Skip to main content
sharethis

วง “เสวนา 48 ปี 14 ตุลา” อัด รัฐธรรมนูญปัจจุบัน “เผด็จการซ่อนรูป ไร้ประชาธิปไตย” สืบทอดอำนาจของคสช. ย้ำต้องแก้ทั้งฉบับ ผ่าน สสร.

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมด้านหลัง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มูลนิธิ 14 ตุลา และ 30 องค์กรประชาธิปไตย จัดเสวนา 48 ปี 14 ตุลา “การเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย”  

พงศ์เทพ เทพกาญจนา  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้เป็นเผด็จการซ่อนรูป ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพราะคนที่เป็นประธานกรรมการยกร่างคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นหนึ่งในสมาชิก คสช. ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้า ตนจึงขอเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับคสช.-มีชัย แต่ประชาชนปราชัย เพราะเขียนขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของคสช. และระบบการตรวจตรวจสอบถ่วงดุล เขียนขึ้นมาเพื่อให้คสช.สามารถจะครองอำนาจต่อไป

“ผมสังเวชใจที่สุดคือขนาดเขียนด้วยพวกตัวเอง แต่ประยุทธ์ยังไม่ยอมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งที่ตัวเองบัญชาหมด เพราะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเพื่อครองอำนาจ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ความไม่ดีของรัฐบาล และธรรมนูญฉบับนี้มาก” พงศ์เทพ กล่าว

อดีตรมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันเราเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ มือถือ ถ้าจะลงประชามติอะไรสามารถทำได้เลยและง่ายมาก โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวน 3,000 ล้านบาท และเป็นการลงประชามติได้เรื่อยๆทุกเรื่อง อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอีกเรื่องคือการลดอำนาจรัฐ และการปฏิรูประบบราชการขนาดใหญ่ และปฏิรูปกองทัพ เพราะตัวบ่อนทำลายสำคัญที่ล้มประชาธิปไตยมาตลอดอยู่ที่กองทัพ และสิ่งที่จำเป็นต้องมีในรัฐธรรมนูญที่ดี เป็นเสรีภาพที่สำคัญ คือ เสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนี้ต้องตั้งระบบถ่วงดุล ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 องค์กรอิสระและศาลแทบจะไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจเลย รัฐสภาซึ่งมีส.ส.ที่มาจากตัวแทนประชาชน จะเรียกอัยการศาลมาให้ข้อมูลตรวจสอบไม่ได้

ศิธา ทิวารี ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับ 60 เป็นฉบับที่แย่ที่สุด เพราะทำลายหลักการประชาธิปไตย และเป็นกฎหมายที่มีหน้าที่เพื่อสืบทอดอำนาจให้กับคณะคสช. ทั้งสิ้น ทั้งเรื่อง ส.ว. และยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี และไม่ทันสมัย  ขนาดประเทศที่เจริญที่สุดในโลก ยังไม่มีใครกล้าระบุแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติยาวนานขนาดนี้ มีแทบประเทศไทยเท่านั้น  ส่วนเรื่ององค์กรอิสระทุกวันนี้ การคัดสรรคนเป็นองค์กรอิสระ ก็เคยเป็นอดีตหน้าห้องของคสช. เป็นคนที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน จะอยู่ในองค์กรอิสระทั้งหมด

ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย กล่าวด้วยว่า ใครที่เป็นพวกเดียวกันทำผิดเขาก็ให้เป็นถูก ใครจะเป็นฝ่ายตรงข้ามทำถูกเขาก็ให้เป็นผิด เราจะเห็นว่ามีนักการเมืองย้ายฝั่งจากฝ่ายประชาธิปไตย ไปสนับสนุนฝ่ายเผด็จมากมายซึ่งในการย้ายฝ่ายหลายคนโดนคดี และองค์กรอิสระก็ใช้กลไกไปข่มขู่ว่าคุณจะทำต่อไปไหม ถ้าย้ายมาอยู่ฝั่งเราคุณก็จะไม่โดนคดี  ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่เราใช้อยู่ขณะนี้ เป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการปัจจุบัน จึงไม่เหมาะสมที่จะใช้ จึงต้องแก้ไขทั้งฉบับหรือแต่บางบทบางมาตราที่ดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องเข้าไปแตะต้อง หากจะแก้ไขก็ควรให้ประชาชน โดยผ่าน สสร. 

