Skip to main content
sharethis

รายงานคนโป่งอาง เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ลุกขึ้นค้านเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง  หลังรู้ข่าวกรมชลฯ ปลุกผี ปัดฝุ่นเตรียมสร้างเขื่อนอีกครั้ง ส่งผลชุมชนแตกแยกและขัดแย้ง ขณะที่ล่าสุดส.ส.ก้าวไกล และ กมธ.ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติฯ ลงพื้นที่รับฟังปัญหา และรับหนังสือร้องเรียน

ภูผาสีแดง ซึ่งกลายเป็นที่มาชื่อหมู่บ้าน โป่งอาง

เดิมทีนั้น ชุมชนบ้านโป่งอาง แห่งนี้เคยเป็นชุมชนของชนชาวไทยใหญ่ ดินแดนแห่งนี้จึงถูกเรียกขานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า โป่งอาง เป็นชื่อที่เรียกตามชื่อของโป่ง ที่ตั้งอยู่บริเวณฟากขวามือทางเข้าหมู่บ้าน จะมองเห็นโป่ง มีลักษณะภูผาสีแดงรูปร่างสีสันแปลกตา ชาวไทยใหญ่ จึงเรียกกันว่า อาง ซึ่งหมายถึงยันต์ เนื่องจากดูคล้ายผ้ายันต์นั่นเอง ลักษณะดังกล่าวอาจเกิดจากการผกผันทางธรรมชาติที่อยู่ใต้ผิวดิน ที่ทำให้บริเวณดังกล่าว มีความร้อน และเกิดขึ้นมาในลักษณะของโป่ง ดังนั้น คำว่า โป่ง รวมกับคำว่า อาง (เป็นภาษาไทยใหญ่) จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านโป่งอาง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

หมู่บ้านโป่งอาง เป็นชุมชนที่มีทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยใหญ่ และชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีการตั้งรกรากถิ่นฐานมานับร้อยปี “จากประวัติ บอกว่า สมัยก่อนมีพ่ออุ้ยพรมมา จองจาย และพ่ออุ้ยพรมมา พรมทอง ซึ่งเป็นผู้เฒ่าไทยใหญ่ได้เข้ามาบุกเบิกและอาศัยอยู่มา เพราะเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำปิงไหลผ่าน” หากใครมีโอกาสมาเยือนหมู่บ้านโป่งอาง ก็จะเห็นสภาพพื้นที่ตั้งของชุมชนแห่งนี้ ว่าคนในอดีตนั้นเข้าใจและมองการณ์ไกล เพราะทำเลที่ตั้งนั้นอยู่ในหุบเขา และมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน จึงเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ที่จะต้องอาศัยและพึ่งพาระบบนิเวศน์จาก ดิน น้ำ ป่าไม้อย่างสัมพันธ์กันและกัน นอกจากนั้น ยังถือว่าเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำห้วยหก ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำปิงตอนบน อันเกิดจากแนวเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนรอยต่อระหว่างเทือกเขาดอยปุกผักกา แนวเขตบ้านโป่งอาง และบ้านแกน้อย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำห้วยหกได้ไหลลงสู่แม่น้ำปิงทางฝั่งตะวันตกของหมู่บ้าน

ความสำคัญของโป่งอาง เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ คือความสมดุลแบบพึ่งพาและยั่งยืน จากการสำรวจ พบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหก มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 27,500 ไร่ ซึ่งเป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของพรรณพืช พันธุ์สัตว์นานาชนิด เนื่องจากสภาพพื้นที่ป่าเป็นบริเวณป่าต้นน้ำ เป็นลักษณะป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณตามลำดับชั้นของป่า ส่วนพื้นที่ป่าบริเวณรอบๆ หมู่บ้านจะเป็นป่าโปร่งที่มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ขึ้นประปราย อาทิเช่น ไม้เต็ง รัง ประดู่ ไม้สัก กล้วยป่า ไผ่ พืชสมุนไพร เห็ดชนิดต่างๆ นอกจากนั้น ผืนป่าแห่งนี้ยังอุดมไปด้วยสัตว์ป่าหลากหลาย อาทิเช่น หมูป่า ไก่ป่า กระต่าย กระรอก และงูชนิดต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกื้อกูลกันทางระบบนิเวศวิทยาของคนกับป่าที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลเลยทีเดียว

เรื่องอาหารการกินจากป่า จากแม่น้ำปิงของคนที่นี่มีให้กินเหลือเฟือตลอดปี ที่ขึ้นชื่อที่สุด ก็คือ อี่โอ๋น หรือลูกอ๊อด ตัวอ้วนใหญ่มาก ที่ชาวโป่งอางจะลงไปช้อนเอาในลำน้ำปิง ในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค.ของทุกปี กลายเป็นอาหาร เป็นอาชีพเสริมกันได้เลย

