Skip to main content
sharethis

คดีอดีตสมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ และพวก ทำร้ายช่างภาพข่าวหน้าร้านแมคฯ ราชดำเนิน #22เมษา65 ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 4 เดือน ปรับ 1 หมื่น ก่อนลดเหลือ 2 เดือน ปรับ 5 พัน เหตุจำเลยรับสารภาพ จำเลยที่ 2 สู้คดีต่อชั้นอุทธรณ์ อยู่ระหว่างรอประกัน

 

1 มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ เวลา 10.10 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลแขวงดุสิต ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา คดีเบญภกรณ์ วิคะบำเพิง จำเลยที่ 1 และ ไพรัช  วิธูรจิต จำเลยที่ 2 ข้อหาความผิดต่อร่างกาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 83 จากกรณีทำร้ายร่างกาย ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าว ที่หน้าร้านอาหารแมคโดนัลด์ สาขาราชดำเนิน เมื่อ 22 เม.ย. 2565 

ภาพสถานที่เกิดเหตุ

จำเลยที่ 1 ถูกตัดสินจำคุก 4 เดือน และปรับ 1 หมื่นบาท และจำเลยที่ 2 จำคุก 4 เดือน แต่จำเลยทั้งสองรับสารภาพจึงลดโทษครึ่งหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 จำคุก 2 เดือน ปรับ 5,000 บาท และจำเลยที่ 2 จำคุก 2 เดือน

สำหรับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย หรือโจทก์ แล้วตามแก่พฤติการณ์แห่งคดี จึงให้รอการลงโทษ 2 ปี ระหว่างนี้ให้มีการคุมประพฤติ 1 ปี และต้องมารายงานตัวพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง ทำงานบริการสังคม 12 ชั่วโมง 

ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่รอลงโทษ เนื่องจากเคยจำคุกมาก่อน เจ้าตัวประสงค์สู้คดีต่อชั้นอุทธรณ์ จึงทำเรื่องคำร้องขอประกันตัว โดยวางเงินสด จำนวน 2 หมื่นบาท 

ทั้งนี้ กฎหมายอาญา ม. 295 ระบุว่า ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 21.35 น. ของวันที่ 22 เม.ย. 2565 โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ ณัฐพล ซึ่งติดตามถ่ายภาพข่าวการชุมนุม 'ทัวร์มูล่าผัว' จัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และมานั่งทำงานภายในร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดำเนิน (ตั้งอยู่วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา)

หลังทำงานเสร็จ ณัฐพล ออกมาที่รถมอเตอร์ไซค์ของตัวเองที่จอดอยู่หน้าร้านฯ อย่างไรก็ตาม จังหวะที่ณัฐพล กำลังคร่อมมอเตอร์ไซค์ เตรียมขี่รถออกไปจากพื้นที่ เขาได้ถูกกลุ่มชายราว 3 คน เข้ามาหาและทำร้ายร่างกาย มีการใช้กระบองดิ้วตีที่บริเวณหลังและศีรษะจนได้รับบาดเจ็บ ก่อนที่ณัฐพลเดินทางไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สน.ชนะสงคราม ช่วงกลางดึกในวันเดียวกัน

ข้อน่าสังเกตในคดีนี้คือกลุ่มผู้มาทำร้ายมีการถามชื่อ และสถานะของณัฐพลว่าเป็นนักข่าวหรือไม่ และพอณัฐพล ตอบกลับว่าเป็นสื่อมวลชน ก็ถูกทำร้ายร่างกาย โดยครั้งนั้น เบญภกรณ์ กล่าวในไลฟ์สด เมื่อ 25 เม.ย. 2565 หรือ 3 วันหลังเกิดเหตุว่า เขาไม่เชื่อว่าณัฐพลเป็นสื่อมวลชนจริง เพราะไม่มีการแสดงหลักฐาน และอ้างว่าณัฐพล มีการเรียกพวกจะมาทำร้ายพวกเขา เขาจึงต้องทำร้ายณัฐพล เพื่อป้องกันตัว

ร่องรอยบาดแผลของช่างภาพข่าว ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไปที่คลิปไลฟ์สดเพจ "อาชีวะปกป้องสถาบันและภาคีทุกภาคส่วน" เมื่อ 15 ม.ค. 2566 พบว่า บันทึกไลฟ์สดไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว โดยปรากฏข้อความว่า "เนื้อหานี้ไม่พร้อมใช้งานในขณะนี้ เหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าของแชร์เนื้อหากับคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น หรือเปลี่ยนกลุ่มคนที่สามารถดูได้ หรือเนื้อหาถูกลบไปแล้ว"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ผู้เสียหายในคดีนี้หลังมีคำพิพากษา โดยเจ้าตัวระบุว่า คิดตั้งแต่แรกว่าตัดสินโทษออกมาไม่หนักมาก แต่ไม่คิดว่าจะโทษน้อยขนาดนี้ ถ้าดูจากความตั้งใจในการก่อเหตุ

ช่างภาพข่าว ระบุต่อว่า ส่วนตัวรู้สึกแปลกใจมาก และมีข้อสงสัยกับศาลที่ให้ประกันตัวจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เนื่องจากจำเลยที่ 2 มีคดีทำร้ายร่างกายแต่เดิมอยู่ 10 คดี และนับรวมคดีนี้เป็น 11 คดี ซึ่งแตกต่างกับคดีที่มีนักกิจกรรมออกมาทำโพลถามความคิดเห็นสาธารณชนประเด็นทางการเมืองและสังคม ศาลกลับไม่ให้ประกันตัว จนพวกเขาต้องถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำ อย่างน้อย 3-6 เดือน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net