Skip to main content
sharethis

C.J. Polychroniou : การที่รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจแก่คนส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดคลื่นแห่งความตระหนกอกสั่นไปทั่วทั้งโลก ถึงแม้มีข้อบ่งชี้จำนวนมากว่า ปูตินถูกยั่วยุจากการขยายอิทธิพลของนาโต้เข้าสู่ยุโรปตะวันออกมาระยะหนึ่งแล้ว และวอชิงตันไม่ยอมรับฟังข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของปูตินที่ “ขีดเส้นสีแดง” เกี่ยวกับยูเครนอย่างจริงจังก็ตาม  คุณคิดว่าทำไมปูตินจึงตัดสินใจเปิดฉากการรุกราน ณ จุดนี้?

นอม ชอมสกี ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอาริโซน่า เขาเป็นนักวิชาการฝ่ายซ้ายผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายอำนาจนิยมหลายเรื่องของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นสงครามเวียดนามหรือนโยบายการต่างประเทศอื่นๆ

นอม : ก่อนตอบคำถามนี้ เราควรปักหมุดข้อเท็จจริงสองสามประการที่โต้แย้งไม่ได้เสียก่อน ข้อแรกที่สำคัญที่สุดคือ การที่รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นอาชญากรรมสงครามครั้งใหญ่ มีสถานะเทียบเท่ากรณีที่สหรัฐอเมริกาบุกอิรักและฮิตเลอร์-สตาลินบุกโปแลนด์ในเดือนกันยายน 1939 ขอยกแค่ตัวอย่างชัดๆ สองกรณีนี้ก็พอ มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่เราจะหาคำอธิบาย แต่ไม่ใช่การอ้างความชอบธรรม ไม่มีข้อแก้ตัว

ย้อนกลับมาที่คำถามของคุณ มีการแสดงทัศนะเกี่ยวกับความคิดจิตใจของปูตินพรั่งพรูออกมามากมาย ล้วนแล้วแต่แสดงความเห็นกันอย่างมั่นใจเต็มที่ทั้งนั้น เรื่องที่ฟังกันจนคุ้นหูก็คือ ปูตินหลงอยู่ในความเพ้อเจ้อพารานอยด์ คิดคนเดียวทำคนเดียว รอบตัวเขาแวดล้อมไปด้วยบริวารสอพลอแบบเดียวกับที่บรรดาซากเดนของพรรครีพับลิกันเทียวไปเทียวมารีสอร์ทมาร์-อา-ลาโก[1] เพื่อขอพรจากผู้นำพรรค

คำบริภาษเป็นคุ้งเป็นแควเหล่านี้อาจถูกต้องก็ได้ แต่บางทีเราน่าจะพิจารณาความเป็นไปได้ด้านอื่นๆ บ้าง ไม่แน่ว่าปูตินอาจกำลังแสดงออกในสิ่งที่เขาและพวกพ้องของเขาส่งเสียงดังๆ ชัดเจนมาหลายปีแล้ว ยกตัวอย่างเช่น มันอาจมีความหมายทำนองนี้ว่า “ในเมื่อข้อเรียกร้องหลักของปูตินคือ คำรับรองว่านาโต้จะไม่รับสมาชิกเพิ่ม โดยเฉพาะไม่รับยูเครนหรือจอร์เจีย แน่นอน ถ้าไม่มีการขยายเครือข่ายพันธมิตรหลังจากยุติสงครามเย็น หรือถ้าการขยายสมาชิกเกิดขึ้นสอดคล้องกับการวางโครงสร้างความมั่นคงในยุโรปที่รวมรัสเซียไว้ด้วย ก็จะไม่มีมูลฝอยอะไรให้เกิดวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน” ผู้กล่าวข้อความนี้คืออดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศรัสเซีย แจ็ค แม็ตล็อค (Jack Matlock) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียอย่างแท้จริงที่มีอยู่น้อยคนในทีมงานด้านการทูตของสหรัฐอเมริกา เขาเขียนข้อความนี้ก่อนเกิดการบุกยูเครนไม่นาน  เขายังลงความเห็นต่อไปด้วยว่า วิกฤตการณ์นี้ “สามารถคลี่คลายได้ง่ายๆ ด้วยการใช้สามัญสำนึก... ในทุกบรรทัดฐานที่ไม่ขัดต่อสามัญสำนึก มันเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเองที่พึงส่งเสริมเสรีภาพ ไม่ใช่ความขัดแย้ง  การพยายามแยกยูเครนออกจากอิทธิพลของรัสเซีย ซึ่งเป็นปณิธานของกลุ่มคนที่ปลุกเร้าเพื่อให้เกิด “color revolutions”[2] ล้วนแล้วแต่เป็นภารกิจของคนโง่ แถมอันตรายด้วย นี่เราลืมบทเรียนเรื่องวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาไปแล้วหรือ?”

