควรขวางกั้นการทำงานของรัฐสภา และพวกเขาจะเคารพต่อเสียงของประชาชนตามผลลัพธ์ที่ออกมา

วันชัย สอนศิริ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “กรรมกรข่าว” กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกฯ ว่าจะต้องดูว่าพรรคการเมืองสามารถรวมเสียงส่วนใหญ่มาได้หรือไม่ คนที่จะมาเป็นนายกฯ เป็นยอมรับของทั้ง ส.ส.และส.ว.หรือไม่ รวมถึงดูเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองด้วย และถ้าพรรคก้าวไกลไปรวมเสียง ส.ส.ให้เกิน 376 เสียงได้แต่ถ้าไม่ได้ก็ไปประสาน ส.ว. แต่ที่บอกว่าไม่เอา250 ส.ว.จะมาหาทำไม

ทั้งนี้เมื่อสรยุทธ์ สุทัศนจินดา พิธีกรถามวันชัยว่าเคยพูดว่าจะโหวตให้กับพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ใช่หรือไม่ วันชัยตอบในประเด็นนี้ว่าเขาจะยกให้กับพรรคที่รวมเสียง ส.ส.มาได้มากไม่ใช่พรรคที่ได้อันดับ 1 ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด

“ปัญหาคือคุณได้อันดับหนึ่งแล้วคุณรวมเสียงได้ข้างมากเกิน 251 หรือเปล่า (อันนี้เกินแล้วเขาได้ 310-สรยุทธ์) เขารวมกันแล้วเสนอกันหรือเปล่า เขาเสนอกันก็โอเคผมไม่ได้ปฏิเสธ”

สรยุทธ์ถามย้ำว่าตอนนี้มีการรวมกันได้ 310 เสียงในกลุ่ม ส.ส.แล้วเสนอพิธาเข้าไปในที่ประชุมร่วมกันของสองสภาแล้ววันชัยจะโหวตให้พิธาหรือไม่ วันชัยตอบว่าโดยหลักการแล้วเขาไม่ขัดข้อง แต่ถึงวันที่ต้องโหวตแล้วเขาขอดูรายละเอียดก่อน แต่เบื้องต้นเขายอมรับกับเสียงส่วนใหญ่

ทั้งนี้วันชัยยังกล่าวในรายการด้วยว่านอกจากตัวเลข 310 แล้วเขายังรวมกรณีที่เพื่อไทยจับกับพรรคอื่นโดยไม่มีก้าวไกลก็ยังมีจำนวน 290 ก็จัดตั้งรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตามเมื่อสรยุทธถามย้ำเรื่องที่ว่าถ้าก้าวไกลทำไม่สำเร็จแล้วสิทธิมาตกที่เพื่อไทยถูกหรือไม่

“ถูกต้อง แต่อย่าลืมว่าก้าวไกลได้ 150 ไม่ได้ 300 กว่าเหมือนคุณทักษิณ แล้วเขาจะไปถือว่าเราเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้อย่างไร สภามี 500เสียงแต่เขาได้เพียง 150 ยังเหลืออีกตั้ง 350 เราหลงประเด็นกัน นักข่าวเห็นพูดจากันเหมือนก้าวไกลมาถล่มทลายจะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ผมนั่งดูหน้าจอเขาคิดกันอย่างนั้น ถ้าได้ 250 พวกเรานักจัดรายการก็น่าจะตื่นเต้นเส้นกระตุกกัน”

วันชัยยังกล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนเพื่อไทยก็ได้จำนวนใกล้เคียงกับก้าวไกลครั้งนี้ หรือแม้แต่ประชาธิปัตย์ก็เคยได้ 120 กว่าเสียงก็ยังไม่ได้ แต่สังคมก็ผลักดันกันว่าก้าวไกลจะต้องเป็นรัฐบาล เหตุใดถึงไม่ผลักดันกันว่าอาจจะเป็นฝ่ายค้านก็ได้

สรยุทธ์ยังได้ถามว่าถ้าสมมติว่ากรณีที่เสนอพิธาหรือคนอื่นแล้วไม่ผ่าน จนถึงเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณจะผ่านเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้หรือไม่ วันชัยตอบประเด็นนี้อย่าสมมติเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และการจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็เป็นไปไม่ได้

ส่วน เสรี สุวรรณภานนท์ มีสำนักข่าวไทยสัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ด้วยโดยเขาตอบว่าต้องรอติดตามการจัดตั้งขั้วรัฐบาลก่อนซึ่ง ส.ว.ให้ความเห็นเรื่องนี้ไม่ได้ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองมีเงื่อนไขที่จะต้องพูดคุยกันจะรับกันได้หรือไม่แต่เขาคิดว่าพรรคการเมืองคงไม่ทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมืองหรือก่อความไม่สงบสุข ส่วนเรื่องจะสนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้นเขาปฏิเสธให้ความเห็น

