Skip to main content
sharethis

การลบทำลายประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อบริบทเปลี่ยน มันจะหวนกลับมาอีกครั้ง สนามต่อสู้ช่วงชิงความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรเข้มข้นต่อเนื่องนับจากรัฐประหาร 2549 และจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่คณะราษฎรยังคงเป็นแรงบันดาลใจต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นหอกข้างแคร่สำหรับชนชั้นนำ

  • กระบวนการลบประวัติศาสตร์ทำได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วได้ เนื่องจากมีการให้ความหมายและคุณค่า เมื่ออำนาจเปลี่ยน บริบทการเมืองเปลี่ยน เรื่องที่ไม่ให้ถูกพูดถึงก็ต้องถูกเปิดเผย
  • ศรัญญูแบ่งเรื่องเล่าและความทรงจำของคณะราษฎรออกเป็น 4 ช่วงคือ ช่วงตั้งแต่ปี 2475–2490 ช่วงที่คณะราษฎรหมดอำนาจตั้งแต่หลังปี 2490 ช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2520 จนถึงทศวรรษ 2540 และช่วงหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเขาถือว่าเป็นการเกิดใหม่ครั้งที่ 2 คณะราษฎร
  • เกิดการต่อสู้ช่วงชิงความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรจากหลากหลายกลุ่ม ทั้งเพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือและสนับสนุนสถาบันกษัตริย์

 

นับแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรถูกรื้อฟื้นและลบล้างในหลายรูปแบบ ยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองดุดันมากในช่วงสามสี่ปีมานี้ การรื้อฟื้น การสร้างความทรงจำ และการลบล้างก็ยิ่งต่อสู้กันหนักหน่วง

ยกตัวอย่างการนำชื่อคณะราษฎรกลับมาใช้เป็นชื่อกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง การทำลายอนุสาวรีย์ ชื่อ หรือลบล้างประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือการสร้างเรื่องเล่าใหม่ในรูปแบบที่เหมือนจะเป็นงานวิชาการของเพจไอโอต่างๆ ความทรงจำต่อคณะราษฎรแปรเปลี่ยนเป็นสมรภูมิการต่อสู้เพื่อแย่งชิงเรื่องเล่าและความเป็นจริง

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ (แฟ้มภาพ)

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ ‘ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ(คณะ)ราษฎร’ เฝ้าพินิจสถานการณ์เหล่านี้ และตอกย้ำว่าอย่าเพิ่งสิ้นหวังเพราะสิ่งที่คณะราษฎรทำไว้ยังต้องได้รับการสานต่อ

ลบประวัติศาสตร์ได้หรือไม่

ในกระแสของการพยายามลบล้างร่องรอยของคณะราษฎรและการปฏิวัติ 2475 ที่เกิดขึ้น คำถามว่าประวัติศาสตร์ถูกลบล้างได้หรือไม่? ก็ผุดขึ้นมา สำหรับศรัญญู เมื่อพินิจประวัติศาสตร์ใน 2 ความหมาย ความหมายแรกคืออดีตที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้วและความหมายที่ 2 ซึ่งหมายความรู้เกี่ยวกับอดีต การศึกษาอดีต และผลิตออกมาเป็น Text เป็นตำรา หรือวิทยานิพนธ์ สำหรับประวัติศาสตร์นิพนธ์ในกลุ่มหลังนี้จะอย่างไรก็ลบไม่ได้

แม้จะมีความพยายามในการลบโดยผู้มีอำนาจบางยุคสมัย เช่น ยึดเก็บงานประวัติศาสตร์ ตำรา แบบเรียน มีการฟ้องคดีปิดปากไม่ให้เผยแพร่ หรือปิดบังอำพรางหลักฐานบางอย่างให้เข้าถึงยาก ไม่ให้เข้าถึง หรือทำลายทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เอกสาร หรือหลักฐานที่เป็นวัตถุสิ่งของ อย่างโบราณสถาน อนุสาวรีย์ ซึ่งส่วนนี้อาจจะทำลายโดยไม่รู้หรือทำลายด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง

“แต่กระบวนการพยายามลบประวัติศาสตร์ก็ทำได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธประวัติศาสตร์ได้ เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว เราให้ความหมาย ให้คุณค่ากับมัน มันไม่สามารถปิดบังประวัติศาสตร์ได้ มีแต่การใช้อำนาจปิด แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยน บริบทการเมืองเปลี่ยน สุดท้ายเรื่องที่ไม่ให้ถูกพูดถึงก็ต้องเปิดเผยอยู่ดี”

กระบวนการพวกนี้ไม่สามารถทำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้ายกตัวอย่าง 2475 แม้ว่าคณะราษฎรหมดอำนาจหลังการรัฐประหาร 2490 และมีการโจมตีคณะราษฎรว่าเป็นผู้ร้าย ชิงสุกก่อนห่าม คนไทยยังไม่พร้อม แต่สุดท้ายเมื่อบริบทเปลี่ยน คำอธิบายพวกนี้ก็ถูกโต้แย้งด้วยหลักฐาน ข้อมูล และมีการพิจารณาข้อมูลหลักฐานที่มีความเคร่งครัดในทางวิชาการมากขึ้น

“มันไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า 2475 คือการปฏิวัติ มันมีคุณูปการหลายอย่างที่มีความสำคัญต่อการเมืองไทยมากๆ ที่เราไม่สามารถปฏิเสธบทบาทของคณะราษฎรได้”

เรื่องราวของคณะราษฎรในแต่ละยุค

เรื่องเล่าเกี่ยวกับคณะราษฎรเปลี่ยนแปรไปตามยุคสมัย โดยสัมพันธ์กับการเมืองในแต่ละช่วงเวลาอย่างแยกไม่ออก ศรัญญูแบ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับคณะราษฎรออกเป็น 4 ช่วง

ช่วงแรกคือช่วงที่คณะราษฎรมีอำนาจ ตั้งแต่ปี 2475–2490 เรื่องเล่ามีลักษณะสนับสนุนคณะราษฎร มองว่าการปฏิวัติมีคุณูปการในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และโจมตีระบอบเก่าที่นำมาซึ่งความเสื่อมสลายต่างๆ และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ล้มเหลว เรื่องเล่ากลุ่มนี้เห็นได้จากงานที่มีการผลิตก่อนปี 2490 ผ่านบทสัมภาษณ์ หลักฐาน คำบอกเล่า ผ่านสายตานักหนังสือพิมพ์ เช่น งานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นต้น

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่คณะราษฎรหมดอำนาจแล้วตั้งแต่หลังปี 2490 กลุ่มการเมืองแต่ละกลุ่มพยายามช่วงชิงความหมายเกี่ยวกับ 2475 กลุ่มแรกคือกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ 2475 หลังจากที่คนกลุ่มนี้ได้รับนิรโทษกรรมและเข้ามามีบทบาททางการเมือง บางส่วนหันมาสนับสนุนการรัฐประหาร 2490 และผลิตเรื่องเล่าโจมตีคณะราษฎรและสนับสนุนเจ้า ทำให้เห็นคำอธิบายทำนองว่าคณะราษฎรเป็นแค่กลุ่มทหาร เป็นแค่การรัฐประหาร เปลี่ยนแค่ผู้มีอำนาจจากกษัตริย์พระองค์เดียวเป็นกษัตริย์หลายคน นำไปสู่ระบอบคณาธิปไตย นำไปสู่ระบบเผด็จการในด้านต่างๆ ราษฎรยังไม่พร้อม เป็นการชิงสุกก่อนห่าม ทั้งที่รัชกาลที่ 7 กำลังจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ

“เราจะเจอคำอธิบายแบบนี้ซึ่งยังมีอิทธิพลมาก มันไม่ได้ผ่านเรื่องเล่าปกติ แต่ผ่านวรรณกรรมด้วย ผ่านทางสารคดีการเมือง ผ่านทางงานที่เผยแพร่สู่สาธารณะที่ไม่ใช่งานวิชาการ พวกนี้ทำให้คนสามารถเข้าถึงได้ แล้วกินใจผู้อ่านได้พอสมควร ทำให้เห็นใจฝ่ายเจ้าที่ถูกกระทำโดยคณะราษฎร” ศรัญญู อธิบาย

เขากล่าวต่อว่าคำอธิบายชุดนี้มีอิทธิพลมากต่อนักวิชาการในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เช่น งานของม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน งานของพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ซึ่งมีอิทธิพลในฐานะที่เป็นหลักฐานในการศึกษา 2475 นักวิชาการกลุ่มหนึ่งอย่างชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็นำหลักฐานเหล่านี้มาศึกษาและอธิบาย 2475 จนออกมาในทิศทางที่โจมตีคณะราษฎรและสนับสนุนเจ้า

อีกกลุ่มหนึ่งโจมตีทั้งคณะราษฎรและเจ้า งานกลุ่มนี้เป็นงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ พคท. และพวกฝ่ายซ้าย งานเด่นๆ เช่น งานของอุดม สีสุวรรณ ที่มอง 2475 เป็นแค่การรัฐประหารเพราะไม่ได้เปลี่ยนวิธีการผลิต ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ งานลักษณะนี้ด้านหนึ่งมีผลต่อยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายด้วย

“เราจะพบว่ามุมมองแบบนี้ยาวไปจนถึงทศวรรษ 2520 คณะราษฎรก็ไม่ต่างจากศักดินา และ 2475 เป็นแค่การรัฐประหาร การเปลี่ยนขั้วอำนาจ”

ภาพหมุดคณะราษฎรขนาดใหญ่ที่กลุ่มทะลุฟ้านำมาประกอบกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "24 มิถุนา ตื่นเช้ามาสานต่อภารกิจคณะราษฎร" เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

คณะราษฎรในแวดวงวิชาการ

ช่วงที่ 3 คือตั้งแต่ทศวรรษ 2520 จนถึงทศวรรษ 2540 ช่วงนี้ พคท. โรยรา ทฤษฎีที่เคยใช้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เกิดการกลับไปพิจารณา 2475 ใหม่จากในวงวิชาการ ด้านหนึ่งกลับไปอ่านหลักฐาน โต้แย้งงานของฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ศรัญญูอธิบายว่าช่วงนี้เกิดการอธิบายที่สนับสนุนทั้งคณะราษฎรและเจ้าด้วยในบางครั้ง

“มันเป็นเทรนด์ของการฟื้นฟูประชาธิปไตยเกี่ยวกับ 2475 ซึ่งมันก็เริ่มมาจากการเผยแพร่บทความในวารสารปาจารยสารก่อนที่พูดถึงความสำคัญของ 2475 ซึ่งคนที่เขียนคืออาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ปี 2524 หลังจากนั้นก็มีงานสำคัญปี 2525 ครบรอบ 50 ปีการปฏิวัติสยาม มีงานบทความออกหลายชิ้น งานสำคัญๆ ของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล งานของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ทบทวนสถานะของ 2475 และทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ทำให้เหมือนเป็นการรื้อฟื้น 2475 ใหม่

“ในช่วงทศวรรษ 2520 ถึง 2540 เปิดให้เห็นว่า 2475 มันกลับไปสู่การตีความใหม่ๆ และมอง 2475 ในด้านบวกมากขึ้น ขณะเดียวกันประเด็นการศึกษาก็มีความหลากหลายมาก ไม่ใช่ศึกษาแค่การเมืองอย่างเดียว ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ ความทรงจำ ภาพลักษณ์ของปรีดี พนมยงค์ รวมถึงการควบคุมร่างกาย เอาแนวคิดฟูโกมาใช้เกี่ยวกับ 2475 การศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ก็ออกมาช่วงเวลานี้”

