Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับตั้งแต่การล่มสลายขอสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ในห้วงเวลานี้ถือว่าเป็นอันตรายที่สุดครั้งหนึ่งของโลกเมื่อสงครามเย็นเวอร์ชั่น 2.0 นั่นคือชุดความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารระหว่างประเทศจีนและพันธมิตรคือรัสเซียเป็นต้น กับสหรัฐฯ และพันธมิตรคือยุโรปตะวันตกได้ทวีความเข้มข้นอย่างมีนัยสำคัญและอาจกลายเป็นสงครามร้อนไปได้อย่างง่ายดาย สาเหตุสำคัญคือจีนทวีอำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหารและเป็นเผด็จการมากขึ้น

ในยุค สี จิ้นผิง และ วลาดิเมีย ปูติน ก็ต้องการรื้อฟื้นสถานะของมหาอำนาจเช่นการขยายวงอิทธิพลของรัสเซียในยุโรปตะวันออก ส่วนสหรัฐฯ ก็กลัวจีนจะแซงหน้าเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1 แทนจึงต้องสกัดดาวรุ่ง การที่สหรัฐฯ ได้ โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีเมื่อต้นปี ทำให้สหรัฐฯ มีการเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรเก่าได้แนบแน่นกว่าเดิม และตะวันตกอย่างองค์การนาโต้ก็กลัวการคุกคามของรัสเซียซึ่งเป็นมิตรกับจีนด้วย

พื้นที่ 2 แห่งซึ่งเป็นจุดสำคัญคือเกาะไต้หวันและยูเครน นั่นคือจีนแสดงท่าทีตลอดมาว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน และแสดงท่าทีจะใช้กำลังทางทหารยึดไต้หวันชัดเจนกว่าทุกยุคที่ผ่านมา ส่วนผู้นำไต้หวันก็แสดงท่าทีไม่ยอมจำนนเพราะมีสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกให้การสนับสนุน สำหรับยูเครนนั้นมีเรื่องขัดแย้งกับรัสเซียมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่รัสเซียได้ใช้กลยุทธ์ยึดแหลมไครเมียมาเป็นของตัวเองในปี 2014 เช่นเดียวกับการปลุกระดมให้คนเชื้อสายรัสเซียในบางพื้นที่ของยูเครนลุกฮือขึ้นทำสงครามแบ่งแยกดินแดน ไม่รวมถึงล่าสุดที่ปูตินส่งกองกำลังนับแสนนายไปประชิดพรมแดนยูเครน อันอาจก่อให้เกิดสงครามกับองค์การนาโตซึ่งให้กับสนับสนุนยูเครน

การปะทะกันทางทหารทั้ง 2 กรณี คือไต้หวันและยูเครน หากเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอาจลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่อื่นอันน่าสนใจอย่างเช่นเกาหลีเหนือและทะเลจีนใต้ซึ่งก็ยังสามารถจุดประกายสงครามได้เช่นกัน

ปัจจัยที่บ่งบอก นอกจากการแข่งขันทางอาวุธมาอย่างยาวนาน และการปะทะกันทางการทูตหรือสงครามน้ำลายที่เกิดขึ้นถี่ยิบในประเด็นต่างๆ ความขัดแย้งระหว่าง 2 กลุ่ม เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นอย่างเช่น โจ ไบเดน ได้ริเริ่ม AUKUS หรือสนธิสัญญาการร่วมมือกันด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือการคานอำนาจกับจีนนั่นเอง หรือแม้แต่การที่สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตกรวมถึงญี่ปุ่นได้ทำการบอยคอต ไม่ยอมส่งเจ้าหน้าที่ทางการทูตเข้าร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 ส่วนผู้นำทั้ง 2 ประเทศคือ ปูติน และสี จิ้นผิง ได้ประชุมผ่านทางไกลในการแสดงความเป็นมิตรซึ่งจะสนับสนุนกันในการเผชิญหน้ากับตะวันตกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากทั้งจีนและรัสเซียจะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและสมาชิกสำคัญของกลุ่มพันธมิตร Shanghai Cooperation Organization แล้ว

มีหลายทฤษฏีที่จะมาทำนายถึงความเป็นไปได้ของสงครามโลกครั้งที่ 3 และสงครามนิวเคลียร์คงไม่มีทางจะเกิดขึ้นเพราะทุกประเทศต่างมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อกันอย่างแนบแน่นเพราะสงครามย่อมสร้างความเสียหายให้กับทั้ง 2 ฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจ อย่างเช่นจีนซึ่งเป็นประเทศส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นไปได้ว่าอย่างมากที่สุดก็เป็นการทำสงครามน้ำลายหรือสงครามจิตวิทยา จนสุดท้ายก็เป็นแค่การประจันหน้ากันและสามารถตกลงกันได้ในบางเรื่อง จนเป็นได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่เสียหน้า แต่ก็จะลากยาวต่อไปอย่างไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไร เพราะพลังของลัทธิชาตินิยมและกองทัพนิยม (หรือจะจบแบบคาดไม่ถึงอย่างการล่มสลายของสหภาพโซเวียต หรือเวอร์ชั่นใหม่ก็คือปูตินและสีถูกยึดอำนาจหรือเสียชีวิต)

