Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องของไรเดอร์ต่อบริษัทแพลตฟอร์ม ที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน 3 ครั้ง[1] และหากมองย้อนไปในรอบหลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งรวบรวมข่าวการเรียกร้องของไรเดอร์ทั่วประเทศ ในช่วงปี 2562 ถึงเดือนมกราคม 2565 พิจารณาเฉพาะ 3 แพลตฟอร์มคือ Grab, Lineman และ Foodpanda พบว่ามีจำนวนประมาณ 25 ครั้ง[2]   

การถี่ของการชุมนุมของคนขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหารหรือ “ไรเดอร์” ในประเทศไทย ไม่แตกต่างกับเหตุการณ์ในต่างประเทศ ปรากฏการณ์นี้ทำให้การเคลื่อนไหวรวมหมู่ของไรเดอร์กลายเป็นที่สนใจของขบวนการแรงงานและธุรกิจแพลตฟอร์มทั่วโลก

ตามทฤษฎี ความเป็นเอกภาพบนพื้นฐานผลประโยชน์และความรู้สึกร่วม (solidarity) หรือ “ภราดรภาพ” ในหมู่แรงงาน มักเกิดขึ้นบนพื้นฐานการทำงานร่วมกัน และการเผชิญหน้ากับนายจ้างโดยตรง ดังเช่นในระบบอุตสาหกรรมโรงงาน แต่สำหรับแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ อยู่กระจัดกระจาย และถูกควบคุมจากนายจ้างอย่างเข้มงวด(แต่ไม่รู้ตัว)ผ่านเทคโนโลยี แต่กลับรวมกลุ่มกันได้อย่างแพร่หลาย จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ[3]

บทวิเคราะห์ในต่างประเทศชิ้นหนึ่ง[4] อาศัยข้อมูลในระบบออนไลน์และฐานข้อมูลต่างๆ[5] ติดตามเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์มประเภทไรเดอร์ส่งอาหาร รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการลุกขึ้นสู้หรือรวมตัวเรียกร้อง (labour unrest) ในรูปแบบต่างๆ ในช่วงเวลาระหว่าง 1 มกราคม 2017 ถึง 20 พฤษภาคม 2020 ครอบคลุมพื้นที่ 5 ทวีป 36 ประเทศ และเป็นไรเดอร์ภายใต้แพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียง 19 แพลตฟอร์ม ได้ข้อสรุปแนวโน้มการลุกขึ้นสู้ของแรงงานแพลตฟอร์มในระดับโลก ที่น่าสนใจดังนี้

จำนวนการรวมตัวเรียกร้อง มีการรวมตัวเรียกร้องทั้งหมด 527 ครั้ง การเรียกร้องส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะ สหราชอาณาจักร สเปน ฝรั่งเศส จำนวนผู้เข้าร่วมในระดับที่มากกว่า 1,000 คน มีจำนวน 2.8% ของจำนวนครั้งการเรียกร้อง ระหว่าง 100-1,000 มีจำนวน 16%  นอกเหนือจากนั้นมีผู้ร่วมเรียกร้องต่ำกว่า 100 คน เหตุการณ์ส่วนใหญ่ใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง (85.1%) น้อยกว่าหนึ่งในสิบ (11.9%) ใช้เวลา 1-3 วัน (ภาพที่ 1)

รูปแบบกลุ่มกระทำการ (actors) กลุ่มกระทำการของแรงงานที่มารวมตัวเรียกร้องมี 4 รูปแบบที่สำคัญคือ 1) กลุ่มธรรมชาติ (group of workers) เป็นการนัดหมายรวมตัวเฉพาะกิจ 2) กลุ่มแรงงานจัดตั้ง (workers’ collective) เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งมาก่อน 3) สหภาพรากหญ้า (grassroot union) เป็นกลุ่มสหภาพแรงงานแบบไม่เป็นทางการ 4) สหภาพกระแสหลัก (mainstream union) เป็นกลุ่มสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการ มีโครงสร้างองค์กรและกฎระเบียบองค์กรที่ชัดเจน

กลุ่มกระทำการในทวีปต่างๆมีจำนวนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มธรรมชาติ เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นจำนวนมากที่สุด คือในเอเชีย อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ และยุโรป (ยกเว้นออสเตรเลีย) มีจำนวน 97.7%, 89.4% 83% และ 47.4% (ของจำนวนการรวมตัวทั้งหมด) ตามลำดับ ส่วนกลุ่มสหภาพกระแสหลัก เกิดขึ้นมากที่สุดในออสเตรเลีย คือ 68.8% กลุ่มสหภาพรากหญ้าเกิดขึ้นมากในอเมริกาใต้ และยุโรป คือ 42.3% และ 32.9% ส่วนกลุ่มแรงงานจัดตั้ง เกิดขึ้นไม่น้อยในยุโรป คือ 25.1% ส่วนในทวีปอื่นเกิดขึ้นน้อย (ภาพที่ 2)  