แม็ตล็อคไม่ได้คิดแบบนี้คนเดียว ข้อสรุปคล้ายๆ กันนี้เกี่ยวกับประเด็นที่เป็นรากเหง้าสาเหตุมีปรากฏอยู่ในบันทึกความจำของ William Burns ผู้อำนวยการซีไอเอ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัสเซียอีกคนหนึ่งในบรรดาที่มีอยู่น้อยคน จุดยืนที่แข็งกร้าวกว่าด้วยซ้ำของ [นักการทูต] George Kennan ได้รับการอ้างอิงถึงอย่างกว้างขวางในระยะหลัง โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากอดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม William Perry และจากนอกวงการนักการทูตก็คือนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้มีชื่อเสียง นั่นคือ John Mearsheimer และบุคคลอื่นๆ อีกหลายคน ซึ่งล้วนมีจุดยืนกระแสหลักทั้งนั้น

ไม่มีประเด็นไหนที่คลุมเครือ เอกสารภายในของสหรัฐฯ ที่วิกิลีกส์ปล่อยออกมา เปิดเผยให้รู้ว่า การที่ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกบุ่มบ่ามเสนอให้ยูเครนเข้าร่วมนาโต้ นำไปสู่การที่รัสเซียออกมากล่าวเตือนอย่างเฉียบขาดว่า จะไม่ยอมทนต่อการคุกคามทางการทหาร นี่เป็นเรื่องเข้าใจได้

อนึ่ง เราอาจลองพิจารณาแนวคิดประหลาดของ “ฝ่ายซ้าย” ที่ดูเหมือนวิพากษ์วิจารณ์ “ฝ่ายซ้าย” อยู่เสมอว่าตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ “สายตรงเครมลิน” ไม่มากพอ

ข้อเท็จจริงก็คือ กล่าวตามความสัตย์แล้ว เราไม่รู้หรอกว่าทำไมพวกเขาจึงตัดสินใจเช่นนั้น การตัดสินใจนั้นเกิดจากปูตินคนเดียวหรือเป็นการตัดสินใจของสภาความมั่นคงรัสเซียซึ่งปูตินแสดงบทบาทเป็นผู้นำ อย่างไรก็ตาม มีบางอย่างที่เรารู้อย่างค่อนข้างมั่นใจ รวมทั้งบันทึกที่กล่าวถึงในรายละเอียดบางอย่างของกลุ่มคนที่กล่าวอ้างถึงข้างต้นไปแล้ว ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงวงในของระบบการวางแผน กล่าวโดยสังเขปก็คือ วิกฤตการณ์ครั้งนี้หมักหมมมาแล้ว 25 ปี ตลอดเวลานั้นสหรัฐฯ ดูแคลนและไม่ยอมรับฟังความวิตกด้านความมั่นคงของฝ่ายรัสเซีย โดยเฉพาะเส้นสีแดงที่รัสเซียขีดไว้ชัดเจน นั่นคือ จอร์เจียและโดยเฉพาะยูเครน