ว่ากันว่า ‘อี่โอ๋น’ หรือลูกอ๊อดกบแม่น้ำปิง นั้นเป็นที่รู้จักเลื่องลือไปทั่วอำเภอเชียงดาว ถึงขั้นมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงภายในหมู่บ้านเลยทีเดียว “ลองคิดคำนวณกันง่ายๆ อี่โอ๋น ขายกิโลละ 150 บาท วันหนึ่งคนในพื้นที่หาอี่โอ๋นได้รวมกัน 30 กิโลต่อวัน ภายในช่วงระยะเวลาสามเดือน ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ในจำนวนมากเลยทีเดียว

นอกจาก อี่โอ๋น สำหรับคนในพื้นที่นั้นหมายถึงอาหาร และรายได้เสริมให้กับครอบครัวแล้ว อี่โอ๋น ยังบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บ้านโป่งอางได้เป็นอย่างดี เมื่อพูดถึงผืนป่าบริเวณบ้านโป่งอาง ซึ่งมีการแบ่งโซนเอาไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าป่าชุมชน ป่าใช้สอย และป่าต้นน้ำ อันเป็นหัวใจสำคัญของคนอยู่กับป่า ที่จะต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

สิ่งแปลกปลอมที่ชื่อว่า เขื่อน คืบคลานเข้ามา

แต่แล้ว ในปี พ.ศ.2553 กรมชลประทาน ก็ผุดโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน เชียงดาว ขึ้นมา และจุดที่จะมีการก่อสร้างจะอยู่บริเวณทางตอนเหนือของหมู่บ้านโป่งอาง ไปเพียง 1 กิโลเมตร จนทำให้ ทุกคนไม่เชื่อว่านี่คืออ่างเก็บน้ำเหมือนกับชื่อโครงการ หากมันคือ เขื่อน เพราะมีความสูงถึง 62.5 เมตร ความจุ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าตึกสูง 20 ชั้น เมื่อคนในพื้นที่ออกเดินสำรวจดูพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้ปักหมายเขตก่อสร้างโครงการแล้ว จึงพบว่า พื้นที่ดังกล่าว ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาสองลูก โดยมีแม่น้ำปิงไหลผ่านตรงกลาง แน่นอน ทำให้คนในพื้นที่วิตกกังวลกันไปต่างๆ นานา ว่าหากมีการก่อสร้างจริง แม่น้ำปิงต้องเปลี่ยนทิศ และภูเขา ผืนป่าหลายหมื่นไร่จะถูกน้ำเอ่อล้นท่วมและจมไปอยู่ใต้น้ำในที่สุด จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากมายขนาดไหน แล้ววิถีชุมชน วิถีชีวิตของคนบ้านโป่งอางจะเป็นเช่นไร เมื่อเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนเพียง 1 กิโลเมตร

“ใจไม่ดี และจะไม่ยอม ถ้าให้ตาย ก็จะสู้จนตาย เพราะว่าการที่พ่อแม่เราสะสมผืนป่าอาหารมาไว้ให้กับลูกหลานมาถึงขนาดนี้ จนมีผืนป่าสืบมาถึงรุ่นเรา แล้วเราไม่สามารถที่จะรักษาเอาไว้ได้ ก็เป็นเรื่องน่าอาย ฉะนั้น เราจะสู้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตายไปนั่นแหละ” บัวเขียว ชุมภู ชาวโป่งอาง บอกย้ำ หลังจากมีข่าวว่าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน ทำให้คนทั้งหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ หนุ่มสาวและผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติชนเผ่า ทั้งคนพื้นเมือง คนปกาเกอะญอและคนไทยใหญ่ ต่างมาล้อมวงคุยถกกันอย่างเคร่งเครียด โดยในช่วงเช้า ชาวโป่งอาง นั่งคุยกันในวิหารเก่าในวัดโป่งอาง ครั้นพอตกบ่าย ทุกคนพากันย้ายมาประชุมหารือกันต่อที่ในโบสถ์คริสต์

โครงการสร้างเขื่อนเข้ามา ทำให้ชุมชนแตกแยก ขัดแย้ง

และที่กลายเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญตามมา นั่นคือ ชุมชนบ้านโป่งอาง ได้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นมาอย่างรุนแรง เมื่อโครงการนี้เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งทำให้คนในพื้นที่แตกแยกกันเป็นหลายฝ่าย ฝ่ายหนึ่งแอบสนับสนุนโครงการ แต่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นคัดค้าน จนกลายเป็นปัญหาทะเลาะขัดแย้งสะสมกันมายาวนาน

