Skip to main content
sharethis

ผู้นำทั่วโลกร่วมอาลัยอดีตนายกญี่ปุ่น 'ชินโซ อาเบะ' - รอง ผบ.ตร. เผยเตรียมส่งหนังสือเพิ่มมาตรการดูแลผู้นำและบุคคลสำคัญจากต่างประเทศที่มาเยือนและที่พำนักในไทย 

9 ก.ค. 2565 VOA รายงานว่าเหตุการณ์ลอบสังหาร ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่่ปุ่น ในประเทศที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง สร้างความตกตะลึงให้กับบรรดาผู้นำทั่วโลก ซึ่งล้วนแสดงความอาลัยต่อการสูญเสียบุคคลสำคัญครั้งนี้ พร้อมไปกับประณามการลอบสังหารด้วยอาวุธปืนดังกล่าว

ชินโซ อาเบะ วัย 67 ปี ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตขณะกำลังกล่าวปราศรัยที่เมืองนาระทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น เขาคือนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดก่อนที่จะประกาศลงจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวประณามเหตุการณ์นี้ว่า "เป็นการกระทำที่ไม่อาจให้อภัย" พร้อมยืนยันว่าการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาญี่ปุ่นในวันอาทิตย์นี้จะเดินหน้าต่อไป

นายกฯ คิชิดะ กล่าวว่า "ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการปกป้องการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตย เราจะไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความรุนแรง"

ทางด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กล่าวว่า ตนตกตะลึง โกรธแค้น และเศร้าเสียใจอย่างยิ่งหลังจากรับทราบข่าวนี้ และได้แสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของอาเบะ และว่า "นี่ถือเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับญี่ปุ่นและทุกคนที่รู้จักอาเบะ"

ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า "วิสัยทัศน์ของอาเบะว่าด้วยนโยบายอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างจะดำเนินต่อไป" และไม่เชื่อว่าการลอบสังหารครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเอกภาพของญี่ปุ่น

โดยในวันศุกร์ ประธานาธิบดีไบเดนเดินทางไปที่สถานทูตญี่ปุ่น ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อลงนามในสมุดไว้อาลัยด้วย

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบ็ธที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงมีแถลงการณ์ว่า พระองค์ยังทรงจดจำช่วงเวลาที่นายกฯ อาเบะ และภริยา เข้าเฝ้าฯ พระองค์ ระหว่างการเยือนอังกฤษเมื่อปีค.ศ. 2016 และตรัสว่า "ความรักที่อาเบะมีต่อประเทศญี่ปุ่น และความปรารถนาของเขาในการกระชับความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรนั้น ชัดเจนอย่างยิ่ง"

บรรดาผู้นำอังกฤษ ตุรกี สิงคโปร์ ฝรั่งเศส และสเปน ต่างกล่าวประณามการลอบสังหารนายอาเบะ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านระบุว่าเป็น "การกระทำของผู้ก่อการร้าย" ส่วนสำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้บอกว่าเป็น "การก่ออาชญากรรมที่ไม่สามารถรับได้"

ทางด้านประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ทวีตข้อความแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวของนายอาเบะและประชนชาวญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น กล่าวว่า อาเบะคือผู้นำคนแรก ๆ ที่เธอได้พบหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และเป็นผู้นำที่ทำงานอย่างตั้งใจ ใจกว้างและมีเมตตา ขณะที่นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แอนโธนี อัลบานีส บอกว่า อาเบะคือบุคคลสำคัญบนเวทีโลก

นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนธรา โมดี ประกาศให้วันเสาร์นี้เป็นวันไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของนายอาเบะ ในฐานะที่อาเบะคือผู้ที่เสียสละเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับญี่ปุ่นให้เป็นพันธมิตรพิเศษเชิงยุทธศาสตร์ เช่นเดียวกับรัฐบาลไต้หวันที่ยกย่องอาเบะว่าเป็นผู้สานสัมพันธ์ไต้หวันกับญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนโควิดให้แก่ไต้หวันด้วย

ด้านอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุในสื่อสังคมออนไลน์ของตนว่า "เป็นข่าวร้ายของโลกอย่างแท้จริง!" พร้อมแสดงความหวังว่า ฆาตกรต้องเผชิญกับการลงโทษที่รุนแรงในทันที