มีเหตุผลที่ดีที่เชื่อได้ว่า โศกนาฏกรรมนี้ควรหลีกเลี่ยงได้จนกระทั่งนาทีสุดท้าย เราเคยอภิปรายเรื่องนี้มาก่อนแล้วหลายครั้ง ส่วนเหตุผลว่าทำไมปูตินถึงลงมือรุกรานเยี่ยงอาชญากรในขณะนี้ เราสามารถคาดเดาอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ แต่ภูมิหลังของเรื่องนี้ไม่มีอะไรคลุมเครือ บ่ายเบี่ยงได้ แต่โต้แย้งไม่ได้

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายว่า ทำไมผู้คนที่ต้องทุกข์ทรมานจากอาชญากรรมครั้งนี้อาจมองว่ามันเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ที่จะมาสืบสาวว่าทำไมมันจึงเกิดขึ้นและมันอาจหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าเราต้องการแก้ไขโศกนาฏกรรมใดๆ ในวิถีทางที่จะช่วยเหลือเหยื่อ และปัดเป่าหายนะภัยที่เลวร้ายกว่านี้ซึ่งตั้งเค้าอยู่ข้างหน้า วิธีการที่ฉลาดและจำเป็นก็คือต้องเรียนรู้ให้มากที่สุดว่าอะไรที่ดำเนินไปผิดพลาดและพึงแก้ไขวิถีทางนั้นๆ อย่างไร การแสดงออกแบบวีรบุรุษอาจสนองความพึงพอใจ แต่มันไม่ช่วยแก้ปัญหา

เช่นเดียวกับหลายๆ กรณีก่อนหน้านี้ ผมกำลังนึกถึงบทเรียนหนึ่งที่ผมเรียนรู้เมื่อนานมาแล้ว ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ผมเข้าร่วมในการประชุมที่ยุโรปกับตัวแทนสองสามคนของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ (หรือ “เวียดกง” ตามคำศัพท์ที่สหรัฐฯ ใช้เรียกพวกเขา) ตอนนั้นคือช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีกระแสเข้มข้นคัดค้านอาชญากรรมสยดสยองที่สหรัฐฯ กระทำในอินโดจีน คนหนุ่มสาวบางคนโกรธแค้นมากจนรู้สึกว่า มีแต่การตอบโต้ด้วยความรุนแรงเท่านั้นจึงจะเป็นปฏิกิริยาที่สมเหตุสมผลต่อความป่าเถื่อนที่พวกเขาได้รับรู้  อาทิ ต้องไปทุบกระจกที่ถนนเมน วางระเบิดที่ศูนย์ ROTC (ศูนย์ฝึกทหารกองหนุน) การทำอะไรน้อยกว่านี้มีค่าเทียบเท่ากับการสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมสงครามอันร้ายแรง แต่ชาวเวียดนามกลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาคัดค้านมาตรการแบบนี้อย่างแข็งขัน นำเสนอต้นแบบการประท้วงที่จะได้ผล กล่าวคือ ให้กลุ่มผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ ไปยืนสวดมนต์เงียบๆ ที่หลุมฝังศพของทหารอเมริกันที่สังเวยชีวิตในเวียดนาม ชาวเวียดนามไม่สนใจหรอกว่าทำอย่างไรให้ชาวอเมริกันที่คัดค้านสงครามรู้สึกว่าตัวเองยืนอยู่ข้างความถูกต้องและมีเกียรติ สิ่งที่ชาวเวียดนามต้องการคือการมีชีวิตรอด

นี่คือบทเรียนที่ผมได้ยินบ่อยๆ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากเหยื่อที่ต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสในซีกโลกใต้ ผู้ตกเป็นเป้าของการใช้ความรุนแรงของจักรวรรดินิยม นี่คือบทเรียนที่เราควรจำใส่ใจ ปรับมันไปตามสภาพการณ์แวดล้อม  สำหรับวันนี้ นั่นหมายถึงความพยายามที่จะเข้าใจว่าทำไมโศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นและควรทำอะไรบ้างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มันเกิดขึ้น อีกทั้งควรประยุกต์บทเรียนเหล่านี้ไว้ใช้ครั้งหน้าอย่างไร

