Skip to main content
sharethis

เผยกรมทรัพยากรน้ำยังคงเดินหน้าขุด ‘พรุลานควาย’ ไม่ฟังเสียงค้านจากชาวบ้าน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และ กมธ. ถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ การละเมิดสิทธิประชาชน และละเมิดกฎหมายว่าด้วยที่ดินสาธารณประโยชน์ จนชาวบ้านหมดหนทางต่อสู้ ต้องขอพึ่งศาลปกครอง

8 เม.ย. 2566 ประชาไทได้รับแจ้งว่า ณ นาทีนี้เครื่องจักรกำลังเดินหน้าอย่างขนานใหญ่เพื่อขุดเปลี่ยนสภาพพื้นที่นับร้อยไร่ของ “พรุลานควาย” ซึ่งอยู่ในเขตรอยต่อของ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี การก่อสร้างนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 ดำเนินการโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ประกอบ 2 โครงการที่อยู่ใกล้เคียงกัน คือ 1) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวัดยะลา-ปัตตานี ช่วงที่ 2 และ 2) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำ จังหวัดยะลา-ปัตตานี ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา 

นับแต่ได้เห็นบริษัทผู้รับเหมานำเครื่องจักรมาลงและมีการไถพื้นที่เพื่อเริ่มดำเนินโครงการ ชาวบ้านทั้งในเขต ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา และ ใน ต.น้ำดำ  อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ได้คัดค้านโครงการทั้งสองนี้มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นโครงการที่สร้างผลกระทบและความเดือดร้อนในหลายด้าน โครงการแรก ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า “โครงการขุดพรุชะมา” ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท เป็นการขุดสระใหม่ขนาดนับร้อยไร่ และทำคูระบายน้ำเป็นทางยาว อันส่งผลทำให้พื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ของชาวบ้านหายไป โดยพื้นที่ดำเนินโครงการมีทั้งที่เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์และที่ดินที่ชาวบ้านมีใบแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือ ส.ค.1 อยู่ อีกทั้งโครงการนี้ยังสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะหน้าดินและทางน้ำเปลี่ยนสภาพอย่างสิ้นเชิงจากการถูกขุดในบริเวณกว้างและลึก ส่วนโครงการที่ 2 ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โครงการขุดพรุโต๊ะพราน” ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท ดำเนินการในบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปาลอตันหยง” เป็นการขุดลอกและถมคันดินเพื่อทำแก้มลิง อันจะปิดกั้นการเชื่อมต่อระหว่างพรุและทุ่งหญ้า ส่งผลต่อการไหลเวียนของน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังทุ่งหญ้านานกว่าปกติจนหญ้าเน่าตายจนมีหญ้าไม่เพียงพอต่อการหากินของปศุสัตว์ที่มีนับหมื่นตัวรอบพรุ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำในพรุทำให้ปริมาณและความหลากหลายของสัตว์น้ำลดลงไปมาก กระทบต่อรายได้ของคนที่ทำประมง

“พรุชะมา” และ “พรุโต๊ะพราน” เป็นส่วนย่อยของระบบนิเวศใหญ่ที่เรียกว่า “พรุลานควาย” อันเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของตอนกลางของภูมินิเวศลุ่มน้ำสายบุรี มีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม อันเป็นจุดเชื่อมระหว่างต้นแม่น้ำสายบุรีในเขตภูเขากับชายฝั่งที่แม่น้ำสายบุรีไหลลงทะเล  “พรุลานควาย” มีขนาดประมาณ 15,000 ไร่ ครอบคลุมบางส่วนของอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี และ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา “พรุลานควาย” มีองค์ประกอบภูมิประเทศที่หลากหลาย บางส่วนเป็นพื้นที่ลุ่มชุ่มชื้นและมีน้ำท่วมขัง มีสภาพเป็นบึงน้ำจืด ทำหน้าที่รองรับน้ำฝนจากพื้นที่เนินเขาที่อยู่รายรอบและรองรับน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำสายบุรี บึงน้ำจืดนี้เป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญของชาวบ้าน ส่วนพื้นที่ที่อยู่ถัดขึ้นมาจากบึงน้ำจืดมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ซึ่งชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันในการเลี้ยงปศุสัตว์ (วัว ควาย แพะ แกะ) และปลูกพืชล้มลุกตามฤดูกาล หรือทำนาพรุ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ “พรุลานควาย” ได้ใช้ประโยชน์และจัดการดูแลระบบนิเวศย่อยๆ ที่ติดกับหมู่บ้าน/ตำบลของตนมาอย่างยาวนาน 

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี มีโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นการขุด ถม ทำลายพื้นที่เกิดขึ้นจำนวนมากใน “พรุลานควาย” และยังคงเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำรอยเดิมไปมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ โครงการพัฒนาใหม่ๆ ถูกวางทับบนระบบนิเวศ/สภาพภูมิประเทศที่เสื่อมโทรมไปแล้วจากโครงการต่างๆ ก่อนหน้า โดยผลกระทบของโครงการพัฒนาเดิมในอดีตก็มักถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการทำโครงการพัฒนาใหม่ๆ เช่น โครงการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่ในระยะหลังเกิดภาวะน้ำท่วมนานผิดปกติที่แตกต่างจากภาวะธรรมชาติในอดีต ซึ่งเป็นปัญหาลูกโซ่จากโครงการพัฒนาก่อนหน้านี้ที่ได้ไปขัดขวางเส้นทางน้ำหลากตามธรรมชาตินั่นเอง นอกจากนั้นโครงการพัฒนาของรัฐมักเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ และเอื้อประโยชน์ต่อการสะสมทุนของชนชั้นนำ/ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มคนหลักที่มีบทบาทในการนำเสนอโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการพัฒนาต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่ ขณะที่การคัดค้านโครงการพัฒนามักไม่มีปรากฎ เนื่องจากชาวบ้านมีความกลัวในอิทธิพลของผู้นำท้องถิ่นและมีความกังวลว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิตจากการคัดค้านโครงการ อีกทั้งมักถูกโต้กลับว่าผู้คัดค้านเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่ไม่ต้องการการพัฒนา

