Skip to main content
sharethis

เป๋า ไอลอว์, ครูใหญ่ และวาดดาว พร้อมด้วย ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เตรียมยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดห้ามชุมนุม เหตุเป็นการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายไม่ชอบ อ้างคุมโรค แต่แท้จริงคุมชุมนุม 5 ต.ค.นี้ ที่ศาลแพ่ง รัชดา

 

3 ต.ค.2564 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โพสต์แจ้งว่า 5 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือ เป๋า ไอลอว์, อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่  และ ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว เฟมินิสต์ปลดแอก ผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีฐานความผิดร่วมกันชุมนุมเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค พร้อมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จะเข้ายื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) เรื่องเกี่ยวกับการห้ามชุมนุม ซึ่งเป็นการออกกฎหมายไม่ชอบ และบังคับใช้กฎหมายละเมิดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและกติการะหว่างประเทศ อีกทั้ง ไม่ปรากฎว่าการชุมนุมสาธารณะที่ผ่านมาเป็นสาเหตุแห่งการแพร่กระจายของโรคแต่อย่างใด และจากเหตุนี้ โจทก์ทั้ง 3 คน จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิด เป็นจำนวนเงินรวมทั้งหมดกว่า 4,500,000 ร่วมด้วย พร้อมยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวโดยฉุกเฉิน ให้มีคำสั่งระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 15 กรณีห้ามชุมนุมไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อธิบายที่มาว่า เนื่องจาก เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เวลา 17.00 น. มีการชุมนุมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อสื่อสารถึงการบริหารราชการที่ล้มเหลวของรัฐบาล ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ และไม่มีการแพร่ระบาดหรือไม่พบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการชุมนุม ภายหลังจากวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีหมายเรียกผู้ต้องหาไปยังโจทก์ทั้ง 3 คน โดยในวันที่ 8 เม.ย.64 เจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ได้แจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับโจทก์ทั้ง 3 คน ในฐานความผิดร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย

ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2563 โดยอ้างเหตุจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคในบางพื้นที่ จึงมีการยกระดับมาตรการควบคุมโรค โดยในข้อ 3 กำหนดเนื้อหา "ห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมในสถานที่แออัด หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ" และต่อมาได้มีประกาศคำสั่ง หรือข้อกำหนดที่มีเนื้อหา ห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค เรื่อยมาอีกหลายฉบับ ซึ่งเป็นประกาศและข้อกำหนดที่มุ่งจำกัดเสรีภาพของโจทก์และประชาชนทั่วไป ไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคแต่อย่างใด

การที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจออกประกาศขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดย ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้เหตุผลว่า 

  • แม้รัฐจะสามารถจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญได้เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างชอบใจ การประกาศใช้อำนาจของรัฐต้องเข้าเงื่อนไขคือ ประการแรก ต้องปรากฎว่ามีความจำเป็นและฉุกเฉินอย่างยิ่งเกิดขึ้นแล้ว หากเป็นเพียงความวิตกหรือสงสัย ย่อมไม่สามารถใช้บังคับเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ประการที่สอง ในสถานการณ์โรคระบาด สามารถใช้กฎหมายปกติที่บัญญัติมาตรการที่จำเป็นทางสาธารณสุขไว้อย่างเหมาะสม และทันท่วงทีอยู่แล้ว ตามหลักสากล มาตรการที่นำมาใช้กับประชาชน จะต้องถูกจำกัดเพียงเท่าที่จำเป็นแก่การควบคุมโรค และไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็น
  • การเข้าร่วมชุมนุมของโจทก์ทั้ง 3 คน และผู้ชุมนุมอื่น เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อยู่ในพื้นที่เปิด ไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ปรากฎว่าการชุมนุมเป็นแหล่งแพร่กระจายของโรค ทั้งการชุมนุมเป็นการเรียกร้องปกติตามวิถีทางประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ก็ยังสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติได้ และกำหนดให้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่จำเป็นได้ เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ตรวจอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง เป็นต้น การประกาศใช้ข้อกำหนดห้ามชุมนุมจึงไม่มีเหตุผล จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินจำเป็น และไม่ได้สัดส่วน อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้ง ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ข้อกำหนดห้ามชุมนุม มาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม เพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเรื่อยมา ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาอย่างชัดเจนว่า การออกข้อกำหนดห้ามชุมนุมเพื่อยับยั้งการออกมาแสดงความคิดเห็นและใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ล้มเหลวและไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล และมีแนวโน้มที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการกลั่นแกล้งและทำให้ประชาชนหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในอนาคต

ผลจากการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ทั้ง 3 คน ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และได้รับความเสียหายทางร่างกาย จิตใจ ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เนื่องจากการเข้าร่วมชุมนุมของโจทก์ทั้งสามไม่เป็นความผิด โจทก์ทั้ง 3 คน จึงนำความมาฟ้องจำเลยทั้ง 6 คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1, พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จำเลยที่ 2, สำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3 กองบัญชาการกองทัพไทย จำเลยที่ 4 กระทรวงการคลัง จำเลยที่ 5 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 6 ต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกและบังคบใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อไป และฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิด พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

อนึ่ง ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นการรวมตัวขององค์กรสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมาย ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฏหมายประชาชน (iLaw)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net