Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การรวมกลุ่มของไรเดอร์ เพื่อช่วยเหลือกันเรื่องการทำงาน เยียวยาอุบัติเหตุ หรือพูดคุยเรื่องต่างๆ ในลักษณะกลุ่มธรรมชาติ เกิดขึ้นทั่วไป หลายกลุ่มสร้างเพจเฟสบุ๊คเป็นช่องทางสื่อสารขยายสมาชิก เกิดกลุ่มย่อยในที่ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เครือข่ายเป็นกลไกสร้างความร่วมมือ และระดมกำลังปกป้องสิทธิประโยชน์ ดังการรวมตัวเรียกร้องต่อบริษัทแพลตฟอร์มหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

การรวมตัวช่วยเหลือกันของแรงงาน เป็นบันใดขั้นแรกของการพัฒนาไปสู่องค์กรที่เข้มแข็ง แต่กลุ่มช่วยเหลือกัน มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น สมาชิกมักยินดีรวมตัวกันแบบหลวมๆ มากกว่าเป็นองค์กรกฎระเบียบเคร่งครัด ไม่ค่อยเห็นด้วยหากกลุ่มแสดงความคิดเห็นทาง “การเมือง” ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนจากการทำงาน เช่น เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ การต่อสู้มักให้ความสำคัญกับปัญหาที่กำลังเผชิญ และเห็นว่าการต่อสู้ในประเด็นทางกฎหมายเป็นเรื่องไกลตัว[1]

แรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหาร หรือไรเดอร์ มีทั้งจุดแข็งและข้อจำกัดในการรวมกลุ่ม แรงงานกลุ่มนี้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) สูง จากปัญหาที่เผชิญร่วมกัน เช่น ค่ารอบต่ำ การทำงานภายใต้แอปที่คลุมเครือ-ไม่โปร่งใส-เปลี่ยนตามอำเภอใจของบริษัท อีกทั้ง แรงงานกลุ่มนี้มีโอกาสพบปะกันในพื้นที่ทำงาน และเชื่อมโยงกันผ่านออนไลน์ แต่ข้อจำกัดก็คือ แรงงานกลุ่มนี้มีความหลายหลายของสถานะส่วนบุคคล และระดับของการพึ่งพารายได้จากอาชีพนี้ ทำให้ความเห็นพ้องในเรื่องหนึ่งๆ เป็นไปได้ยาก[2]

สถานการณ์นี้นำมาสู่คำถามน่าสนใจว่า การรวมกลุ่มของไรเดอร์จะพัฒนาเป็นองค์กรแรงงานเพื่อต่อสู้ในระยาวได้หรือไม่ โครงการวิจัยของเรา[3] สำรวจข้อมูลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบคำถามดังกล่าว ประเด็นคำถามสำคัญคือ สมาชิกกลุ่มมีความคิดเห็นและคาดหวังต่อกลุ่มอย่างไร พวกเขามีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากน้อยเพียงใด เห็นด้วยหรือไม่หากกลุ่มจัดองค์กรเป็นทางการ และพัฒนาไปสู่รูปแบบสหภาพแรงงาน และพวกเขามีข้อจำกัดอะไรในการร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม

การวิจัยเก็บข้อมูลจากสมาชิกกลุ่มไรเดอร์ 3 กลุ่ม ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกัน

กลุ่ม A เป็นกลุ่มที่เกิดจากการพบปะกันในย่านที่ทำงานแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ช่วยเหลือกันเรื่องการทำงานและเยียวยาอุบัติเหตุ ช่วงแรกใช้ไลน์กลุ่มเป็นเครื่องมือสื่อสาร ต่อมาสร้างเพจเฟสบุ๊คเป็นอีกช่องทางสื่อสาร  เพจเป็นกลุ่มปิด สื่อสารกันในหมู่สมาชิก ปัจจุบันในเพจมีสมาชิกประมาณ 700 คน

