Skip to main content
sharethis

หลังซอมินทุน โฆษก SAC หรือสภาทหารพม่า แสดงจุดยืนข้างรัสเซียในสงครามบุกยูเครน สวนทางกับ ปชช.ที่เดินขบวนสนับสนุนยูเครน แม้ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานจาก UN ว่า ยูเครนเคยขายอาวุธให้กองทัพพม่าช่วงก่อนรัฐประหาร 1 ก.พ. 64

 


สืบเนื่องจากที่รัฐบาลมอสโกสั่งกองกำลังบุกประเทศยูเครนเมื่อ 24 ก.พ. 65 พลตรี ซอมินทุน โฆษกแห่งสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Radio Free Asia (RFA) ประจำพม่า เมื่อ 26 ก.พ. 65 ประกาศจุดยืนหนุนการบุกยูเครนของรัสเซีย และกล่าวชมว่า เป็นความพยายาม ‘เพื่อให้มั่นใจว่าโลกจะมีสันติภาพ’    

“เบื้องต้น เรามองว่านี่เป็นความพยายามรวมอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเป็นหนึ่งเดียว… ประการที่ 2 มัน (ผู้สื่อข่าว - การบุกยูเครน) แสดงให้เห็นว่ารัสเซียเป็นกองกำลังที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลของอำนาจ เพื่อสร้างสันติภาพของโลก” ซอมินทุน โฆษก SAC กล่าวกับ RFA พม่า

ความเคลื่อนไหวของกองทัพพม่าต่อกรณียูเครน สะท้อนความสัมพันธ์อันดีของ 2 ประเทศ และก่อนหน้านี้ แอนดริวส์ โทมัส ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN) เผยผ่านรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเมียนมา ประจำเดือน ก.พ. 65 ว่า รัสเซียหนึ่งในประเทศสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ร่วมกับ จีน ที่ค้าอาวุธกับกองทัพพม่าหลัง พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 1 ก.พ. 64 

“แม้ว่าจะมีหลักฐานว่ากองทัพเผด็จการพม่ากระทำอาชญากรรมความรุนแรงต่อพลเรือนโดยไม่ต้องรับโทษตั้งแต่ทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว (2564) รัสเซีย และจีน สองสมาชิกถาวรสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ยังคงตระเตรียมยุทโธปกรณ์ให้กองทัพเผด็จการพม่าอย่างต่อเนื่อง อาทิ เครื่องบินเจ็ตหลายรายการ ยานยนต์หุ้มเกราะ และในกรณีของรัสเซีย มีการให้คำมั่นที่จะส่งอาวุธให้กองทัพพม่าเพิ่มในอนาคตอีกด้วย ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศเซอร์เบียอนุญาตให้มีการส่งออกจรวด และปืนใหญ่ ให้กองทัพพม่า” ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ระบุ

จากภาพแผนผังของผู้รายงานพิเศษ UN เผยรายการที่รัสเซียจำหน่ายอาวุธสงครามให้กับกองทัพเมียนมาหลังรัฐประหาร มีรายนามดังนี้ เมื่อ ธ.ค. 64 - รัสเซียจำหน่ายเครื่องบินรบแบบเบา รุ่น Yak-130 จำนวน 6 ลำ และเมื่อ ม.ค. 65 - โดรนตรวจการณ์เอนกประสงค์ รุ่น Orlan-10E ไม่ทราบจำนวน อากาศยานสู้รบ รุ่น Su30MK ไม่ทราบจำนวน ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 และยานยนต์หุ้มเกราะ รุ่น BRDM-2MS ไม่ทราบจำนวน 

ภาพแผนผังประเทศต่างๆ ที่ส่งออกอาวุธสงครามให้กับกองทัพพม่า ระหว่างปี 2561-หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร จากรายงานผู้รายงานพิเศษแห่ง UN (ภาพจาก UNHCR)

หากย้อนไปเมื่อ มิ.ย. ปีที่แล้ว ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลมอสโก และรัฐบาลปักกิ่ง สองสมาชิกถาวรสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เป็นหนึ่งใน 36 ประเทศที่งดออกเสียง มติห้ามขายอาวุธให้กองทัพพม่าอีกด้วย และก่อนหน้านี้ไม่นาน เมื่อประมาณ 28 ม.ค.-16 ก.พ. 65 สำนักข่าวพม่า ‘อิรวดี’ เคยรายงานว่า คณะผู้แทนกองทัพรัสเซีย 24 คน อยู่ในระหว่างการเยือนเมียนมา โดยจำนวนนี้มีนักบินกองทัพอากาศเดินทางมาด้วย แต่ยังไม่ทราบว่ามาด้วยวัตถุประสงค์อันใด แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้กองทัพพม่าเพิ่งได้รับมอบอาวุธสงครามหลายรายการจากรัสเซีย รวมถึงที่ผ่านมา นักบินรัสเซียเคยช่วยกองทัพพม่าฝึกฝนด้านการบิน รวมถึงบำรุงรักษาและยกระดับเครื่องบินรบที่ฐานทัพอากาศเมะทีลา ในเมืองมัณฑะเลย์ อยู่บ่อยครั้ง  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ชาวพม่าหันหลังให้หมีขาว

