Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราได้ยินเรื่อง “โคตรภูสงฆ์” ว่าเป็นพระที่เอาจีวรห้อยคอหรือห้อยหูเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าตนเป็นพระ ซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาพุทธเสื่อมอย่างมาก บทความนี้เสนอตรงกันข้ามว่า ยิ่งในไทยมีพระแบบนั้นมากเทาไหร่ พุทธศาสนายิ่งเจริญมากเท่านั้น เพราะนั่นคือความหลากหลายในการตีความคำสอนและมีอิสระในการเลือกเสพศาสนาของแต่ละคน ในทางตรงกันข้าม การที่พระถูกรวบให้อยู่ใต้องค์กรเดียว พระที่ปฏิบัติหรือสอนต่างออกไปก็จะถูกจับสึกหรือถูกปฏิรูป เป็นเพียงความเจริญภายใต้รัฐเผด็จการเท่านั้น ซึ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพเพราะกลัวความแตกต่างและเน้นความเป็นหนึ่งเดียว

ด่าพระได้แต่ต้องไม่ลืมโครงสร้าง

เราวิพากษ์วิจารณ์พระได้ในทุกกรณี อย่างน้อยก็ด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ 

1) องค์กรพุทธไทยภายใต้มหาเถรสมาคม ได้รับงบประมาณจากรัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีของทุกคน เราจึงตั้งคำถามกับความสมเหตุสมผลหรือความเหมาะสมกับพฤติกรรมของคนในองค์กรนั้นได้ ดังนั้นแม้เราจะไม่ใช่ชาวพุทธหรือไม่เชื่อศาสนาเลยก็วิจารณ์ได้ เพราะเราก็จ่ายภาษี

2) แม้องค์กรนั้นจะไม่ได้งบประมาณจากรัฐ เช่นเป็นพุทธสายวัชรยาน ในฐานะคนที่ทำบุญบริจาค เขาก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ กรณีนี้พบได้ในสมัยพระพุทธเจ้า ที่นางวิสาขาแม้จะเป็นผู้สนับสนุนหลักคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ทิ้งการวิจารณ์พระ พูดอย่างถึงที่สุด แม้จะไม่อยู่ในเงื่อนไข 2 ข้อนี้ หากจะยืนยันเสรีภาพในการเเสดงความเห็น เราก็ต้องยอมรับและส่งเสริมการวิพากษ์วิจารณ์  

แต่การวิจารณ์ที่ไม่สนใจโครงสร้าง เป็นการมองไปที่ปัจเจกบุคคลก็จะไม่มีวันจบสิ้น พระที่เราเห็นว่าดีก็อยากให้อยู่ต่อ ที่เราเห็นว่าไม่ดีก็อยากให้ถูกจับสึกออกไป และเเต่ละคนก็เห็นต่างกัน การตัดสินเรื่องนี้มี 2 ที่มา 

1) ตัดสินจากทัศนคติตัวเอง เช่น เห็นว่าพระที่ขี่เรือเล่น ไว้คิ้ว ลอยกระทงกับผู้หญิง เล่นกีต้าร์ สะพายเป้ ใส่รองเท้ากีฬา เดินจับมือกันแบบคู่เกย์ ฯลฯ ต้องถูกจับสึก ในขณะที่คนอีกกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องที่เขารับได้ ในฐานะที่ผมเป็นพระมานาน เวลาถูกถามเรื่องพวกนี้จะรำคาญมาก เพราะมันเป็นเรื่องความเห็นส่วนตัว เหมือนการถามว่า “เธอคิดว่า พี่วินมอเตอร์ไซด์คนนั้นมาเดินห้าง โดยที่ยังไม่ถอดเสื้อวินออก มันเหมาะสมไหม? 

2) ตัดสินจากตัวบทของพระวินัย อันนี้ดูมีหลักการขึ้นแล้ว แต่ก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี เพราะวินัยตีความได้หลายแบบ และมีปมตั้งแต่ต้นที่พระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ว่า “เมื่อท่านตายไป วินัยข้อไหนที่เห็นว่าไม่เหมาะแล้วก็ปรับได้เลย” คราวนี้ถ้าพระเล่นกีต้าร์แล้วบอกว่าท่านปรับตัวตามที่พระพุทธเจ้าสอน เราจะเอายังไง ที่บอกว่าแม้จะตัดสินแบบยึดวินัยก็ยังไม่ได้ เพราะจะเกิดองค์กรตัดสินชี้ขาดพระธรรมวินัย และจัดการจับสึกคนที่ตีความต่างออกไปอีก พูดให้ถึงที่สุดคือ ศาสนาเป็นความเชื่อ จึงไม่ควรมีองค์กรใดมีอำนาจรัฐในมือแล้วละเมิดเสรีภาพของคนอื่น 