อย่างไรก็ตามเราก็ไม่สามารถปฏิเสธ เรื่องอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่จะมาจุดประกายความขัดแย้ง จนถึงขั้นที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถระงับยับยั้งความขัดแย้งได้ เหมือนสงครามเย็นเวอร์ชั่นแรกที่เกือบจะเกิดสงครามนิวเคลียร์หลายครั้งเพราะความเข้าใจผิดหรือเหตุการณ์เพียงเล็กน้อย แต่เพราะโชคช่วยและผู้นำชาติมหาอำนาจคู่ขัดแย้งก็สามารถเจรจากันและสามารถดึงให้โลกพ้นจากภัยพิบัติได้ เพราะรู้ว่าต่างฝ่ายต่างก็พินาศด้วยกันทั้งคู่

หากดูตัวละครในสงครามเย็นเวอร์ชั่นใหม่นี้ถ้ากลายเป็นสงครามจริงๆ ขึ้นไม่ว่าจำกัดหรือลุกลามไปถึงสงครามนิวเคลียร์ ตัวละครที่สังกัดค่ายต่างๆ ในการรบกันก็น่าจะได้แก่โลก (ที่อ้างว่าตัวเองเป็น) ประชาธิปไตยเสรี เช่นสหรัฐฯ และตะวันตกอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา อิตาลี เยอรมัน อิสราเอลและเอเชียอย่างญี่ปุ่น รวมถึงประเทศอื่นซึ่งเป็นสมาชิกองค์การนาโต้ ฯ ลฯ กระนั้นก็ไม่อาจอ้างได้ว่าตะวันตกทั้งหมดจะเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน อย่างเช่นฝรั่งเศสที่ไม่ยอมบอยคอตทางการทูตต่อกีฬาโอลิมปิกในจีน และอาจถอนตัวจากองค์การนาโต้ (หรือบางทีก็อาจสวมบทเป็นเด็กดีคือสนับสนุนนาโต้และสหรัฐฯ ก็ได้ ตามเหตุปัจจัยในอนาคต) หรือหลายประเทศพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของยุโรปและไม่ใช่สมาชิกขององค์การนาโตอาจจะขออยู่เลนกลางๆ

ปัจจัยประการหนึ่งของการกำหนดท่าทีของประเทศเหล่านั้นต่อความขัดแย้งครั้งนี้คือการเลือกตั้งซึ่งอาจได้ผู้นำคนใหม่ที่นโยบายตรงกันข้ามกับคนเก่า ที่น่ากล่าวถึงคือเกาหลีใต้ซึ่งหวาดระแวงเกาหลีเหนือ และเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ เช่นการมีการร่วมซ้อมรบกับสหรัฐฯ บ่อยครั้งและติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศหรือ THAAD ที่ริเริ่มโดยกรุงวอชิงนั่น แต่เกาหลีใต้นั้นยังเป็นมิตรและหลีกเลี่ยงการปะทะกับจีน นอกจากนี้เกาหลีใต้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้านี้ อาจจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ให้การสนับสนุนสหรัฐฯ และต่อต้านจีนกว่าเดิม หรือว่าเป็นกลางก็ได้

สำหรับค่ายโลกไม่ยอมเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม นอกจากจีนและรัสเซีย ก็มีตัวละครที่มีความยิ่งใหญ่น้อยกว่าเช่นเกาหลีเหนือ อิหร่าน ซีเรีย หรือเบลารุสเป็นต้น ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านสหรัฐฯ ชัดเจนมาก กระนั้นก็ยังมีตัวละครที่แสดงความไม่ชัดเจนนักอย่างเช่นอินเดียซึ่งแน่นอนว่าแข่งขันกับจีนแต่ก็เป็นมิตรกับรัสเซีย กระนั้นก็สังกัดค่ายสหรัฐฯ อีกด้วย รวมไปถึงประเทศต่างๆ ในกลุ่มตะวันออกกลาง เอเชียใต้ เอเชียกลาง ละตินอเมริกา และแอฟริกาซึ่งแม้ได้รับผลประโยชน์กับจีนจากเงินลงทุนและเงินกู้มากแต่จำนวนมาก มีความสัมพันธ์อันดีกับค่ายโลกเสรีประชาธิปไตย ก็ต้องเดาว่าส่วนใหญ่คงขอวางตัวเป็นกลาง เพราะจีนคงไม่สามารถใช้อิทธิพลของเงินมาบังคับให้เลือกข้างได้ (ยกเว้นบางเรื่องเช่นการยกเลิกการรับรองไต้หวัน) ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเพราะสงครามไม่ได้ขยายตัวไปทั่วทุกมุมโลก

สุดท้ายนี้ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งแน่นอนว่าความขัดแย้งเริ่มบานปลาย ต้องออกมายืนยันความเป็นกลางอย่างเป็นเอกฉันท์เข้าทำนองช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ แม้หลายประเทศจะมีความขัดแย้งกับจีนเรื่องหมู่เกาะในทะเลจีนใต้อย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ หรือบางประเทศอย่างเช่นกัมพูชาจะถูกกล่าวหาว่าถูกจีนได้ผนวกเข้าเป็นมณฑลหนึ่งแล้วก็ตาม และพม่าซึ่งรัฐบาลทหารเถื่อนต้องพึ่งพิงจีนและรัสเซียอย่างสูง คงเป็นเรื่องน่ารักดีถ้า กัมพูชากับพม่าเข้าร่วมรบหรือประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และตะวันตกด้วย แต่คงมีความเป็นไปได้น้อย ส่วนไทยก็ได้หมดถ้าสดชื่น

 

ที่มาภาพ: https://www.flickr.com/photos/148857775

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net