สำหรับปฏิกิริยาในประเทศจีนซึ่งถือเป็นประเทศคู่ปรับสำคัญของญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่น เมื่อมีชาวจีนจำนวนมากที่ออกมาแสดงความเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะเยาะเย้ย ล้อเลียน หรือแม้แต่ยินดีต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ถึงแม้ความเห็นในโลกออนไลน์ดังกล่าวจะมิได้สะท้อนทัศนคติของชาวจีนส่วนใหญ่ที่มีต่ออดีตผู้นำญี่ปุ่นผู้นี้ แต่ก็อาจแสดงให้เห็นถึงนโยบายโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนที่พยายามต่อต้านนักการเมืองแนวคิดอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่นซึ่งปฏิเสธว่ากองทัพญี่ปุ่นได้กระทำโหดร้ายป่าเถื่อนต่อชาวจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของนายอาเบะ พร้อมชี้ว่าการลอบสังหารครั้งนี้ไม่ควรถูกโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศแต่อย่างใด

'ประยุทธ์' แสดงความเสียใจต่อการจากไปของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมชื่นชมเป็นผู้มีบทบาทผลักดันสำคัญต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่านายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบด้วยความเสียใจอย่างยิ่งต่อการจากไปของนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และเป็นที่รักของทุกคน โดยเฉพาะประชาชนชาวญี่ปุ่น 

ในช่วงแปดปีของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีอาเบะ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และมิตรภาพระหว่างญี่ปุ่น และราชอาณาจักรไทย การเยือนไทยในปี 2556 ของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ถือเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นในรอบ 11 ปี ซึ่งได้กระชับความร่วมมือ และได้มีส่วนในการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคี ที่ยาวนาน เติบโตของทั้งสองประเทศ ตลอดจน เป็นผู้ผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-อาเซียน ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรี ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ขอแสดงความความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว รัฐบาลญี่ปุ่น และประชาชนชาวญี่ปุ่นสำหรับความสูญเสียในครั้งนี้

รอง ผบ.ตร. เผยเตรียมส่งหนังสือเพิ่มมาตรการดูแลผู้นำ-แขก VIP บุคคลสำคัญต่างประเทศที่มาเยือนและที่พำนักในไทย

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างการปฏิบัติภารกิจนอกทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเกิดเหตุลอบยิงนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่าขณะนี้ต้องเพิ่มความเข้มในเรื่องต่าง ๆ โดยต้องดูรายละเอียดของพื้นที่

“ต้องกำชับเกี่ยวกับชาวต่างชาติที่เป็นระดับผู้ใหญ่ในประเทศไทย แม้กระทั่งผู้นำของประเทศก็ต้องดูให้ดีขึ้น รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เราต้องถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวมาปรับ เพื่อให้ผู้นำต่างประเทศที่เดินทางมาไทยมั่นใจ โดยจะเตรียมแผนต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพื่อรองรับและนำเหตุการณ์ต่าง ๆ มาศึกษา” รองผบ.ตร. กล่าว

เมื่อถามว่าจะเริ่มดำเนินการทันทีเลยหรือไม่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่าจะมีหนังสือเป็นทางการให้มีความเข้มข้นมากขึ้น

เมื่อถามย้ำว่าจะปรับแผนการดูแลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะมาพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 10 ก.ค. 2565 นี้หรือไม่ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่ามีแผนอยู่แล้ว แต่อาจเพิ่มความเข้มขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางมาในฐานะแขกของรัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศอยู่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่น จะเพิ่มการดูแลเป็นพิเศษมากขึ้น เพื่อความมั่นใจของแขก VIP ทุกประเทศที่เดินทางมาเมืองไทยด้วย

เมื่อถามย้ำว่า ทางการข่าวพบความเคลื่อนไหวผิดปกติของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยหรือไม่ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ยังไม่มี ตอนนี้เตรียมการรับการประชุมเอเปคในเดือน พ.ย. 2565 ที่จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งจะเดินทางมาเมืองไทยในหลายพื้นที่ทุกจุด ดังนั้น จะเน้นการดูแลเข้มทุกจุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจและสบายใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net