Skip to main content
sharethis

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดให้มีการดีเบต เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์เมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ฝ่ายโหวตคว่ำมตินี้ไม่น้อยเลยเป็นประเทศมุสลิมในแอฟริกาและโลกอาหรับ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังใช้อำนาจทางเศรษฐกิจในการขยายอิทธิพลในองค์กรระหว่างประเทศและประเทศกำลังพัฒนา เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกในภาพรวม

หลังจากที่คณะมนตรีสิทธิมนุษชนแห่งสหประชาชาติเผยแพร่รายงานในวันที่ 31 ส.ค. 65 ว่า รัฐบาลจีนกระทำผิดต่อชาวมุสลิมในซินเจียง หรือเติร์กมินิสถานตะวันออกอย่างร้ายแรง ด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยวตามอำเภอใจและเลือกปฏิบัติ การห้ามแสดงออกอัตลักษณ์ศาสนา และการข่มขู่และการบังคับสูญหาย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศหรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 26 ก.ย. 65 สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติให้มีการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความพยายามครั้งแรกในการหยิบเรื่องการละเมิดสิทธิโดยรัฐบาลจีนขึ้นมาเป็นวาระ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสิทธิชาวซินเจียง

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกลับโหวตคว่ำมติดังกล่าว จากสมาชิก 47 ประเทศ มีผู้ลงคะแนนเห็นด้วย 17 ประเทศ ไม่เห็นด้วย 19 ประเทศ และงดออกเสียง 11 ประเทศ ประเทศมุสลิมอำนาจนิยมส่วนใหญ่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ ขณะที่ฝ่ายงดออกเสียงมีชื่อประเทศอินเดียและยูเครนรวมอยู่ด้วย องค์กรสิทธิที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นซินเจียงออกมาแสดงความผิดหวังและวิพากษ์วิจารณ์ จีนแก้ต่างว่าโลกตะวันตกใช้สิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน และว่าหากยอมให้จีนถูกตรวจสอบ ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็อาจตกเป็นเป้าหมายได้เช่นกัน 

ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ ความล้มเหลวในการเปิดอภิปรายเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างมาก และสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนที่มาพร้อมกับอิทธิพลทางการทูตในการชักจูงองค์กรระหว่างประเทศและประเทศที่กำลังพัฒนา มุมมองนี้เป็นข้อเสนอของ 'เอย์จาซ วานิ' (Ayjaz Wani) นักวิจัยอะคันตุกะของ Observer Research Foundation (ORF) ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีความสนใจเกี่ยวกับความขัดแย้งในแคชเมียร์ การขยายตัวของแนวคิดสุดโต่งในปากีสถาน และเอเชียกลางในภาพรวม เขาเขียนบทความวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในเว็บไซต์ของ ORF เมื่อ 10 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา

"จีนสามารถมีอิทธิพลเหนือองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ และประเทศกำลังพัฒนาได้แล้ว ด้วยการใช้พละกำลังทางเศรษฐกิจ" เอย์จาซ วานิ กล่าว 

ถูกละเมิดสิทธิกว่า 1 ล้านคน

เขาท้าวความว่า ซินเจียงเป็นมณฑลที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากร ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีประชากรมุสลิมกว่า 12 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวอุยกูร์ พื้นที่นี้ปรากฎตามพาดหัวข่าวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งค่ายกักกันกว่า 1,200 แห่ง โดยใช้งบประมาณกว่า 700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ฯ รัฐบาลจีน ใช้การต่อต้านการก่อการร้าย แนวคิดแบ่งแยก และกิจกรรมศาสนาผิดกฎหมายเป็นข้ออ้างในการส่งชาวมุสลิมกว่าล้านคนเข้าไปในค่ายกักกันดังกล่าว ชาวอุยกูร์ คาซัค และอุซเบกถูกส่งเข้าไปในค่ายกักกันเหล่านี้ ใน "ฐานความผิด" ต่างๆ เช่น "สวมผ้าคลุมหน้า" "ไว้หนวดยาว" และ "ละเมิดนโยบายวางแผนครอบครัวของรัฐบาล"

ผู้หญิงชาวอุยกูร์ถูกรัฐบาลบังคับให้ทำหมัน ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด และทำแท้ง ส่งผลให้การเติบโตของประชากรลดลงกว่า 84 เปอร์เซ็นต์ในเมืองโกทาน และคาชการ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลซินเจียง ในค่ายกักกัน ผู้หญิงชาวซินเจียงถูกทารุณกรรม ข่มขืนอย่างเป็นระบบ และล่วงละเมิดทางเพศโดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังบังคับชาวอุยกูร์ที่ทำงานในหน่วยงานของภาครัฐไม่ให้ประกอบพิธีละหมาด และทำลายศาสนสถาน เช่น มัสยิดและสุเหร่าต่างๆ รายงานข่าวเหล่านี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ขณะที่องค์กรสิทธิเรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงอย่างต่อเนื่อง

ประเทศมหาอำนาจที่เป็นเสรีประชาธิปไตย เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา รวมถึง ลิทัวเนีย และสหภาพยุโรป ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้งในเวทีการประชุมระดับภูมิภาคและระดับโลก ประเทศเหล่านี้วิจารณ์จีน คว่ำบาตรสินค้าจากซินเจียง ประกาศให้นโยบายต่อชาวอุยกูร์ของรัฐบาลจีนถือเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"  มีการผ่านกฎหมายเพื่อคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และคว่ำบาตรทางการทูตต่อการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่ง

