Skip to main content
sharethis
  • อ่องเมียวมิน รมว.สิทธิมนุษยชน 'NUG' มองกรณีรัฐไทยผลักดันสมาชิก PDF กลับไปเผชิญอันตรายที่เมียนมา แม้เป็นตาม กม.คนเข้าเมือง แต่กรณีนี้ต้องใช้มุมมองด้านมนุษยธรรมเข้าร่วม พร้อมชงข้อเสนอระดับท้องถิ่น รับรองสถานะและที่พักพิงชั่วคราวภาวะฉุกเฉิน
  • องค์กรภาคประชาชน 46 องค์กร ร่อนแถลงการณ์ ชี้รัฐไทยเคารพต่อหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยไปเผชิญภยันตรายที่ประเทศต้นทาง (Non-Refoulement) และต้องมีการสอบสวนและชี้แจงหลักเกณฑ์กรณีดังกล่าว


สืบเนื่องจากเมื่อ 5 เม.ย. 2566 มีรายงานข่าวจากต่างประเทศเปิดเผยว่า รัฐไทยผลักดันสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) จำนวน 3 ราย ที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก กลับไปเผชิญอันตรายในเขตกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ภายหลังมีรายงาข่าวเพิ่มเติมว่า สมาชิก PDF เสียชีวิต 1 ราย ขณะกำลังหลบหนีระหว่างส่งตัวกลับไปที่เมียนมา ขณะที่ 2 รายยังไม่ทราบชะตากรรม

ต่อมา เมื่อ 7 เม.ย. 2566 สภาความมั่นคงแห่งชาติ ของรัฐบาลไทย ออกมาชี้แจงว่าการผลักดันกลับเป็นไปตามกฎหมายคนเข้าเมือง มาตรา 54 และไม่ได้รับหนังสือ หรือการติดต่อจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่าทั้ง 3 คนเป็นกลุ่มต่อต้านเผด็จการ และไม่ได้รับแจ้งว่าพวกเขาสามคนมาเข้ามารักษาที่ อ.แม่สอด

ที่มา: สภาความมั่นคงแห่งชาติ

สำหรับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) เป็นปีกทางการทหารภายใต้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ก่อตั้งเมื่อ 5 พ.ค. 2564 หลังการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ. 2564 โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อพิทักษ์ประชาชนจากการก่ออาชญากรรมสงคราม และจรยุทธ์ต่อต้านกองทัพเมียนมาในหลายพื้นที่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

13 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ อ่องเมียวมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิทธิมนุษยชน แห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เพื่อขอความเห็นต่อกรณีดังกล่าว โดยเบื้องต้น อ่องเมียวมิน กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับนโยบายในอดีตที่ให้การต้อนรับและดูแลผู้หนีภัยสงครามจากเมียนมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน รวมถึงตัวเขาเองก็เคยเป็นผู้ลี้ภัยระหว่าง 2531-2534 (ค.ศ. 1988-1992) 

อ่องเมียวมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิทธิมนุษยชน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) (ที่มา: CCPR - Centre for Civil and Political Rights)

อย่างไรก็ตาม อ่องเมียวมิน ระบุต่อว่า ในกรณีที่รัฐไทยผลักดันสมาชิก PDF จำนวน 3 คนกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง ทำให้เขามีความกังวลต่อแนวทางปฏิบัติของรัฐไทย แม้ว่าจะเป็นไปตามกฎหมายคนเข้าเมือง แต่สิ่งที่ขาดาหายไปคือ 'มุมมองด้านมนุษยธรรม'

รมว.สิทธิมนุษยชน จาก NUG ระบุต่อว่า กองกำลัง PDF ไม่ใช่คนธรรมดา หรือผู้อพยพ ที่จะปลอดภัยเมื่อถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง แต่พวกเขาเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการกองทัพเมียนมา ดังนั้น มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าพวกเขาจะต้องเผชิญการประหัตประหาร การซ้อมทรมาน หลังจากกลับไปที่ประเทศเมียนมา

"ผมทราบดีว่าไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาสถานะภาพผู้ลี้ภัย แต่แนวคิดด้านมนุษยธรรมควรถูกนำมาพิจารณาในกรณีนี้ พวกเขาไม่ควรถูกส่งกลับไปยังพื้นที่ หรือองค์กรที่ทำให้เขาต้องเสี่ยงต่อการประหัตประหารหลังจากถูกผลักดันกลับ"

"นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อพวกเขาถูกมองในฐานะผู้เข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารในประเทศไทย และถูกส่งกลับตามกฎหมายคนเข้าเมือง เนื่องจากขาดมุมมองด้านมนุษยธรรม" อ่องเมียวมิน ระบุ และกล่าวว่า  รัฐไทยต้องใช้มุมมองด้านมนุษยธรรม และใช้ความระมัดระวังในการจัดการในกรณีลักษณะนี้ ไม่มีใครควรถูกส่งมอบตัวไปยังกลุ่มที่ทำให้เขามีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตพวกเขา

ชงข้อเสนอ ในการรับรองสถานะ/ที่พักพิงชั่วคราว 

สำหรับข้อเสนอถึงรัฐบาลรักษาการไทย อ่องเมียวมิน ระบุว่า เขาอยากให้ประเทศใช้มุมมองด้านมนุษยธรรมในการจัดการผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามตามที่เสนอไปข้างต้น นอกจากนี้ เขาอยากให้รัฐไทยพิจารณาให้สถานะและที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้หนีภัยจากสงครามเมียนมา โดยเฉพาะในห้วงเวลาฉุกเฉิน 

"สถานการณ์ชายแดนช่วงที่ผ่านมารุนแรงอย่างมาก เพราะการบุกโจมตีที่ชเว่ก๊กโก่ ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในไม่มีที่ให้หลบหนี พวกเขาต้องข้ามแม่น้ำเมยมาฝั่งไทยเพื่อลี้ภัย อยากให้รัฐไทยพิจารณามาตรการระบบรับรองสถานะหรือที่พักพิงชั่วคราวในห้วงฉุกเฉิน" อ่องเมียวมิน ระบุ

สำหรับการรองรับสถานะบุคคลชั่วคราว อ่องเมียวมิน ระบุเพิ่มว่า ประชาชนเมียนมาที่ไม่ใช่ชาวชาติพันธุ์ที่สามารถเดินทางไป-กลับได้บริเวณชายแดน ควรมีวิธีการแก้ไขในด้านกฎหมาย และนโยบายดูแลพวกเขาในฐานะผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบายระดับชาติ แต่สามารถเป็นแนวทางปฏิบัติส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เขาได้รับการคุ้มครองจากการละเมิด หรือภัยคุกคามหลังถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง 

อ่องเมียวมิน ระบุต่อว่า สำหรับผู้ที่จะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทางควรมีการตรวจสอบภูมิหลัง และความเสี่ยงจากการถูกประหัตประหารหากถูกผลักดันกลับ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐไทยควรพิจารณาก่อนผลักดันกลับ หรือส่งตัวพวกเขาให้กับองค์กร หรือหน่วยงานอีกฝากหนึ่งของประเทศไทย

ผู้พลัดถิ่นภายในที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเมียนมา ฝั่งตรงข้ามแม่สอด แฟ้มภาพเมื่อ 2565)

ชงรัฐบาลไทยหารือ NUG แก้ไขปัญหาระยะยาว 

ข้อเสนอเบื้องต้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในระยะยาว อ่องเมียวมิน เสนอว่า เขาเสนอให้รัฐบาลไทย และรัฐบาล NUG หาทางออกในการแก้ไขปัญหาด้านผู้ลี้ภัยร่วมกัน เนื่องจากวิกฤตการเมืองจากเพื่อนบ้านเมียนมา จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างแน่นอน 

"นี่เป็นปัญหาระดับชาติของไทย เราเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และเราไม่สามารถเปลี่ยนเพื่อนบ้านได้ เราควรหาหนทางแก้ปัญหาร่วมกัน วิกฤตการเมืองพม่าจะกระทบกับไทยแน่นอน ไม่ใช่แค่ไทย แต่อาจรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียน ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ปัญหาในระดับนโยบายเช่นกัน สภาความมั่นคงแห่งชาติ ควรคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ และมีการแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่จะเป็นไปได้ การส่งกลับผู้ลี้ภัยไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ดี เพราะพวกเขาก็จะกลับมาอีก เพราะพวกเขาไม่สามารถอยู่ในประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และการค้าอาวุธ แทนที่เราจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีแบบนี้ ผมคิดว่าเราต้องมองที่ต้นตอปัญหา และหาทางออกด้วยการหารือร่วมกันกับฝั่งเมียนมา และองค์กรอย่างรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ควรเป็นหุ้นส่วนการเจรจา เพื่อหาทางแก้ไขที่ดีที่สุดในระยะยาว" อ่องเมียวมิน ทิ้งท้าย

46 NGO แถลงจี้รัฐไทยชี้แจงกรณีผลักดันสมาชิก PDF ไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง 

ในวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายภาคประชาสังคมติดตามสถานการณ์เมียนมา ออกแถลงการณ์กรณีผลักดันสมาชิกกองกำลัง PDF ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหาร จำนวน 3 ราย กลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง เรียกร้องให้รัฐไทยเคารพหลักการสากลว่าด้วยไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญภยันตรายที่ประเทศต้นทาง และรัฐไทยต้องสอบสวนและชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว 

