Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส (1787-1789) มีการชูชุดคำขวัญ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” หรือ“Liberté, Égalité, Fraternité”  โดยคำว่า “Fraternité” แปลเป็นภาษาอังกฤษแบบตรงตัวว่า “fraternity” หรือ “brotherhood” ซึ่งหมายถึง “ความเป็นพี่น้อง” แต่ในอีกความหมาย “ภราดรภาพ” คือ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” หรือ “solidarity” ในภาษาอังกฤษ

จากคำขวัญนี้ เรามักคิดว่า ภราดรภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเสรีภาพและเสมอภาค แต่ในทางทฤษฎีและปฏิบัติเป็นไปได้ว่าจะมีภราดรภาพในกลุ่มผู้คนหรือสังคมที่ไม่ได้คิดถึงเสรีภาพและเสมอภาคเลย 

เช่น รัฐศาสนายุคกลางหรือปัจจุบันบางแห่ง ก็ย่อมจะเน้นความเป็นพี่เป็นน้องหรือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้คนที่มีอัตลักษณ์ทางศาสนาแบบเดียวกัน แม้คัมภีร์ของบางศาสนาจะสอนให้ “รักเพื่อบ้านเหมือนรักตัวเอง หรือจงให้อภัยแก่ศัตรู” ราวกับว่าเรารู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกับคนทั้งโลกได้จริง หรือสามารถจะมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับศัตรูได้ แต่ความจริงก็คือ ภราดรภาพมีได้เพียงภายในกลุ่มศาสนานั้นเท่านั้น พวกนอกรีตคือศัตรูที่ต้องขจัด ครั้นศาสนานั้นแตกเป็นหลายนิกาย ระหว่างนิกายต่างๆ ก็หาได้มีภราดรภาพต่อกันไม่ สงครามระหว่างนิกายศาสนาที่ยาวนานคือหลักฐานฟ้องว่าศัตรูไม่ใช่พี่น้องที่ควรอภัยดังที่คัมภีร์สอน

ลัทธิเผด็จการนาซีก็ย่อมเน้นเอกภาพและภราดรภาพภายใน ขณะที่เหี้ยมโหดต่อผู้คนที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม แม้แต่บรรดานักปฏิวัติผู้ชูคำขวัญ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ก็ย่อมเน้นภราดรภาพในบรรดาผู้มีอุดมการณ์ปฏิวัติแบบเดียวกันเท่านั้น พวกกษัตริย์ ขุนนาง ศาสนจักรหรือนักบวชในเครือข่ายอำนาจเก่า และพวกต่อต้านการปฏิวัติทั้งหลายคือศัตรูที่ต้องประหารด้วยกิโยติน

แสดงว่าความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องหรือการมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันยึดโยงอยู่กับ “คุณค่าแกนกลาง” (core values) บางอย่างที่กลุ่มคน มวลชน สังคม หรือรัฐนั้นๆ ยึดถือร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นคุณค่าในนามอัตลักษณ์ทางศาสนา วัฒนธรรม หรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้ 

ในสังคมประชาธิปไตยที่มีผู้คนหลากหลายศาสนาและวัฒนธรรม มีความแตกต่างทางความคิดความเชื่อ ภราดรภาพก็ย่อมยึดโยงกับ “คุณค่าแกนกลาง” ของระบอบประชาธิปไตย คือเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความอดกลั้น และอำนาจอธิปไตยของประชาชน 

พูดอีกอย่างคือ ในสังคมประชาธิปไตยผู้คนมีความคิดความเชื่อหลากหลาย มีทั้งที่มีเหตุผลและสอดคล้องกัน หรือต่างก็มีเหตุผลแต่ขัดแย้งกัน และความคิดความเชื่อที่มีเหตุผลต่างๆ นั้นก็อาจมีทั้งที่สอดคล้องและขัดแย้งกับคุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังอาจจะมีความคิดความเชื่อที่ไร้เหตุผลหรือบ้าๆ บอๆ อีกด้วย ซึ่งความคิดความเชื่อทั้งหลายเหล่านั้นย่อมได้รับประกันให้มีเสรีภาพในการแสดงออกตราบที่ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น 

ถึงตรงนี้ “ความอดกลั้น” (tolerance) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งบทบาทนี้มีความหมายตามประโยคอมตะที่ว่า “ถึงฉันจะเกลียดสิ่งที่คุณพูดมากเพียงใด แต่ก็ขอปกป้องสิทธิที่จะพูดของคุณด้วยชีวิต” ซึ่งมีความหมายด้วยว่าแม้เราจะมีความคิดเห็นต่างกันพียงใด แต่เราก็จะปกป้องเสรีภาพร่วมกัน สำนึกเช่นนี้ก็คือ สำนึกในภราดรภาพหรือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการปกป้องคุณค่าแกนกลางของประชาธิปไตยร่วมกัน แม้ว่าผู้คนในสังคมประชาธิปไตยจะมีความคิด ความเชื่อแตกต่างกัน ขัดแย้งกัน กระทั่งเกลียดความคิดความเชื่อบางอย่างของกันและกันก็ตาม

