Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จริงๆ แล้วในโลกนี้ คงมีไม่กี่ประเทศที่นิยามหรือบอกตามตรงว่าตัวเองเป็นเผด็จการ อย่างเช่นประเทศตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบียโอมาน บรูไนที่บอกว่าตัวเองเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช นั่นคือกษัตริย์หรือสุลตานเป็นทั้งประมุขของรัฐและบริหาร อาจมีนายกรัฐมนตรีมาช่วยบริหารงานแต่อำนาจอยู่ที่กษัตริย์หรือสุลต่านอยู่ดีและไม่แอบอิงกับประชาชนเลยนอกจากความจงรักภักดี (กระนั้นคนที่ไม่มีความรู้ทางการเมืองก็อาจไม่รู้ว่าระบอบนี้เป็นเผด็จการ) นอกนั้นก็จะเป็นการปิดบังแบบกระมิดกระเมี้ยนคือพยายามบอกว่าตัวเองก็อิงแอบกับประชาชนในระดับหนึ่งอย่างเช่นอิหร่านก็เป็นแบบ Islamic Republic ซึ่งมีการปกครองแบบลูกผสมคือเทวาธิปไตยนั่นคือครูสอนศาสนาเป็นประมุขสูงสุด และประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่มีอำนาจจำกัด มีรัฐสภาที่ผู้แทนก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้คนอิหร่านรู้สึกว่าประเทศตัวเองมีความเป็นประชาธิปไตย แต่อำนาจที่แท้จริงก็อยู่ที่ประมุขสูงสุด

สำหรับประเทศคอมมิวนิสต์ที่ยังหลงเหลืออยู่เพียง 5 ประเทศในปัจจุบันคือลาว เวียดนาม จีน เกาหลีเหนือ และคิวบาก็พยายามบอกว่าตัวเองยึดโยงกับประชาชนอีกเช่นกัน ประเทศคอมมิวนิสต์เองก็มีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและยุติธรรม อย่างเช่นลาวซึ่งไม่ยอมให้มีพรรคการเมืองอื่นนอกจากพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้ชื่อประชาชนปฏิวัติลาวอันทำให้การเลือกตั้งมีแต่ตัวแทนของพรรคนี้และประชาชนในนามอิสระ รัฐสภาของลาวจึงเต็มไปด้วยสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ หรือจีนอย่างที่ผมเคยเขียนไว้แล้วว่าสภาประชาชนแห่งชาติมาจากการเลือกกันแบบทอดๆ จากสภาในท้องถิ่นและกลุ่มต่างๆ ซึ่งเปิดให้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถแซกแซงได้อย่างเต็มที่กว่าการเลือกตั้งแบบตรงๆ ทั่วไป และสภาประชาชนแห่งชาติจีนก็เลือกประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีซึ่งโดยในตัวตำแหน่งนั้นไม่ได้มีอำนาจจริงๆ  หากทั้งคู่ไม่ได้เป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์  หรืออย่างเกาหลีเหนือซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนั้นยังอุตสาห์มีการเลือกตั้งและคิม จองอุนในฐานะเป็นผู้นำของพรรค  Workers' Party of Korea ยังเคยลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแน่นอนว่าผลการเลือกตั้งก็ถูกล็อกไว้อย่างท่วมท้นเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์สำหรับนายคิมอยู่แล้ว และพรรคของเขาก็มีสมาชิกในรัฐสภาเต็มร้อยซึ่งไม่ค่อยมีประโยชน์อะไร เพราะกฎหมายและนโยบายถูกชี้นำโดยนายคิมและชนชั้นนำอยู่แล้วเหมือนประเทศคอมมิวนิสต์ประเทศอื่น

ทั้งนี้ไม่นับประเทศอื่นซึ่งพยายามสะท้อนว่าตัวเองมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยแต่สารัตถะไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมเลยอย่างเช่นมีการโกงการเลือกตั้ง  กำจัดฝ่ายค้าน เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง มีเครือข่ายอำนาจอื่นๆ คอยช่วยเหลือ อย่างเช่น รัสเซียซึ่งผู้นำฝ่ายค้านเพิ่งถูกวางยาพิษเพราะปูตินเห็นว่าเป็นภัยคุกคามตำแหน่งของตน  เบลารุสซึ่งผู้นำไม่ยอมลงจากตำแหน่งสักทีเพราะโกงการการเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่เรื่อยๆ  กัมพูชาซึ่งนายกรัฐมนตรีกะจะตายคาเกาอี้เพราะพรรคฝ่ายค้านถูกทำลายเสียสิ้น  สิงคโปร์ซึ่งพรรค People's Action Party มีพื้นที่ในการหาเสียงมากกว่าฝ่ายค้านจนสามารถผูกขาดการเป็นรัฐบาลได้กว่าครึ่งศตวรรษ หรือพม่าซึ่งกองทัพยังคงทรงอิทธิพลและสามารถเขี่ยที่ปรึกษาแห่งรัฐอย่างนางอองซาน ซูจีได้ทุกเมื่อหากเกิดความขัดแย้งที่ประนีประนอมไม่ได้ ทั้งนี้ไม่นับไทยซึ่งโกงทุกระดับเช่นรัฐธรรมนูญ ประชามติ การเลือกตั้ง แถมยังใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเล่นงานผู้นำประท้วงผ่านกฎหมายที่ตัวเองร่างขึ้นมา