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์ 46 องค์กรภาคประชาสังคมต่อกรณีที่รัฐไทยผลักดันผู้ลี้ภัยของกองกำลังปกป้องประชาชนให้กับเผด็จการทหารเมียนมา

คณะเผด็จการทหารเมียนมาที่ขึ้นสู่อำนาจโดยการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำลายการยืนยันถึงอำนาจสูงสุดของประชาชนชาวเมียนมาทั้งปวงแทนที่จะเป็นรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government: NUG ที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่สนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่า ณ วันที่ 10 เมษายน 2566 มีประชาชนถูกจับกุมคุมขัง รวมทั้งสิ้น 21,300 คน และถูกสังหารไปแล้วกว่า 3,229 นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564  

ประชาชนเมียนมาได้รวมกลุ่มก่อตั้งกองกำลังปกป้องประชาชน (People Defense Force: PDF) ขึ้นเพื่อต่อต้านการรัฐประหารของเผด็จการทหารเมียนมา  ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 สำนักข่าวหลายแห่งของเมียนมารายงานตรงกันว่าหน่วยงานภาครัฐ โดยสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของไทยได้ทำการจับกุมทหารของกองกำลังปกป้องประชาชน (People Defense Force: PDF) ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารของคณะเผด็จการทหารเมียนมาจำนวน 3 นาย ให้กับคณะเผด็จการทหารเมียนมาผ่านการส่งมอบตัวให้กับกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force: BGF) ที่ด่านชายแดนไทย-เมียนมา ปัจจุบันพบทราบว่าทั้ง 3 รายถูกส่งตัวให้กับคณะเผด็จการทหารเมียนมาแล้ว 

ทหารจากกองกำลัง PDF ทั้ง 3 นาย ได้แก่ นาย โกธิฮา (Ko Thiha) อายุ 38 ปี นาย เต็ดเนวุน (Htet Nay Wun) อายุ 31 ปี และนาย ซอเพียวเล (Saw Phyo Lay) อายุ 26 ปี เดินทางเข้ามาที่อำเภอแม่สอดเพื่อการรักษาพยาบาลเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 และถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัว ณ จุดตรวจ  ต่อมาพบว่าที้งสามคนถูกส่งตัวให้กับทหารที่เรียกว่าBorder Guard Force: BGF ใกล้กับด่านพรมแดนเมียนมา Ingyin Myaing แม่น้ำเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

องค์กรภาคประชาชนที่มีรายนามด้านล่างนี้ เห็นว่าการส่งตัวทหารทั้ง 3 นายของ PDF ที่เข้ามารักษาตัวในฝั่งไทยไปให้กับกองกำลัง BGF ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพเมียนมา ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพวกเขาทั้งที่รู้ว่ามีโอกาสอย่างยิ่งยวดที่พวกเขาจะต้องประสบภยันตรายแก่ชีวิตทั้งการซ้อมทรมานและการถูกประหัตประหารนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายได้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 อันเป็นผลจากการเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT) โดยในมาตรา 13 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย” เหตุเพราะรู้อย่างชัดแจ้งตั้งแต่ต้นว่า ทหารฝ่าย PDF คือกองกำลังที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับการกระทำอย่างโหดเหี้ยม ทารุณและบ้าคลั่งต่อประชาชนของเผด็จการทหารเมียนมานอกจากนั้นแล้ว ปฏิบัติการของทางการไทยเช่นนี้ ยังถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักกฎหมายสากลว่าด้วยการไม่ส่งกลับไปพบเจอกับภยันตราย (Non-Refoulement)  

นอกจากนี้ อาจจะเข้าข่ายเป็นการขัดขวางไม่ให้ผู้บาดเจ็บได้รับการรักษาซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายสงครามตามอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 3 (Geneva Convention III) ในมาตรา 13-16 ที่ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองโดยทั่วไปต่อเชลยศึกที่เชลยศึกต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม ละเว้นการเลือกปฏิบัติ การแก้แค้นและได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์โดยไม่มีค่ารักษา ดังนั้นการกระทำในครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ไทยจึงอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม เนื่องด้วยบ่งชี้ได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งการมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนคณะเผด็จการทหารเมียนมา

องค์กรภาคประชาสังคมขอเรียกร้องและข้อกล่าวประณามไปยังรัฐบาลและหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. รัฐไทยต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย และต้องยุติการส่งกองกำลังปกป้องประชาชนและประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมากลับประเทศต้นทางทันที

2. เรียกร้องให้บังคับใช้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้โดยเร็วเพื่อระบุบุคคลที่จะต้องได้รับการคุ้มครองอันเนื่องมาจากภยันตรายจากประเทศต้นทางโดยเร็ว

3. รัฐต้องเคารพต่อหลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย (Non-Refoulement) ซึ่งกำหนดพันธกรณีแก่รัฐผู้รับ (Host state) ไม่สามารถผลักดันผู้อพยพ (Refugees) หรือ ผู้แสวงหาแหล่งพักพิงหรือลี้ภัย (Asylum seekers) กลับออกไปได้ทันที หากว่าการผลักดันนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพของผู้นั้น

