Skip to main content
sharethis

The Economist เผยดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2564 ไทยอยู่อันดับที่ 72 จาก 167 ประเทศ ยังคงเป็น 'ประชาธิปไตยบกพร่อง (flawed democracy)' เกือบตกไปอยู่ในประเภท 'ระบอบลูกผสม (hybrid regime)' อยู่อันดับ 5 ของอาเซียน ตามหลังมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์


ที่มาภาพ: The Economist

19 ก.พ. 2565 นิตยสาร The Economist เผยดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2564 ไทยอยู่อันดับที่ 72 จาก 167 ประเทศ ยังคงเป็น “ประชาธิปไตยบกพร่อง (flawed democracy)” เกือบตกไปอยู่ในประเภท “ระบอบลูกผสม (hybrid regime)” ปัจจุบันอยู่อันดับ 5 ของอาเซียน ตามหลังมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 

ดัชนีประชาธิปไตยระบุว่าประเทศไทยได้ 6.04 จาก 10 คะแนนเท่ากับปีที่แล้วโดยตัวเลขนี้ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีการเลือกตั้งและได้คะแนน 6.32 คะแนน 

ตั้งแต่การเลือกตั้ง 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยจัดอยู่ในประเภท “ประชาธิปไตยบกพร่อง” ซึ่งดีขึ้นกว่าช่วงการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ไทยจัดอยู่ในประเภท “ระบอบลูกผสม” 

อย่างไรก็ตาม คะแนนในปี 2563 และ 2564 พบว่าประเทศไทยเกือบตกไปสู่การเป็นระบอบการปกครองแบบผสมอีกครั้ง โดยห่างจากการตกไปอยู่ในประเภทดังกล่าวเพียง 0.05 คะแนน

ดัชนีประชาธิปไตยนี้จัดทำโดย EIU ซึ่งเป็นบริษัทลูกของนิตยสาร The Economist การวัดระดับประชาธิปไตยตามดัชนีนี้ดูปัจจัยพื้นฐาน 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่ กระบวนการและความเป็นพหุนิยมของระบบเลือกตั้ง การทำงานของรัฐบาล การมีส่วนร่วมทางการเมือง วัฒนธรรมประชาธิปไตย และเสรีภาพของพลเมือง 

เมื่อเทียบกับในอาเซียนด้วยกันจะพบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 ตามหลังมาเลเซีย (อันดับ 39) อินโดนีเซีย (อันดับ 52) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 54) และสิงคโปร์ (อันดับ 66) แต่ยังนำหน้าเวียดนาม (อันดับ 131) กัมพูชา (อันดับ 134) ลาว (อันดับ 159) และพม่า (อันดับ 166) ส่วนบรูไนไม่พบข้อมูลในดัชนี

ประเทศ3 อันดับสุดท้ายของดัชนี ได้แก่ เกาหลีเหนือ (อันดับที่ 165) ตามมาด้วยพม่าที่อยู่ในสถานการณ์ของการรัฐประหาร และอัฟกานิสถานอยู่อันดับสุดท้ายหลังการกลับสู่อำนาจของรัฐบาลตาลิบัน ขณะที่ประเทศ 3 อันดับแรกได้แก่ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ และฟินแลนด์ 

ปัจจุบันมีประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์เพียง 6.4% เท่านั้น คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกในปี 2564 ลดลงจาก 5.37 เป็น 5.28 หากนับตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา จะพบว่าปี 2564 คะแนนตกต่ำเทียบเท่ากับปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤติการณ์ทางการเงิน และเป็นปีที่ 2 ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย 

มาตรการยับยั้งโรคระบาดภาคบังคับของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ก่อให้เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ในสังคม ดังจะเห็นได้จากกระแสการประท้วงต่อต้านมาตรการควบคุมโรคระบาด และขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในยุโรปและอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม The Economists วิเคราะห์ว่าภัยคุกคามสำคัญต่อโมเดลประชาธิปไตยของตะวันตกหลังจากนี้ คือการขึ้นมาของจีนซึ่งปัจจุบันมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาภายใน 10 ปีจากการคาดการณ์ของ EIU 

ภูมิภาคที่ประชาธิปไตยถดถอยมากที่สุดในปี 2564 คือละตินอเมริกา แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ผู้นำขวาจัดกลับมีพลังและเป็นภัยต่อประชาธิปไตยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คอสตาริกาที่ยกเลิกกองทัพไปแล้วมีสถานการณ์แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านโดยสิ้นเชิง โดยในปี 2564 มีค่าดัชนีประชาธิปไตยอยู่อันดับที่ 21 


ที่มา
Daily chart A new low for global democracy (The Economist, 9 February 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net