ประเทศพวกนี้จะพยายามปฏิเสธว่าตัวเองไม่ใช่เผด็จการ จะหลีกเลี่ยงไม่ใช่คำว่าเผด็จการ และพยายามพรางตัวว่าเป็นประชาธิปไตยเข้าทำนองแบบ Closeted Authoritarianism ตลอด อย่างมากพวกเขาก็หันมาใช้คำว่า Guided Democracy หรือประชาธิปไตยเชิงชี้นำอันเป็นศัพท์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยประธานาธิบดีซูการ์โนของอินโดนีเซียในทศวรรษที่ 50 ที่ว่าอินโดนีเซียไม่เหมาะกับประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตกแต่ต้องอยู่ใต้การชี้นำของผู้นำอย่างเขา และเขาก็กลายร่างเป็นเผด็จการโดยสถาปนาตัวเองเป็นประธานาธิบดีชั่วชีวิตและในบริบทของปัจจุบันก็คือประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในระดับหนึ่งแต่ก็ตกอยู่ใต้การปกครองแบบเด็ดขาดของใครบางคนที่เสียสละและเก่งกาจในการนำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองดังที่เรียกกันว่าเป็นเผด็จการที่เปี่ยมเมตตาหรือ Benevolent Authoritarianism ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบหรือ genre ที่พอจะเชิดหน้าชูตาเผด็จการได้ แต่ในประวัติศาสตร์หาเผด็จการแบบนี้ได้น้อยราย ถ้าจะกัดฟันระบุมาก็อย่างเช่นลี กวนยูแห่งสิงคโปร์ หรือโจเซฟ ติโตของยูโกสลาเวีย หรืออย่างสี จิ้นผิงแห่งจีน (ซึ่งคนพวกนี้ก็มักหลีกเลี่ยงไม่บอกว่าตัวเองเป็นเผด็จการอีกเช่นกัน) ซึ่งก็ยังนำไปสู่ข้อถกเถียงได้อีกมากมายเพราะคนพวกนี้เป็นความเฉพาะหรือ uniqueness  ของประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ยังไม่นึกถึงเผด็จการในประเทศโลกที่ 3 ที่ชอบสร้างภาพอย่างนี้แต่ทำให้ชาติฉิบหายก็มีเยอะแยะ  อย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นั้น หากมีคนบ้าจี้บอกว่าแกเป็นเผด็จการที่เปี่ยมเมตตา ก็คงทำให้คนรุ่นใหม่ตาสว่างหัวเราะตัวงอเหมือนได้ดูรายการบริษัทฮาไม่จำกัด

สิ่งนี้เป็นอำนาจเชิงวาทกรรมของคำว่าประชาธิปไตยซึ่งกลายเป็นกระแสคลื่นมาแรงในช่วงหลังจากสหภาพโซเวียตและค่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลาย และส่งทอดกันมาอย่าง Color Revolution ในยุโรปตะวันออกอย่างเช่นในจอร์เจียและยูเครน จนมาถึง Arab Spring ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ อันยิ่งทำให้ประเทศต่างๆ มีความระมัดระวังในการใช้เกมทางภาษาเพื่อควบคุมมวลชนอย่างเช่นการใช้อุดมการณ์แบบขวาๆ อย่าง ลัทธิชาตินิยม ราชานิยม กองทัพนิยม ซึ่งถ้าศึกษาให้ดีจะพบว่าในหลายแง่มุมขัดแย้งกับประชาธิปไตย จึงเป็นเครื่องมือของเผด็จการได้อย่างดี  หรืออย่างน้อยที่สุดเพื่อปลุกระดมมวลชนไว้พร้อมบวกกับพวกเสรีนิยมที่เรียกร้องประชาธิปไตย 

คชโยธี เฉียบแหลม นั้นไม่ใช่คนเดียวที่มีความคิดอย่างนี้ เขาเพียงแต่พาซื่อพูดออกสื่อตามประสาของมวลชนฝ่ายขวาที่เรามักเคยได้ยินกันว่า คนไทยโง่ ต้องถูกปกครองแบบเผด็จการ (เพียงแต่คชโยธีล้อคำพูดของครูครอง จันดาวงศ์ นักต่อสู้ทางการเมืองที่ถูกสฤษดิ์สั่งประหารชีวิตเมื่อปี 2504 ก่อนตายเขาบอกว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ซึ่งเป็นประโยคที่นักประท้วงรุ่นใหม่นำมาใช้ในปัจจุบัน) แต่ว่าวาทกรรมเผด็จการก็ถูกท้าท้ายโดยคนรุ่นใหม่ทำให้คำว่าเผด็จการยิ่งกลายป็นคำที่น่ารังเกียจกว่าเดิม รวมไปถึงความล้มเหลวของประยุทธ์ในการบริหารประเทศแม้ว่าตัวเองจะมี ม.44 มาตลอดเวลา 6 ปีก่อนการเลือกตั้งปีที่แล้ว แม้มวลชนที่สนับสนุนเขาจะมีตรรกะในการแก้ต่างให้เสมอโดยเฉพาะการเป็นผู้พิทักษ์สถาบัน แต่คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้เชื่อถือในตัวของลุง (ที่อ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย  99.99 เปอร์เซ็นต์) อีกต่อไป ตรงนี้ทำให้หมอวรงค์ เดชกิจวิกรมผู้นำกลุ่มไทยภักดีออกมาปฏิเสธความสัมพันธ์กับคชโยธีทันทีเพราะเขาชอบเป็น Wolf in sheep's clothing  หรือหมาป่าในคราบลูกแกะมากกว่า

เพราะการอ้างสถาบันเช่นกษัตริย์กับชาติจะทำให้กลุ่มฯ มีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองมากกว่าจะเจาะจงคำว่าเผด็จการอันแท้ที่จริงแล้วเป็นชุดความคิดของตัวเขาและกลุ่ม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net