4. รัฐบาลไทยต้องชี้แจงต่อสาธารณะเรื่องหลักเกณฑ์พิจารณาการผลักดันกองกำลังปกป้องประชาชนทั้งสามนายให้ประชาชนทราบ เนื่องจากกรณีนี้ได้รับความสนใจทั้งในประต่างประเทศและต้องให้คำมั่นที่จะไม่ละเมิดต่อกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศโดยเด็ดขาด

5. รัฐไทยต้องเร่งสอบสวนตรวจสอบการผลักดันกองกำลังปกป้องประชาชนทั้งสามนายว่าเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและพันทกรณีระหว่างประเทศหรือไม่และพบว่ามีการกระทำการละเมิดต่อกฎหมายต้องมีบทกำหนดโทษโดยเคร่งครัด

แด่สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และประชาธิปไตย

เครือข่ายภาคประชาสังคมติดตามสถานการณ์เมียนมา

13 เมษายน 2566

ลงนามรายองค์กร (Organizational endorsement) 

1.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) แห่งชาติ NGO Coordinating Committee on Development (NGO-COD) Thailand

2. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ Northern NGO Coordinating Committee on Development (NGO-COD) 

3.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน North-Eastern NGO Coordinating Committee on Development (NGO-COD)

4.มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล Legal Status Network Foundation (LSNF)

5.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) Human Rights and Development Foundation (HRDF)

6.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Culture Foundation

7.มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี Peace Way Foundation 

8.มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า (มรพ.) Thai Allied Committee with Desegregated Burma Foundation (TACDB)

9.มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) Thai Volunteer Service Foundation (TVS)

10.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ Foundation for AIDS Rights

11.มูลนิธิรักษ์ไทย Rak Thai Foundation

12.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ Foundation for Labour and Employment Promotion (HomeNet Thailand)

13.มูลนิธิเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) Human Settlement Foundation (HSF)

14.เครือข่ายสลัม 4 ภาค 4 Regions Slum Network

15.กลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน จ.ขอนเเก่น Friends Of The Homeless, Khon Kaen

16.เครือข่ายเสียงเยาวชน จ.ขอนเเก่น (Khon Kaen Voice of Youth (KK-VoY)

17.เครือข่ายนักรบผ้าถุงจะนะ Pha-thung Warrior Network, Chana

18.มหาวิทยาลัยชาวบ้านลานหอยเสียบ จะนะ สงขลา Lan Hoi Siab Community University, Chana, Songkhla

19.โครงการอาหารปันรัก สงขลา Pun Rak Food Sharing Project

20.กลุ่มปฏิบัติการชุมชนเมืองอีสาน I-san Urban Community Action (I-San UrComAct.)

21.เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล Satun Provincial Development Plan Monitoring Group

22.สมาคมพราว Proud Association  

23.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน Human Rights Lawyers Association (HRLA)

24.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)  Campaign for Popular Democracy (CPD)

25.คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35  The Relatives' Committee of May 1992 Heroes

26.สถาบันสังคมประชาธิปไตย Social Democracy Institute

27.ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย Young People for Social Democracy, Thailand (YPD)

28.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) Union For Civil Liberty (UCL)

29.กลุ่มดาวดิน (Dao Din) 

30.กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม A Know Network of Activities Circle Key (KNACK)

31.North Activist Community (CAN) 

32.เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (Young Leadership Network for Social Change)

33.เครือข่ายนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย Activist Network for Democracy (A.N.D.)

34.สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม Society of young social innovators (SYSI)

35.People Go Network

36.โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ Campaign for Public Policy on Mineral Resources (PPM)

37.กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง The Mekong Butterfly

38.มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน Community Resources Center: CRC

39.เสมสิกขาลัย Spirit in Education Movement (SEM) 

40.คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน ETOs Watch Coalition

41.เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ The Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons (CRSP)

42.สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม Just Economy and Labor Institute

43.มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation)

44.เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ Migrant Working Group (MWG) 

45.Burma Concern 

46.Friends Against Dictatorship (FAD) 

ลงนามรายบุคคล (Individual endorsement)

1.สมศักดิ์ บุญมาเลิศ somsak boonmarlert

2.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ Saranarat Kanjanavanit

3.ภาสกร อินทุมาร Pasakorn Intoo-Marn

4.จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ Jutamas Srihutthaphadungkit

5.ศศิประภา ไร่สงวน Sasiprapa Raisanguan

6.สุภาภรณ์ มาลัยลอย Supaporn malailoy

7.ศิริพร ฉายเพ็ชร  Siriphorn Chaiphet

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net