แม้ในรายงานผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ระบุด้วยว่า ยูเครน เป็นหนึ่งประเทศคู่ค้าอาวุธสงครามกับกองทัพพม่า นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงก่อนการทำรัฐประหาร 2564 แต่นักการเมืองรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และประชาชนเมียนมาบางส่วน มีความเห็นต่อกรณีหมีขาวบุกยูเครนในมุมมองที่แตกต่างจากกองทัพพม่า 

เมื่อ 27 ก.พ. 65 ชาวพม่านับสิบคนในหลายเมือง เช่น ย่างกุ้ง ทวาย และอื่นๆออกมาแสดงจุดยืนอยู่ข้างยูเครน และคัดค้านการโจมตีของรัสเซีย โดยผู้ประท้วงเยาวรุ่นมีการถือป้ายสนับสนุนประชาธิปไตย และธงชาติยูเครน เดินประท้วงแฟลชม็อบบนถนน 

ภาพวัยรุ่นทวาย ประเทศเมียนมา ชูป้ายสนับสนุนยูเครน เมื่อ 27 ก.พ. 65 (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก Democracy Movement Strike Committee-Dawei)

ชาวพม่าหลายคนมองว่า การจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของชาวยูเครนเพื่อปกป้องประเทศและการต่อสู้ของชาวพม่าต่อกองทัพมีความเหมือนกัน และพวกเขามีศัตรูคนเดียวกันอีกด้วย เนื่องจากสำหรับยูเครน คือ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และประชาชนพม่า ปูตินคือพันธมิตรอันเหนียวแน่นของมินอ่องหล่าย ผู้ซึ่งให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แก่กองทัพพม่า

เรย์มอนด์ สมาชิก “Democracy Movement Strike Committee” ชูสามนิ้ว และกล่าวผ่านวิดีโอว่า ขบวนการต่อต้านกองทัพพม่า หรือรู้จักในนาม “การปฏิวัติผลิบาน” (Spring Revolution) รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาวยูเครนที่กำลังถูกโจมตี

“เราได้รับแรงบันดาลใจจากสงครามยูเครนในการปกป้องประชาธิปไตย เช่นเดียวกับพวกเขา การปฏิวัติผลิบานแห่งเมียนมา (Spring Revolution) จะสู้ต่อไปเพื่อเสรีภาพจนกว่าเราจะชนะ” เขากล่าวในคลิปวิดีโอ ซึ่งเบื้องหลังเขามีเยาวรุ่นกำลังถือแผ่นป้ายปรากฏข้อความว่า “Glory to Ukraine” (ชัยชนะแด่ยูเครน) และ “Putin must fail” (ปูตินต้องพ่ายแพ้) 

เขากล่าวด้วยว่า หากปูตินสามารถชนะสงครามเหนือยูเครนได้ มันจะส่งผลต่อกำลังใจของเผด็จการทหารพม่า และศัตรูของประชาธิปไตยที่อื่นๆ 

“โลกเป็นสถานที่ที่น่ากลัวมากตอนนี้ แต่เราต้องรวมกัน และเมื่อประชาชนสามัคคี เราจะสามารถเอาชนะได้ทุกอย่าง” เรย์มอนด์ กล่าว พร้อมตะโกนว่า “Slava Ukraine ประชาธิปไตยต้องชนะ”

ในรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า วัยรุ่นชาวกะฉิ่นหลายสิบคนออกมาเดินขบวนบนถนน เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนยูเครน ผู้เข้าร่วมบางคนวาดธงชาติยูเครนบนใบหน้า ขณะที่คนอื่นๆ ถือป้ายปรากฏข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “Save Ukraine” และ “Stop War” 

ขณะที่ ดูหว่าละชิละ ประธานาธิบดีรักษาการแห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงา และกำลังช่วงชิงบทบาทการนำประเทศจากกองทัพพม่า โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย “ทวิตเตอร์” ประณามรัฐบาลมอสโกโจมตีประเทศยูเครน

“เราขอประณามการโจมตีประเทศยูเครนโดยปราศจากการยั่วยุ อันเป็นการกัดกร่อนทำลายกฎบัตรของสหประชาชาติ (UN) และกฎหมายระหว่างประเทศ เราขอภาวนาถึงชาวยูเครน ซึ่งพวกเขากำลังเผชิญความเจ็บปวดจากการรุกรานอันไร้ความชอบธรรมนี้” ดูหว่าละชิละ โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์

อ้างอิงรายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ระบุว่า ตั้งแต่ 1 ก.พ. 64 จนถึง 26 ก.พ. 65 มีประชาชนชาวพม่าเสียชีวิตจากการกดปราบอย่างต่ำ 1,580 ราย และถูกจับกุมอีกอย่างต่ำ 12,300 ราย

 

 

แปลและเรียบเรียง

Views of Russian invasion of Ukraine mirror divide in strife-torn Myanmar

Myanmar Democracy Activists Hold Rallies in Support of Ukraine

New report reveals weapons transfers to military junta by UN Member States

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net