Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ 12 องค์กร ยื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรม ให้ทบทวนแนวทางการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหานในคดีอาญา โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมายของบุคคล และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ หลังศาลอุทธรณ์กลางเพิกถอนคำวินิจฉัย คกก.พิจารณาค่าตอบแทนค่าเสียหายคดีอาญา ยกคำขอค่าเสียหายคดีอาญาของแรงงานข้ามชาติหญิง เหยื่อถูกข่มขืน ศาลฯ ชี้ว่าการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นต้นเหตุให้ผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเรา

29 ก.ค. 2565 เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงาน 12 องค์กร นำโดยโครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการและความคุ้มครองของแรงงานหญิงข้ามชาติ เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรม ขอให้มีการทบทวนแนวทางการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหานในคดีอาญา ให้ผู้เสียหายทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิในการเยียวยาได้โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมายของบุคคล หลังจากที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาและมีคำสั่งให้กำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายอีกครั้ง โดยผู้เสียหายเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย

เกิดโชค เกษมวงษ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นตัวแทนรับหนังสือ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางที่ภาคประชาสังคมเสนอ และจะจัดประชุมคณะกรรมการอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาจ่ายเงินให้แก่ผู้เสียหายโดยเร็วที่สุด รวมทั้งจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ในวันที่ 17 ส.ค. เพื่อร่วมกันหาแนวทางการพิจารณาจ่ายค่าเสียหายที่เหมาะสมต่อไป

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2565 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) รายงานว่า ศาลอุทธรณ์กลางเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนค่าเสียหายในคดีอาญา โดยศาลชี้ว่าความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ไม่ได้เป็นต้นเหตุให้ผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเรา

ตามที่แรงงานข้ามชาติหญิงคนหนึ่งได้ถูกคนร้ายข่มขืนกระทำชำเรา หลังจากทีแรงงานได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว ได้ยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา เนื่องจากเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ตาม พรบ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 โดยได้ยื่นต่อกระทรวงยุติธรรม แต่คณะอนุกรรมการของกระทรวงยุติธรรม กลับมีคำสั่งยกคำขอ ไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายให้ โดยอ้างว่า “เป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าว ผู้เสียหาย จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนค่าเสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา แต่คณะกรรมการฯ ยังคงยืนตามวินิจฉัยเดิมของคณะอนุกรรมการฯ เป็นคำวินิจฉัยที่ 213/2564 ลงวันที่ 13 กันยายน 2564

แรงงานข้ามชาติหญิงดังกล่าว โดยความช่วยเหลือของ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายโครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการและความคุ้มครองของแรงงานหญิงข้ามชาติ (Services & Access) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Safe and Fair ภายใต้ความร่วมมือของ UN Women และ ILO จึงได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์กลางให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ศาลอุทธรณ์กลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 มาตรา 3 บัญญัติให้ผู้เสียหาย หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนเองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น แต่การเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมายไม่ได้เป็นต้นเหตุให้ถูกข่มขืนกระทำชำเราอันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น ศาลจึงไม่เป็นพ้องกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ และมีคำสั่งให้คณะกรรมการฯพิจารณาวินิจฉัยกำหนดค่าตอบแทนผู้เสียหายแก่ผู้เสียหาย

ปสุตา ชื้นขจร ผู้ประสานงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ประจำจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า ที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติมักถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของไทย มีหลายกรณีที่แรงงานที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ถูกปฏิเสธจากกระทรวงยุติธรรมไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายให้ โดยอ้างว่าเป็นผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทั้งๆที่สถานการเข้าเมืองของแรงงานไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการกระทำผิดที่ทำให้แรงงานตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเลย ดังนั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ จึงเป็นการยันว่า รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองบุคคลทุกคนบนผืนแผ่นดินนี้ จากอาชญากรรม แม้จะเป็น แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมร้ายแรง รัฐจะต้องชดใช้เยียวยา อย่างน้อยโดยการจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เสียหาย อันเป็นการเยียวยาเบื้องต้น ให้แก่บุคคลดังกล่าว คำพิพากษานี้จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่เน้นย้ำเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 บน “หลักการไม่เลือกปฏิบัติ” ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560  และข้อ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นรัฐภาคี ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน

ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ กระทรวงยุติธรรมยกเลิกการยึดถือแนวปฏิบัติที่อ้างสถานะการเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมในประเทศนี้ ไม่ให้เข้าถึงการชดเชยเยียวยาจากรัฐ และตอกย้ำนโยบายของรัฐที่ได้เตรียมการจัดประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) ซึ่งกรอบแนวคิดหนึ่งในการประชุมครั้งนี้คือ การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Business and Human Rights) โดยกรอบแห่งแนวคิดนี้ได้กำหนดประเด็นการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เป็นแรงงานรวมทั้งผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่เข้ามาส่งเสริมขับเคลื่อนการเติบโตความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและระดับภูมิภาค

 

หลังยื่นหนังสือตัวแทนภาคประชาสังคมจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อไป

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net