Skip to main content
sharethis

ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์รัสเซีย รวมถึงสื่อหลัก เผยแพร่ข้อมูลเท็จและบิดเบือนในเชิงจัดฉากโจมตีฝ่ายตรงข้าม (false flag) เช่น การเผยแพร่รูปภาพอ้างว่ายูเครนเป็นผู้ก่อเหตุคาร์บอมบ์และการโจมตีด้วยอาวุธเคมี ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ ทางการยูเครนและชาติตะวันตกออกมาเตือนว่ารัสเซียอาจจะกำลังพยายามสร้างข้ออ้างหาความชอบธรรมเพื่อการก่อสงครามหรือบุกยูเครน

23 ก.พ. 2565 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ของทางการยูเครนออกมาเตือนว่าทางการรัสเซียอาจกำลังพยายามชักใยสื่อให้นำเสนอเรื่องเพื่อสร้างความชอบธรรมในการรุกรานยูเครน หลังจากที่วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียบอกว่าได้ถอนกำลังทหารบางส่วนออกจากบริเวณใกล้ชายแดนยูเครนแล้ว แต่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และหน่วยข่าวกรองยูเครนระบุว่ากองทัพรัสเซียยังคงวางกำลังใกล้ชายแดนยูเครน

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ยังตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ. ที่ผ่านมา สื่อของรัสเซียเริ่มเผยแพร่วิดีโอหลายชุดที่เข้าข่ายการจัดฉากกล่าวหาว่าชาวยูเครนโจมตีพื้นที่โดเนตสก์และลูฮันสก์ หรือภูมิภาคดอนบัส ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน จนทำให้ต้องอพยพพลเรือนจำนวนมากออกจากพื้นที่ ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2565 สำนักข่าว The Sydney Moring Herlad ของออสเตรเลียรายงานโดยอ้าง The New York Times ของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรป (European Expert Association) ออกรายงานฉบับใหม่ โดยรายงานฉบับนั้นระบุว่าพบข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและข้อมูลเท็จจำนวนหนึ่งถูกปล่อยออกมาในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อกระแสหลักของรัสเซียในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้เชี่ยวชาญจึงคาดว่าอาจเป็นการเตรียมการเพื่อปฏิบัติการบางอย่าง หรือเพื่อช่วยสร้างความชอบธรรมให้กองทัพรัสเซียบุกยูเครน

"วาทศิลป์ของแหล่งข่าวที่สนับสนุนรัสเซียเริ่มแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ" มาเรีย อัฟดีวา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจากสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านยุโรปกล่าว

วิดีโออ้างยูเครนก่อวินาศกรรม ใช้ตัดต่อเสียงจากวิดีโอซ้อมรบฟินแลนด์ตั้งแต่ปี 2553

ตัวอย่างกรณีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จในสื่อและโซเชียลมีเดียของรัสเซียคือในวันที่ 18 ก.พ. 2565 กลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียเผยแพร่วิดีโอที่อ้างว่ายูเครนพยายามก่อวินาศกรรมทำลายถังเก็บคลอรีนใกล้กับแหล่งบำบัดน้ำเสียเมืองกอร์ลอฟสกาแต่กองกำลังของพวกเขาสามารถสกัดกั้นเอาไว้ได้และกลุ่มติดอาวุธได้วิดีโอนี้มาจากร่างของชาวยูเครนที่พูดภาษาโปแลนด์

ต่อมา เอเลียต ฮิกกินส์ นักข่าวพลเมืองชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งเว็บข่าวสืบสวนสอบสวนสำหรับนักข่าวพลเมือง Bellingcat ทวีข้อความในทวิตเตอร์ของเขาเพื่อวิเคราะห์ว่าวิดีโอนี้เป็นข้อมูลจัดฉากเพื่อใส่ร้ายยูเครน เพราะมีคนตรวจพบว่าเมตาดาตา (metadata) หรือรายละเอียดข้อมูลของวิดีโอนี้ระบุว่าถ่ายทำไว้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. และอยู่ในโฟลเดอร์เก็บข้อมูลที่สร้างขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. นอกจากนี้ยังพบว่าไฟล์ข้อมูลนี้มีรายละเอียดจากไฟล์อื่นเพราะมีการแยกตัดต่อระหว่างภาพเคลื่อนไหวกับเสียงออกจากกัน

