Skip to main content
sharethis

ประชาชนชาวยูเครนหลายพันคนชุมนุมท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเหน็บในกรุงเคียฟเพื่อต่อต้านการคุกคามของรัสเซีย หลังรัสเซียเสริมกำลังประชิดชายแดนเพื่อซ้อมรบ ขณะเดียวกันประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวระหว่างพบนายกรัฐมนตรีเยอรมนียืนยันว่าต้องการเข้าร่วมนาโต้

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ที่มา: Wikipedia/แฟ้มภาพ

14 ก.พ. 65 ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวในวันจันทร์นี้ ยืนยันว่ายูเครนต้องการเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO แม้ว่ารัสเซียจะคัดค้าน และมีชาติตะวันตกบางชาติสงสัยในความพยายามของยูเครนที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิก NATO

ทั้งนี้เซเลนสกี กล่าวกับ กับนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ ระหว่างการเยือนกรุงเคียฟวันนี้ว่า เขาเชื่อว่าประเทศยูเครนควร "เดินบนเส้นทางที่พวกเราเลือก"  ทั้งนี้การเยือนของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเกิดขึ้นในขณะที่ยูเครนเกิดความตึงเครียดกับรัสเซีย เมื่อมีทหารรัสเซียนับแสนนายพร้อมอาวุธซ้อมรบเต็มรูปแบบประชิดชายแดน

คำกล่าวของประธานาธิบดียูเครน เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ให้คำแนะนำแก่วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียให้ดำเนินการเจรจากับชาติตะวันตก เพื่อให้หลักประกันต่อข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของฝั่งรัสเซีย 

ชาวยูเครนประท้วงใหญ่ที่กรุงเคียฟ "March of Unity" เพื่อต่อต้านการคุกคามของรัสเซีย เมื่อ 12 ก.พ. 65 ที่มา: YouTube/In Time Ukraine

ชาวยูเครนหลายพันคนชุมนุมเดินขบวนในกรุงเคียฟเมื่อวันที่ 12 ก.พ. เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันท่ามกลางความกลัวว่าจะมีการรุกรานจากรัสเซียที่มีการตรึงกำลังใกล้กับยูเครนในช่วงนี้

ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนแถลงในวันเดียวกันก่อนหน้าการชุมนุมให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ในกลุ่มผู้ประท้วงมีบางส่วนที่ถือป้าย "สงครามไม่ใช่คำตอบ" บ้างก็ถือป้ายที่เรียกร้องให้ประเทศยูเครน "ขัดขืน" การคุกคามจากรัสเซีย

กรณีล่าสุดนี้เป็นสิ่งที่สืบเนื่องจากความขัดแย้ง 8 ปี ระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 14,000 คน ในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ในตอนนี้ยูเครนกำลังเผชิญกับการคุกคามของรัสเซียที่วางกำลังอยู่ใกล้กับชายแดนยูเครนรวมแล้วประมาณ 130,000 นาย รวมถึงวางกำลังเรือที่ทะเลดำทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งพวกเขาระบุว่าเพื่อใช้ซ้อมรบร่วมกับเบลารุสซึ่งเป็นประเทศอำนาจนิยมที่เป็นมิตรกับรัสเซีย

ทางการสหรัฐฯ เตือนว่ามีความเสี่ยงที่สงครามอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้ชาติตะวันตกหลายประเทศถอนทูตออกจากกรุงเคียฟของยูเครนและสั่งให้ประชาชนของตัวเองที่อาศัยอยู่ในยูเครนออกจากประเทศยูเครนโดยด่วน ขณะที่กลุ่มประเทศพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ส่งกองกำลังและยุทโธปกรณ์ไปช่วยยูเครนมากขึ้น

ฝ่ายรัสเซียอ้างว่าการกระทำของพวกเขาเป็นความจำเป็นในการรักษาผลประโยชน์ทางความมั่นคงสำหรับพวกเขาและกล่าวหาว่านาโตทำลายเสถียรภาพของภูมิภาค

แม้แต่กลุ่มผู้นำคนอื่นๆ ของยูเครนเองนอกเหนือจากประธานาธิบดีก็เตรียมแผนการอพยพผู้คน 3 ล้านคนออกจากเมืองหลวงถึงแม้ว่าประธานาธิบดีจะบอกว่าอย่าตื่นตระหนกก็ตาม

ขณะที่กลุ่มคนที่เดินขบวนกรุงเคียฟเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาดูจะพูดตามสิ่งที่ผู้นำประเทศของพวกเขาแถลงคือไม่อยากให้ตื่นตระหนกและบอกว่าพวกเขา "ไม่กลัว" มีบางส่วนที่ร้องคำขวัญประโยคหนึ่งจากเพลงชาติของพวกเขาแบบที่เคยทำในช่วงการประท้วงในปี 2557 ที่เรียกว่ายูโรไมดาน ที่มีการต่อต้านประธานาธิบดีในยุคนั้นที่ถอนตัวจากการเจรจากับสหภาพยุโรปแล้วกันไปซบอกรัสเซีย ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่พอใจ

การปฏิวัติในปี 2557 ส่งผลต่อเนื่องให้ทางการรัสเซียใช้กองทัพเข้าไปยึดครองไครเมียเพื่อผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียรวมถึงให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏในหลายส่วนของยูเครนซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกที่มีคนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย

นอกจากนี้รัสเซียยังไม่ต้องการให้ยูเครนกลายเป็นสมาชิกหนึ่งของนาโตด้วย โดยมีการระบุเรื่องนี้เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงที่พวกเขาส่งถึงสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 2564 และในข้อเรียกร้องเหล่านี้ก็มีการเรียกร้องให้นาโตยุติการซ้อมรบใกล้กับชายแดนรัสเซียด้วย นอกจากนี้ยังขอให้นาโตถอนกำลังออกจากภูมิภาคยุโรปตะวันออก อย่างไรก็ตามชาติตะวันตกโต้แย้งว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

นาตาชา บัตเลอร์ ผู้สื่อข่าวอัลจาซีราที่รายงานจากกรุงเคียฟเปิดเผยว่า การที่ชาติตะวันตกถอนทูตและบอกให้คนออกจากประเทศของพวกเขาทำให้คนจำนวนมากรู้สึก "ค่อนข้างกังวล" ผู้คนในยูเครนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้

ในที่ชุมนุมมีทหารผ่านศึกที่เคยอยู่ในสงครามทางตะวันออกของยูเครนเข้าร่วมด้วย พวกเขาบอกว่ารู้สึก "ภาคภูมิใจในประเทศของตัวเอง" และผู้ชุมนุมบางส่วนก็พูดในสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนตึงเครียดอย่างหนักนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เช่น นาตาเลีย ซาวอสติโควา หมออายุ 67 ปี ที่บอกว่า "ทำไมปูตินต้องมาสั่งให้พวกเราทำอะไรด้วย"

เรียบเรียงจาก

Thousands march in Kyiv to show unity against Russian war threat, Aljazeera, 12-02-2022

Ukraine’s Zelenskyy stands firm on NATO membership ambition: Live, Aljzaeera, 14-02-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net