Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แนวคิดเสรีนิยม (liberalism) เป็นทั้งปรัชญาศีลธรรม (moral philosophy) และปรัชญาการเมือง (political philosophy) นักคิดเสรีนิยมได้ทำให้ไอเดียเรื่องสิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาค, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลายเป็นประเด็นปัญหาพื้นฐานในประเพณีการดีเบตทางศีลธรรม, การเมือง, นิติปรัชญาและวาทกรรมการบัญญัติกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สวัสดิการพื้นฐานต่างๆ กระทั่งปัญหาการเคารพและอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายทางทางคุณค่าเชิงศีลธรรม, ศาสนาและความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา ไปจนถึงประเด็นสิทธิเท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศ, คนชายขอบต่างๆ

ในแง่หนึ่งเสรีนิยมแชร์ความคิดกับปรัชญากรีกคลาสสิกที่เชื่อว่า “ความเป็นสัตผู้มีเหตุผล” (rational being) คือธรรมชาติสากลของมนุษย์, ความคิดของคริสต์ศาสนาที่ว่า “มนุษย์เสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้า” และความคิดเรื่อง “กฎหมายธรรมชาติ” (natural law) ของอไควนัสเป็นต้น[1]

แต่ความคิดเสรีนิยมไปไกลกว่าปรัชญากรีก เพราะที่เสรีนิยมยืนยันความเป็นสัตผู้มีเหตุผลของมนุษย์ไม่ใช่เพียงยืนยันว่า มนุษย์สามารถใช้เหตุผลสร้างความจริงทางอภิปรัชญา, ศีลธรรม และการเมืองอันเป็นความจริงทางโลก (secular) ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น แต่เสรีนิยมยังยืนยัน “เสรีภาพ” ในการใช้เหตุผลสร้างสร้างความจริง, ความรู้, กฎศีลธรรมและระบบการเมือง สังคม เศรษฐกิจแบบทางโลกด้วย ขณะเดียวกันก็ยืนยันด้วยว่า มนุษย์ไม่เพียงเสมอภาคกันในสายตาของพระเจ้าตามกรอบคิดแบบศาสนาเท่านั้น หากยังเสมอภาคกันในทางโลก หรือในทางสังคม การเมือง กฎหมาย และอื่นๆ ในกรอบคิดแบบทางโลกด้วย

เสรีนิยมมีหลายเฉด แต่ละเฉดต่างมีความคิดพื้นฐานเหลื่อมซ้อนกันและมีจุดเน้นต่างกัน เช่น เสรีนิยมคลาสสิก (classical liberalism) คือแนวเสรีนิยมแบบฮอบส์, ล็อค, รุสโซ, คานท์, มิลล์ เสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) คือแนวคิดที่นำไอเดียเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในเสรีนิยมคลาสสิกมาสนับสนุนระบบเศรษฐกิจตลาดเสรี และเสรีนิยมแนวใหม่ (new liberalism) หรือเสรีนิยมทางสังคม (social liberalism) คือแนวคิดที่แชร์ไอเดียบางอย่างกับสังคมนิยม (socialism) มากำหนดหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมือง และสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ของพลเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตย[2] 

แนวคิดของจอห์น รอลส์ (John Rawls) จัดอยู่ในเสรีนิยมทางสังคม เขาแชร์ความคิดพื้นฐานที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตผู้มีเหตุผลที่มีเสรีภาพและความเสมอภาค” กับคานท์ และแชร์ไอเดีย “เสรีภาพของพลเมือง” (civil liberty) กับมิลล์

ในประเด็นที่เชื่อมโยงกับแนวคิดโลกวิสัย (secularism) รอลส์อธิบายว่า ในฐานะที่เป็นแนวคิดทางปรัชญา เสรีนิยมได้ให้กำเนิดและพัฒนาข้อถกเถียงต่างๆ (arguments) ผ่านช่วงเวลาหลายศตวรรษที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสงครามศาสนา เพื่อสนับสนุนการเคารพและความอดกลั้นต่อความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา[3]  