อย่างไรก็ตาม ศรัญญูเห็นว่าเป็นความคึกคักที่จำกัดในวงวิชาการเท่านั้น ขณะที่ในพื้นที่สาธารณะและ พื้นที่สื่อ 2475 กลับยังไม่มีพลัง ตรงกันข้าม สื่อยังโจมตี 2475 ด้วยซ้ำ

การเกิดใหม่ครั้งที่ 2 ของคณะราษฎร

ช่วงที่ 4 คือช่วงหลังรัฐประหาร 2549 ซึ่งศรัญญูกล่าวว่าเป็นการเกิดใหม่ครั้งที่ 2 ของคณะราษฎร มีการรื้อฟื้น 2475 อย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการผลิตงานวิชาการ ในพื้นที่ของนักกิจกรรม การเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งสัมพันธ์กับบรรยากาศการเมืองช่วงหลัง ปี 2549 และการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

เกิดการตีพิมพ์งานวิชาการเล่มสำคัญเกี่ยวกับ 2475 และคณะราษฎรจำนวนมากในช่วงเวลานี้ งานศึกษายังครอบคลุมถึงครอบครัวของคณะราษฎร มีการกลับไปศึกษาข้อมูลชั้นต้นอย่างหนังสืองานศพของคณะราษฎร

“ทำไม 2475 ถึงกลับมาสำคัญหลัง 2549 เพราะด้านหนึ่งมันสัมพันธ์กับการต่อสู้ทางการเมือง พูดง่ายๆ มันสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะในด้านหนึ่งพวกเขาพยายามรื้อฟื้น 2475 เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของเขา แต่ก็ไม่ได้เป็นความหมายแบบดั้งเดิม มันมีความพยายามเชื่อมโยงในความหมายใหม่ในฐานะที่พวกเขามีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน คณะราษฎรสู้กับเจ้า คนเสื้อแดงสู้กับอำมาตย์

“ขณะเดียวกันเราจะพบเห็นการใช้พื้นที่หลายแห่งที่สัมพันธ์กับคณะราษฎร เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏ หมุดคณะราษฎร ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองก็พยายามเชื่อมโยงกับ 2475 เป็นเทรนด์ช่วงหนึ่งหลังปี 2549 เป็นต้นมา”

ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 พลังการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงและ 2475 จึงถูกกดผ่านพื้นที่ทางการเมืองหลายพื้นที่ที่คนเสื้อแดงเคยไปทำกิจกรรม เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ลานพระรูป หมุดคณะราษฎรสูญหาย อนุสาวรีย์หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรในค่ายทหารถูกเคลื่อนย้าย ศรัญญู กล่าวว่านี่เป็นการต่อสู้ช่วงชิงความหมายทางการเมือง

“มาดูในบริบทร่วมสมัย เราจะพบว่า 2475 มันกลับไปเทรนด์เชียร์คณะราษฎรและโจมตีเจ้า ขณะเดียวกัน ในคนบางกลุ่มก็มีความทรงจำโจมตีคณะราษฎรและเชียร์เจ้า บางคนก็ไม่สนใจ มันยังเป็นสนามการต่อสู้ ช่วงชิงความหมาย ความทรงจำกันอยู่ ตัวอย่างเช่นการตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวของนักศึกษา เราจะเห็นการหยิบยืมชื่อ เช่น กลุ่มคณะราษฎรซึ่งตอนหลังมาเปลี่ยนเป็นกลุ่มราษฎร”

การต่อสู้ในสนามความทรงจำ

ปรากฏการณ์การรื้อหรือการแทนที่อนุสาวรีย์ของคณะราษฎรหรือบุคคลในคณะราษฎรด้วยสิ่งก่อสร้างหรืออนุสาวรีย์ใหม่แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ของคณะราษฎรและ 2475 ยังไม่จบ อย่างน้อยก็ในสนามของความทรงจำที่เป็นความทรงจำสาธารณะ

