Skip to main content
sharethis

สุเทพ ก้าวไกล ชวนแรงงานและประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับก้าวไกล ที่สภากำลังเปิดรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 เผย เนื้อหามีความก้าวหน้าที่สุดเท่าที่เคยมีมา สนับสนุนสิทธิการรวมตัวและการตั้งสหภาพ เพื่อช่วยเหลือ เจรจา และคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน เชื่อ เพื่อน ส.ส. เข้าใจ เพราะการรวมตัวกันจัดตั้งองค์กร คือรากฐานของประชาธิปไตยที่มีหลักการไม่แตกต่างจากการจัดตั้งพรรคการเมือง

1 พ.ค.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า เนื่องในวันแรงงานสากล สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่ตนและคณะ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นจากประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นเพื่อร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร

สุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ฉบับใหม่นี้ มีเนื้อหาล้อไปกับ อนุสัญญา ILO 87- 98 ที่ขบวนการแรงงานเรียกร้องมานาน ILO 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน ส่วน ILO 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรอง ซึ่งในปัจจุบันไม่มีกฎหมายใดมารองรับการรวมตัวกันของแรงงาน

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดนิยามให้ครอบคลุม เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันที่เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ ไม่ว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ ไรเดอร์ แรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบที่รวมไปถึงเจ้าหน้ารัฐ เช่น ครู อาจารย์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติ ก็ให้สามารถรวมตัวในรูปแบบสหภาพได้ข้ามสถานที่ทำงานได้”

สุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายเดิมจำกัดสิทธิโดยแบ่งแยกเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และข้ามชาติ มีเพียงแรงงานในระบบที่ให้รวมตัวกันได้แต่พบว่ามีการรวมตัวเป็นสหภาพเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น หลักการตามร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับนี้ จะเปิดเพื่อทำให้เกิดการรวมตัวมากขึ้น

“ที่ผ่านมา ปัญหาที่ทำให้การรวมตัวของแรงงานทำไม่ได้หรือทำได้ยาก เพราะกฎหมายเดิมมีการกำหนดเงื่อนไขรวมตัว หากใครจะตั้งสหภาพ ตามกฎหมายเรียกว่าผู้ก่อการ จะต้องถูกสอบประวัติเพื่อเช็คว่าเป็นลูกจ้างบริษัทใด ทำให้นายจ้างได้รับรู้ว่าลูกจ้างตนจะไปก่อตั้งสหภาพจึงหาเหตุเพื่อเลิกจ้าง หรือถ้ายังมีชื่อในที่ทำงานก็ไม่ให้ทำงาน และมีหลายครั้งที่นายจ้างใช้วิธีขออำนาจศาลเพื่อเลิกจ้าง ตัวผมเองมีประสบการณ์ทำงานในสหภาพมา รู้ดีว่า กระบวนการต่อสู้ในศาลต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิทำงานต่อ จะใช้เวลานานมากจึงไม่ใช่กลไกที่เอื้อต่อการเรียกร้องความยุติธรรมลูกจ้างเลย”

สุเทพ ยังชี้ให้เห็นปัญหาชัดขึ้นว่า นอกจากปัญหาสำคัญของกฎหมายเดิม คือการกำหนดเงื่อนไขและการไม่คุ้มครองผู้ก่อการแล้ว การรณรงค์เพื่อขยายสมาชิกก็ทำยาก แม้กฎหมายบอกว่าห้ามนายจ้างแทรกแซง แต่ในความเป็นจริงลูกจ้างจะถูกกล่าวหาว่าไปหาสมาชิกช่วงทำงานบ้าง ละทิ้งหน้าที่บ้าง และส่วนใหญ่จะถูกเลิกจ้างไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่พัฒนาแล้วมองเรื่องนี้ต่างออกไป เขามองว่าการรวมตัวกันหรือการมีสหภาพแรงงานส่งผลดีว่า ไม่ว่าเรื่องการสื่อสารต่างๆ หรือการเป็นตัวกลางในการพูดคุยเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับสมาชิกทำให้สามารถสร้างผลกำไรที่มากขึ้นได้พร้อมกับความเป็นธรรมในการทำงาน แต่ประเทศไทย กระทรวงแรงงานล้มเหลวเรื่องแรงงานสัมพันธ์ในตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เวลามีข้อพิพาทหรือนัดหยุดงานก็จะโดนข่าวโจมตีว่าสร้างความเดือดร้อนบ้าง ไปปิดถนนบ้าง บอกว่าไปเผาทำลายทรัพย์สินก็มี ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมีรัฐที่ล้มเหลวในการระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี

“ประเทศพัฒนามักมีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เขาจะสนับสนุนการรวมตัวที่แข็งแรง อย่างญี่ปุ่น ชัดเจนมาก ถ้าใครมาสมัครงานต้องเป็นสมาชิกสหภาพด้วย ซึ่งนายจ้างสนับสนุน เพราะเห็นความสำคัญ เยอรมันก็เช่นเดียวกันมีความเข้มแข็งและมีรัฐสนับสนุนการตั้งสหภาพ อีกประเทศคือ สวีเดน มีผู้แทนราษฎรที่มาจากแรงงานเลย จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับตัวแทนประเทศเหล่านี้ เขาบอกว่าแต่ละประเทศมีจุดเริ่มเหมือนกัน จุดเปลี่ยนที่ทำให้ขบวนการแรงงานแข็งแรงมาจากการโดนกดทับแล้วรวมพลังกันต่อสู้ ญี่ปุ่นยิ่งชัดเจนมาก หลังแพ้สงครามโลกเขาใช้ขบวนการแรงงานมาช่วยอย่างมากในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศที่พัฒนาแล้วจะเห็นประโยชน์และความสำคัญของการส่งเสริมการรวมตัว”

อย่างไรก็ตาม  สุเทพ ตั้งข้อสังเกตว่า ภาครัฐและกลุ่มทุนในประเทศไทยจะมีการแบ่งแยกชัดเจนเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ได้มองว่าเป็นหุ้นส่วนที่สนับสนุนกันและกัน หรือแม้ว่ามีการลงทุนอย่างมากจากทุนข้ามชาติในประเทศไทยก็ตาม แต่พอมาอยู่ในประเทศไทยมักพบว่า ในการบริหารงานบุคคลจะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนสหภาพและฝ่ายที่ต้องการโค่นล้ม จะมีการโน้มน้าวว่าสหภาพทำให้กำไรลดลง มีการจัดตั้งฝ่ายกฎหมายมีทนายหรือองค์กรสมาคมวิชาชีพเข้ามาจัดการเพื่อทำลายความเข้มแข็งของสหภาพ

“ขบวนการแรงงานอยากเห็นกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มานาน จึงช่วยกันยกร่างกฎหมายและรวมรายชื่อผ่านสมานฉันท์แรงงานไทยได้กว่า 10,000 ชื่อ ใช้เวลากว่า5 ปี หว่างนั้นก็มีอุปรรคเนื่องจากมีการยึดอำนาจโดย คสช. ทำให้การลงรายมือชื่อไม่สามารถทำได้ ต่อมา เมื่อมีพรรคอนาคตใหม่จึงได้ส่งร่างนี้เข้ามา ทางเราได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาต่อ มีตัวแทนทั้ง ส.ส. เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ นักวิชาการ ทนายความสิทธิมนุษยชน มีหลายฝ่ายมาร่วมกันทำเพื่อให้เกิดความรอบด้านและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมการทำงานสืบเนื่องมาจนเป็นพรรคก้าวไกล ช่วยกันพิจารณาจนตกผลึก ต้นปี 65 จึงได้นำร่างเข้าสู่ที่ประชุมพรรคก้าวไกลและผ่านความเห็นชอบจากสมาชิก จึงได้นำเสนอต่อสภาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา”

สุเทพ กล่าวว่า ร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับนี้ ถือว่าเป็นฉบับที่ก้าวหน้าที่ประเทศไทยเคยมีมา สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การแรงงานสากลและเทียบเท่าได้กับกฎหมายของประเทศที่ส่งเสริมการรวมตัวของแรงงานเข้มแข็งอย่างสวีเดน มีข้อกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงานอย่างละเอียด ทั้งในคดีทางแพ่งและอาญา ส่งเสริมกิจกรรมห้แรงงานไม่ถูกกลั่นแกล้งได้

“หลังจากนี้ก็คงต้องขึ้นกับเสียงของ ส.ส.ในสภา เพราะการผ่านกฎหมายทำพรรคเดียวไม่ได้ ร่างนี้เริ่มจากพรรคก้าวไกลก็จริง แต่ก็ได้นำเข้าไปพิจารณาต่อใน กมธ.แรงงาน ซึ่งมีตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองรับรู้ ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆมีความเข้าใจ เพราะต้นกำเนิดของพรรคการเมืองไม่ต่างจากการรวมตัวเป็นสหภาพ เป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการส่งเสริมไว้ในรัฐธรรมนูญและการรวมตัวเพื่อผลักดันวาระต่างๆก็เป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างรากฐานของประชาธิไตย

“สำหรับพี่น้องแรงงานและประชาชน ผมอยากขอเชิญชวนให้เข้าไปช่วยกันแสดงความเห็นในเว็บไซต์ของรัฐสภา https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=220
ความตื่นตัวของพี่น้องประชาชนมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่จะทำให้พรรคการเมืองและรัฐบาลให้ความสนใจและสนับสนุนให้ร่างนี้ผ่านได้ต้องอาศัยเสียงของประชาชน การมีความเห็นจำนวนมากสะท้อนเข้ามา จะเป็นสิ่งยืนยันว่าประชาชนให้ความสนใจ จะทำให้พรรคการเมืองและรัฐบาลไม่สามารถเพิกเฉยต่อเจตจำนงค์เหล่านี้ได้” สุเทพ กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net