Skip to main content
sharethis

รวยต้องรู้สึกเจ็บเท่ากัน ‘ก้าวไกล’ เล็งเสนอ ‘ระบบ Day-fine’ คิดค่าปรับตามรายได้ ผ่าน กมธ. ยกร่าง ‘พ.ร.บ.การปรับเป็นพินัย’ หวัง ‘คุก’ เป็นที่ขัง ‘อาชญากร’ ไม่ใช่ที่ขัง ‘คนจน’

21 ก.พ.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (21 ก.พ.65) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ… นัดแรก ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.เขต 28 บางแค กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.… ที่ผ่านวาระรับหลักการของสภา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื้อหาสาระสำคัญของร่างนี้ คือการเปลี่ยนโทษปรับสถานเดียว ทั้งทางอาญาและทางปกครอง มาเป็นโทษทางพินัย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโทษทางอาญาเฟ้อเกินความจำเป็น และยังไม่ต้องถูกบันทึกโทษทางอาชญากรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามรายมาตรา ยังเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีช่องโหว่ที่อาจก่อให้เกิด ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ระหว่างคนรวย-จน ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการลงโทษ เพราะร่างนี้ยังคงระบบค่าปรับแบบคงที่ (fixed sum fine) ทำให้คนจนและคนรวยได้รับผลกระทบ หรือความรู้สึกหนักเบาจากการได้รับโทษไม่เท่ากัน ดังนั้น ในชั้นกรรมาธิการยกร่างกฎหมาย จึงอยากเสนอวิธีคิดค่าปรับตามรายได้ (Day-Fine ) ไปใช้แทน ซึ่งเป็นระบบที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในยุโรป เช่น ฟินแลนด์,เยอรมนี และสวีเดน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะทำให้คุกเป็นเฉพาะที่ ‘ขังอาชญากร’ ที่แท้จริง ไม่ใช่ขังคนจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับหรือไม่มีเงินประกันตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงในกระบวนการยุติธรรมปัจจุบัน

“ผมได้ทำการเตรียมยื่นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … ต่อคณะกรรมาธิการซึ่งประชุมวันนี้เป็นวันแรก เป็นร่างที่ผมและทีมงาน ภายใต้ความช่วยเหลือของนักวิชาการหลายท่าน โดยเฉพาะนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้แก่ อาจารย์อานนท์ มาเม้า และอาจารย์อิสร์กุล อุณหเกตุ ที่ร่วมกันยกร่างขึ้นมาใหม่ โดยจะเริ่มตั้งแต่การปรับแก้ชื่อร่าง จาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … เป็น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยค่าปรับพลเมือง เนื่องจากคำว่า พินัย เป็นคำที่แทบจะตายไปจากระบบกฎหมายไทยและเข้าใจยาก การเสนอใช้คำว่าค่าปรับพลเมืองจึงเป็นชื่อที่เข้าใจง่ายและเป็นมิตรมากขึ้นกว่าเดิม”

สำหรับรายละเอียด ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ระบบวันปรับ (Day-fine system) หรือการกำหนดโทษปรับตามรายได้ของผู้กระทำผิด จะเพิ่มบทบัญญัติรายละเอียดเข้าไปในหมวด 1/1  วิธีการคำนวณค่าปรับจะคำนวณจากจำนวนวันปรับคูณด้วยรายได้วันปรับ และรายได้นั้น มาจาก :

(1) รายได้ที่หักภาษี (ภงด. ในปีล่าสุด) หารด้วย 365 

(2) อัตราค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่จังหวัดที่ได้มีการกระทำความผิด 

(3) รายได้วันปรับอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา 

โดยใช้จำนวนที่สูงที่สุดเท่าที่สามารถสืบหาได้ และมีกระบวนการสืบที่เป็นธรรม ซึ่งหมายความว่าผู้ที่มีรายได้เยอะก็จะถูกปรับในจำนวนค่าปรับที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย 

“การกระทำแบบนี้จะเป็นการลงโทษทางจิตวิทยาที่ทำให้บุคคลผู้มีรายได้เยอะ รู้สึกเจ็บเท่ากับผู้ที่มีรายได้น้อย จะช่วยป้องปรามการกระทำผิดในความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวได้ โดยเรื่องนี้สามารถอ้างอิงจากผลวิจัยต่างๆที่ได้อภิปรายไปแล้วในวาระรับหลักการ เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมเรื่องนี้ แม้จะเป็นมุมเล็กๆ แต่ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เคยเป็นช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมได้ จึงอยากฝากให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามผลักดัน รวมถึงคณะกรรมาธิการและเพื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อยากชวนให้มาร่วมกันทำกฎหมายนี้ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ประชาชนจะจดจำผลงานของสภาชุดที่พวกเราทำงานได้” ณัฐพงษ์ ระบุ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net