คำถามนี้ลงลึก ในที่นี้คงไม่มีเวลาที่จะทบทวนเรื่องสำคัญอย่างยิ่งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าก็คือ ปฏิกิริยาต่อวิกฤตการณ์ทั้งที่เกิดขึ้นจริงหรือจินตนาการก็คือคว้าปืนมากกว่าก้านมะกอก มันเกือบเป็นปฏิกิริยาสะท้อนโดยอัตโนมัติ และผลที่ตามมามักร้ายแรง....สำหรับเหยื่อ มันคุ้มค่าเสมอในการพยายามทำความเข้าใจ คิดล่วงหน้าสองสามก้าวว่าผลที่ตามมาของการกระทำหรือการไม่กระทำนั้นน่าจะมีอะไรบ้าง ใช่ นี่คือความจริงที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่ก็ควรย้ำอีกครั้ง เพราะมันมักถูกมองข้ามไปง่ายๆ เมื่อไรก็ตามที่คนเราเกิดอารมณ์แรงกล้าอันชอบธรรม

ทางเลือกที่เหลืออยู่หลังจากการรุกรานยูเครนค่อนข้างมืดมน ทางเลือกที่แย่น้อยที่สุดคือสนับสนุนให้ใช้วิถีทางทางการทูตที่ยังเหลืออยู่ ด้วยความหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ห่างไกลนักจากสิ่งที่ควรทำสำเร็จเมื่อไม่กี่วันก่อน นั่นคือ การให้ยูเครนเป็นกลางตามแบบออสเตรีย สร้างข้อตกลงสักอย่างแบบข้อตกลงสหพันธรัฐ Minsk II[3] ภายในยูเครน  ตอนนี้คงบรรลุได้ยากกว่าเดิม รวมทั้งสิ่งที่จำเป็นก็คือ ช่องทางให้ปูตินเอาตัวรอด มิฉะนั้น ผลที่ตามมาจะร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมสำหรับยูเครนและคนอื่นทุกคน บางทีอาจร้ายแรงจนเกือบนึกฝันไม่ถึง

แม้ว่ามันห่างไกลจากคำว่า "ความยุติธรรม" มาก แต่ความยุติธรรมเคยมีในกิจการระหว่างประเทศตั้งแต่เมื่อไรกันล่ะ?  เราต้องมานั่งทบทวนสถิติอันโหดร้ายในอดีตกันอีกครั้งไหม?

คุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม ทางเลือกตอนนี้เหลือแค่ผลลัพธ์น่าเกลียดที่ให้รางวัลแทนที่จะลงโทษปูตินสำหรับปฏิบัติการรุกราน มิฉะนั้นก็มีความเป็นได้อย่างยิ่งที่จะเกิดสงครามขั้นร้ายแรง มันอาจรู้สึกสะใจถ้าได้ไล่ต้อนหมีจนมุม แล้วมันสู้กลับแบบจนตรอก ทำแบบนั้นก็ได้ แต่ไม่ฉลาด

ในขณะเดียวกัน เราควรทำทุกอย่างเพื่อให้การสนับสนุนที่มีความหมายแก่ผู้คนที่หาญกล้าปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนจากผู้รุกรานที่โหดเหี้ยม แก่ผู้คนที่หลบหนีจากความโหดร้าย และแก่ชาวรัสเซียหลายหมื่นคนที่หาญกล้าออกมาคัดค้านอาชญากรรมของรัฐตนเองอย่างเปิดเผย พวกเขากล้าเอาตัวเองออกมาเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง นี่คือบทเรียนสำหรับเราทุกคน

