Skip to main content
sharethis

ศาลแพ่งและศาลปกครองเห็นตรงกันให้คดีคนราชสกุลรังสิตฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทจากผู้เกี่ยวข้องกับ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแพ่ง ศาลนัดพิจารณาคดีอีกครั้ง 11 มี.ค.65

8 ก.พ.2565 วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กอัพเดตความคืบหน้าในคดีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต เป็นโจทก์ฟ้องณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” และผู้เกี่ยวข้องโดยกล่าวหาว่ามีข้อความในหนังสือดังกล่าวบิดเบือนทำลายชื่อเสียงของต้นราชสกุลรังสิต เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000,000 บาท ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง

วิญญัติระบุว่าที่ศาลแพ่งมีนัดฟังคำวินิจฉัยอำนาจพิพากษาคดีระหว่างศาลแพ่งและศาลปกครอง โดยศาลแพ่งมีความเห็นว่าตามฟ้องโจทก์ที่กุลลดา จำเลยที่ 2 ไม่ทักท้วงข้อความในวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพลที่เป็นจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ทำหน้าที่สมกับฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ตามวิสัยของผู้ที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ปล่อยปละละเลยให้มีการอนุมัติวิทยานิพนธ์ซึ่งมีข้อความอันเป็นเท็จ จนกระทั่งมีการนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วไป ทำให้เป็นที่เสียหายต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร และราชสกุลรังสิต

ศาลแพ่งมีความเห็นต่อว่า การกระทำอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปของบุคคลซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ให้คำปรึกษาหลักในการทำวิทยานิพนธ์ ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นกรณีที่ม.ร.ว.ปรียนันทนา ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยละเลยต่อหน้าที่

ทั้งนี้ด้านศาลปกครองกลางมีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า การทำหน้าที่ของกุลลดา จำเลยที่ 2 ในการให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่นิสิต เกี่ยวกับเนื้อหาทางทฤษฎี แนวคิด และวิธีการศึกษาวิจัย รวมถึงการเขียนวิทยานิพนธ์ และการใช้ภาษา เป็นเพียงการปฎิบัติหน้าที่โดยทั่วไปในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก ตามข้อ 69 ของข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2551 เท่านั้น จำเลยที่2 มิได้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฏหมาย หรือดำเนินกิจการทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

วิญญัติระบุต่อว่า ศาลปกครองมีความเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลแพ่งนี้ต่อไป และศาลแพ่งให้เลื่อนกำหนดวันนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยในวันที่ 11 มี.ค.2565 เวลา 9.30 น.

จำเลยคดี 'ขุนศึก ศักดินาและพญาอินทรี' สู้หลานราชสกุล 'รังสิต' ใช้กระบวนการยุติธรรมจำกัดเสรีภาพวิชาการ

ก่อนหน้านี้วิญญัติเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นการต่อสู้คดีนี้ว่าจุฬาฯ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์อีกทั้งวิทยานิพนธ์ยังผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามระเบียบของมหาวิทยาลัยอีกด้วย แต่ศาลก็ไม่ให้เรียกจุฬาฯเข้ามาเป็นจำเลยร่วม นอกจากนั้นข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ยังเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมมาจำกัดควบคุมเสรีภาพทางวิชาการด้วย เนื่องจากการทำวิทยานิพนธ์ก็ได้อ้างอิงไปตามข้อมูลหรือแหล่งความรู้ที่ค้นพบเท่านั้นจึงไม่ใช่การร่วมกันกับผู้ทำวิทยานิพนธ์บิดเบือนข้อเท็จจริง อีกทั้งฝ่ายโจทก์เองก็ไม่ได้ระบุว่าข้อความใดในหนังสือเป็นเท็จข้อกล่าวหาของโจทก์จึงมีความคลุมเครืออีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net