ประพันธ์ ปุกคำ ประธานสภาวัฒนธรรมหมู่บ้านโป่งอาง ได้บอกเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนั้น หมู่บ้านแห่งนี้อยู่กันสุขสงบ อยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน จนกระทั่งพอมีโครงการสร้างเขื่อนขึ้นมาเมื่อปี 2553เป็นต้นมา ได้ทำให้พี่น้องชาวบ้านมีความขัดแย้ง แตกแยกกันฝักเป็นฝ่าย ฝ่ายหนึ่งไม่เอาเขื่อน อีกฝ่ายสนับสนุนเขื่อน ทำให้ชาวบ้านชุมชนขัดแย้งไม่เหมือนเดิมกันเลย

“มันทำให้ชาวบ้านแตกแยก แบ่งกันเป็นสามก๊ก สี่ก๊ก ถึงขั้นเวลาเดินสวนทางกัน ยังไม่ยอมทักถามกัน หรือเรียกกินข้าวเหมือนแต่ก่อนเลย ซึ่งมันผิดแปลกมาก เพราะจริงๆ แล้ว วิถีชีวิตของคนบ้านนอกนั้น มันเป็นวิถีชีวิตที่มีความเกื้อกูลกัน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือจะปลูกบ้านสร้างเรือน ก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะเราเป็นหมู่บ้านเล็กๆ เราไม่อยากให้มีการแตกแยก แตกสามัคคีกัน เมื่อสิบปีก่อน พอทางกรมชลฯ หยุดเงียบไป มันก็ทำให้ชาวบ้านเริ่มดีกันแล้ว ที่เคยแตกแยกขัดแย้ง ก็เริ่มกลับมาสามัคคี ดีกันบ้างแล้ว แต่ล่าสุด มาปีนี้ กลับมีข่าวว่าจะมีการสร้างเขื่อนกันอีกรอบ ทำให้พ่อรู้สึกไม่สบายใจ เพราะเรารู้เลยว่า พอมีเรื่องเขื่อนเข้ามา มันได้ทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกกันอีกแล้ว”

ประพันธ์ ปุกคำ ประธานสภาวัฒนธรรมหมู่บ้านโป่งอาง

ในขณะที่ หาญณรงค์ เยาวเลิศ  ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า กรณีเรื่องเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงที่โป่งอาง ชาวบ้านก็ยืนยันอยู่แล้วว่าไม่เห็นด้วย เพราะมันจะกระทบต่อวิถีชุมชน กระทบต่อพื้นที่ทำกินของเขา และก่อนหน้านั้น กำลังเริ่มต้นศึกษา แต่ก็ถูกชาวบ้านคัดค้านจนล้มเลิกไปแล้ว ซึ่งโครงการแบบนี้ ถ้าจะกลับมาทำใหม่นั้น มันจะต้องตอบโจทย์ของชาวบ้านที่เขาท้วงติง ไม่เห็นด้วยนั้นให้ได้ก่อนเป็นประการแรก ประการที่สอง ถ้าคุณจะดำเนินการอะไร จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร มันแตกต่างไปจากสิ่งที่ชาวบ้านได้ท้วงติงไปมากน้อยแค่ไหน นั่นคือ จะต้องมีการปรึกษาหารือกับชาวบ้านที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงให้ได้ก่อน  แต่นี่ถ้ายังเป็นโครงการอันเดิม มีรูปแบบคล้ายๆ โครงการเดิม ซึ่งตนทราบข่าวจากคนในพื้นที่ว่า โครงการนี้ได้ไปบรรจุไว้ในแผนงบประมาณของกรมชลประทานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังเป็นแบบเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ซึ่งตรงนี้ มันแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของหน่วยงานผู้ผลักดันโครงการว่า มันไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเลย หมายถึงว่า ข้อท้วงติงของชาวบ้านที่ผ่านมา มันไม่ได้ช่วยให้มีการปรับปรุงหรือพัฒนาองค์กรหรือบุคลากรที่ผลักดันโครงการนี้เลย อย่างนี้ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านต้องออกมายืนยันคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เหมือนเดิม

“ดังนั้น ตนคิดว่า กรมชลประทาน ควรจะมีพัฒนาการในการพัฒนาองค์กรให้ดีกว่านี้นะ  คือคุณตั้งกรมชลประทานมาได้ 100 กว่าปีแล้ว ไม่ใช่จะตั้งขึ้นมาเพื่อจะสร้างเขื่อนอย่างเดียว แต่คุณจะสร้างขึ้นมาแล้วมันจะมีคุณูปการอย่างไร ไม่ใช่สร้างขี้นมาแล้ว ชาวบ้านออกมาท้วงติงเรื่องการได้รับผลกระทบ มันกระทบถึงการไปทำลายพื้นที่ป่าอุทยาน ซึ่งตอนนี้ ชาวบ้านนั้นโดนเบียดขับหลายด้านด้วย ตนคิดว่า โครงการแบบนี้ มันสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าหน่วยงานยังไม่ปรับทัศนคติ ยังใช้ข้อเสนอแบบเดิมนี้ มันก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานของกรมชลประทานนั้นก็ยังคงเดิม ผ่านมา 100 กว่าปี แต่ก็ยังไม่ฟังเสียงของชาวบ้าน คนเก่าพอรับรู้ พอเปลี่ยนไป ได้คนใหม่เข้ามาทำงาน ไม่รับรู้ ก็ยังคิดเหมือนเดิมทำแบบเดิม ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็ต้องมีความเข้มแข็งและออกมายืนยันไม่เห็นด้วยอย่างจริงจัง ซึ่งกรมชลประทานก็ต้องกลับไปทบทวนกันใหม่ว่า เมื่อชาวบ้านเขาไม่เอาและจะต้องปรับ” ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าว

