Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐ ชี้ 'คาร์ม็อบ' ไม่ผิดกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้ารัฐยุติการดำเนินคดีและใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน

28 ก.ย. 2564 วันนี้ (28 ก.ย. 2564) เวลา 12.14 น. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) โพสต์จดหมายเปิดผนึกผ่านเพจเฟซบุ๊ก Human Rights Lawyers Association เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน พร้อมระบุว่ากิจกรรมชุมนุม 'คาร์ม็อบ' สมควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเนื้อความในจดหมายเปิดผนึก มีดังนี้

สืบเนื่องมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 และแม้จะจัดให้เลือกตั้งเสมือนเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนและสถานการณ์ทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกบัญญัติด้วยคณะรัฐประหารทำให้ประชาชนจำนวนมากเห็นว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและได้ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและขอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งในรูปแบบการชุมนุมและเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยวิธีการชุมนุมหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในระยะหลังอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คือ "คาร์ม็อบ" วิธีการชุมนุมลักษณะนี้เป็นความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความปลอดภัยของผู้ชุมนุมในภาวะที่มีโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่สามารถร่วมกิจกรรมขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้โดยที่ยังรักษาระยะห่างทางสังคม และเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจที่มีรถยนต์เข้ามาร่วมขบวนได้ง่าย ในขณะที่การเคลื่อนขบวนไปตามท้องถนนยังทำให้การบริหารจัดการได้สะดวก การขับเคลื่อนแบบสันติวิธีและข้อเสนอมีเหตุมีผลที่ชัดเจนคือ การขับไล่ผู้นำรัฐบาลที่ล้มเหลวในการบริหารวิกฤตโควิด-19 แต่เน้นความสนุกสนาน ความสวยงามของขบวน ทำให้ภาพที่ออกมากระตุ้นให้มีผู้สนใจเข้าร่วมและขยายรูปแบบไปยังหลายพื้้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมากขึ้น

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 กลุ่มแม่สอดค้านเผด็จการ ได้จัดกิจกรรม "คาร์ม็อบ" ขึ้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก มีผู้ร่วมงานประมาณ 200 กว่าคัน กิจกรรมผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี ต่อมา ปรากฎว่า น.ส.จิรารัตน์ มูลศิริ หนึ่งในผู้ร่วมขบวนคาร์ม็อบได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรแม่สอด ลงวันที่ 16 ส.ค. 2564 โดยถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนประกาศคำสั่งจังหวัดตากที่ 2551/2564 (ชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ณ ที่ใด และจัดกิจกรรมใดๆ อันเป็นการรวมคน) และกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร

เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) เป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประชาชนสามารถที่จะแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น ทั้งด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ ตลอดจนในรูปแบบอื่นๆ เช่น เสียงเพลง ภาพถ่าย ภาพกราฟฟิกหรือภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ เสรีภาพในการแสดงออกคือเครื่องมือสำคัญที่คนในชุมชนใช้ในการสื่อสารกับรัฐเพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงหรือป้องกันมิให้เกิดเหตุซ้ำ นอกจากนี้เสรีภาพการแสดงออกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้โลกเกิดการพัฒนาในทุกมิติทั้งในทางวิชาการและผลประโยชน์สาธารณะโดยทั่วไป

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่าการดำเนินกิจกรรมของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านกิจกรรม "คาร์ม็อบ" เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์สงบและปราศจากอาวุธ ถือเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี และรัฐมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว และการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นเป็นการเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Public Participation) หรือ Strategic lawsuits against public participation (SLAPPs) เป็นเครื่องมือในการคุกคามประชาชนที่ต้องการจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะซึ่งรูปแบบหนึ่งที่พบมากในปัจจุบันคือ "การคุกคามด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม"

ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนและยืนยันหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีของของประชาชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

1. ขอให้ยุติการดำเนินคดี เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Public Participation) หรือ Strategic lawsuits against public participation (SLAPPs) ต่อประชาชน ผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเด็นสาธารณะโดยทันที

2. กระบวนยุติธรรมต้องไม่เป็นเครื่องมือของความมั่นคงของรัฐ แต่ต้องเป็นไปเพื่อรับใช้ความยุติธรรมของประชาชนตามหลักการนิติรัฐ (Rule of Law) ไม่ใช่ “การปกครองด้วย (การสักแต่อ้าง) กฎหมาย” (rule by law) พนักงานสอบสวน พึงตระหนักอยู่เสมอว่ามีหน้าที่ในการสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา มิใช่มุ่งแต่จะหาความผิดเพียงอย่างเดียว และพนักงานอัยการควรใช้ดุลพินิจ (Opportunity Principle) ในการพิจารณาคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศโดยเฉพาะหากสังคมไม่ได้ประโยชน์อันใดจากการนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาฟ้องคดีต่อศาล พนักงานอัยการควรใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Policy)

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

28 กันยายน 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net