แนวคิดโลกวิสัยแชร์ความคิดพื้นฐานเรื่องสิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาค, ความยุติธรรมกับเสรีนิยมที่ว่า “รัฐต้องเป็นกลางทางคุณค่าเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีส่วนบุคคล” เช่นที่นักคิดโลกวิสัยชาวฝรั่งเศส Jean Baubérot ยืนยันการแยกสถาบันศาสนาออกจากสถาบันของรัฐ และยืนยันว่าสถาบันศาสนาต่างๆ ต้องไม่มีอิทธิพลครอบงำในพื้นที่ทางการเมือง, ยืนยันเสรีภาพทางความคิดเห็น, มโนธรรม, และเสรีภาพทางศาสนาของทุกคน, ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเปลี่ยนความเชื่อและประกาศความเชื่อของตน ภายในขอบเขตของการเคารพระเบียบสาธารณะ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น รัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อทุกๆ คน บนพื้นฐานของโลกทัศน์ทางศาสนาหรือไม่มีศาสนา ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติจากรัฐบนหลักการพื้นฐานที่เท่าเทียม[4]

ในประเด็น “ความเสมอภาคทางศาสนา” หรือหลักการที่รัฐต้อง “ไม่เลือกปฏิบัติ” ด้วยเหตุผลทางศาสนาและความเชื่อที่ไม่มีศาสนา นักคิดโลกวิสัยแชร์ไอเดียหลักความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมตามที่รอลส์เขียนไว้ในหนังสือ “A Theory of Justice” ว่า สถานะแรกเริ่งของผู้มาร่วมตกลงกำหนดหลักความยุติธรรมสำหรับใช้ยึดถือปฏิบัติร่วมกันในทางสังคมและการเมือง คือสถานะที่ทุกคนอยู่ภายใต้ “ม่านแห่งความไม่รู้” (veil of ignorance) เกี่ยวกับสถานภาพทางสังคม ความสามารถทางปัญญา ความโน้มเอี้ยงทางจิตวิทยา สถานะทางศาสนา ฯลฯ รู้เพียงว่าตนเองและทุกคนเป็น “คนเท่ากัน” ในฐานะเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลที่ต่างรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่แต่ละคนควรได้รับ

ไอเดียดังกล่าวของรอลส์ถูกใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนแนวคิดโลกวิสัยในแง่ที่ว่า เมื่อพลเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะร่วมแสวงหาข้อตกลงเกี่ยวกับความยุติธรรมสาธารณะ ที่เกี่ยวกับสิทธิด้านต่างๆ การบัญญัติกฎหมาย และนโยบายสาธารณะต่างๆ จะถกเถียงกันบนจุดยืนว่าฉันหรือคุณเป็นฮินดู, พุทธ, คริสต์, อิสลาม ฯลฯ ย่อมไม่มีทางจะหาข้อตกลงร่วมกันที่สามารถอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลว่าข้อตกลงนั้นๆ จะมี “ความเป็นธรรม” (fairness) กับคนทุกศาสนา และคนไม่มีศาสนาได้จริง[5]

ความเป็นธรรมในประเด็นความแตกต่างทางความเชื่อแบบศาสนาและความเชื่อแบบไม่มีศาสนา ยังเกี่ยวข้องกับความคิดพื้นฐานของรอลส์ที่ว่า บุคคลผู้มีเหตุผลคือผู้ที่สามารถใช้เหตุผลของตนเองรู้ได้และตัดสินได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับเขา หรืออะไรคือความเชื่อทางศาสนา, ปรัชญาที่เขาควรเลือกเป็นเป้าหมายของชีวิตตนเอง เมื่อสามารถใช้เหตุผลตัดสินเกี่ยวกับสิ่งที่ดีสำหรับตนเองได้ แต่ละคนย่อมต้องใช้เจตจำนงอิสระในการเลือกสิ่งที่ดีตามความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อแบบไม่มีศาสนาใดๆ ก็ได้ที่เขาเห็นสมควร

ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าทุกคนเกิดมาต้องเป็นฮินดู, พุทธ, คริสต์, อิสลาม ฯลฯ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เขาจะเป็นหรือไม่เป็นอะไรขึ้นอยูกับการเลือกของเขาเอง และรัฐต้องสร้างหลักประกันเสรีภาพที่เท่าเทียมให้แต่ละคนได้เลือกเรียนรู้และเลือกความเชื่อที่เขาเห็นว่าดีที่สุดสำหรับชีวิตเอง โดยครอบครัว และสังคมจะต้องเคารพเสรีภาพดังกล่าวนี้

คำถามต่อมาคือ ถ้าใช้จุดยืนว่าเราเป็นพุทธ, คริสต์ ฯลฯ มาถกเถียงเรื่องสาธารณะแล้วเกิดปัญหา จะมีทางออกอย่างไร?