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ

ซึ่งดูเหมือนว่า ปัญหาเรื่องเขื่อนในประเทศไทยนั้น ก็ยังเป็นปัญหาเดิมที่คนในหลายพื้นที่คัดค้านไม่เห็นด้วย และอีกประเด็นเรื่องการสร้างเขื่อนนั้น  มักจะเกิดขึ้นหลังเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่ในประเทศ ซึ่งมาพร้อมวาทกรรมที่ว่า “ต้องสร้างเขื่อนเท่านั้น ถึงจะป้องกันน้ำท่วมได้”

แต่ หาญณรงค์ ได้ออกมาคัดค้านและยืนยันว่า สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมส่วนใหญ่นั้นล้วนมาจากปัญหาเรื่องเขื่อนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำ ล้วนเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนทั้งนั้น

ส.ส.ก้าวไกล ลงพื้นที่รับฟังปัญหา และรับหนังสือร้องเรียน

21 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตัวแทน ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่หมู่บ้านโป่งอาง เพื่อรับฟังปัญหาที่คนในพื้นที่กำลังเผชิญกันอยู่ โดย เจริญ จองจาย ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง พร้อมคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้ทำหนังสือร้องเรียนยื่นให้กับ อมรัตน์   โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจากที่ผ่านมา ตนได้เคยลงพื้นที่ในหลายๆ พื้นที่ ที่ชาวบ้านชุมชนได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหมืองแร่ หรือการสร้างเขื่อน จะเห็นว่าปัญหามันอยู่ที่พื้นที่โครงการเหล่านี้ มันชอบกันจัง มักจะไปกระทบต่อพื้นที่ป่าชั้น 1เอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ จะทำหรือไม่ทำโครงการเหล่านี้ ข้อสำคัญคือมันต้องถามประชาชนเจ้าของพื้นที่ก่อน ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วม พอจะดำเนินโครงการ เจ้าหน้าที่เขาก็มักจะอ้างว่าชาวบ้านยินยอมหมดแล้ว เซ็นรับทราบแล้ว ในขณะที่มาถามชาวบ้านในพื้นที่ ไม่มีใครเอา ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนตรงนี้ แล้วชาวบ้านต่างมีความกังวลไปต่างๆ ถ้าเกิดมีการสร้างขึ้นมาจริง ก็จะเจอกับปัญหาเรื่องการคมนาคม มีรถบรรทุกวิ่งเข้าวิ่งออก แล้วถ้าจะถึงขั้นมีการอพยพหมู่บ้าน ชาวบ้านก็คงไม่ยอม เพราะไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน จะอยู่ได้อย่างไร

“เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ เรายังไม่รู้ว่าโครงการนี้มันอยู่ในขั้นตอนไหนบ้างแล้ว ดังนั้น ตนในฐานะ ส.ส.และอยู่ในคณะกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็จะเชิญทางกรมชลประทานเข้ามาชี้แจง เชิญพี่น้องชาวบ้านเข้ามาคุยกันในสภา ว่าโครงการนี้ ชาวบ้านรู้เรื่องหรือเปล่า อีไอเอคุณทำหรือยัง ประชาพิจารณ์มีไหม ชาวบ้านในพื้นที่รู้เรื่องหรือไม่อย่างไร แล้วหลังจากนั้น เรารู้ชัดเจนแล้วว่าโครงการนี้สร้างไม่สร้าง เราจะได้มาคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป” โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าว

เช่นเดียวกับ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว ก็กล่าวกับพี่น้องชาวบ้านโป่งอางว่า หลังจากที่เราได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องชาวบ้านแล้ว เราซึ่งเป็น ส.ส.และในฐานะที่เป็นกรรมาธิการฯในสภา เราสามารถจะเรียกทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ก็คือกรมชลประทานเข้ามาชี้แจง ซึ่งในส่วนของพรรคก้าวไกล เรามีทั้งกรรมาธิการอยู่หลายชุด ซึ่งเราจะได้เชิญกรมชลประทานเข้ามาชี้แจง ว่าโครงการสร้างเขื่อนนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ กระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่หรือไม่อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net