ศรัญญูอธิบายว่าความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรเสมือนอดีตที่เหลือรอด ไม่ใช่อดีตทั้งหมด การจดจำของแต่ละคน แต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันไป

“คนเสื้อแดงให้ความหมายคณะราษฎรแบบหนึ่ง ขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ เขาอาจมองคณะราษฎรอีกแบบ แต่ถ้าเราไปดูจะพบว่าการต่อสู้ของแต่ละกลุ่มพบเห็นได้หลากหลาย ไม่ว่าจะพื้นที่เฟสบุ๊ค ตามม็อบ เราจะเห็นมีมต่างๆ มากมาย ซึ่งธรรมชาติของความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีต มันจะถูกสร้างด้วยกลไกบางอย่างผ่านการเลือกหรือละเว้นเพื่อสร้างเรื่องเล่าขึ้นมา เพราะฉะนั้นความทรงจำพวกนี้จึงเป็นพื้นที่ของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงความทรงจำของกลุ่มฉัน เป็นความทรงจำสาธารณะ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง

“มันจะต้องมีการใช้อำนาจบางอย่างเพื่อประกอบสร้างความทรงจำ เพื่อให้มีการรำลึกถึง ไม่ว่าจะเป็นจะด้วยวาจา การเขียน การสร้างอนุสาวรีย์ พิธีกรรม ไม่ใช่ประกอบสร้างความทรงจำอย่างเดียว แต่ยังเป็นการผลิตซ้ำความทรงจำให้ส่งต่อ ถ้าเราดูปรากฏการณ์การรื้อ การถอน การแทนที่ อย่างการย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ แล้วแทนที่ด้วยอนุเสาวรีย์รัชกาลที่ 9 ที่ค่ายพหลโยธินเดิมหรือการเปลี่ยนชื่อค่ายพหลโยธินเป็นค่ายภูมิพล มันสามารถสะท้อนการต่อสู้ของความทรงจำของกลุ่มคนที่มีชุดความคิดที่แตกต่างกัน แล้วมันอาศัยอำนาจในการเปลี่ยน”

ไอโอและนิยาย

“เอาจริงๆ ผมคาดหวังว่าในเมื่อเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย คุณควรจะไปไกลมากกว่า 2475 สุดท้ายแล้วไปไม่สุด คุณเป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย คุณก็ย้อนกลับไปสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ แต่เราจะพบว่างานฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย งานฝ่ายขวาทั้งหลาย มันไปไกลแค่โจมตีคณะราษฎรและเชียร์เจ้า แบบที่พวกปฏิปักษ์ 2475 ทำในทศวรรษ 2490 ไม่มีข้อเสนอที่กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

และนั่นก็เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน สังคมไทยไม่อาจถอยหลังกลับไปสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อีกแล้ว ศรัญญู เพิ่มเติมว่างานวิชาการที่ออกมาโต้ 2475 สุดท้ายแล้วก็มีปัญหาในวิธีการศึกษา การหยิบหลักฐานมาใช้ ซึ่งสามารถโต้แย้งได้ทั้งในแง่วิธีวิทยาและข้อมูลหลักฐานต่างๆ แต่สิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษคือบรรดาเว็บไซต์ เพจ ไอโอที่ผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่องมากกว่างานวิชาการ

“แต่มันก็สนุกดีเพราะบางทีเขาไม่ค่อยให้เครดิต แต่อ่านไป ผมก็รู้ว่างานชิ้นนี้เอามาจากของใคร มันเหมือนพยายามที่จะ Rebrand อะไรบางอย่าง ทำให้งานโจมตีคณะราษฎรมีความเป็นวิชาการมากขึ้น บางครั้งมีการอ้างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาใช้ผิดๆ ถูกๆ  มันก็เป็นปรากฏการณ์ที่ผมว่าน่าสนใจมากๆ มันมีนัยพอสมควรแต่ผมยังไม่ได้ไปศึกษาจริงๆ จังๆ ในด้านหนึ่งงานพวกนี้มาพร้อมกับกระแสของม็อบที่เชื่อมโยงกับ 2475 มากขึ้น มันออกมาโต้แย้งด้วยข้อมูลชุดนี้ผ่านทางเพจไอโอพวกนี้”

