Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความสองมาตรฐานของยุโรปเรื่องผู้ลี้ภัยได้เผยออกมาในวิกฤตสงครามยูเครนอีกครั้ง มันสะท้อนว่ายุโรปหูดับทางศีลธรรมและด้อยปัญญาทางภูมิรัฐศาสตร์ วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยยุโรปพิทักษ์ปกป้องตัวเองคือการโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆ เชื่อมั่นได้ว่ายุโรปจะสามารถเป็นตัวเลือกที่ดีกว่ารัสเซียและจีน

หลังจากที่รัสเซียเริ่มโจมตียูเครน รัฐบาลสโลวีเนียประกาศทันทีว่าตนมีความพร้อมในการรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนหลายพันคน ในฐานะที่ผมเป็นพลเมืองสโลวีเนีย ผมไม่เพียงภูมิใจแต่ยังละอายใจไปพร้อมๆ กัน 

เพราะอะไรน่ะหรือ? หกเดือนก่อน อัฟกานิสถานตกอยู่ในมือของกลุ่มตาลีบัน รัฐบาลสโลวีเนียคนเดิมนี้เองกลับปฏิเสธที่จะรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกัน โดยอ้างว่าพวกเขาควรจะอยู่ในประเทศของตัวเองต่อไปและจับอาวุธขึ้นสู้ ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ผู้อพยพลี้ภัยหลายพันคน ส่วนใหญ่เป็นชาวอิรักเชื้อสายเคิร์ด พยายามข้ามพรมแดนเข้าสู่โปแลนด์จากเบลารุส รัฐบาลสโลวีเนียเจ้าเก่ามองว่ายุโรปกำลังโดนคุกคามและเสนอความช่วยเหลือทางทหารแก่โปแลนด์เพื่อช่วยกันไม่ให้คลื่นผู้ลี้ภัยเล็ดรอดเข้ายุโรปมาได้ 

จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มผู้ลี้ภัยสองสายพันธ์ในภูมิภาคยุโรป ทวีตของรัฐบาลสโลวีเนียในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ช่วยทำให้การแยกแยะผู้ลี้ภัยสองกลุ่มนี้กระจ่างมากขึ้น : “ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนต่างมาจากสภาพแวดล้อมที่ในแง่ของวัฒนธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์แล้ว แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสภาพแวดล้อมของผู้ลี้ภัยที่มาจากอัฟกานิสถาน” หลังจากที่โดนทัวร์ลง ทวีตดังกล่าวได้ถูกลบไปอย่างรวดเร็ว กระนั้น ความจริงอันอัปลักษณ์ก็เผยตัวให้เห็นแล้ว: ยุโรปต้องปกป้องตัวเองจากพวกที่ไม่ใช่ยุโรป 

จุดยืนเช่นนี้จะนำมาซึ่งหายนะของยุโรปเองในสนามรบภูมิรัฐศาสตร์ที่เหล่ามหาอำนาจต่างแข่งขันชิงอิทธิพลกัน ทั้งสื่อและผู้นำของพวกเราต่างพยายามวาดภาพความขัดแย้งครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องระหว่าง โลกเสรีตะวันตกและโลก “ยูเรเซียน” ของรัสเซีย โดยไม่ได้สนใจเลยว่าประเทศอื่นๆ ที่เหลือจำนวนมากทั้งในภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังเพ่งมองมาที่ท่าทีของพวกเราเช่นกัน

จีนเองก็ยังลังเลที่จะออกตัวสนับสนุนรัสเซีย แม้ว่าจีนจะมีแผนของตัวเองก็ตาม หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน ประธานาธิบดีจีน สี จิ้น ผิง ได้ส่งสารไปยังผู้นำเกาหลีเหนือคิม จอง อึนใจความว่า จีนพร้อมที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรของสองประเทศ“ภายใต้สถานการณ์ใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้น” หลายๆ ฝ่ายต่างกลัวว่าจีนจะฉวยโอกาสจาก“ภายใต้สถานการณ์ใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้น”นี้ในการ “ปลดปล่อย”ไต้หวัน