ทวี สอดส่อง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเขาร่างมาแล้ว แต่เราไม่รักษาไว้สิ่งที่สำคัญที่สุดเราปล่อยให้คนที่ทำผิดลอยนวล ปล่อยให้มีการนิรโทษกรรมนักรัฐประหารปีและมีการปล่อยให้มีธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจ ได้มาซึ่งอำนาจและเพื่อเป็นการทำลายบุคคลฝ่ายตรงข้าม เมื่อเขาจะสืบทอดอำนาจ เขาต้องการจะแสวงหาอำนาจ และสิ่งสำคัญวันนี้เราต้องย้อนไปว่าทำอย่างไร  จะมีในเรื่องสิทธิเสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคความมีส่วนร่วม ตนจึงคิดว่าวันนี้เราต้องเอา รัฐธรรมนูญ 2517 มาใช้ หรือปรับบางถ้อยคำ

“ประเทศไทยเราก็ใช้ ข้อยกเว้นนี้เป็นสำคัญตั้งไม่อยากให้ในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธเพื่อมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยตรง แต่รัฐบาลกลับไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่สำคัญกฎหมายจะเที่ยงธรรมและยุติธรรมได้ ถ้าผู้ใช้สัตย์ซื่อและผู้ใช้ไม่แสวงหาอำนาจ  กฎหมายที่ดีที่สุดควรมาจากประชาชนส่วนร่วม” ทวี กล่าว

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 60 เลวร้ายเพราะทำลายหัวใจของระบบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของกลุ่มคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และธรรมนูญ 60 ออกแบบปูทางให้คณะกลุ่มบุคคลหนึ่งเข้าสู่อำนาจ ดูได้จากตั้ง ส.ว.250 คน และวางระบบกลไกที่ซับซ้อนเป็นที่หนึ่งของโลก  และ 7 ปีที่ผ่านมาการรวมศูนย์อำนาจทำให้ประเทศถดถอย ประชาชนเป็นหนี้มหาศาล มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำความยากจน ระบาดไปทั่วทุกคนตกทุกข์ได้ยาก การจัดการปัญหาโควิดไร้ประสิทธิภาพ 

“อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โปร่งใสตรวจสอบได้ มีความเป็นธรรมและการสะท้อนเจตจำนงของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจ ซึ่งท้องถิ่นชุมชนจะต้องเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตตนเองและกำหนดทิศทางประเทศไทยเอง และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องกระจายความเป็นธรรม กระจายความเจริญ กระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดและทำอย่างไรจะกระจายความหลากหลาย” เลขาฯ P-Net กล่าว

เมธา มาศขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า บรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นประวัติศาสตร์ บันทึกของประชาชนที่แสดงเจตจำนงอย่างเสรีและชัดเจน ว่าการมีและธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการจัดวางการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมไทย  เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อสร้างสังคมที่มีภราดรภาพเคารพกฎหมายมีนิติรัฐนิติธรรม

ประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่คนเรียกร้องบอกว่าจะเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่สร้างสังคมประชาธิปไตยยังไงก็ไม่มีจุดสมบูรณ์  สุดท้ายไม่มีใครตอบได้  เรามีการเลือกตั้ง แต่เราก็รู้ว่าระบบอุปถัมภ์ก็มีความสำคัญ เงินก็มีความสำคัญ เงินกับระบบอุปถัมภ์ทำให้การเลือกตั้งที่เป็นปัญหาและได้มาซึ่งอำนาจรัฐเสร็จ แล้วก็มาถอนทุนคืน พอถอนทุนคืนก็มายึดอำนาจอีก แล้วก็มาเลือกตั้งกันอีก ในที่สุดก็เป็นวงจรอุบาทว์ตนไม่คิดว่าประเทศไทยจะปลอดจากการยึดอำนาจ นับแต่นี้ไปตนคิดว่าเรายังวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์