อีกทั้งเราควรพยายามหาหนทางช่วยเหลือเหยื่ออีกกลุ่มหนึ่งที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือ ทุกชีวิตบนโลก หายนะภัยครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่ประเทศมหาอำนาจทุกประเทศ อันที่จริงก็รวมพวกเราทุกคนด้วย จำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อควบคุมมหันตภัยครั้งใหญ่ของการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงแล้ว อีกทั้งยังเลวร้ายได้อีกมากในเวลาอีกไม่นาน หากไม่มีการพยายามลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในเวลาอันรวดเร็ว  องค์กร IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เพิ่งเผยแพร่รายงานการประเมินครั้งล่าสุดและจนถึงตอนนี้เป็นผลการประเมินครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยรายงานผลมาเป็นประจำว่า เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่หายนะอย่างรวดเร็วเพียงไร

ในขณะเดียวกัน ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาที่จำเป็นก็ค้างเติ่ง กระทั่งถดถอย เนื่องจากทรัพยากรที่จำเป็นอย่างยิ่งกลับทุ่มเทไปให้การทำลายล้าง มิหนำซ้ำโลกตอนนี้กำลังหันเหไปในทางที่จะขยายการใช้พลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงแหล่งพลังงานที่อันตรายที่สุดและมีมากมายให้เอามาใช้อย่างสะดวกด้วย นั่นคือ ถ่านหิน

คงไม่มีปิศาจร้ายตัวใดจะดลบันดาลให้เกิดความประจวบเหมาะที่พิลึกพิลั่นไปกว่านี้อีกแล้ว เราเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ไม่ได้  เวลาทุกชั่วขณะมีค่า

การรุกรานของรัสเซียเป็นการละเมิดมาตรา 2(4) ของกฎบัตรสหประชาชาติอย่างชัดเจน ซึ่งประเทศสมาชิกต้องละเว้นการคุกคามหรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตหรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใดๆ กระนั้นปูตินก็ยังพยายามอ้างความชอบธรรมทางกฎหมายต่อการรุกรานนี้ในคำปราศรัยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และรัสเซียยังอ้างกรณีโคโซโว อิรัก ลิเบียและซีเรียเป็นหลักฐานว่า สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศซ้ำซาก อยากให้คุณแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้ออ้างทางกฎหมายของปูตินในการรุกรานยูเครนและสถานะของกฎหมายระหว่างประเทศในยุคหลังสงครามเย็น

ไม่มีอะไรต้องพูดถึงความพยายามของปูตินที่จะอ้างความชอบธรรมทางกฎหมายให้การรุกรานของตน ความพยายามนั้นได้ผลเป็นศูนย์

แน่นอน เป็นเรื่องจริงที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศชนิดไม่กะพริบตา แต่นั่นไม่ใช่ข้อแก้ตัวให้อาชญากรรมของปูติน อย่างไรก็ตาม โคโซโว อิรักและลิเบียมีผลพัวพันโดยตรงต่อความขัดแย้งเกี่ยวกับยูเครน

การรุกรานอิรักคือตัวอย่างมาตรฐานของอาชญากรรมชนิดที่ทำให้พวกนาซีถูกแขวนคอที่นูเรมแบร์ก มันคือการรุกรานที่ไม่ได้เกิดจากการยั่วยุใดๆ เลย และเปรียบเสมือนการชกใส่หน้ารัสเซียด้วย

ในกรณีของโคโซโว การโจมตีของนาโต้ (ซึ่งหมายถึงการโจมตีของสหรัฐฯ) มีข้ออ้างว่า “ผิดกฎหมายแต่ชอบธรรม” (ตัวอย่างเช่น คำกล่าวอ้างของ International Commission on Kosovo ซึ่งมี Richard Goldstone นั่งเป็นประธาน) ด้วยเหตุผลว่า เราต้องทิ้งระเบิดเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ คำวินิจฉัยนั้นควรกลับหัวกลับหางลำดับเหตุการณ์เสียใหม่ มีหลักฐานท่วมท้นว่า คลื่นความรุนแรงเป็นผลพวงของการรุกรานต่างหาก มันเป็นสิ่งที่ทำนายได้ ทำนายไว้แล้ว คาดหมายไว้ล่วงหน้า ยิ่งกว่านั้น ทางเลือกที่จะใช้วิธีการทางการทูตก็มีอยู่ [แต่] ก็เหมือนเดิม ทางเลือกนั้นถูกมองข้ามเพื่อเลือกใช้ความรุนแรง