สิ่งที่ควรเป็นข้อกังวลในปัจจุบันก็คือ การทำตัวสุดขั้ว ดังที่เราประจักษ์ในตัวประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูตินอย่างชัดเจน ไม่ได้เป็นแค่เชิงโวหารอีกต่อไป พวกฝ่ายซ้ายสายเสรีนิยมหลายคนปักใจเชื่อว่าสงครามมีราคาแพงเกินไป ดังนั้น ที่ปูตินตรึงกองกำลังตามชายแดนยูเครนจึงเป็นเพียงการขู่เท่านั้น หรือตอนที่ปูตินประณามรัฐบาลโวโลดีมีร์ เซเลนสกีว่าเป็น “แก้งติดยาและนีโอนาซี” หลายฝ่ายก็แค่คาดการณ์ว่ารัสเซียจะจำกัดการครอบครองอยู่ภายในสอง “สาธารณรัฐประชาชน” ที่กบฏภายใต้การสนับสนุนของเครมลินประกาศแยกตัวเท่านั้น หรืออย่างมากที่สุดก็ขยายอาณาเขตการครอบครองให้ครอบคลุมภูมิภาคดอนบาสทั้งหมด

และตอนนี้ มีคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายซ้ายหลายคน (แต่ผมไม่เรียก) กำลังโทษโลกตะวันตก กำลังโทษประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดนทั้งที่จริงๆ แล้วเขาคาดการณ์ถูกมาตลอดเกี่ยวกับเจตนาของปูติน ข้อโต้แย้งของคนเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดี : นาโต้ค่อยๆ โอบล้อมรัสเซีย ยุแยงส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหลากสีในประเทศรอบๆ รัสเซีย และเพิกเฉยต่อความกลัวของประเทศที่ถูกตะวันตกย่ำยีมาตลอดศตวรรษที่ผ่านมา 

แน่นอนว่ามุมมองข้างบนมีส่วนจริง แต่หากคุณจะพูดเพียงแค่นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการให้ความชอบธรรมแก่ฮิตเลอร์โดยโทษว่าเป็นความผิดของสนธิสัญญาแวร์ซายที่ไม่เป็นธรรม แย่ไปกว่านั้นก็คือ มุมมองเช่นนี้ไม่มีปัญหาอะไรกับแนวคิดที่ว่ามหาอำนาจต่างมีสิทธิในการขยายอิทธิพลนอกอาณาเขต ซึ่งประเทศเล็กประเทศน้อยทำได้แค่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรมในนามของเสถียรภาพการเมืองโลก ปูตินมีฐานคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ฐานคิดเช่นนี้สะท้อนออกมาได้ดีเมื่อเขาย้ำแล้วย้ำอีกว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากทำการแทรกแซงทางทหารในยูเครน 

แล้วมุมมองหรือฐานคิดแบบนี้น่าเชื่อถือไหม? ยูเครนมีปัญหาเรื่องอิทธิพลของลัทธิฟาสซิสต์จริงหรือไม่? แทนการหาคำตอบเหล่านี้ พวกควรตั้งคำถามไปยังรัสเซียของปูตินต่างหาก เริ่มจากอิวาน อิลยินปัญญาชนไอดอลของปูติน งานของเขากลับมาถูกตีพิมพ์อีกครั้ง มันถูกแจกจ่ายให้แก่พวกแขนขาของพรรคที่มีอำนาจและพลทหารเกณฑ์ หลังจากที่ถูกขับออกจากสหภาพโซเวียตในช่วงต้นทศวรรษที่ 1920 อุดมการณ์ที่อิลยินรณรงค์ก็คือ ลัทธิฟาสซิสต์เวอร์ชั่นรัสเซีย ซึ่งมีลักษณะดังนี้: รัฐเป็นชุมชนที่มีเนื้อหนังมังสาโดยมีกษัตริย์พ่อขุนอุปถัมภ์เป็นผู้ปกครอง อิสรภาพในรัฐนี้หมายถึงการรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง สำหรับอิลยิน (รวมถึงปูติน) แล้ว การเลือกตั้งมีเป้าหมายเพื่อสะท้อนการแสดงออกซึ่งการสนับสนุนต่อผู้นำอย่างเป็นหมู่คณะ หาใช่กระบวนการที่มีขึ้นเพื่อให้ความชอบธรรมแก่เขา 

อเล็กซานดร์ ดูกิน นักปรัชญาคู่ใจปูตินอีกคนก็เดินตามรอยอิลยินพร้อมเสริมจริตแบบโพสโมเดิร์นเมื่อเขาเสนอมุมมองประวัติศาสตร์เชิงสัมพัทธ์ดังนี้: 

