Skip to main content
sharethis

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า สปสช. และ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ เร่งช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล ที่ตกค้างจาก Home Isolation กว่า 3,500 ราย โดยสปสช. และ รพ.ราชวิถีจะทำการจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้แก่ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ คาดใช้เวลา 5 วันเคลียร์ผู้ป่วยตกค้างได้หมด เริ่มส่งยา 11 มี.ค.นี้

10 มี.ค. 2565 ทีมสื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า สปสช. และ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ เร่งช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล 5 จังหวัด ที่ลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation ผ่านสายด่วน 1330 และช่องทางออนไลน์ของ สปสช.แล้วยังตกค้างไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการกว่า 3,500 ราย โดยจะติดต่อกลับสอบถามอาการและจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ภายใต้ความร่วมมือกับ รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์ ทางไปรษณีย์ให้ถึงมือผู้ป่วยทุกคน คาดใช้เวลา 5 วันเคลียร์ผู้ป่วยตกค้างได้หมด เริ่มส่งยา 11 มี.ค.นี้

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นสูงในระยะที่ผ่านมาและมีผู้โทรเข้ามายังสายด่วน 1330 รวมถึงลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ สปสช.และไลน์ สปสช. @nhso เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือ Home Isolation จำนวนมาก ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่ยังตกค้างในระบบ ไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการประมาณ 3,500 ราย โดยสาเหตุหลักคือหน่วยบริการในพื้นที่รับดูแลผู้ติดเชื้อจนเต็มศักยภาพและไม่สามารถรับดูแลเพิ่มได้ ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง ผู้ที่แจ้งลงทะเบียนแล้วต้องรอนานหลายวันหรือยังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยบริการเกิดความกังวลใจว่าจะไม่ได้รับการดูแล เกิดการโทรวนและติดต่อกลับเข้ามาที่สายด่วน 1330 และช่องทาง Non Voice ทั้งเฟซบุ๊กและไลน์ สปสช. อีก เพื่อสอบถามความคืบหน้าการตอบรับเข้าระบบ Home Isolation ทำให้สายโทรเข้าแน่นมากจนเกิดปัญหาโทรหาสายด่วน 1330 ไม่ติด

ทาง สปสช. พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายคู่สาย และกระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบบริการแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านหรือแนวทาง เจอ แจก จบ ให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง สามารถเข้ารับบริการแบบผู้ป่วยนอกได้ โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลในพื้นที่ 14 จังหวัดรอบ กทม. ช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับการจับคู่เข้าระบบ Home Isolation ให้ไปรับการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านได้เช่นกัน

นอกจากนี้ สปสช. ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและกองทัพภาคที่ 1 ยังได้ทำการจัดส่งยาฟ้าทะลายโจรกว่า 40,000 ชุด กระจายไปยังชุมชนต่างๆใน กทม.กว่า 900 ชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียนแล้วหน่วยบริการไม่ติดต่อกลับ ให้ไปรับยากับผู้นำชุมชนได้ ซึ่งสามารถเช็ครายชื่อ อสส.หรือผู้นำชุมชนที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/195 เพื่อช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ติดเชื้อได้รับบริการและลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตกค้างรอเข้าระบบ Home Isolation ลงได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ก็ยังคงมีผู้ที่ตกค้างอยู่ในระบบ 1330 รอการจับคู่กับหน่วยบริการอีกประมาณ 3,500 ราย สปสช. จึงได้จัดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อตกค้างที่ยังไม่ได้การติดต่อจากหน่วยบริการให้หมด โดยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะให้เจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 โทรติดต่อหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ที่ยังตกค้างไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยบริการ เพื่อสอบถามว่าอาการว่าเป็นอย่างไร หากมีอาการไม่รุนแรง สปสช. ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) จะจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ทางไปรษณีย์ถึงมือผู้ป่วยทุกคน โดยการจัดส่งยาให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังตกค้างนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี กรมแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ล็อตแรกได้รับ 50,000 เม็ด

นอกจากนี้เนื่องในวันไตโลกปีนี้ (วันที่ 10 มี.ค. 2565) สปสช. ได้รณรงค์สร้างเสริมภูมิความรู้ควบคู่การดูแลไต โดย สปสช. ได้บรรจุให้การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง สามารถล้างไตผ่านช่องท้องและฟอกไตกว่า 6.3 หมื่นคนตลอด 14 ปีที่ผ่านมา สปสช. พัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ป่วยไตต่อเนื่อง ล่าสุดปีนี้บอร์ด สปสช. ที่เปิดให้ “ผู้มีสิทธิบัตรทองเลือกฟอกไตในแบบที่ใช่” เพื่อเปิดทางเลือกให้ผู้ป่วยไม่ประสงค์จะล้างไตทางหน้าท้องแต่ต้องการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือด สามารถร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไตร่วมกับแพทย์ได้

ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 63,694 ราย แยกเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 32,892 ราย ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 24,256 รายและผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่รับเฉพาะยา EPO 6,546 ราย

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net