Skip to main content
sharethis

2 ส.ส.ก้าวไกล 'ศิริกัญญา' ทวงมาตรการเยียวยาหลังโควิด-19 ระบาดระลอก 3 มาแล้วร่วมเดือน กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเดิมๆ เดือดร้อนจากการถูกสั่งปิดซ้ำๆ ไร้เยียวยาแต่ได้แค่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จะกระตุ้นเศรษฐกิจต้องยืมเงินเศรษฐีลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนสายแรงงาน ‘สุเทพ’ เสนอเยียวยาถ้วนหน้าไร้เงื่อนไขคนละ 3,000 บาท/เดือน อย่างน้อย 3 เดือน

27 เม.ย.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานข้อวิจารณ์และข้อเรียกร้องของ 2 ส.ส.พรรคก้าวไกล ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบายและสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ต่อประเด็นมาตรการเยียวยาประชาชนหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ซ้ำเป็นรอบที่ 3 แต่ยังคงไม่มีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนออกมาจากทางรัฐบาล

ศิริกัญญา ตันสกุล แฟ้มภาพ

ศิริกัญญา ระบุว่า หลังจากการกลับมาระบาดของโควิดในรอบที่ 3 มาเกือบ 1 เดือนแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังไม่ยอมออกคำสั่งให้มีการล็อกดาวน์ แต่ใช้วิธีให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่งไปประกาศมาตรการต่าง ๆ กันเอง ในขณะที่รัฐบาลโดย ศบค.กลับเลี่ยงบาลีเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาก็เท่านั้น ล่าสุด สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังออกมาให้สัมภาษณ์ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาใดๆ แต่ยังหวังว่าจะให้ประชาชนออกมาใช้เงินเก็บเพื่อกระตุ้น GDP ให้ถึง 4%

ทั้งนี้ศิริกัญญา ระบุว่าหลังเกิดการระบาดระลอก 3 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารยังประมาณการจีดีพีของประเทศไว้แค่ 1.8% - 2.2% เท่านั้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่สุพัฒนพงษ์ได้เสนอว่าแค่นำเงินฝากจำนวน 5-6 แสนล้านเศรษฐกิจก็จะกลับมาโตเพิ่ม 3% เพราะข้อมูลจากบัญชีประชาชาติที่สภาพัฒน์ฯ ได้รวบรวมเอาไว้ พบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการออมของครัวเรือนนั้นอยู่ที่ราว 40% และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่การออมส่วนใหญ่หรือราว 60% นั้นเป็นของบริษัทเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีเอกชนลงทุนต่ำ รัฐบาลต้องกระตุ้นให้บริษัทนำเงินมาลงทุนถึงจะเป็นการแก้ปัญหาเงินออมล้นธนาคารที่ถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาแทบไม่เห็นมาตรการกระตุ้นการลงทุนเอกชนในประเทศ

ศิริกัญญาอธิบายต่อว่า ส่วนเงินฝากในบัญชีธนาคารพาณิชย์ก็กระจุกตัวมาก เงินฝากที่เพิ่มขึ้นหลายแสนล้านเพิ่มขึ้นจากบัญชีที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านขึ้นไป เธอขอเรียกว่า “เศรษฐีเงินล้าน” เศรษฐีเงินล้านนี้มีอยู่เพียง 2% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่กินสัดส่วนเงินฝากไปแล้วเกือบ 80% ของยอดเงินฝากทั้งหมด จึงมีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นจะเอาเงินฝากมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไม่ใช่ประชาชนทั้งประเทศที่มีเงินออมจำนวนมากแต่อย่างใด

แผนปริมาณสัดส่วนเงินฝากในธนาคาร จากเพจ Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญาเสนอให้รัฐบาลไม่ยืมเงินเศรษฐีพวกนี้มาลงทุนแทน ให้รัฐเป็นผู้ใช้เงินแทนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยการออกพันธบัตร โดยให้ดอกเบี้ยไม่ต้องแพงมากก็จูงใจกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารแล้ว แต่ลืมไปว่ารอบที่แล้วกู้มา 1 ล้านล้าน ยังใช้ไม่หมดเลย

"ที่น่าเสียใจคือ โควิดระบาดระลอกใหม่นี้มาร่วมเดือน ยังไม่ได้ยินคำว่าเยียวยาหลุดออกจากปากรองนายกด้านเศรษฐกิจ พูดถึงแต่ “คนละครึ่ง เฟส 3” ที่เหมือนว่ากว่าจะเริ่มก็ตั้งเดือนมิถุนายน”

"ยังไม่ได้คิดบัญชีรวมกับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากประกาศคำสั่งของรัฐบาล เจ้าประจำที่ถูกปิดทุกระลอก อย่างร้านนวด ร้านอาหาร ร้านสัก ฟิตเนส ผับ บาร์ (ที่ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข) พวกเขาไม่เคยได้รับการชดเชยโดยตรงใดๆ นอกเสียจากออกมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) กลายเป็นว่าผู้ประกอบการต้องมาเป็นหนี้จากความผิดที่พวกเขาไม่ได้ก่อ ลองถามตัวเองดูว่า ตั้งแต่โควิดระบาดมาเป็นเวลา 1 ปีนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการปิดร้านรวงต่าง ๆ มาแล้วถึง 3 ครั้ง ท่านได้เคยช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยโดยที่ไม่ต้องให้พวกเขาเป็นหนี้เพิ่มบ้างแล้วหรือยัง"

