Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสรรหาชี้ขาด ‘วรวิทย์’ ยังดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญต่อได้หรือไม่ หลังจากเพิ่งอายุครบ 70 ปีไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 60 แล้วแต่ยังไม่ครบวาระ 9 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 50

16 มี.ค.2565 ศาลรัฐธรรมนูญออกจดหมายข่าวระบุว่า ในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีตุลาการของศาลที่ขอหารือเกี่ยวกับวาระดำรงตำแหน่งของ วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบันที่เพิ่งมีอายุครบ 70 ปีไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมาและอยู่ในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ 9 ก.ย.2557 รวมเป็นเวลา 7 ปี 6 เดือนแล้ว จะต้องพ้นจากตำแหน่งประธานศาลไปหรือไม่เนื่องจากเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2550

ทั้งนี้ในที่ประชุมมีความเห็นว่าให้ตุลาการผู้ที่เห็นว่าวรวิทย์มีปัญหาเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งประธานศาลส่งคำร้องของตนไปยังเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ส่งคำร้องดังกล่าวต่อไปให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการสรรหามีอำนาจหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยและความเห็นของของคณะกรรมการสรรหาเป็นที่สุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 203

เมื่อวานนี้(15 มี.ค.2565) สำนักข่าวอิศรา รายงานที่มาของเรื่องนี้ว่าเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทราบถึงความเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของวรวิทย์ในตำแหน่งประธานศาลที่จะพ้นว่าการดำรงตำแหน่งเมื่อครบวาระ 9 ปีในวันที่ 9 ก.ย.2566 ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 โดยจะไม่พ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 70 ปี

จากนั้น 2 ก.พ.2565 เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีหนังสือแจ้งเวียนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทราบเรื่องความเห็นเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของวรวิทย์ โดยหนังสือระบุว่าวรวิทย์มอบหมายให้สำนักงานศาลรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 มาตรา 79

อิศรารายงานอีกว่า วรวิทย์ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ในระหว่างที่วรวิทย์ดำรงตำแหน่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งทั้งสองฉบับมีการกำหนดคุณสมบัติและจำนวนปีของวาระในการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ต่างกัน

โดยในรัฐธรรมนูฐญฉบับปี 2550 กำหนดให้ตุลาการศาลดำรงตำแหน่งได้นาน 9 ปี และให้พ้นตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 70 ปี แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดให้ตุลาการดำรงตำแหน่งได้นาน 7 ปี ซึ่งวรวิทย์จะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ตามที่ได้เขาได้รับการแต่งตั้งมา

อย่างไรก็ตาม หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้มี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 ตามออกมากำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 79 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และดำรงตำแหน่งมาก่อนที่พ.ร.ป.ฉบับนี้ประกาศใช้ อยู่ในตำแหน่งต่อไป

อิศรายังได้รายงานถึงผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการของตุลาการทั้ง 9 คนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ด้วยว่า มีตุลาการ4 คน เห็นว่า 'วรวิทย์' ต้องพ้นจากตำแหน่ง ประกอบด้วย ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ , ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ , ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์และอุดม สิทธิวิรัชธรรม ส่วนอีก 4 คน ที่ยังไม่แสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนได้แก่ วิรุฬห์ แสงเทียน, บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, ปัญญา อุดชาชน และนภดล เทพพิทักษ์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net