ฮิกกินส์ชี้ว่าวิดีโอนี้มีการตัดต่อเพิ่มเติมภาพวิดีโอและเสียงจากไฟล์อื่นเพิ่มเข้าไป จากการสืบค้นชื่อไฟล์ทำให้เขาพบว่าวิดีโอของกลุ่มติดอาวุธใช้เสียงจากวิดีโอที่ชื่อ “M72A5 LAW and APILAS live fire” เผยแพร่ใน Youtube มาตั้งแต่ปี 2553 และวิดีโอนั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับการซ้อมรบของกองทัพฟินแลนด์ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับยูเครน

ฮิกกินส์วิเคราะห์และสรุปว่าการเผยแพร่วิดีโอดังกล่าวของกลุ่มติดอาวุธเป็นการพยายามสร้างเหตุแห่งสงคราม เพื่อให้กองทัพรัสเซียมีความชอบธรรมในการบุกยูเครน กลุ่มติดอาวุธได้เผยแพร่ข้อความเท็จด้วยการตัดต่อวิดีโอที่เรียกว่า 'ผู้ก่อวินาศกรรมที่พูดภาษาโปแลนด์' ทำการโจมตีแหล่งเก็บสารเคมีจนทำให้เกิดเหตุวินาศภัยสารเคมี ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อรัสเซียทำโฆษณาชวนเชื่อเผยแพร่ต่อ

 

 

สื่อสัญชาติรัสเซียหลายแห่ง เช่น TASS และ Ria Novosti ได้แพร่กระจายคลิปนี้ต่อในข่าวของพวกเขาโดยระบุว่าแผนการของผู้พยายามก่อวินาศกรรมไม่สำเร็จ ทั้งนี้ หน่วยงานข่าวกรองของยูเครนก็เคยเตือนไว้เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาว่า รัสเซียอาจจะพยายามอ้างใช้เรื่องเกี่ยวกับแหล่งเก็บสารเคมีมาเป็นข้ออ้างในการโจมตียูเครน

วิดีโอ "อพยพผู้คน" ถ่ายไว้ 2 วันก่อนหน้าวันที่อ้างว่ามีการอพยพด่วน

อีกหนึ่งวิดีโอที่เผยแพร่โดยกลุ่มติดอาวุธ คือวิดีโอการอพยพผู้คนจำนวนมากออกจากพื้นที่โดเนตสก์และลูฮันสก์ ซึ่งกลุ่มติดอาวุธอ้างว่าการอพยพเคลื่อนย้ายนี้เป็นคำสั่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยกะทันกันจากการที่วิดีโอนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 ก.พ. แต่ข้อมูลเมตาเดตาระบุว่าวิดีโอนี้ถ่ายไว้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. แล้ว แม้ผู้นำกลุ่มติดอาวุธจะอ้างว่ามีการอพยพด่วน "วันนี้" ซึ่งหมายถึงวันที่ 18 ก.พ. ก็ตาม

นักข่าวชี้คาร์บอมบ์เป็นภาพตัดแปะทะเบียนรถใส่รถอีกคัน

เจ้าหน้าที่กองกำลังติดอาวุธที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซียอ้างว่าในวันที่ 18 ก.พ. รถจี๊ปที่พวกเขาจอดไว้ใกล้กับอาคารรัฐบาลในเมืองโดเนตสก์เกิดระเบิดขึ้น แต่ในขณะนั้นไม่มีใครอยู่ในรถ ทางการโดเนตสก์กล่าวหาว่าเป็นเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน รถคันดังกล่าวนี้มีเจ้าของคือตำรวจของ ‘เดนิส ซิเนนคอฟ’ กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนโดเนตสก์