“ทุกสิ่งที่เรียกว่าความจริงต่างขึ้นอยู่กับการ [ที่เราเลือกที่จะ] เชื่อ ดังนั้น เราเชื่อในสิ่งที่เราทำ เราเชื่อในสิ่งที่เราพูด และนี่คือทางเดียวที่จะสถาปนาความจริง เพราะฉะนั้น เรามีความจริงของรัสเซียแสนแปลกที่คุณต้องยอมรับมัน ถ้าสหรัฐไม่อยากจะก่อสงคราม คุณควรสำเหนียกว่าสหรัฐไม่ใช่เจ้านายใหญ่อีกต่อไป และภายใต้สถานการณ์ในซีเรียและยูเครน รัสเซียจะพูดว่า ‘ไม่ คุณไม่ใช่เจ้านายอีกแล้ว’ นี่คือคำถามเกี่ยวกับว่าใครปกครองโลก สงครามเท่านั้นที่เป็นตัวตัดสินอย่างแท้จริง”

แล้วประชาชนคนซีเรียหรือยูเครนล่ะ? พวกเขาสามารถเลือกสร้างความจริงในแบบของเขาได้ไหม หรือพวกเขาเป็นได้แค่สนามรบสำหรับเจ้าผู้ปกครองโลกในอนาคตเท่านั้น? 

ความคิดที่ว่าแต่ละ “วิถีชีวิต” ต่างก็มีความจริงในด้านของมันนี่แหละคือความคิดที่ทำให้ปูตินเป็นที่รักของพวกฝ่ายขวาประชานิยมอย่างประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อนโดนัลด์ ทรัมป์ ทรัปม์ผู้ซึ่งออกปากชมการรุกรานยูเครนว่าเป็นการกระทำของ “คนอัจฉริยะ” และเช่นเดียวกัน: เมื่อปูตินพูดถึง “การทำให้[ยูเครน]ปลอดนาซี” เราควรตระหนักได้ด้วยว่า ปูตินคือผู้สนับสนุนตัวยงคนอย่าง มารีน เลอ เปนแห่งพรรคNational Rallyของฝรั่งเศส และมาเตโอ ซัลวินีแห่งพรรคลีกาในอิตาลี มิพักต้องพูดถึงขบวนการนีโอฟาสซิสต์อื่นๆ ที่มีอยู่จริงขณะนี้

“ความจริงแบบรัสเซีย” แท้ที่จริงแล้วเป็นแค่เรื่องโกหกที่ถูกยกมาง่ายๆ เพื่อให้ความชอบธรรมแก่วิสัยทัศน์ในการสร้างจักรวรรดิของปูติน วิธีที่ดีที่สุดสำหรับยุโรปในการโต้ตอบ “ความจริงชุดนี้” คือการสร้างสะพานเชื่อมโยงไปยังประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา หลายประเทศเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ความทุกข์ยากภายใต้อาณานิคมและการขูดรีดของตะวันตกนับไม่ถ้วน ดังนั้น แค่ “ปกป้องพิทักษ์ยุโรป” จึงไม่เพียงพอ พันธกิจที่โลกตะวันตกต้องทำก็คือพยายามโน้มน้าวให้ประเทศที่เหลืออื่นๆ เชื่อมั่นได้ว่า โลกตะวันตกจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ารัสเซียและจีน ทางเดียวที่จะบรรลุพันธกิจนี้ได้คือการเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง ถอนรากเหง้าเชื้อความคิดแบบเจ้าอาณานิคมใหม่ออกไป แม้ว่ามันจะอยู่ในคราบของการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็ตาม 

พวกเราพร้อมแล้วหรือยังที่จะพิสูจน์ว่า ในการที่จะพิทักษ์ปกป้องยุโรป เราจะต่อสู่เพื่ออิสรภาพในที่อื่นๆ ด้วย? ท่าทีไร้เกียรติของพวกเราในการปฏิบัติสองมาตรฐานต่อผู้ลี้ภัยกลับไม่ได้ทำให้โลกรับรู้เจตนารมย์ข้างต้นเลย

 

ที่มา: Project Syndicate SLAVOJ ŽIŽEK What Does Defending Europe Mean? https://www.project-syndicate.org/commentary/europe-unequal-treatment-of-refugees-exposed-by-ukraine-by-slavoj-zizek-2022-03


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net