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกายืนยันว่า เป็นเพราะการถล่มใส่เซอร์เบียที่เป็นพันธมิตรของรัสเซียต่างหาก (โดยไม่แจ้งพวกเขาล่วงหน้าด้วยซ้ำ) ที่ทำลายความพยายามของฝ่ายรัสเซียที่จะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อสร้างระเบียบความมั่นคงให้ยุโรปยุคหลังสงครามเย็น ความถดถอยนี้ถูกซ้ำเติมด้วยการรุกรานอิรักและถล่มลิเบีย หลังจากรัสเซียยอมไม่วีโต้มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งนาโต้ก็ละเมิดทันที

ทุกเหตุการณ์ย่อมมีผลพวงตามมา อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงอาจถูกอำพรางภายในระบบความเชื่อฝังหัวบางอย่าง

สถานะของกฎหมายระหว่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลงในยุคหลังสงครามเย็น แม้แต่ถ้อยคำก็ไม่เปลี่ยน ไม่ต้องไปเอ่ยถึงการกระทำ ประธานาธิบดีคลินตันแสดงชัดเจนว่า สหรัฐฯ ไม่มีความตั้งใจจะยึดหลักกฎหมาย ลัทธิคลินตันประกาศว่า สหรัฐอเมริกาสงวนสิทธิ์ที่จะกระทำการ “ด้วยการตัดสินใจฝ่ายเดียวเมื่อจำเป็น” ซึ่งรวมถึง “การใช้อำนาจทางการทหารเพียงฝ่ายเดียว” เพื่อปกป้องผลประโยชน์สำคัญ เช่น “สร้างหลักประกันให้สามารถเข้าถึงตลาด แหล่งพลังงานและทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์โดยไม่ถูกขัดขวาง” ประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อๆ มาก็เหมือนกัน รวมทั้งใครก็ตามที่สามารถละเมิดกฎหมายโดยพ้นผิดลอยนวล

นี่ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายระหว่างประเทศไม่มีคุณค่า มันมีขอบเขตที่ใช้การได้อยู่ และมันเป็นบรรทัดฐานที่มีประโยชน์ในหลายแง่มุม

เป้าหมายของรัสเซียในการรุกรานยูเครนดูเหมือนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเซเลนสกีและแต่งตั้งรัฐบาลที่โปรรัสเซียขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ยูเครนกำลังเผชิญอนาคตที่ท้าทายถ้าตัดสินใจเป็นหมากตัวหนึ่งในเกมส์เชิงภูมิยุทธศาสตร์ของวอชิงตัน  ในบริบทนี้ เป็นไปได้แค่ไหนที่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะบีบให้รัสเซียเปลี่ยนจุดยืนของตนต่อยูเครน หรือว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น เช่น บ่อนเซาะอำนาจของปูตินภายในรัสเซียและบั่นทอนความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ เช่น คิวบา เวเนซุเอลา และถ้าเป็นไปได้ก็รวมถึงจีนด้วย?