แต่ ทาเดอุซ กิคซาน หัวหน้ากองบรรณาธิการ Nexta สื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเบลารุส เขียนวิเคราะห์ผ่านงทวิตเตอร์ของเขาว่าภาพของรถหรูที่ผู้นำกองทัพกลุ่มติดอาวุธ DNR ใช้แตกต่างจากรถที่ถูกระเบิดที่ดูเก่ากว่า เล็กกว่า ไม่แพงเท่า ถึงจะมีเลขทะเบียนเดียวกันก็ตาม

เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดฉากคาร์บอมบ์ในครั้งนี้ โดยที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่าการประกาศเหล่านี้ของรัสเซียเป็นความพยายามใช้เรื่องโกหกและการกระจายข้อมูลเท็จเพื่อกลบเกลื่อนว่ารัสเซียเองที่เป็นผู้รุกรานในความขัดแย้งครั้งนี้

อ้างยูเครนพยายามทำลายสะพาน แต่ใช้วิดีโอเก่าปี 2561

ในลูฮันสก์ เจ้าหน้าที่อ้างว่าพวกเขาสามารถยับยั้งเหตุวินาศกรรมจากฝีมือของยูเครนไว้ได้โดยอ้างว่ายูเครนพยายามสังหารผู้หญิงและเด็กที่กำลังอพยพไปยังรัสเซีย พวกเขาอ้างว่ามีรถคันหนึ่งที่จอดอยู่ใต้สะพานทางรถไฟในหมู่บ้านซัมโซนอฟกาที่ใช้อพยพลำเลียงผู้คน ระเบิดดังกล่าวเทียบเท่ากับทีเอ็นที 200 กก. และมีรีโมทสั่งระเบิดจากระยะไกล

อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างนี้ก็น่าจะถูกตีตกว่าเป็นการจัดฉากอีกเช่นกัน หลังจากที่อเล็ก ลุห์น อดีตนักข่าวรัสเซียประจำสื่อเดลีเทเลกราฟ พบว่าเมตาดาตาของวิดีโอที่เสนอประกอบข่าว ระบุว่าวิดีโอดังกล่าวถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว และสิ่งที่น่าสงสัยอีกเรื่องหนึ่ง คือ เมตาดาตาของวิดีโอระบุว่าถ่ายทำไว้ในเดือน มิ.ย. แต่กลับมีฉากเป็นฤดูหนาว ซึ่งฤดูหนาวของประเทศซีกโลกเหนือนั้นมักจะสิ้นสุดในช่วงเดือน มี.ค.

ชาติตะวันตกเตือนปฏิบัติการ "จัดฉาก" ของรัสเซีย

เมื่อไม่นานนี้ ชาติตะวันตกเตือนให้ระวังเรื่องการที่รัสเซียจะใช้การจัดฉากสร้างข่าวปลอมเพื่ออ้างบุกโจมตียูเครน ในวันที่ 17 ก.พ. 2565 บอริส จอห์นสัน ให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษต่อกรณีการโจมตีโรงเรียนอนุบาลในภูมิภาคดอนบัส โดยจอห์นสันเชื่อว่านั่นคือการจัดฉากโจมตีฝ่ายตรงข้าม (Flase Flag) ขณะที่สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่าอันนาเลนา เบียร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีก็กล่าวในทำนองเดียวกัน ขณะประชุมร่วมกับโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ต่อมา ในวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ CBS ว่ารัสเซียมีแผนที่จะบุกยูเครน เห็นได้จากปฏิบัติการจัดฉากโจมตีฝ่ายตรงข้าม (flase flag) ที่เกิดขึ้นโดยคนรัสเซียหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน บลิงเคนไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการจัดฉากหรือเหตุยั่วยุนั้นเป็นเรื่องใด และในวันนี้เดียวกันนี้ สำนักข่าว U.S News รายงานว่า ดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียแถลงข่าวตอบโต้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตก โดยระบุว่าการปล่อยสร้างสร้างความตึงเครียดอาจสร้าง "ผลกระทบที่ไม่อาจย้อนกลับได้"

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net