“ดังนั้นคำตอบอยู่ที่ตัวพลเมืองเข้มแข็ง ประชาชนจะกำหนดชะตากรรมของชีวิตของเขาด้วยตัวของเขาเอง เราต้องเดินหน้าทำให้การเมืองเข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่เข้มแข็งเฉพาะระบบตัวแทนจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องเข้มแข็งในการร่วมกันบ้านเมืองให้กลับไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ประสาร กล่าว

สุนี ไชยรส รองประธานมูลนิธิ 14 ตุลา และอดีต ส.ส.ร.2540 กล่าวว่า ทำไมเราถึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ เพราะมีปัญหาโดยรวม เช่นในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ รัฐธรรมนูญ 60 มีความพยายามที่จะตัดทิ้งเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพความเสมอภาค  ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 60 ควรจะแก้ไขทั้งฉบับ  เพราะ เรื่องสิทธิเสรีภาพ ให้สิทธิน้อยลงและมาตราน้อยลง อีกทั้งถ้อยคำที่เขียนในแต่ละมาตราก็แย่ลง  และนำคำว่าทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติกลับขึ้นมาอีก เหมือนเดิมและมากกว่าเดิม

สุนีย์ กล่าวว่า  มีการนำหมวดสิทธิเสรีภาพที่ดีๆของ รัฐธรรมนูญ ปี 40 และปี 50 ไปไว้ในแนวนโยบายแห่งรัฐ จึงไม่มีประโยชน์รเพราะสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่ แต่กลับถูกตัดตอน จึงมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะแก้ทีละจุดไม่ได้ ไม่มีประโยชน์อะไรแต่วันนี้เรามาถึงทางตันหรือไม่ ตนก็เชื่อมั่นว่าจะพาประชาชนจะไม่หยุดยั้ง ที่จะต่อสู้และคิดว่ากระแสของภาคประชาชน เป็นอย่างนี้ตลอด ต่อให้เหมือนมีทางตัน เราก็คงเชื่อมั่นต่อการต่อสู้ของนักเรียน นักศึกษาปัจจุบันบวกกับคนต่อสู้รุ่นเก่าๆ ด้วย

ศักดิ์ณรงค์ มงคล  รองประธาน ครป. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันคิดว่ายังไม่เหมาะสมกับประเทศไทย และอาจมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น เรื่องการจัดสรรอำนาจผลประโยชน์ จากการจัดวางกันระบบการเมืองการปกครอง สิทธิเสรีภาพต่างๆซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐธรรมนูญยังมีปัญหาอยู่ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 60 เป็นฉบับที่ 20 แล้ว ซึ่งนับว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญใช้บ่อยที่สุดประเทศหนึ่ง ตนคิดว่าการจะมีธรรมนูญใหม่ที่ดีและยังยืนควรที่จะทำทั้งฉบับ

กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ต้องมีบทบัญญัติลักษณะราชอาณาจักรไทย ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยเป็นรัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้  ต้องให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ที่มีธรรมะเป็นหลัก นอกจากนี้อีกเรื่องที่สำคัญคือพรรคการเมือง เพราะเป็นตัวเชื่อมระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชน ถ้าพรรคการเมืองจะไปเรื่องสมบัติส่วนตัว เป็นเรื่องของนายทุน เป็นเรื่องของอดีตนายทหาร ก็จะไม่ความเป็นประชาธิปไตย

 

กษิตย์ กล่าวว่า เมื่อพรรคการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย จะเห็นกันอยู่ว่าความล้มเหลวของพรรคการเมือง นำไปสู่การประท้วงนอกสภา ในที่สุดก็มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการปฏิวัติ มีการควบคุมและตีกรอบพรรคการเมือง แทนที่จะไปพูดถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพการ มีส่วนร่วมของประชาชน เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนคิดว่าการติวเข้มให้พรรคการเมืองเป็นองค์กรประชาธิปไตยไปเรื่องสำคัญ 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net