Skip to main content
sharethis

พนักงานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ พนักงานบริการอิสระออนไลน์ และมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลเพื่อทวงเงินเยียวยาที่รัฐต้องจัดให้จากการได้รับผลกระทบในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 พร้อมร่วมอ่านแถลงการณ์ “สั่งปิดได้ ต้องเยียวยาด้วย” และนำรองเท้าส้นสูงจำนวน 30 คู่ และชุดบิกินี่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพนักงานบริการที่ได้รับผลกระทบมาวางเรียงกันไว้หน้าทำเนียบ พร้อมลั่นหากยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาจะกลับมาอีกครั้งพร้อมจำนวนรองเท้าที่มากกว่าเดิม

29 มิ.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์รายงานว่า ตัวแทนพนักงานบริการในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเพื่อทวงเงินเยียวยาที่รัฐต้องจัดให้จากการได้รับผลกระทบในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 พร้อมทั้งนำรองเท้าส้นสูงจำนวน 30 คู่ และชุดบิกินี่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพนักงานบริการที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์โควิดมาวางเรียงกันไว้หน้าทำเนียบ พร้อมทั้งผู้ชุดบิกินี่ไว้ตรงรั้วบริเวณทำเนียบด้วย

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะตัวแทนพนักงานบริการอาบอบนวดกล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโควิดนี้ร้านเราถูกสั่งปิดพนักงานไม่มีสวัสดิการไม่มีประกันสังคม ตั้งแต่ปิดมาเรายังไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากทางร้าน และต้องยอมรับว่าเงินเยียวยาก็ไม่พอกับแม้กระทั่งค่าเช่าห้องด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อเจอการระบาดรอบใหม่และการเยียวยาไม่ได้ให้เป็นเงินสดยิ่งทำให้พวกเราไม่สามารถนำไปใช้ให้ตรงตามความต้องการตามสภาพปัญหาของเราได้ ที่มาในวันนี้จึงอยากทราบคำตอบจากรัฐบาลว่าจะมีการเยียวยาเราในรูปแบบไหนเพิ่มเติมบ้าง

ขณะที่ลิลลี่ (นามสมมุติ) ตัวแทนจากธุรกิจอะโกโก้กล่าวว่า ตนทำงานอะโกโก้มา 3 ปีอยู่มาหลายที่อยู่มาหลายร้าน ภาพที่เห็นก็คือตอนนี้ทุกคนสู้กับความเงียบของถนนเส้นเดิมที่เคยมีนักท่องเที่ยวตลอดเวลา บางร้านพนักงานทำงานหลักร้อย บนถนนเส้นหนึ่งมีร้านไม่ต่ำกว่า 20 ร้านถ้าลองเฉลี่ยแค่พื้นที่เดียวก็หลักหลายพันคนตกงานทั้งถนนพร้อมกันทีเดียวหลายพันจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญเราไม่เคยมีประกันสังคมมีสิทธิสวัสดิการอะไรกับร้านอยู่แล้วเพราะว่าร้านก็จะจ้างแล้วจ่ายแบบไม่ผูกมัด ตอนนี้เงินเก็บหมดไปแล้วเพราะเราต้องดูแลที่บ้านแล้วคนที่บ้านก็ตกงานเหมือนกัน

“ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่พยายามหางานหรือหารายได้เพราะเรารู้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ก็คงจะให้มีนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวเหมือนเมื่อก่อนก็คงไม่ได้ แต่เหมือนหันไปทางไหนก็มืดแปดด้านเพราะกลุ่มงานอื่นก็ตกงานนี่แหละที่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นทำไมเราถึงต้องมาขอแต่เงินเยียวยาไม่ใช่ว่าเราจะขอเอาแต่เงินเราก็หางานทำ ทำอะไรได้เราก็ทำเราก็ทำมาหลายงานทั้งขายของออนไลน์ แต่ที่เราคิดว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบก็เพราะว่ารัฐบาลสั่งปิดอย่างน้อยถ้าเราได้กลับมาทำงานแล้วอาจจะยังได้ค่าตอบแทนรายวันอยู่บ้างแต่นี่มันคือศูนย์เลย” ตัวแทนจากธุรกิจอะโกโก้กล่าว