สุเทพ อู่อ้น

ส่วนทางด้าน สุเทพ อู่อ้น ในฐานะประธาน กมธ.แรงงานก็แสดงความเห็นหลังจากกระทรวงแรงงานได้เปิดหน่วยบริการตรวจโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตน ม.33, ม.39, ม. 40 “ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง” เสนอว่าต้องการให้โรงพยาบาลเเละสำนักงานประกันสังคมในระบบของผู้ประกันตนเปิดให้บริการตรวจเชื้อโควิดตามสิทธิของผู้ประกันตน

นอกจากนั้น สุเทพยังเสนอให้รัฐตั้งหน่วยงานเพื่อตรวจเชื้อไวรัสในกลุ่มสถานประกอบการเพื่อเป็นการป้องกันการเเพร่ระบาดเเละกระจายเป็นวงกว้าง เพราะการตั้งหน่วยในการตรวจเชื้อไวรัสไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินเเดง หรือการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่างๆ ตามปริมณฑล อาทิ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ในเวลานี้ล้วนมีความสำคัญ เทียบเท่ากับกรณีที่มีเคยมีการจัดตั้งหน่วยตรวจหาเชื้อเฉพาะกิจในคลัสเตอร์ที่ จ.สมุทรสาคร ในพื้นที่อุตสาหกรรมเเละลงพื้นที่สำรวจผู้ติดเชื้อในกลุ่มสถานประกอบการ ซึ่งต่อมาทำให้หลายสถานประกอบการสามารถพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการของตนจึงไม่เคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ เป็นการใช้มาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาและถือเป็นนโยบายของปีกเเรงงานพรรคก้าวไกลด้วย

ประธาน กมธ.แรงงาน ยังเรียกร้องว่า รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชดเชยเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ประกันตนหรือประชาชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะครั้งนี้เดือดร้อนหนักกว่าเดิมเนื่องจากมีผลกระทบสืบเนื่องมาตั้งแต่การระบาดครั้งเเรกที่การชดเชยเยียวมีคนตกหล่นจำนวนมาก ส่วนครั้งที่ 2 รัฐมีการออกมาตรการชดเชยเเต่ไม่ได้ให้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและชดเชยในรูปแบบต่างกัน แต่สำหรับครั้งนี้การระบาดกระจายวงกว้างมากจึงไม่ควรมีการเเบ่งเเยก พี่น้องประชาชนทุกคนควรได้รับการเยียวยาอย่างถ้วนหน้าเเละเท่าเทียมในส่วนของเงินดำรงชีพ 3,000 บาทต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือน

“นี่เป็นข้อเสนอของปีกเเรงงานพรรคก้าวไกล ที่เคยเสนอไว้ในการระบาดระลอกเเรก โดยมากจากการคำนวณค่าเฉลี่ยความยากจนต่อเดือนที่อยู่ที่ 2,800 บาท หรือต่อวันละ 100 บาท ผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้านหรือผู้ใช้เเรงงานในระบบควรได้รับสิทธินี้อย่างถ้วนหน้าเเละเท่าเทียมและรัฐจะต้องชดเชยอย่างเร่งด่วน เพราะการที่สถานประกอบการเอกชนต้องปฏิบัติงานที่บ้านตามมาตรการของรัฐบาล หรือ work form home ทำให้มีการปรับเเละลดระดับเงินเดือนจึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อยากให้รัฐควรปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าราชการที่ให้ปฏิบัติงานที่บ้านตามมาตรการของรัฐบาล หรือ work form home ได้โดยยังได้รับเงินเท่าเดิมเดือนเต็มจำนวน กรณีส่งผลให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เพราะคนทำงานในภาคเอกชน 10 กว่าล้านคนได้รับผลกระทบแน่นอน”

ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมาธิการการเเรงงาน กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอฝากให้ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน ออกมาตรการเชิงรุกในช่วยเหลือเเละอำนวยความสะดวก มีการตั้งคณะทำงานในการตรวจเชื้อไวรัสในพื้นที่สถานประกอบการอย่างเร่งด่วนดังที่เสนอไปแล้ว เเละขอให้ช่วยผลักดันเรื่องของงบประมาณเยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท โดยไม่ควรจะมีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น เพราะโรคระบาดไม่มีเงื่อนไขในการแพร่กระจายเชื้อ จึงต้องเร่งดำเนินการเเละผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอย่างเร่งด่วน

“โรคระบาดไม่ได้เลือกว่าคนจน คนรวย มันติดถ้วนหน้า ขณะที่การรักษาพยาบาลของคนมีเงินสามาถรักษาโรงพยาบาลเอกชน ได้รับการรักษาอย่างดี และเข้าถึงเตียงได้ เเต่คนยากจนแทบไม่ได้ในส่วนนี้ลำบากทั้งทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขทุกวันนี้ยังต้องเฝ้ารอคอยเตียงกันอยู่เลย ” สุเทพ กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net