อย่างไรก็ตาม ศรัญญูกล่าวว่าในทางวิชาการงานของเพจกลุ่มนี้ไม่ได้รับการยอมรับ แต่เป็นการผลิตงานเพื่อเล่นกับมวลชนแฟนคลับเฉพาะกลุ่มโดยผลิตซ้ำชุดความคิดเดิม

แม้ในเชิงงานวิชาการจะไม่ได้รับการยอมรับ แต่ศรัญญูเห็นว่างานที่อยู่นอกแวดวงวิชาการต่างหากที่เป็นปัญหาของการปฏิวัติสยาม 2475 โดยเฉพาะงานวรรณกรรม เขายกตัวอย่างนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ถูกนำมาผลิตซ้ำหลายครั้งในหลากหลายช่องทาง ซึ่งเขาเห็นว่าเรื่องแต่งลักษณะนี้มีอิทธิพลมากกว่างานเชิงวิชาการด้วยซ้ำ ขณะที่การจะสร้างละครเกี่ยวกับ 2475 กลับเป็นเรื่องยาก มิพักต้องพูดถึงว่าจะสามารถเผยแพร่เป็นวงกว้างได้หรือไม่

อย่าสิ้นหวัง

กรณีที่กลุ่มคณะราษฎร 2563 หยิบยืมคำว่าคณะราษฎร 2475 กลับมาใช้ใหม่เพื่อยึดโยงกับการเคลื่อนไหว พร้อมกับเรียกร้องให้ทำการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ศรัญญูมองว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้การเคลื่อนไหว

ภาพนักกิจกรรมฝังหมุดคณะราษฎร 63 ในเช้าวันที่ 20 ก.ย.63 ที่สนามหลวง ระหว่างการชุมนุม#19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 

“คำว่าราษฎรยังมีนัยยะทางการเมือง คือกลุ่มคนที่ไม่ใช่เจ้า ส่วนนี้มันเป็นการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงกับอดีต  เราจะเห็นได้เด่นชัด ด้านหนึ่ง กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวอาจจะมองคณะราษฎรเป็นแรงบันดาลใจให้การเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2553 ขณะเดียวกันเขาก็มองว่า 2475 ยังไม่จบ มันอาจจะจบด้วยความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรรุ่นแรกหลัง 2490 แล้วทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายกษัตริย์นิยมฟื้นตัวขึ้นมา เขาเป็นผู้สานต่อที่จะทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งหัวใจสำคัญของ 2475 คือการจัดตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญและไม่มีการเมืองช่วงไหนจะแหลมคมเท่า 2475”

ในช่วงท้ายของการสนทนา ศรัญญูกล่าวให้กำลังใจที่ดูเหมือนจะเป็นการให้กำลังใจตัวเองและผู้ที่กำลังเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ในเวลานี้

“พยายามบอกตัวเองว่าขอให้มีความหวังหล่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ เพราะเราก็เห็นบริบทการเมืองว่าสิ้นหวังแค่ไหน อย่างน้อยขอให้มอง 2475 เป็นแรงบันดาลใจและการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสร้างประชาธิปไตย ผมมองว่า 2475 ยังไม่จบ มันยังต้องสู้ในคนรุ่นผม รุ่นลูก รุ่นหลานอีก ในฐานะคนธรรมดาที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ทำให้คนธรรมดาสามารถยืนหลังตรงได้ ซึ่งแต่เดิมคุณไม่มีตัวตนด้วยซ้ำในทางการเมือง แต่ 2475 ทำให้ราษฎรเป็นพลเมือง เป็นคนจริงๆ ที่มีสิทธิทางการเมือง มันคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทำให้อำนาจทางการเมืองกลับมาเป็นของประชาชน เป็นของราษฎร”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net