ขณะที่ณาดา แก้วบุรี ในฐานะตัวแทนพนักงานอิสระและพนักงานออนไลน์กล่าวว่า การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้เปิดโปงความไม่เท่าเทียมกันของระบบสนับสนุนของรัฐบาล เผยให้เห็นช่องว่างที่ทำให้แรงงานคนชายขอบนั้นอ่อนแอ พวกเราถูกสั่งให้หยุดพักงานอย่างไม่มีอนาคต รัฐบาลได้พัฒนากลยุทธ์ด้านสาธารณสุข กฎหมายฉุกเฉิน และการบรรเทาทุกข์ทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนประชาชนของตน แต่ผู้ให้บริการทางเพศส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบรรเทาทุกข์ทางเศรษฐกิจเพราะพวกเรากระทำผิดกฎหมายและทำให้การเข้าถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังถูกล่อซื้อ ปรับ และปราบปรามอย่างเข้มงวด เพราะการค้าบริการทางเพศถูกทำให้ผิดกฎหมายและไม่ถือเป็นงาน รวมทั้งไม่ใช่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก เป็นผลให้ผู้ให้บริการทางเพศไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองแรงงานหรือการสนับสนุนทางเศรษฐกิจที่อาจช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กได้

“ พวกเรากำลังจะอดตายและไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพตัวเองได้ พวกเรายังถูกกดขี่ ตีตราจากสังคมว่าทำให้โรคระบาดละลอก 3 นี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งๆที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือพวกเราในฐานะประชาชนและมนุษย์ นอกจากสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นมาทำให้พวกเราไม่มีทางเลือกและต้องทำงานอย่างหลบๆซ่อนๆและเสี่ยงอันตรายกับสุขภาพและชีวิต เรายังถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปล่อซื้อ รีดไถ่ ทั้งที่จุดนี้เราเลือกมาทำงาน เราก็ลำบากถึงที่สุดยังต้องมาถูกเอาเปรียบโดยอ้างกฎหมายค้าประเวณี”

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะตัวแทนพนักงานนวดสปากล่าวว่า งานที่เราทำส่วนใหญ่ ทำงานกับหลายร้าน งานรับเงินรายครั้ง เจ้าของร้านจึงไม่ต้องรับผิดชอบเราในฐานะลูกจ้าง พอร้านถูกปิดก็แยกย้าย ต้องยอมรับ วิกฤตนี้ยาวนานมาก หลายระลอกเหลือเกินทำให้เราต้องหาทางเอาตัวรอด ไปนวดกับลูกค้าประจำ ลูกค้าเก่าๆ ลูกค้าก็กลัวเรา เราก็กลัวลูกค้า แต่นาทีนี้ทุกคนต่างก็ต้องเอาตัวรอด ความกลัวก็มีแต่กลัวลูกไม่มีเงินค่าเทอมมากกว่า ดิ้นรนทพทุกทาง หางานอื่น ทำอะไรได้กทำ แต่อยากลงทุนทำอะไรขายก็ต้องมีเงินทุน โควิดรอบนี้ต้องมานอนรวมกับเพื่อนที่ร้าน อย่างน้อยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าห้อง แชร์กันหลายๆคนก็ถูกลง ความเดือนร้อน ครั้งนี้ มันนานเกินไปแล้ว วัคซีนก็ไม่มีความชัดเจน เรามาในวันนี้จึงต้องการความชัดเจนจากรัฐในทุก ๆ เรื่อง

จากนั้นตัวแทนของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ตัวแทนของพนักงานบริการในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ พนักงานบริการเรียกร้องเงินเยียวยา “สั่งปิดได้ ต้องเยียวยาด้วย” โดยมีข้อเรียกร้องให้จ่ายเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ต่อเดือน ให้กับพนักงานบริการและคนทำงานในสถานบริการทุกคนจนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ ทั้งนี้รวมไปถึงคนทำงานในสถานบริการที่มีการจ้างงานชั่วคราวหรือ รายครั้งและครอบคลุมถึงคนทำงานที่เป็นชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ ตามข้อเรียกร้องเดิมที่เคยมายื่นต่อรัฐบาลเมื่อ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา และขอให้รัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมรวมถึงการจัดหาวัคซีนและการเปิด-ปิดสถานบริการโดยเร็ซ (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มในล้อมกรอบท้ายข่าว)

“ก้าวไกล” กำลังร่าง พ.ร.บ.ค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการ

จากนั้นเวลา 13.30 น. รัฐสภา สัปปายะสถาน กลุ่มอาชีพบริการทางเพศ อาโกโก้ พนักงานอาบอบนวด พนักงานผับบาร์ คาราโอเกะ ยื่นหนังสือถึง ส.ส. พรรคก้าวไกล นำโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ เด็ก เยาวชน สตรี และ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่กำลังยกร่างพระราชบัญญัติการค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการ ร่วมรับข้อเสนอจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ อาชีพบริการทางเพศ ศิริกัญญา ตันสกุล ในฐานะประธานกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ และสุเทพ อู่อ้น ในฐานะกรรมาธิการแรงงานรับหนังสือจากตัวแทน

ตัวแทนกลุ่มดังกล่าวระบุว่า กลุ่มอาชีพของพวกเขาคือคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลไม่ว่าระลอกไหน ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการเหลียวแล วันนี้จึงอยากเรียกร้องจากทั้งรัฐบาลและ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล แม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่เชื่อว่าพรรคมองเห็นความสำคัญและให้คุณค่ากับแรงงานทุกสาขาอาชีพ อีกทั้งเน้นย้ำว่าอย่ากล่าวหาว่าคนที่ทำอาชีพเหล่านี้ไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นได้ ไม่ช่วยตัวเอง ไม่หาอาชีพอื่นทำ พวกตนยืนยันว่าหลังจากได้รับผลกระทบพวกเขาออกไปทำอาชีพอื่นไม่ว่าจะรับจ้างทั่วไป หรือค้าขาย ทำทุกอย่างให้มีชีวิตรอด แต่สิ่งที่อยากเรียกร้องคือ แรงงานธุรกิจกลางคืนภาคส่วนนี้ไม่มีแม้แต่ประกันสังคม ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆของรัฐบาลได้เลย ทั้งที่อาชีพของพวกเขาทำเงินในอุสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่เมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้กลับถูกลอยแพเป็นกลุ่มแรก

ธัญวัจน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้กำลังยกร่างพระราชบัญญัติการค้าประเวณีและคุ้มครองผู้ให้บริการ โดยให้ความสำคัญกับอาชีพดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิและความปลอดภัยในสถานประกอบการ หรือ ในกรณีต้องการเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และในสถานการณ์นี้ คือความเดือดร้อนเนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 การยื่นหนังสือครั้งนี้จึงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องการเยียวยาด้วย

ด้านศิริกัญญา ตันสกุล ในฐานะประธานกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวว่าตนจะทำข้อเรียกร้องนี้เข้าสู่ที่ประชุมกรรมาธิการและ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาชี้แจงเพื่อหาทางออกให้ข้อเรียกร้องของกลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงานกลางคืนเป็นจริงเพื่อพวกเขาเหล่านี้จะได้รับการดูแลจากรัฐบาล

แถลงการณ์ สั่งปิดได้ ต้องเยียวยาด้วย”

เราเป็นกลุ่มพนักงานบริการในมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เรารวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมสิทธิของพนักงานบริการ สมาชิกในกลุ่ม คือ คนทำงานบริการในสถานบริการ บาร์ คาราโอเกะ อะโกโก้ อาบอบนวด นวดสปา และคนทำงานในพื้นที่อิสระ รวมไปถึงบนแพรตฟอร์มออนไลน์ เราพนักงานบริการทำกิจกรรมให้เรามีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ได้รับสิทธิ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและตีตรา

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ มกราคม ปี 2563 จนกระทั่งตอนนี้ เป็นเวลากว่า 18 เดือน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวลง ลูกจ้างถูกไล่ออก เกิดภาวะตกงานทั่วประเทศ อีกทั้งการบริหารจัดการแก้ไขของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตราการต่าง ๆ มาช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเราชนะ เราไม่ทิ้งกัน เรารักกัน หรือเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ซึ่งพบว่าเงินเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึงกับแรงงานในทุก ๆ กลุ่ม เช่น พนักงานบริการที่ไม่มีประกันสังคม แรงงานข้ามชาติ