นี่คือเหตุผลที่ทำไมมิลล์ (John Stuart Mill) จึงเสนอว่า “ไม่ควรมีกฎหมายห้ามหมิ่นศาสนา” ซึ่งเท่ากับถือว่า การหมิ่นศาสนาเป็นเสรีภาพในการพูด ยกเว้นกรณีที่เป็นการทำอันตรายต่อผู้อื่น เช่น การใช้วาทะเกลียดชัง (hate speech) ต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาที่ทำให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ จนต้องลาออกจากงาน หรือลาออกจากโรงเรียน เป็นต้น แต่โดยทั่วไปแล้วการพูด การแสดงออกเกี่ยวกับศาสนาใดๆ ที่ขัดกับความเชื่อส่วนบุคคลของบางคน หรือความเชื่อของคนส่วนใหญ่ แม้จะถูกมองว่าเป็นการหมิ่นศาสนา ก็ย่อมเป็นเสรีภาพในการพูด การแสดงออก ที่รัฐหรือสังคมจะเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ หากใครไม่ชอบการพูดหรือพฤติกรรมเช่นนั้น ก็ควรโต้ตอบด้วยการวิจารณ์ แนะนำเพื่อเปลี่ยนความคิดเขา หรือไม่ก็ต่างคนต่างอยู่ นี่คือความหมายว่าเราควรมีความอดกลั้นเพื่อรักษาเสรีภาพร่วมกัน

สำหรับมิลล์ เป็นเรื่องปกติที่เราควรอดกลั้นต่อสิ่งที่เราไม่ชอบ ซึ่งการอดกลั้นไม่ได้แปลว่าเราวิจารณ์หรือด่าการกระทำหรือพฤติกรรมที่เราไม่ชอบไม่ได้ แต่หมายถึง เราใช้กฎหมายหรืออำนาจโดยพลการใดๆ ไปห้ามการกระทำ การพูด หรือพฤติกรรมที่เราไม่ชอบไม่ได้ เช่น ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพที่จะใช้ชีวิตในแบบที่เขาเห็นว่าดีสำหรับตน แม้คนอื่นๆ อาจเห็นว่าโง่เขลาหรือผิดก็ได้ หรือเขาอาจมีวิถีชีวิตตามอัตลักษณ์ทางศาสนาในแบบที่คนอื่นๆ อาจมองว่าไม่มีเป็นอิสระ (unfree) ก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า สังคมควรยอมรับการใช้ชีวิตตามอัตลักษณ์ทางศาสนาภายใต้อำนาจ “ศาลศาสนา” ที่บังคับศรัทธาของประชาชน หมายเฉพาะวิถีชีวิตตามอัตลักษณ์ทางศาสนาของชุมชนผู้ศรัทธา หรือกลุ่มศาสนาหนึ่งๆ โดยที่ปัจเจกบุคคลในกลุ่มศาสนาหรือชุมชนผู้ศรัทธานั้นๆ ยังมีเสรีภาพที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตตนเองได้ แม้ขัดกับความเชื่อของกลุ่มหรือชุมชนที่เขาหรือเธอสังกัด แปลว่าภายในกลุ่มศาสนาและชุมชนผู้ศรัทธาเอง ก็ควรมีความอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพเลือกวิถีชีวิตที่แตกต่างจากกลุ่มหรือชุมชนด้วยเช่นกัน

แต่มิลล์เห็นว่า สังคมไม่ควรอดกลั้นต่อการค้าทาส เพราะเท่ากับยอมรับการละเมิดหรือทำลายเสรีภาพ เราจึงไม่สามารถจะมีภราภรภาพหรือมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพวกค้าทาส ล็อก (John Locke) ก็ยืนยันว่าเราไม่ควรอดกลั้นต่อรัฐบาลที่ทำลายหลักสิทธิตามธรรมชาติของประชาชน แต่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่จะต่อสู้ล้มล้างรัฐบาลเช่นนั้น 

เช่นเดียวกันในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนต้องไม่มีความอดกลั้นต่อเผด็จการที่ทำรัฐประหาร และยิ่งต้องไม่มีภราดรภาพกับพวกเขา เพราะเท่ากับยอมรับ สนับสนุน และมีความเป็นพี่เป็นน้อง หรือมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพวกโจรที่ปล้นทุกสิ่งทุกอย่างจากเราไป

แต่ความเป็นจริงในบ้านเรา ภายใต้การปกครองที่นิยามความหมายไม่ได้ รัฐเรียกร้องความรู้รักสามัคคี ไม่แตกแยก แต่รัฐประหลาดนี้ไม่เคยอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพทางความคิดเห็น การแสดงออกของประชาชนผู้จงรักภักดีต่อประชาธิปไตย! 

รัฐประหลาดนี้สร้างนักโทษ 112 ที่เป็น “นักโทษทางความคิด” ทำให้เราไม่สามารถจะมีภราดรภาพท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลายทางความคิดความเชื่อได้ หรือทำให้เราไม่สามารถจะมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการรักษาและป้องป้องคุณค่าแกนกลางของประชาธิปไตยร่วมกันได้จริงในทางปฏิบัติ ต้องทะเลาะขัดแย้งกันเองบนกติกาที่ไม่ฟรีและแฟร์ตลอดมา
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net