Skip to main content
sharethis

ค่า Ft ประจำเดือนมกราคม – เมษายน 2566 หน่วยละ 93.43 สตางค์ ระบุเหตที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงข้นึตามราคาพลังงานในตลาดโลก และสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า พร้อมย้อนดูค่า Ft ในรอบ 10 ที่ผ่านมา 

จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นใจช่วงนี้ จนวานนี้ (18 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม​ กล่าวถึงปัญหาดังกล่าาวว่า ต้องดูสาเหตุของปัญหา ว่าทำไมถึงแพง และต้องดูต้นทุนการผลิตและการบริหาร มันมีอะไรที่ซับซ้อนอยู่ในนั้นหลายอย่างนั้น 

ค่า Ft ม.ค.-เม.ย. หน่วยละ 93.43 สตางค์ เหตุก๊าซธรรมชาติเหลวราคาสูง ค่าเงินบาทอ่อน

ปัจจัยที่ส่งผลอย่างชัดเจนคืออัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ Ft โดยปัจจุบัน ค่า Ft ประจำ เดือนมกราคม – เมษายน 2566 ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำหนดค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2565 หน่วยละ 0.9343 บาท หรือ 93.43 สตางค์ (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่วนค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ประเภทบ้านอยู่อาศัย) หน่วยละ 1.5492 บาท หรือ 154.92 สตางค์ (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 

โดยระบุว่า ผลการคำนวณประมาณการค่า Ft ขายปลีก ประจำเดือนมกราคม - เมษายน 2566 เท่ากับ 145.74 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับสาเหตุที่ค่า Ft ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามราคาพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาสูง และมีสัดส่วนการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า จึงส่งผลให้ค่า Ft เพิ่มสูงขึ้นมาก 

ค่า Ft ตั้งแต่ปี 2555-2566 ที่มา การไฟฟ้านครหลวง

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้พิจารณาค่า Ft เพิ่มเติมตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 ที่กำหนดนโยบายให้ลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรกในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน ดังนั้น ค่า Ft ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม - เมษายน 2566 ดังกล่าว 

Ft นี้ ถูกปรับขึ้นมาตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 ส่งผลให้ Ft ประจัดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 หน่วยละ 0.9343 บาท หรือ 93.43 สตางค์ (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)  โดยระบุว่า มีสาเหตุหลักมาจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามราคาพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะสัดส่วน การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีราคาสูง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จึงส่งผลให้ค่า Ft เพิ่มสูงขึ้นมาก

พ.ค.-ส.ค.66 อยู่ที่หน่วยละ 98.27 สตางค์ แม้ค่าเงินแข็งขั้น ราคาก๊าซลดลง

ส่วนค่า Ft ประจําเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 นั้น อยู่ที่หน่วยละ 0.9827 บาทหรือ 98.27 สตางค์ (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีมติไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ระบุว่า ค่า Ft ที่คํานวณได้ประจําเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 293.60 สตางค์/หน่วย โดยมีรายละเอียด ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ เปลี่ยนแปลงไปจากฐาน (FAC) เท่ากับ 63.37 สตางค์/หน่วย เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นจากรอบก่อนหน้า ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาลดลง ส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าลดลง ค่า Ft สะสมซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างของประมาณการค้า Ft ที่เรียกเก็บกับค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริง(AF) โดยค่า AF สะสมในเดือนกันยายน 2564 - ธันวาคม 2565 เท่ากับ 230.23 สตางค์/หน่วย

คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ได้พิจารณาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันที่ยังมีแนวโน้มไม่แน่นอนซึ่งอาจส่งผลให้มีภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นได้อีกในอนาคต จึงพิจารณาให้ทยอยจ่ายคืนส่วนต่างของประมาณการค่า Ft ที่เรียกเก็บกับค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริงสะสมเดือนกันยายน 2564 - ธันวาคม 2565 บางส่วนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่งผลให้ค่า Ft ประจําเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 เท่ากับ 98.27 สตางค์/หน่วย 

จากเหตุผลข้างต้นคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน จึงเห็นชอบค่า Ft ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า ประจําเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 เท่ากับ 98.27 สตางค์/หน่วย

ค่า Ft ประจำเดือนมกราคม - เมษายน 2566 เทียบกับ ประจำเดือนมกราคม - เมษายน 2565

ขณะที่เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564 มติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำหนด Ft ประจําเดือนมกราคม – เมษายน 2565 หน่วยละ 0.0139 บาท หรือ 1.39 สตางค์(ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งค่า Ft ที่คํานวณได้จริงเท่ากับ 48.01 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้น จากค่า Ft ขายปลีกประจําเดือนกันยายน - ธันวาคม 2564 จํานวน 63.33 สตางค์/หน่วย โดยมีสาเหตุหลักมาจากค่าใช่จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการบริหารจัดการเสถียรภาพค่า Ft รวมถึงบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกจาก COVID-19 และแนวโน้มค่า Ft ในปี 2565 ที่สูงขึ้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจึงมีมติเห็นชอบให้ทยอยปรับค่า Ft ปี 2565 เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได โดยกําหนดให้ค่า Ft ขายปลีกประจําเดือนมกราคม - เมษายน 2565 เท่ากับ 1.39 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้นจากรอบก่อนหน้า 16.71 สตางค์/หน่วย จึงทําให้ค่า Ft ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าประจําเดือนมกราคม - เมษายน 2565 เท่ากับ 1.39 สตางค์/หน่วย โดยจะมีผลทําให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 3.56 บาท/หน่วย เป็น 3.73 บาท/หน่วยหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.69

ทั้งนี้ค่า Ft นั้น การไฟฟ้านครหลวง อธิบายไว้ว่า เดิมย่อมาจากคำว่า Float time  มีความหมายว่า การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้  เช่น  ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ

เนื่องจากตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณสูตร Ft ให้คงเหลือเพียง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน เท่านั้นที่ กฟผ.ไม่สามารถควบคุมได้ และสามารถนำไปคำนวณในสูตร Ft ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงได้ประสานงานกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เพื่อเปลี่ยนคำย่อของค่า Ft ให้สอดคล้องกับสูตรปัจจุบัน ดังนี้ Ft ย่อมาจากคำว่า Fuel Adjustment Charge (at the given time) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net