สำหรับโครงการขุดพรุชะมาและโครงการขุดพรุโต๊ะพรานที่กำลังดำเนินอยู่ตอนนี้ ที่ผ่านมาตัวแทนชาวบ้านได้ร้องเรียนความเดือดร้อนไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่และเข้าร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร กระทั่งคณะกรรมาธิการฯ ได้จัดประชุมและเชิญตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูล ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาที่ไม่โปร่งใสของโครงการที่ใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลางซึ่งยากแก่การตรวจสอบ การไม่ระบุผู้อนุมัติโครงการ ตลอดจนความไม่โปร่งใสของการจัดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการและการลงลายมือชื่อที่น่าเคลือบแคลงของผู้เข้าร่วม 

นอกจากนั้น ยังมีข้อเท็จจริงปรากฎอีกว่าโครงการขุดพรุชะมาและพรุโต๊ะพรานละเมิดสิทธิในที่ดินของชาวบ้านหลายรายที่มีใบ สค. 1  ที่สำคัญพื้นที่โครงการส่วนใหญ่ดำเนินการบนทุ่งหญ้าสาธารณะประโยชน์หรือที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8  จึงหมายความว่า การดำเนินโครงการทั้งสองกำลังละเมิดกฎหมาย เนื่องจากก่อนจะดำเนินโครงการฯ กรมทรัพยากรน้ำยังไม่ได้มีการจัดหาที่ดินอื่นมาให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทน และยังมิได้มีการออกเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพการเป็นที่ดินสาธารณสมบัติตามที่ระบุในประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 (1)  
อย่างไรก็ดี สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ยังคงเดินหน้าก่อสร้างโครงการทั้งสองต่อไป  แม้จะถูกคัดค้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิในที่ดิน แม้กรณีปัญหานี้จะได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนหลายช่องทาง แม้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศูนย์รับเรื่องรางร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรี แม้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้นำเรื่องนี้ขึ้นเป็นข้อปรึกษาหารือกับประธานรัฐสภาในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ และแม้ได้รับข้อท้วงติงจากคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ ก็ตาม ที่สำคัญ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ยังคงเดินหน้าโครงการทั้งๆ ที่เป็นการละเมิดข้อกฎหมายตามมาตรา 8 ของประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497  ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  กรมทรัพยากรน้ำ ไม่มีความเกรงกลัวต่อกลไกการตรวจสอบใดๆ จากสังคม และไม่ให้ความสำคัญต่อกลไกในทางรัฐสภาที่มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ อีกทั้งยังฉวยโอกาสในระหว่างการยุบสภากับการทีรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นช่วงสูญญากาศของประเทศเดินหน้าโครงการต่อไป

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความพยายามในการคัดค้านโครงการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนและนักวิชาการ นักวิจัย และนักกิจกรรมทางสังคมที่ได้ทำงานศึกษาวิจัยร่วมกับชุมชนในพื้นที่รอบพรุลานควาย รวม 8 คน ได้ร่วมกันฟ้องคดีต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองยะลา เรื่อง คำสั่งและละเลยต่อหน้าที่ โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 เป็นผู้ถูกฟ้องคดี  ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8  ยกเลิกหรือยุติการดำเนินโครงการทันที และให้นายอำเภอและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ดำเนินโครงการ ทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 ในการเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่สาธารณประโยชน์โดยเคร่งครัด และให้เจ้าหน้าที่ปกครองในพื้นที่ดำเนินทำหน้าที่ดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยแก่ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการ ทั้งนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยให้ระงับการดำเนินการโครงการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

นอกจากนั้น ในระหว่างนี้ได้มีการรวบรวมรายชื่อเพื่อลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ/ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในตอนนี้มีนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้มีความห่วงใยชาวบ้านและ “พรุลานควาย” กว่า 100 คนแล้วที่ร่วมลงชื่อ จดหมายดังกล่าวเรียกร้องให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ/ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสั่งการให้หยุดดำเนินการก่อสร้างโครงการทั้งสองโดยทันที พร้อมทั้งให้ฟื้นฟูสภาพพื้นที่และระบบนิเวศที่เสียหายจากการบุกรุกเพื่อดำเนินโครงการ และให้ชดเชยค่าเสียหายจากการก่อสร้างโครงการต่อที่ดินที่ชาวบ้านมีใบ ส.ค.1 ด้วย ที่สำคัญให้ดำเนินการสอบวินัยและแจ้งความเพื่อเอาผิดทางอาญาแก่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำที่ผลักดันและเดินหน้าโครงการอย่างละเมิดกฎหมายด้วย โดยจะมีตัวแทนนำจดหมายพร้อมรายชื่อผู้ลงนามไปยื่นต่อ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net