ถาม 3 ส.ว. 'วันชัย-เสรี-กิตติศักดิ์' จะโหวตนายกยังไง พบท่าทียังไม่ชัดเจน

เมื่อ 16 พ.ค. 2566 จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ในรายการ "กรรมกรข่าว คุยนอกจอ" (ยามเย็น) เสนอตรวจสอบหลักฐาน 3 ส่วน เพื่อส่งให้ กกต. ไปเป็นข้อมูลในเชิงประจักษ์ ได้แก่ การถือหุ้น iTV การแก้ไข มาตรา 112 และการครอบงำพรรค เลยตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยมีเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นผู้กำกับคณะทำงาน โดยจะให้เสร็จภายใน 1 เดือนก่อนที่จะหมดเวลาตรวจสอบผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ก่อน กกต.รับรอง 

ส.ว.จเด็จ กล่าวด้วยว่า เขาจะไม่โหวตสนับสนุนให้พิธา เป็นนายกฯ เนื่องจากเรื่องแก้ไขมาตรา 112 พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมต้องแก้ไขลดโทษเบาลง เพื่ออะไร เพื่อให้เกิดการดูหมิ่น หมิ่นประมาท กษัตริย์ พระราชินี และผู้สำเร็จราชการ ง่ายลงหรือไม่ 

"ผมยินดีให้เพิ่มโทษผมยินดี แต่การทำท่าว่าเหมือนแก้ไข การใช้คำพูดว่าล้มล้างบ้าง การใช้คำพูดว่าปฏิรูป กลับไป-มา ทำให้ผมไม่ไว้วางใจคุณพิธา และพรรคก้าวไกล เสียแล้วในเรื่องนี้... ผมถือว่าแนวทางอย่างนี้ เป็นแนวทางที่ต้องการด้อยค่าสถาบัน (กษัตริย์)" ส.ว.จเด็จ กล่าว และระบุว่าอันนี้เป็นความเห็นของเขาเอง แต่มองว่า ส.ว.น่าจะคิดแบบเขาเยอะ 

กลุ่มโหวตแก้ รธน. ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ

รายการ The End Game ของเดอะ สแตนดาร์ด สัมภาษณ์ พรทิพย์ โรจนสุนันท์ กล่าวว่าเธอจะไม่โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งยึดถือตามหลักการไม่ได้เปลี่ยนไปตามผล แต่ถ้าจะมี ส.ว.คนอื่นโหวตให้ก็ไม่ได้ว่าอะไร และยืนยันว่าการไม่โหวตไม่ได้แปลว่าไม่ฟังเสียงของประชาชน เพราะก่อนมีการเลือกตั้งประชาชนเองก็ไม่อยากให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ และเธอยังได้กล่าวถึงการโหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง 62 ว่าเป็นการทำไปตามผลของคำถามพ่วงในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ว่าต้องการมีนายกฯ มาดำเนินการปฏิรูปซึ่งในเวลานั้นมีเพียงพล.อ.ประยุทธ์

มณเฑียร บุญตัน 1 ใน ส.ว. 23 คนที่เลือกโหวตให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตัดอำนาจเลือกนายกฯ ในการประชุมสภาเมื่อกันยายน 2565 และเคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทเมื่อ 22 ก.ย.2565 ว่าเขาจะไม่ใช่อำนาจตามมาตราดังกล่าวมาโหวตเลือกนายกฯ หลังการเลือกตั้ง 2566 นี้แล้วและที่ผ่านมาก็โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีการตัดอำนาจนี้ของ ส.ว.ด้วย

'ส.ว.มณเฑียร' รับหลังเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ใช้สิทธิโหวตนายกฯ แล้ว

ล่าสุดมณเฑียรโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กของตนโดยตั้งคำถามต่อการเรียกร้องให้ ส.ว.ให้ไม่โหวตเลือกนายกฯในช่วงก่อนเลือกตั้งแต่หลังเลือกตั้งกลับอยากให้ ส.ว.กลับมาโหวต ว่าไม่เอาหลักการที่เคยใช้ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 แล้วหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาตัวเขาเองโหวตเลือกตัดอำนาจนี้จากรัฐธรรมนูญมาตลอดและประกาศด้วยทุกครั้งว่าจะไม่ใช่อำนาจนี้หลังการเลือกตั้งครั้งนี้มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว เขาจึงสงสัยว่าควรจะต้อง ส.ว.ปิดสวิตช์ตัวเองหรือไม่

แม้มณเฑียรจะยอมรับว่าเขาจะกาให้พรรคก้าวไกลทั้งพรรคและเขต แต่เป็นการทำหน้าที่ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่สามารถนำมาปนกับการทำหน้าที่ในสภาของเขาได้

“ผมจึงคิดว่า ความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ดังกล่าวของสว.น่าจะไม่ง่ายครับ และไม่อยากให้สังคมมองสว.ไปในทางเดียวกันหมด เพราะนั่นไม่ใช่ความเป็นจริงทางการเมือง” มณเฑียรระบุ