ผลกระทบที่เกิดกับพนักงานบริการที่ยาวนานต่อเนื่อง คือ ตกงานไม่มีรายได้ จากการถูกสั่งปิดร้าน พนักงานบริการไม่มีประกันสังคมเข้าไม่ถึงเงินว่างงาน อีกทั้งรัฐมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการก่อนจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้เปิดแต่ไม่เยียวยาใด ๆ รัฐบาลไม่มีแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างชัดเจน เสียงจากพนักงานบริการ “ไม่รู้จะได้กลับมาทำงานได้เมื่อไร ไม่มีเงินเยียวยา ไม่รู้จะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร เงินเก็บหมดไป หนี้สินเพิ่มพูน” เห็นชัดว่าว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลยซึ่งการทำงานที่ผิดพลาด ล่าช้าของรัฐบาล ไม่เพียงส่งผลกระทบกับพนักงานบริการเพียงคนเดียวเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบไปถึงครอบครัวของพนักงานบริการ พนักงานบริการ 80% เป็นแม่เป็นหลักของครอบครัวซึ่งต้องดูแลคนข้างหลัง

ภาพที่ทุกคนเห็นมาตลอดและทราบดีว่าธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการถือว่าเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของประเทศไทยมาตลอด งานวิจัยในหลายสำนักที่นำเสนอว่า ธุรกิจบริการทางเพศ สร้างรายได้ ปีละ 1.2 – 4 แสนล้านบาท เพียง 1% จากรายได้เป็นเงินกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาเยียวยาพนักงานบริการที่เป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศแต่ในทางตรงข้าม พนักงานบริการกลับถูกทำให้เป็น อาชญากร ตั้งใจมองไม่เห็นทิ้งพนักงานบริการไว้ข้างหลัง เหตุการณ์ ครัสเตอร์ ที่เราไม่รู้ว่าโควิดมาจากใครคนแรก เรากลับกลายเป็นจำเลยของสังคม ไม่ถูกกล่าวถึงในการเยียวยา ทั้งที่เราเป็นเพียงลูกจ้างทำงานตามหน้าที่

ในการแพร่ระบาด โควิด19 ระลอก 3 รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 พนักงานบริการประสบปัญหาเงินเก็บหมดไป หนี้สินเพิ่มพูน ทางออกไม่มี ไม่ได้เงินเยียวยา เกิดผลกระทบหนักมากขึ้นต่อพนักงานบริการ หางานใหม่ไม่ได้เพราะภาคธุรกิจอื่น ๆ ก็ไม่เปิดรับลูกจ้าง ซึ่งก่อนหน้า “พนักงานบริการได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 โดย เรียกร้องให้รัฐดำเนินการเยียวยาพนักงานบริการ เนื่องจากคำสั่งปิดสถานบริการตามมาตราการของภาครัฐ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ต่อเดือน ให้กับพนักงานบริการและคนทำงานในสถานบริการทุกคนจนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ ทั้งนี้รวมไปถึงคนทำงานในสถานบริการที่มีการจ้างงานชั่วคราวหรือ รายครั้งและครอบคลุมถึงคนทำงานที่เป็นชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ” จนถึงปัจจุบัน เอ็มพาวเวอร์ได้รับหนังสืบตอบกลับฉบับเดียว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่าได้ประสานส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ซึ่งเวลาผ่านไปกว่าเดือน เอ็มพาวเวอร์ได้พยายามติดตามสอบถามความคืบหน้ามาโดยตลอดแต่ยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ จากทุกหน่วยงาน

ดังนั้นในครั้งนี้เราพนักงานบริการจึงมารวมตัวทำกิจกรรม โดยมี ตัวแทนพนักงานบริการ ในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ สปานวดและพนักงานบริการอิสระออนไลน์ มาเล่าถึงปัญหาและข้อเรียกร้องที่มีให้รัฐบาลได้ฟังเสียงเรา รวมไปถึง “รองเท้าส้นสูง” รองเท้าที่ใส่ทำงานมาเป็นตัวแทนพนักงานบริการที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด ด้านหน้าทำเนียบ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2564 เวลา 9.00 น. เพื่อติดตาม ทวงถาม ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเยียวยาให้กับพนักงานบริการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร่งด่วนและมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องวัคซีน การเปิด-ปิด สถานบริการที่ชัดเจนโดยเร็วที่สุด

ด้วยความนับถือ พนักงานบริการ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง พนักงานบริการ กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร พนักงานบริการ อุดรธานี, มุกดาหาร พนักงานบริการ พัทยา, ภูเก็ต, กระบี่ และมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net