กลุ่ม B เริ่มจากกลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์ส่งผู้โดยสารภายใต้แอปพลิเคชั่น รวมตัวช่วยเหลือกันเมื่อมีเหตุกระทบกระทั่งกับวินมอเตอร์ไซค์ เริ่มต้นจากกลุ่มไลน์ ต่อมาได้เปิดเพจเฟสบุ๊ค เป็นเพจสื่อสารสาธารณะ ปัจจุบันขยายวงสื่อสารกับกลุ่มส่งอาหาร และส่งสินค้า และกับไรเดอร์ภายใต้แอปอื่นด้วย ปัจจุบันเพจมีผู้ติดตาม 1.2 แสนคน เป็นกลุ่มที่มีผู้ติดตามเพจมากที่สุด

กลุ่ม C เป็นกลุ่มที่เกิดจากไรเดอร์กลุ่มเล็กๆที่มีประสบการณ์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการการทำงาน แกนนำใช้เพจเฟสบุ๊คเป็นเครื่องมือนำเสนอความคิดต่อสาธารณะ สร้างเครือข่าย และออกไปสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งต่างจังหวัด เพจของกลุ่มมีจุดเด่นคือการนำเสนอความคิดเรื่องการสร้างอำนาจต่อรอง และสิทธิแรงงาน ปัจจุบันกลุ่มมีผู้ติดตามเพจ 4.5 หมื่นคน

การสำรวจข้อมูลโดยแบบสำรวจ กลุ่ม A มีผู้ตอบแบบสำรวจ 166 ชุด กลุ่ม B 204 ชุด และกลุ่ม C 139 ชุด (รวม 509 ชุด) เมื่อเปรียบเทียบกันในภาพรวมพบว่า  กลุ่ม A และ B มีคำตอบคล้ายคลึงกัน และคำตอบในแต่ละข้อส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน (เสียงเอกฉันท์) ส่วนกลุ่ม C คำตอบแต่ละข้อคำถาม มีความเห็นแตกต่าง (เสียงแตก) แสดงให้เห็นความคิดที่หลากหลายในกลุ่ม C

อย่างไรก็ตาม โอกาสนี้จะไม่นำเสนอข้อมูลแต่ละกลุ่มโดยละเอียด แต่นำเสนอค่าเฉลี่ยจากข้อมูลดิบของทั้ง 3 กลุ่ม และนำเสนอเฉพาะประเด็นสำคัญ (จากคำถามทั้งหมด 30 ข้อ) ส่วนรายละเอียดทั้งหมด จะนำเสนอในโอกาสต่อไป

ข้อสรุปความคิดเห็นของไรเดอร์จากทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งมาจากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 509 ชุด ในประเด็นสำคัญมีดังนี้

1. ลักษณะผู้ตอบแบบสำรวจ : ส่วนใหญ่เป็นชาย (87%); อายุช่วงวัยแรงงานตอนกลาง (30-44 ปี) (57%); ทำงานมานานประมาณ 3-4 ปี (42%); ทำงานนี้เป็นงานประจำ (64%)             

2. ความสัมพันธ์กับกลุ่ม : ส่วนใหญ่ทราบกฎระเบียบ นโยบาย แนวทางการทำงานของกลุ่มในระดับมากที่สุด; การได้รับข้อมูลข่าวสารประจำวัน ภายในกลุ่ม เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วในระดับมากที่สุด; พึงพอใจบทบาทของกลุ่มในการช่วยเหลือสมาชิกระดับมากที่สุด; พึงพอใจต่อการสามารถเสนอความคิดเห็นและได้รับการรับฟังจากแกนนำระดับมากที่สุด; และเรื่องสำคัญที่สุดที่กลุ่มควรให้การช่วยเหลือสมาชิกคือ การช่วยเหลือเงินเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หยุดงานขาดรายได้   

 

 





 

3. ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน : ส่วนใหญ่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสมาชิกกลุ่มในระดับมากที่สุด; หากกลุ่มขยายความร่วมมือไปยังไรเดอร์กลุ่มอื่นเห็นด้วยในระดับมากที่สุด; การรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการอันพึงมีพึงได้ของไรเดอร์ เช่น กฎหมายคุ้มครองไรเดอร์ ยินดีเข้าร่วมในระดับมากที่สุด; หากมีการเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของไรเดอร์กลุ่มอื่นหรือแรงงานกลุ่มอื่น ยินดีให้การสนับสนุนระดับมากที่สุด