อำพล จินดาวัฒนะ เป็นอีก 1 ใน 23 ส.ว.ที่โหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 และเคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทเช่นกันว่าจะไม่ใช่อำนาจนี้ในการโหวตเลือกนายกฯ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน

‘ส.ว.อำพล’ จะไม่ใช้ ม.272 เลือกนายกฯ สมัยหน้า สังคมมีเจตนารมณ์จะยกเลิกอำนาจนี้ก็ต้องไม่ใช้

ล่าสุดเขาได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กผลการเลือกตั้งได้สะท้อนเจตนาของมหาชนแล้ว จากนี้ควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตามอย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด

เรื่องเล่าเช้านี้รายงานว่า วัลลภ ตังคณานุรักษ์ อีก 1 ส.ว.ที่เคยโหวตตัดอำนาจตัวเองเหมือนกันได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวานนี้ด้วยเช่นกันว่าจะปิดสวิตช์ตัวเองและจะไม่ยุ่งจะใช้สิทธิงดออกเสียง และมองเป็นเรื่องแปลกที่ตอนประกาศปิดสวิตช์คนชื่นชมแต่พอถึงเวลาก็อยากจะให้โหวต

อย่างไรก็ตาม วัลลภได้โพสต์ตั้งแต่เมื่อวานด้วยว่าเขาเคยให้สัมภาษณ์ชัดเจนแล้วตั้งแต่ตอนมีการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะปิดสวิตช์ตัวเองในการใช้สิทธิเลือกนายกฯ

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเมื่อ 17 พ.ค. 2566 เวลา 2.28 น. พบว่าไม่สามารถเข้าถึงโพสต์เฟซบุ๊กได้แล้ว

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา และเป็น 1 ใน 64 ส.ว.ที่เคยโหวตตัดอำนาจเลือกนายกฯ ตาม ม.272 ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์รัฐสภาวันนี้ (16 พ.ค.) ต่อประเด็นที่สังคมกำลังตั้งคำถามต่อการโหวตนายกฯ ของ ส.ว. โดยระบุว่า ส่วนตัวเขายังไม่ตัดสินใจ เพราะว่า ส.ว.เป็นปลายน้ำ โดยจะพิจารณาจาก 3 รายชื่อที่เสนอมา หนึ่งต้องฟังเสียงประชาชน ส.ส.เสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ สองต้องเป็นคนดี ไม่ติดคดีความ ไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และสามต้องชี้ให้เห็นว่าสามารถนำพาประเทศไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

ดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า กรณีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นี่ถือว่าติดคดีอยู่ และจะเลือกพิธา ได้ ก็ควรต้องให้คดีความสิ้นสุดก่อน และอยากให้ กกต. เร่งรีบดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว เพราะคนอยากได้นายกฯ เหมือนกัน

"จะพิสูจน์ได้ว่าท่านเป็นคนดีไม่ขาดคุณสมบัติ ถ้าต้องคดี และก็ศาลชี้ว่าท่านมีเจตนาทุจริต ท่านขาดคุณสมบัติ รู้ทั้งรู้แล้วยังไปสมัคร แทบไม่ต้องอธิบายเลย เพราะว่าเราไม่สามารถเลือกท่านได้" ดิเรกฤทธิ์ กล่าว 

ต่อกรณีแก้ไข/ยกเลิกมาตรา 112 นั้นมีส่วนต่อการตัดสินใจของดิเรกฤทธิ์ขนาดไหน ดิเรกฤทธิ์ ระบุว่า "มีส่วนมาก" เพราะมันคือบริบทสังคมและตัวตนของชาติไทย ความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรานี้ ซึ่งคุ้มครองประมุขประเทศนี้  

นอกจากนี้ ดิเรกฤทธิ์ ระบุด้วยว่า แม้ว่าการที่ได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจนสามารถชนะการเลือกตั้งมาได้นั้น ไม่ได้แปลว่าประชาชนต้องเห็นด้วยกับทุกนโยบายของพรรคการเมืองดังกล่าว เพราะประชาชนดูภาพรวมเป็นหลัก

ส.ว.คนเดิม ทิ้งท้ายว่า เขายังไม่ตัดสินใจ เพราะว่าเขาอยากดูรายชื่อที่ดูเสนอเป็นนายกฯ ก่อน ถ้าผู้ที่ถูกเสนอมา 3 คนผ่านเกณฑ์ที่เขาเสนอไว้ 3 ข้อที่กล่าวข้างต้น "ผมก็จะไม่งดออกเสียง และอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี"

กลุ่มโควต้า ผบ.เหล่าทัพ

16 พ.ค.2566 สปริงนิวส์และกรุงเทพธุรกิจรายงานถึงข่าวที่ว่า ส.ว.กลุ่มผู้บัญชาการเหล่าทัพจะงดออกเสียงโหวตเลือกนายกฯ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหากาวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง ในฐานะที่กองทัพเป็นหน่วยงานรัฐ

ส.ว.ในกลุ่มนี้ได้แก่ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และพล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net