ยูเครนอาจไม่ได้ตัดสินใจเลือกอย่างรอบคอบที่สุด แต่ยูเครนก็ไม่มีทางเลือกหลากหลายแบบเดียวกับพวกรัฐจักรวรรดินิยม ผมเกรงว่าการคว่ำบาตรจะผลักรัสเซียให้พึ่งพิงจีนมากขึ้นด้วยซ้ำ ยกเว้นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องเข้าใจว่ารัสเซียเป็นรัฐปิโตรเลียมโจราธิปไตยที่พึ่งพิงทรัพยากร รัสเซียต้องทรุดฮวบอย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นพวกเราจะพินาศกันหมด ยังไม่มีความชัดเจนว่าระบบการเงินของรัสเซียสามารถเอาตัวรอดผ่านการโจมตีอย่างแหลมคมหรือไม่ ไม่ว่าด้วยการคว่ำบาตรหรือวิธีการอื่น นี่ยิ่งมีเหตุผลให้เราจำใจต้องเสนอประตูทางรอดให้ปูติน

รัฐบาลตะวันตก พรรคฝ่ายค้านกระแสหลัก รวมทั้งพรรคเลเบอร์ในสหราชอาณาจักร รวมทั้งสื่อกระแสหลัก ล้วนเปิดหน้ารณรงค์ต่อต้านรัสเซียด้วยวิธีการแข็งกร้าว เป้าหมายที่โดนลูกหลงไม่ใช่แค่พวกอภิชนของรัสเซีย แต่รวมถึงนักดนตรี วาทยกรและนักร้อง กระทั่งเจ้าของทีมฟุตบอลเชลซีอย่างโรมัน อบราโมวิช หลังจากการรุกราน รัสเซียถูกแบนจากรายการประกวดเพลง Eurovision 2022 ตอนที่สหรัฐฯ รุกรานและทำลายอิรัก สื่อกระแสหลักและชุมชนระหว่างประเทศแสดงปฏิกิริยาอย่างเดียวกันต่อสหรัฐฯ หรือเปล่า?

คำพูดเสียดสีของคุณก็พอเหมาะพอเจาะแล้ว จะให้เราพูดเรื่องนี้จนเบื่อกันไปข้างหนึ่งก็ได้

คุณคิดว่าการรุกรานยูเครนจะเปิดศักราชของยุคใหม่ที่มีการแข่งขันกันสร้างอิทธิพลระหว่างรัสเซีย (และเป็นไปได้ที่อาจมีจีนเป็นพันธมิตร) กับตะวันตกหรือไม่?

ตอนนี้ยังยากจะบอกว่าเถ้าถ่านจะร่วงลงตรงไหน และคำพูดนี้สุดท้ายอาจไม่ใช่แค่คำอุปมาอุปไมย จนถึงตอนนี้ จีนยังลอยตัวและคงพยายามผลักดันโครงการขนาดใหญ่เพื่อดึงเอาพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกมาอยู่ภายใต้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนต่อไป เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน จีนก็เพิ่งรับเอาอาร์เจนตินาเข้ามาอยู่ภายในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง พร้อมกันนั้นก็นั่งบนภูดูคู่แข่งทำลายตัวเองไป

ดังที่เราอภิปรายมาก่อนหน้านี้ การแข่งขันกันสร้างอิทธิพลจะเปรียบเสมือนคำสั่งประหารแก่สิ่งมีชีวิตทั้งปวง โดยไม่มีผู้ชนะ ตอนนี้เราอยู่ตรงจุดพลิกผันสำคัญในประวัติศาสตร์มนุษย์  มันปฏิเสธไม่ได้ เพิกเฉยไม่ได้

 

[1] รีสอร์ทของโดนัลด์ ทรัมพ์

[2] Color Revolutions เป็นคำเรียกขบวนการประท้วงและหลายขบวนการประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่เคยอยู่ในสหภาพโซเวียต ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 อาทิ อดีตประเทศยูโกสลาเวีย จอร์เจีย ยูเครน คีร์กิซสถาน เป็นต้น

[3] Minsk II Agreement คือข้อตกลงระหว่างเคียฟกับยูเครนเพื่อแก้ปัญหาการพยายามแยกตัวของแคว้น Donetsk และ Luhansk ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ถึงแม้มีการหารือพูดคุยกัน แต่เงื่อนไขต่างๆ ไม่มีการนำไปปฏิบัติ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net