Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยหนุ่มสวนยางศรีสะเกษ รับสารภาพ-ศาลรอกำหนดโทษ 2 ปี คดี ม.112 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา หลังถูก อส.เพื่อนบ้านฟ้อง ม.112 พ.ร.บ.คอมฯ แชร์ภาพล้อเลียน ร.10 เหตุเกิดปี 2564 ศาลตัดสินว่าจำเลยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อมีผู้ตักเตือนก็รีบลบ ฝ่ายปกครองและผู้นำท้องถิ่นยังรับรองความประพฤติ การให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีน่าจะเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวและสังคมโดยรวมมากกว่าลงโทษจำคุก และจำเลยยังน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ศาลจึงให้กำหนดโทษ 2 ปี รายงานตัว 4 ครั้ง บำเพ็ญประโยชน์ 12 ชั่วโมง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ‘โอม’ ชลสิทธิ์ (สงวนนามสกุล) พร้อมครอบครัวและเพื่อน เดินทางไปที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ ใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อฟังคำพิพากษา คดีที่เขาถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ด้วยการโพสต์ภาพวาดล้อเลียน ร.10 ลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก หลังถูกฟ้องไปเมื่อเดือน ม.ค. 2565 และในนัดสอบให้การเมื่อปลายเดือน พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โอมตัดสินใจให้การรับสารภาพ

ที่ห้องพิจารณาคดี มงคล พิมพ์ทรัพย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น อ่านคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด 

พิเคราะห์รายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เมื่อมีผู้ตักเตือนว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม ก็รีบลบภาพดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังเป็นบุคคลที่มีจิตสำนึกอยู่บ้าง ไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองหรือหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใด อีกทั้งก่อนและหลังทำความผิดก็ไม่พบว่ามีพฤติการณ์การแสดงออกที่ไม่เหมาะสมในลักษณะเดียวกันแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน นิสัยและความประพฤติส่วนใหญ่ไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง น่าจะยังอยู่ในวิสัยที่แก้ไขฟื้นฟูได้ และจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพโดยสุจริตเป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรี่ยวแรงของครอบครัว โดยพักอาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคน 

ประกอบกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักดองและกำนันตำบลบักดอง ซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและผู้นำท้องถิ่นเขตที่จำเลยพักอาศัยอยู่ ได้รับรองความประพฤติจำเลยไว้ด้วย การให้โอกาสจำเลยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อกลับตัวเป็นพลเมืองดีน่าจะเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวและสังคมโดยรวมมากกว่าลงโทษจำคุกจำเลย อีกทั้งให้จำเลยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย จึงเห็นสมควรให้รอกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้คุมความประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง 

คำพิพากษายังระบุให้ริบของกลาง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือพร้อมกับซิมการ์ดเครื่องที่โอมใช้ในการแชร์ภาพล้อเลียนด้วย

หลังฟังคำพิพากษาแม่ของโอมที่เดินทางมาศาลด้วยเป็นครั้งแรกสะท้อนความรู้สึกว่าโล่งใจมาก เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยต้องขึ้นศาลมาก่อน และการที่โอมต้องเจอกับคดี 112 ก็ทำให้เธอเป็นห่วงเป็นใยต่อชะตากรรมของโอมมาก กังวลเสมอว่าลูกจะติดคุกกี่ปี และถ้าไปอยู่ข้างในเรือนจำจะใช้ชีวิตอย่างไร

ขณะที่ ‘ตู้’ วรพงศ์ รุ่งคำ พี่ที่โอมสนิท และเป็นคนบอกให้โอมลบภาพที่เป็นต้นเหตุคดีนี้ออกหลังโอมโพสต์ไปไม่กี่นาที บอกว่าจะช่วยคอยดูแลโอมอีกทาง ในการไปพบพนักงานคุมประพฤติช่วง 1 ปีนี้ และการรอกำหนดโทษอีก 2 ปี

สำหรับโอมเคยกล่าวถึงคดีที่ต้องเผชิญว่า เขาตั้งใจที่จะมาตามที่ศาลนัดและปฏิบัติตามสิ่งที่พนักงานคุมประพฤติขอความร่วมมืออยู่ตลอด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีเจตนาจะบ่ายเบี่ยงต่อสิ่งที่เกิดหรือคิดหลบหนี ในวันที่เขาโพสต์นั้น หลังจากตู้บอกให้ลบภาพดังกล่าวออกไป เขาก็ตัดสินใจลบทันที เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่น ร.10 แต่อย่างใด อีกทั้งภาพวาดดังกล่าวเขาเองก็ไม่ได้เป็นคนทำขึ้นมา จึงหวังอยู่เสมอว่าจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

ปัจจุบันโอมอาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคน เนื่องจากพ่อและแม่แยกทางกันตั้งแต่โอมยังเด็ก หลังจบ ปวส. สาขาอิเลคทรอนิกส์อุตสาหกรรมที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในตัวอำเภอขุนหาญ โอมได้เข้าไปเผชิญชีวิตที่กรุงเทพฯ โดยรับจ้างเป็นลูกมือคนขับรถบรรทุกได้ราวปีกว่าๆ ก่อนตัดสินใจกลับมาที่บ้านเพื่อมาอยู่กับแม่ที่มีโรคประจำตัว ทั้งโอมและแม่ทำอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา ซึ่งรายได้ไม่แน่นอนขึ้นกับสภาพอากาศ หากวันไหนฝนตกหนักก็จะออกไปกรีดยางไม่ได้ ต้องขาดรายได้ไป เฉลี่ยแล้วโอมมีรายได้ต่อเดือนราว 6,000 บาท และหากว่างจากงานในสวนยาง โอมจะทำงานรับจ้างทั่วไปตามแต่มีผู้ว่าจ้าง เช่น ไปเป็นลูกมือติดตั้งเครื่องเสียงเวลามีงานดนตรีในตัวอำเภอ โอมกล่าวว่า โดยมากหลังได้รับเงินค่าจ้าง เขาจะนำมาให้แม่เก็บไว้

คดี 112 ของโอมคดีนี้นับเป็นคดีแรกที่เกิดขึ้นในจังหวัดศรีสะเกษ เหตุย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ขณะเตรียมตัวไปร่วมคาร์ม็อบขุนหาญ มีตำรวจไปพบโอมที่บ้าน ก่อนคุมตัวไปสอบสวนเรื่องแชร์สตอรี่ภาพวาดล้อเลียน ร.10 ที่ สภ.ขุนหาญ โดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมในการสอบปากคำ วันต่อมา ตำรวจเรียกตู้ไปที่ สภ.ขุนหาญ ด้วย อ้างว่าให้ไปให้การในฐานะพยาน ครั้งนั้นตู้ก็บอกความจริงกับตำรวจไปว่า เป็นคนบอกให้โอมลบภาพดังกล่าวออกไป และโอมก็ได้ลบภาพนั้นทันทีจริง โดยขณะที่โอมแชร์ภาพดังกล่าว มีเพียงตนและชายที่ชื่อ อภิสิทธิ์ ไทรทอง  สมาชิกอาสารักษาดินแดนที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันได้ดูสตอรี่ดังกล่าว โดยไม่คาดคิดว่า อส.นายนั้นจะนำเรื่องไปแจ้งความ เพราะคิดว่าหากรูปดังกล่าวมีปัญหาจริง น่าจะเพียงตักเตือนกันก่อนได้   

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net