ใช้อำนาจเศรษฐกิจชักจูง

อย่างไรก็ตาม จีนได้ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของตนเองในการชักจูงประเทศมุสลิม เพื่อบั่นทอนข้อเรียกร้องจากประเทศเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐอเมริกาในเวทีระดับโลกต่างๆ เช่น คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ องค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation) และประเทศมุสลิมที่เป็นอำนาจนิยมอื่นๆ แสดงจุดยืนสอดคล้องกับคำชี้แจงของทางการจีน และชื่นชมความพยายามของจีนในการ "ปกป้องมนุษย์และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนผ่านการพัฒนา" จากอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนในการชักจูงประเทศมุสลิมเหล่านี้ พบว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2650 เป็นต้นมา มีกักขังผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ในประเทศมุสลิมเหล่านี้และถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนกว่า 682 คน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนใช้วิธีการมากมายหลายอย่างเพื่อเพิ่มพูนอิทธิพลในการชักจูงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาจีนบริจาคเงินให้กับองค์กรเหล่านี้โดยสมัครใจเพิ่มขึ้นเกือบ 350 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ จีนยังช่วยจ่ายงบประมาณให้กับองค์การสหประชาชาตินับเป็นส่วนแบ่งกว่า 15.25 เปอร์เซ็นต์ใน พ.ศ. 2565 ขณะที่ในปี 2543 จีนจ่ายนับเป็นส่วนแบ่งเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จีนใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของตัวเองในการส่งเจ้าหน้าที่ของตนเองเข้ามาในองค์กรเหล่านี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ของตนเอง ในกรณีของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จีนได้พยายามช่วยให้ประเทศอำนาจนิยมเข้ามามีเก้าอี้ในส่วนที่มีการผลัดเวียนกันเป็นสมาชิก จีนเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นอีก หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไปช่วงหนึ่งในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ จากปมเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

จีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศอำนาจนิยมที่มีประวัติด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกลายเป็นตัวตลก รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อกีดกันความเป็นอิสระของบุคลากรที่มีหน้าที่ในการเฝ้าติดตามและบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศจีนด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เดินทางเยือนประเทศจีน รัฐบาลจีนได้กำหนดเงื่อนไขเพื่อกีดกันไม่ให้มีการประเมินผลอย่างครบถ้วนและเป็นอิสระ เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลในประเทศตะวันตกและกลุ่มสิทธิจากการเยี่ยมชมงานที่อยู่ในการกำกับควบคุมของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ เธอยังออกมายอมรับด้วยว่า "มีแรงกดดันอย่างมหาศาล" จากรัฐบาลจีนและช่องทางการทูตต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ส่งผลให้รายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในซินเจียงอย่างร้ายแรงถูกเผยแพร่ออกมาอย่างล่าช้า

จีนยังใช้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนทิศทางขององค์กรระหว่างประเทศตามความต้องการของตนเอง ขณะที่กำลังมีการปะทะกันระหว่างระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกับระบอบอำนาจนิยมไฮเทคแบบจีนด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อ ก.ค. 65 ที่ผ่านมา จีนได้บังคับผ่านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกงที่ทำให้การเห็นต่างเป็นความผิดทางอาญา ขณะที่แนวร่วมประเทศประชาธิปไตยและผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติวิจารณ์ความเคลื่อนไหวดังกล่าว กลับมีประเทศที่ชื่นชมการกระทำของจีนกว่า53 ประเทศ โดย 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเหล่านี้มีจีนเข้ามาเป็นผู้ลงทุน

ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่กำลังจะดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3 แนวโน้มการละเมิดสิทธิต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงดูมืดมนในสายตาของนักวิเคราะห์ และพฤติกรรมของรัฐบาลจีนก็ยังคงได้รับการให้ท้ายโดยประเทศมุสลิมและประเทศกำลังพัฒนา เพราะอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่จีนมีต่อประเทศเหล่านี้ หลังการเผยแพร่รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในซินเจียง 70 ประเทศนำโดยปากีสถานได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเลิกแทรกแซงกิจการภายในของจีน ในจำนวนนี้มีประเทศอาหรับ 14 ประเทศรวมอยู่ด้วย เช่น อัลจีเรีย โมร็อกโก ซาอุดีอาราเบีย อียิปต์ ตูนิเซีย และบาเรนห์

ในการโหวตลงมติว่าจะเปิดอภิปรายเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในซินเจียงหรือไม่ ทุกประเทศในแอฟริกาลงคะแนนไม่เห็นด้วย ยกเว้นเพียงประเทศเบนิน และแกมเบียที่งดออกเสียง ขณะที่โซมาเลียโหวตเห็นด้วยให้มีการอภิปราย เว็บไซต์สวิซอินโฟรายงานว่าผลคะแนนครั้งนี้ถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากการล็อบบี้หลังเวทีอย่างหนักโดยรัฐบาลจีน ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เสมอปลายของประเทศแอฟริกาและประเทศมุสลิม ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้องค์กรความร่วมมืออิสลามได้ออกมาต่อต้านนโยบายเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาของรัฐบาลทหารพม่าอย่างรวดเร็ว ขณะที่สาธารณรัฐแกมเบียเองเป็นผู้ฟ้องร้องประเทศพม่าที่ศาลโลกใน พ.ศ. 2562จากกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาใน พ.ศ. 2559-2560 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net