รูปแบบกระทำการ (actions) รูปแบบกระทำการที่สำคัญมี 4 รูปแบบคือ 1) การนัดหยุดงานและปิดแอปพลิเคชัน (strike and log-offs) 2) การชุมนุมเรียกร้อง (demonstration) 3) การดำเนินการทางกฎหมาย (legal action) เช่นการฟ้องคดี และ 4) การกระทำอื่นๆ

ในแต่ละทวีป รูปแบบกระทำการแตกต่างกัน การนัดหยุดงานและปิดแอปพลิเคชันเกิดขึ้นมากในเอเชีย (64.7%) แต่มีน้อยลงในยุโรป (38.6%) อเมริกาใต้ (25.8%) การชุมนุมเรียกร้องพบบ่อยที่สุดในอเมริกาใต้ (53.9%) ตามด้วยยุโรป (32.6%) เอเชีย (28.6%) การดำเนินการทางกฎหมาย เกิดขึ้นเกือบสองในสามในอเมริกาเหนือ (63.2%) รองลงมาคือออสเตรเลีย (58.8%) และยุโรป (18.7%) (ภาพที่ 3)

ความคับข้องใจ ความคับข้องใจที่เป็นสาเหตุของการเรียกร้องที่สำคัญ 4 อันดับแรก ได้แก่ ค่าตอบแทน (63.4%)  สภาพการจ้าง (22.3%) เงื่อนไขการทำงาน (20.2%) และสุขภาพและความปลอดภัย (17.1%) ในข้อนี้ทุกทวีปเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (ภาพที่ 4)

การจำแนกและวิเคราะห์การลุกขึ้นสู้ของไรเดอร์ในระดับโลก นำมาสู่ข้อสรุปที่สำคัญคือ ประการแรก กลุ่มธรรมชาติ (group of workers) เป็นกลุ่มกระทำการที่สำคัญ ดังที่ปรากฏเป็นรูปแบบหลักเมื่อพิจารณาในภาพรวม ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า อำนาจจากการรวมตัว (associational power) เป็นลักษณะสำคัญของแรงงานแพลตฟอร์มกลุ่มนี้

ในเชิงทฤษฎี อำนาจต่อรองของแรงงาน มาจากสองด้านที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน คืออำนาจเชิงโครงสร้าง (structural power) ซึ่งเกิดจากสถานะความสำคัญมาก/น้อยในระบบเศรษฐกิจ เช่น ถ้าเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมีทักษะและตลาดขาดแคลนแรงงาน แรงงานกลุ่มนี้จะมีอำนาจต่อรองสูง อีกด้านหนึ่งคือ อำนาจจากการรวมตัว (associational power) ซึ่งเกิดจากความเข้มแข็งของการรวมตัวกัน[6] ถ้าหากมีอำนาจทั้งสองด้านพร้อมกัน ย่อมทำให้มีอำนาจต่อรองสูงขึ้นอีก

การที่แรงงานแพลตฟอร์มอาศัยอำนาจจากการรวมตัวเป็นหลัก ด้านหนึ่งสะท้อนการขาดอำนาจเชิงโครงสร้าง เนื่องจากงานแพลตฟอร์มเป็นการจ้างงานที่ยืดหยุ่น และมีแรงงานสำรองจำนวนมาก ทำให้ตกอยู่ในเงื่อนไขที่มีอำนาจต่อรองในโครงสร้างเศรษฐกิจน้อย ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนว่า เมื่อยืนอยู่บนอำนาจจากการรวมตัว การขยายฐานสมาชิกในกลุ่ม ข้ามกลุ่ม และการสนับสนุนจากสังคมวงกว้าง เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างอำนาจต่อรอง

ประการที่สอง แม้ว่ากลุ่มธรรมชาติเป็นตัวแสดงที่สำคัญ แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า การรวมตัวกันไม่ได้เกิดขึ้นโดยเอกเทศ แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มธรรมชาติได้รับการสนับสนุนในทางใดทางหนึ่งจากสหภาพกระแสหลัก อีกทั้งมีจำนวนไม่น้อยที่สหภาพกระแสหลักมีบทบาทหนุนช่วยสหภาพรากหญ้า สำหรับกลุ่มธรรมชาติ มีหลายกรณีนำไปสู่การก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพกระแสหลัก ในข้อนี้แสดงให้เห็นว่าการร่วมมือกันข้ามประเภทของกลุ่มเป็นแนวโน้มที่สำคัญ

ประการที่สาม “ค่าจ้าง” ซึ่งเป็นความคับข้องใจหลัก เป็นประเด็นสำคัญที่ไม่แตกต่างจากการเรียกร้องของแรงงานทุกยุคสมัย ประเด็นค่าจ้างสะท้อนถึงการขูดรีดของทุน และการโต้ตอบของแรงงานจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  

กล่าวถึงที่สุด แม้งานแพลตฟอร์ม เป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ อยู่กระจัดกระจาย และถูกควบคุมจากนายจ้างอย่างเข้มงวด แต่บนความสัมพันธ์เชิงขูดรีดระหว่างทุน-กับแรงงานที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แรงงานได้พิสูจน์ให้เห็นว่าภราดรภาพในการรวมกลุ่มรูปแบบใหม่ๆสามารถเกิดขึ้นได้ 

การลุกขึ้นสู้ของไรเดอร์ไทยจะเป็นไปในทิศทางใด ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาบทเรียน และปฏิบัติการในสนามการต่อสู้อันท้าทายเบื้องหน้า.