4. การพัฒนากลุ่มเป็นองค์กร : ส่วนใหญ่เห็นด้วยหากกลุ่มพัฒนาให้มีคณะกรรมการ กฎระเบียบ และการรับสมาชิก อย่างเป็นและระบบชัดเจนมากขึ้น ในระดับมากที่สุด; หากกลุ่มพัฒนาเป็นสหภาพแรงงานเห็นด้วยในระดับมากที่สุด; ความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า "สหภาพแรงงาน" ส่วนใหญ่เข้าใจดี; หากกลุ่มจัดอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิและสวัสดิการของแรงงาน ส่วนใหญ่จะเข้าร่วมการอบรม








5. ข้อจำกัดการร่วมกิจกรรมของกลุ่ม : ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้วยเหตุผลต่างๆ

6. กฎหมายคุ้มครองไรเดอร์ : ส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองการทำงานของไรเดอร์ในระดับมากที่สุด 

7. ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ประเด็นที่มีการเสนอแนะมากที่สุดคือเรื่องค่ารอบ เช่น อยากให้ต่อสู้เรื่องค่ารอบ; ขอเพิ่มค่ารอบหน่อยเหอะ ทุกวันนี้เหมือนวิ่งการกุศล; อยากให้ค่ารอบของไรเดอร์ขั้นต่ำ 40 บาทเพราะว่าน้ำมันลิตรละ 40 แล้ว; นอกนั้นมีประเด็นหลากหลาย เช่น อยากให้มีประกันสังคม; ไม่อยากเข้าระบบแรงงาน; จัดกิจกรรม พบปะพูดคุย จะได้สนิทกัน ความช่วยเหลือในกลุ่มจะได้มากขึ้น; ทำกลุ่มสหภาพแรงงานซะ; อยากให้ทางกลุ่มลองหาพันธมิตรจากส่วนของลูกค้า ประชาชนทั่วไปและร้านค้า เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายของกลุ่มให้บรรลุจุดประสงค์

ข้อมูลทั้งหมดโดยสรุป แสดงให้เห็นแนวโน้มที่สวนทางกับงานศึกษาก่อนหน้า ที่ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มช่วยเหลือกันมีข้อจำกัดคือ สมาชิกนิยมรวมตัวกันหลวมๆ และมุ่งแก้ไขเรื่องเฉพาะหน้า แต่ข้อสรุปเบื้องต้นนี้แสดงให้เห็น ความต้องการของสมาชิกกลุ่ม ในการสนับสนุนให้กลุ่มพัฒนาเป็นองค์กรตามแนวทางสหภาพแรงงาน ความต้องการได้รับการอบรมเรื่องสิทธิและสวัสดิการ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในกลุ่มเดียวกัน ข้ามกลุ่ม และกับแรงงานกลุ่มอื่น และแม้ว่าส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม แต่เกือบครึ่งหนึ่งไม่มีข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นสัญญาณบวกของการพัฒนาองค์กรแรงงาน

อย่างไรก็ตามข้อสรุปนี้ เกิดขึ้นจากข้อจำกัดหลายประการ เช่น มาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนไรเดอร์ทั้งหมด ข้อจำกัดต่างๆในการออกแบบคำถาม และคำอธิบายที่ต้องการเพิ่มเติม

โดยคำนึงถึงข้อจำกัดดังกล่าว สัญญาณบวกของการพัฒนาองค์กรแรงงาน เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งต้องการก้าวต่อไปบนความมุ่งมั่นยกระดับองค์กรของไรเดอร์ และการสนับสนุนจากพี่น้องแรงงาน สหภาพแรงงาน และภาคประชาชน

 

อ้างอิง

[1] Ford, M., & Honan, V. (2019). The limits of mutual aid: Emerging forms of collectivity among

app-based transport workers in Indonesia. Journal of Industrial Relations, 61(4), 528–548.

[2] Tassinari, A., & Maccarrone, V. (2020). Riders on the storm: Workplace solidarity among gig economy couriers in Italy and the UK. Work, Employment and Society, 34(1), 35–54.

[3]โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง ดำเนินโครงการโดยนายพฤกษ์ เถาถวิล และนายวรดุลย์ ตุลารักษ์ ภายใต้โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net