คือที่เราด่าพระหรือเถียงกันมันเป็นประเด็นเรื่องความเหมาะสม ซึ่งเรามีความคาดหวังที่แตกต่างกันที่จะเห็นพระในอุดมคติของเรา ทางออกเรื่องนี้ง่ายมาก คือต้องเตือนตัวเองว่า เราศรัทธาพระแบบไหนก็ไปทำบุญกับพระแบบนั้น ใครศรัทธาต่างไปจากเราก็เป็นเรื่องของเขา เราก็มีเสรีภาพ พระก็มีเสรีภาพ แต่มันยังไม่จบนะ เพราะประเด็นใหญ่คือ “องค์กรศาสนาเหล่านี้ไม่ควรกินเงินภาษีพวกเราปีละ 5,000 ล้าน” สรุปว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พฤติกรรมพระซึ่งพวกเรามีความชอบต่างกัน แต่มันเป็นปัญหาโครงสร้างที่พระอิงกับรัฐและใช้งบประมาณมาบริหารองค์กร

หยุดให้งบประมาณคือการปฏิรูปศาสนาที่ยุติธรรมที่สุด

เราเทียบสถาบันพระสงฆ์กับตำรวจหรือครูไม่ได้ เพราะต้องยอมรับจริงๆ ว่าเราคงลำบากขึ้นมากหากไม่มีตำรวจ สิ่งที่เราต้องทำคือ ปฏิรูปตำรวจ ไม่ใช่ยกเลิกองค์กรนี้ ครูก็เช่นเดียวกัน แต่เราจะใช้เหตุผลนี้กับพระไม่ได้ เพราะพระไม่ได้จำเป็นสำหรับคนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้นับถือพุทธแบบไทย แต่ที่สำคัญกว่าคือ “การยกเลิกสำนักงานพุทธฯ หรือ การไม่สนับสนุนศาสนา ไม่ใช่การจับสึกพระให้หมดไปจากไทย” พระก็ยังใช้ชีวิตต่อไปได้ แค่ไม่ได้งบประมาณจากรัฐเท่านั้น แน่นอนว่า รัฐต้องทำแบบเดียวกันกับทุกศาสนา ยำ้อีกครั้งว่า การยุบสำนักงานพุทธฯ “ไม่เท่ากับ” การยุบสำนักงานตำรวจฯ

เรานิมนต์พระไปสวดศพ สวดงานขึ้นบ้านใหม่ เราก็ต้องถวายเงินท่านอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงเป็นการจ้างงานกันระหว่างเอกชนอยู่แล้ว แค่ต้องยอมรับให้ได้ว่านั่นคืออาชีพ และไม่ใช่เรื่องน่าเกลียดอะไรตราบที่พระไม่ได้ทุจริตฉ้อฉล และความสัมพันธ์/อิงอาศัยกันแบบนี้ยืนยันมาตลอดว่าพระอยู่ได้เพราะชาวบ้าน

หากชาวบ้านข้างวัด A เห็นว่า เณรควรปั่นจักรยานไปเรียนก็ทำได้ วัด Bเห็นว่าพระช่วยชาวบ้านทำนาก็ได้ วัด C เห็นว่าพระเปิดร้านเบียร์และสอนธรรมะไปด้วยก็ได้ วัด D เห็นว่า ควรแต่งตั้งแมวเป็นเจ้าอาวาสก็ทำได้ วัด E เห็นว่า พระควรมีเมียเป็นตัวเป็นตน ไม่ต้องมาแอบกัน จะได้ดูแลผู้หญิงให้ดีขึ้นก็ทำได้ ฯลฯ เเม้ชาวพุทธกลุ่มอื่นจะไม่เห็นด้วย ก็แค่วิพากษ์วิจารณ์และไม่ใส่บาตร แต่ไม่มีใครมีอำนาจจะมาจับเขาสึก และเมื่อเห็นไปนานเข้าก็จะชินและเลิกด่าไปเอง ปรากฏการณ์นี้พบได้ในประเทศโลกวิสัยเช่นญี่ปุ่น และไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าศาสนาเสื่อมมาก ไม่มีคนเข้าวัด กลับตรงกันข้าม คือวัดตอบสนองคนได้หลายแบบ มีแม้กระทั่งพระแต่งหน้า เก่งเรื่องแฟชั่นและสอนให้คนเปิดใจเรื่อง LGBTQ เช่น หลวงพี่ Kodo Nishimura

เพื่อให้ชาวพุทธแท้สบายใจจึงควรมีตัวอย่างมุมดีดีที่พวกเขาปรารถนาด้วย ในรัฐที่ไม่สนับสนุนศาสนาแบบที่ว่ามา หากวัดไหนจะอยากสอนวิปัสสนา อภิธรรม บาลี จัดปฏิบัติธรรมปิดวาจา ฯลฯ ก็ยังทำได้เหมือนเดิม ต้องเเข่งกันหาลูกค้าหรือสาวกกับองค์กรศาสนาอื่นๆ ซึ่งมีหลากหลายมากขึ้น และการแข่งขันก็เป็นธรรม องค์กรของชาวพุทธเเท้เหล่านี้จะไม่มีอำนาจรัฐ เช่นในนามกระทรวงศึกษาธิการ ไปบังคับเด็กมาอบรมค่ายคุณธรรมในวัดของตน ถ้าจะทำโครงการนั้นก็ทำแบบเอกชน คนที่มาก็มาร่วมก็มาอย่างสมัครใจ 