 


ภาพที่ 1:
การรวมตัวเรียกร้องของไรเดอร์ทั่วโลก
ระหว่าง 1 มกราคม 2017 ถึง 20 พฤษภาคม 2020
หมายเหตุ: แกนตั้งคือจำนวนครั้งของการเรียกร้อง แกนนอนคือระยะเวลาแบ่งเป็นปีละ 4 ไตรมาศ
ที่มา: Trappmann. et al. (2020)


ภาพที่ 2:
กลุ่มกระทำการ (actors) ของไรเดอร์จำแนกตามทวีป
หมายเหตุ: แกนตั้งคือค่าร้อยละของกลุ่มกระทำการ แกนนอนคือกลุ่มกระทำการในแต่ละทวีป
ที่มา: Trappmann. et al. (2020)


ภาพที่ 3:
การกระทำการ (actions) ของไรเดอร์จำแนกตามทวีป
หมายเหตุ: แกนตั้งคือค่าร้อยละของการกระทำการ แกนนอนคือการกระทำการในแต่ละทวีป
ที่มา: Trappmann. et al. (2020)

 

ภาพ 4: ความคับข้องใจที่นำไปสู่การเรียกร้องของไรเดอร์จำแนกตามทวีป
หมายเหตุ: แกนตั้งคือค่าร้อยละของความคับข้องใจ แกนนอนคือความคับข้องใจในแต่ละทวีป
ที่มา: Trappmann. et al. (2020)

 

 

[1] 21 ต.ค. 2565 “Grab ชลบุรี” รวมตัวยื่นหนังสือผ่านตัวแทนภาครัฐช่วยประสานเจรจากับบริษัทแพลตฟอร์มตามข้อเสนอ 3 ข้อได้แก่ 1. เพิ่มค่ารอบ หรือค่าตอบแทนส่งอาหาร กลับมาเป็น 30 บาทต่อรอบ 2. เพิ่มค่าอินเซนทีฟ หรือเงินโบนัสสำหรับไรเดอร์ที่รับงานได้เท่ากับที่บริษัทกำหนด และ 3. การปรับปรุงให้แอปพลิเคชั่นกระจายงานให้ไรเดอร์อย่างทั่วถึง  (https://prachatai.com/journal/2022/10/101106)  26 ตุลาคม 2565 “ไรเดอร์ลาลามูฟ” ยื่นหนังสือถึงบริษัทต้นสังกัด และผู้ว่าฯ กทม.  เรียกร้องแก้ปัญหาค่าตอบแทน-ระบบที่ไม่เป็นธรรม 3 ข้อ 1. ขอให้บริษัทยกเลิกการตัดค่าบริการ 33 บาท 2. ขอให้บริษัทยกเลิกการหักค่าบริการถอนเงิน 8 บาทต่อครั้ง และการถอนเงินควรเข้าภายในวันที่ถอน 3. ขอให้บริษัทยกเลิกงานเหมาชั่วโมง 475 บาท ที่ไม่อ้างอิงจากระยะทางจริง (https://prachatai.com/journal/2022/10/101148) 3 พ.ย. 2565 ไรเดอร์ Grab กว่า 500 เคลื่อนขบวนไปที่ตั้งอาคารสำนักงานของบริษัทแกร๊บ ประเทศไทย จำกัด เรียกร้องให้มีการทบทวนระบบจองงาน ระบบงานคู่ และค่ารอบ (https://prachatai.com/journal/2022/11/101266)  

[2] ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ. (2565). โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม. รายงานการวิจัย, คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บทที่ 2 หน้า 14 -24

[3] Tassinari, A. & Maccarrone. (2019). Riders on the Storm: Workplace Solidarity among Gig Economy Couriers in Italy and the UK. Work, Employment and Society. 34(1), 35-54.

[4] Trappmann, V., Bessa, I., Joyce, S., Neumann, D., Stuart, M. & Umney, C. (2020) Global labour unrest on platforms: the case of food delivery workers. Berlin: FES.

[5] Leeds Index of Platform Labour Protest. https://business.leeds.ac.uk/research-ceric/dir-record/research-projects/1721/leeds-index-of-platform-labour-protest

เป็นฐานข้อมูลออนไลน์ดำเนินการโดย Leeds University Business School รวบรวมกิจกรรมการประท้วงของพนักงานแพลตฟอร์มทั่วโลกในสี่ภาคส่วนแพลตฟอร์มคือ เรียกรถโดยสาร ส่งอาหาร ส่งพัสดุ และของชำ ระหว่างเดือนมกราคม 2017 ถึงกรกฎาคม 2020

[6] Silver, B. J. (2003). Forces of labor: workers’ movements and globalization since 1870. Cambridge University Press.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net