Skip to main content
sharethis

สปสช.ชวนบริษัทและโรงงานขนาด 200 คนขึ้นไปและมีห้องพยาบาลที่ได้ใบอนุญาตเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อร่วมดูแลสุขภาพของกลุ่มวัยทำงานให้เข้าถึงสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีบริการคัดกรองโรค เข้าถึงกระบวนการดูแลรักษาก่อนเจ็บป่วยรุนแรง และยังลดค่าใช้จ่ายของบริษัทและโรงงาน

11 ต.ค.2566 ฝ่ายสื่อสารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามที่ สปสช. ได้จัดสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับคนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2565 แต่ที่ผ่านพบว่าทั้งกลุ่มข้าราชการและผู้ประกันตนมีจำนวนการไม่เข้ารับบริการสูงถึงร้อยละ 40-45 ดังนั้นที่ผ่านมา สปสช. จึงได้มีแนวทางดำเนินการเพื่อให้เกิดการเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น

เบื้องต้นในส่วนของผู้ประกันตน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2545 (กระทรวงแรงงาน) กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานหรือลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ให้มีห้องพยาบาลและมีแพทย์หรือพยาบาลคอยให้บริการ พร้อม 1 เตียง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กำหนดให้มีห้องพยาบาลในสถานประกอบกิจการที่แจ้งขอประกอบกิจการสถานพยาบาล (สพ.อ.2) เป็นสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนในลักษณะที่เป็นการจัดสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้าง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจกรรมสถานพยาบาลและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลและไม่ต้องขำระค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อให้การจัดบริการเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ห้องพยาบาลในสถานประกอบกิจการข้างต้นนี้ มีมาตรฐานที่จะร่วมให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่เป็นสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทองฯ ให้กับพนักงาน/ลูกจ้าง ในรายการตามศักยภาพและความพร้อมจัดบริการของห้องพยาบาลได้ ดังนั้นที่ผ่านมา สปสช. จึงได้เชิญชวนให้ห้องพยาบาลในสถานประกอบการนี้สมัครร่วมเป็น “หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเภทหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” กับ สปสช. เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสิทธิและบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ของกลุ่มวัยทำงานให้กับผู้ประกันตน

สำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นสิทธิประโยชน์ของกลุ่มวัยทำงานนี้ มีรายการบริการที่ครอบคลุมทุกเพศ โดยมีรายการบริการดังนี้ 

  • ประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต ได้แก่ ประเมินดัชนีมวลกาย ตรวจวัดความดันโลหิต คัดกรองความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด ประเมินภาวะเครียด-ซึมเศร้า และการให้คำปรึกษาและแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคล 
  • การตรวจ HIV ด้วยชุดตรวจด้วยตนเองพร้อมให้คำปรึกษา บริการตรวจการตั้งครรภ์ (ตรวจปัสสาวะ,ชุดทดสอบ) บริการวางแผนครอบครัวและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ บริการถุงยางอนามัยพร้อมให้คำปรึกษา ยาเม็ดคุมกำเนิด ชนิดฮอร์โมนรวมสำหรับหญิงปกติทั่วไป บริการยาเสริมธาตุเหล็ก บริการเจาะเลือดตรวจวัดระดับน้ำตาล เมื่อผลคัดกรองพบเป็นกลุ่มเสี่ยง บริการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี และซี บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (HPV DNA test)
  • สำหรับในส่วนของยาคุมกำเนิดนั้น ยังครอบคลุมยาคลุมกำเนิดชนิดเม็ดสำหรับหญิงที่ให้นมบุตร และผู้ที่มีประวัติไมเกรนแบบมีออร่า ยาฉีดคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน บริการใส่ห่วงอนามัย และบริการฝังยาคุมกำเนิด โดยเป็นรายการที่ต้องให้บริการโดยแพทย์
  • นอกจากนี้ยังมีบริการสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 และบริการสายด่วนเลิกบุหรี่ โทร. 1600 ที่เป็นบริการที่ผู้ประกันตนสามารถรับบริการได้ด้วยตนเอง 

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ในรายการบริการยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกลุ่มวัยทำงานที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ได้แก่ ตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและหรือเจาะเลือดปลายนิ่วตรวจระดับน้ำตาล (FCG) และการตรวจประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Thai CV score) บริการตรวจวัดคอเลสเตอรอล และ HDL และบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง

“ผลที่เกิดขึ้น นอกจากเป็นการดูแลและห่วงใยต่อสุขภาพของพนักงาน/ลูกจ้าง ได้เข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนแล้ว ยังลดความเสี่ยงภาวะเจ็บป่วยรุนแรงจากโรคที่ตรวจคัดกรองได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ความเสี่ยงเบาหวาน/โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ขณะเดียวกันยังแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดบริการตรวจสุขภาพของสถานประกอบกิจการ โดยเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ตามรายการสิทธิประโยชน์อัตราที่กำหนด และในกรณีพนักงาน/ลูกจ้าง มีผลตรวจคัดกรองที่พบภาวะเสี่ยงหรือเจ็บป่วย ก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น ประกันสังคม เป็นต้น นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลพนักงาน/ลูกจ้างของสถานประกอบการเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานอีกด้วย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net