Skip to main content
sharethis

องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงมากกว่า 80 แห่งจากทั่วโลกเปิดเผยว่าเว็บไซต์วิดีโอออนไลน์อย่าง YouTube กลายเป็น “หนึ่งในช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จที่ใหญ่ที่สุดบนอินเทอร์เน็ต” พร้อมเสนอทางออกให้นำเสนอข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วคู่กับเนื้อหานั้นๆ เพื่อชี้แจงต่อผู้ใช้ ซึ่งได้ผลกว่าการลบเนื้อหาทิ้ง

14 ม.ค. 2565 องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงมากกว่า 80 แห่งทั่วโลกส่งจดหมายเปิดผนึกถึงซูซาน วอยชิตสกี (Susan Wojcicki) ประธานกรรมการบริหาร (CEO) ของ YouTube เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาการบิดเบือนข้อมูลหรือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น พร้อมเรียกร้องว่าอย่าเปลี่ยนพื้นที่การเผยแพร่วิดีโอใน YouTube ให้กลายเป็น “เครื่องมือสำหรับกลุ่มคนคิดไม่ซื่อ”

กลุ่มที่ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานกรรมการบริหาร YouTube มีทั้ง ‘แอฟริกาเช็ก’ ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีฐานปฏิบัติการในประเทศเคนยา รวมถึง ‘โพลิติแฟกต์’ และสำนักข่าว ‘เดอะวอชิงตันโพสต์’ จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสื่อที่ให้พื้นที่นำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อหักล้างข้อมูลเท็จ

จดหมายขององค์กรเหล่านี้ระบุว่า “ทุกวันๆ เราพบว่า YouTube เป็นหนึ่งในช่องทางออนไลน์ที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนหรือข้อมูลเท็จไปทั่วโลก” ในจดหมายระบุอีกว่าวิดีโอที่มีข้อมูลเท็จมักจะเล็ดลอดผ่านการตรวจสอบตามนโยบายของ YouTube ไปได้ โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ องค์กรเหล่านี้จึงเรียกร้องให้ YouTube มีปฏิบัติการต่อต้านการบิดเบือนข้อมูลหรือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และควรมีการร่วมมือกับกลุ่มองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับโลกที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและเป็นอิสระ

นอกจากนี้ จดหมายเปิดผนึกยังระบุเพิ่มเติมว่าจากประสบการณ์ของพวกเขาในฐานะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และจากหลักฐานทางวิชาการ ทำให้พวกเขาทราบว่าการนำเสนอแบบคู่ขนาน โดยให้ข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว จะช่วยให้การต่อสู้กับข้อมูลที่บิดเบือนได้ผลกว่าการลบเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องออกจากแพลตฟอร์ม

กลุ่มองค์กรด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแนะนำให้ YouTube เสนอบริบทเสริมเกี่ยวกับเนื้อหาพร้อมสอดแทรกข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อหักล้างข้อมูลบิดเบือน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ YouTube จัดการเกี่ยวกับระบบอัลกอริทึมซึ่งทำหน้าที่เสนอเนื้อหาและแนะนำวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอที่ผู้ใช้งานกำลังรับชมอยู่ โดยพวกเขาเตือนว่าอย่าให้อัลกอริทึมทำงานจนกลายเป็นการส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นข้อมูลบิดเบือนต่อผู้ใช้งาน

เอเลนา เฮอร์นานเดซ (Elena Hernandez) โฆษกของ YouTube กล่าวในเชิงปกป้องเว็บไซต์ของตนว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็น “เครื่องมือสำคัญ” แต่ก็เป็นแค่ “เครื่องมือชิ้นหนึ่งในตีกซอว์ขนาดใหญ่ที่ใช้จัดการกับปัญหาเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ”

โฆษกของ YouTube กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พวกเขา “ลงทุนไปมาก” กับเรื่องนโยบายและผลิตภัณฑ์สำหรับทุกประเทศ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับ “เนื้อหาที่เชื่อถือได้” และลดการเผยแพร่สิ่งที่ “ใกล้เส้นแบ่งข้อมูลเท็จ” รวมถึงลบวิดีโอที่ฝ่าฝืนนโยบายเหล่านี้ออก ซึ่งเธอกล่าวว่า YouTube มี “ความก้าวหน้าอย่างยิ่ง” ในเรื่องนี้

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net