ความดีแบบพระสงฆ์ถูกท้าทายด้วยจริยธรรมสมัยใหม่

“ดูกรอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก .. ดูกรอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่า มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย” (มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ 713)

ใจความก็คือ ถวายทานแก่พระสงฆ์โคตรภู ที่แม้จะเเค่มีจีวรพันคอ ประพฤติผิดศีล แต่ถวายมุ่งไปในกลุ่มสงฆ์ ก็จะยังได้บุญมากกว่าการถวายเจาะจงบุคคล แม้พระที่รับทานจะเป็นอรหันต์ที่บริสุทธิ์ก็ตาม

มองจากมุมนี้ พระพุทธเจ้าเองคงรังเกียจพระโคตรภู แต่เพราะต้องยืนยันหลักสังฆทานว่าดีกว่าทานเจาะจงบุคคล ก็จะต้องยืนยันเช่นนั้น แต่ “การทุศีล” เป็นวิธีคิดที่มีปัญหา เพราะท่านพูดไว้เองว่า ให้ปรับตามยุคได้ แล้วจะมาตัดสินคนที่ปรับตัวว่าเป็นคนชั่วได้อย่างไร คนที่มีเมียเป็นคนชั่วจริงหรือ หรือคนที่ถือพรหมจรรย์เขาเข้าใจและบรรลุธรรมได้เสมอไปหรือ

จริยธรรมแบบศาสนาจึงมีปัญหาเพราะเป็นการใช้อัตลักษณ์ภายนอกและความเชื่อส่วนตัวตัดสิน พระสงฆ์พุทธที่อ้าง  “ความจริงแท้” ทั้งเถรวาทและมหายานมักเชื่อว่า ศาสนานี้อยู่ได้เพราะตน ซึ่งเป็น “การตีความเอาพระเป็นศูนย์กลาง” จนลืมไปว่า แม้ไม่มีพระ ฆราวาสก็เข้าใจ ปฏิบัติ และเผยเเพร่ธรรมะได้ ในยุคคริสตศตวรรษที่ 20 ได้เกิดองค์กรพุทธแบบฆราวาสขึ้นมากทั้งในเอเชียและยุโรป Friends of the Western Buddhist Order (FWBO) ของ
Sangharakshita ก็เติบโตขึ้นโดยนิยามว่าตนไม่เป็นทั้งพระและฆราวาส พวกเขาใส่ชุดฆราวาสทั่วไปและมีผ้าเหลืองห้อยคอ กรณีนี้คนไทยอาจบอกว่าเป็นตัวอย่างของ โคตรภูสงฆ์ ได้

จะเห็นได้ว่า ศาสนาที่ได้รับโอกาสในการตีความคำสอน จัดตั้งองค์กรของตัวเอง บริหารและหาเงินขับเคลื่อนกันเอง จะสามารถเข้าถึงชีวิตคนที่หลากหลายกว่า โดยไม่ต้องใช้เงินรัฐอุดหนุนกิจการหรือบังคับให้คนต้องปฏิบัติตามนั้นเพียงอย่างเดียว สรุปอีกทีว่า ถ้าวันหนึ่งเราเห็นพระไทยเอาจีวรห้อยหู พระไทยนุ่งกางเกงวิ่งออกกำลังกาย แต่งหน้าสะพายย่ามสีรุ้งสนับสนุน LGBTQ และทำอะไรแปลกๆ อีกมากมาย นั่นแหละจึงเป็นสัญญาณว่าพุทธศาสนาได้หลุดพ้นไปจากรัฐเผด็จการ และเติบโตเพื่อชีวิตที่หลากหลายของผู้คนซึ่งไปกันได้กับระบอบประชาธิปไตย 

 

 

ที่มาภาพ: Facebook Page: Just for Sports (https://bit.ly/3FoxnHu

หมายเหตุ: เพื่ออรรถรสในการอ่าน จึงไม่ใส่อ้างอิงไว้ในเนื้อหา ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากลิ้งค์ด้านล่างนี้
- ปาราชิกแล้ว ต้องขาดจากความเป็นพระจริงหรือ?
    เข้าถึงจาก https://bit.ly/42krQvs.
- เปิดลัทธิใหม่! เอาใจทาสแมว วัดเหมียวเหมียว กับเจ้าอาวาสขนปุยสุดแสบ. 
    เข้าถึงจาก https://bit.ly/3ZSsZbJ.
- This Buddhist Monk Is a Makeup Artist and an LGBTQ Activist.
    เข้าถึงจาก https://bit.ly/3ZPvCLj.
- เปิดเงินเดือนสงฆ์จากอัตรานิตยภัต ทำไมสงฆ์ถึงมีรายได้ประจำตำแหน่ง? 
    เข้าถึงจาก  https://bit.ly/3l6qC5Z.
- ภิกษุโครตภู มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ 713
    เข้าถึงจาก https://bit.ly/3JGjM0C.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net