ในหนังสือ “เสรีนิยมทางการเมือง” (Political Liberalism) รอลส์นำหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองมาปรับใช้กับการแก้ปัญหา "ศาสนากับประเด็นสาธารณะ" เขาเสนอว่าในการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะ เราควรใช้ "เหตุผลสาธารณะ" (public reason) หมายถึง เหตุผลที่สอดคล้อง/ไปด้วยกันได้กับหลักความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยอันเป็นเรื่องของ "การต่างตอบแทนที่เป็นธรรม" ระหว่างพลเมืองเสรีและเสมอภาค

ดังนั้น หลักคำสอนศาสนา, ความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาใดๆ จะนำมาใช้อภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะได้อย่างสมเหตุสมผล (reasonable) จะต้องสอดคล้องและ/หรือตีความให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของเหตุผลสาธารณะที่ยึดโยงกับคอนเซ็ปต์ความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองและคอนเซ็ปต์ของ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) เป็นต้น

ตัวอย่างที่ช่วยอธิบายไอเดียของรอลส์ เช่น จะอ้างเรื่อง "การทำแท้งขัดกับคำสอนในไบเบิล" มาใช้เป็น "เหตุผลสาธารณะ" ในการห้ามออกกฎหมายรับรองสิทธิทำแท้งย่อมไม่สมเหตุสมผล เพราะข้ออ้างเช่นนั้นมีความหมายเป็น "ความเชื่อส่วนบุคคล" ที่ขัดกับหลักการต่างตอบแทนที่เป็นธรรมระหว่างพลเมืองเสรีและเท่าเทียม มันจึงไม่มีคุณสมบัติเป็น "เหตุผลสาธารณะ" ได้

แต่ถ้าอ้าง "พระเจ้าสร้างเรามาให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน" เพื่อสนับสนุนสิทธิเท่าเทียมของคนทุกสีผิว ทุกเพศ ฯลฯ ย่อมเป็นเหตุผลสาธารณะได้ เพราะมันสอดคล้อง/ไปกันได้กับหลักการต่างตอบแทนที่เป็นธรรมระหว่างความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคของทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนศาสนาใดๆ หรือไม่มีศาสนาก็ตาม การสอดคล้อง/ไปกันได้ระหว่างความเชื่อทางศาสนากับเหตุผลสาธารณะในความหมายดังกล่าวนี้ รอลส์เรียกว่า “ฉันทามติเหลื่อมซ้อน” (overlapping consensus)

มีบางคนแย้งว่า การนำแนวคิดเสรีนิยมและโลกวิสัยมาโต้แย้งแนวคิดของท่าน ป.อ. ปยุตฺโตที่ปฏิเสธการแยกศาสนากับรัฐ ย่อมเป็นเรื่อง “ผิดฝาผิดตัว” เพราะแนวคิดเสรีนิยมและโลกวิสัยเกิดขึ้นและมีพัฒนาการมาใน “บริบท” ของประวัติศาสตร์ศาสนากับรัฐและการเมืองในยุโรปหรือตะวันตก การนำมาถกเถียง หรือเสนอทางออกให้กับสังคมไทย เท่ากับเป็นการยืนยันว่าเสรีนิยมและโลกวิสัยเป็น “ความจริงสากล” อะไรแบบนั้น

ผมอยากพูดสั้นๆ ในที่นี้ว่า ข้อโต้แย้งเรื่อง “บริบทตะวันตก-บริบทไทย” เป็นข้อโต้แย้งเดียวกับที่ท่าน ป.อ.ใช้ปฏิเสธการแยกศาสนากับรัฐ ส่วนที่ว่าการนำแนวคิดเสรีนิยมและโลกวิสัยมากถเถียงกับแนวคิดท่าน ป.อ. และเสนอทางออก เท่ากับยืนยันว่าแนวคิดดังกล่าวเป็น “ความจริงสากล” นี่ย่อมเป็นการพูด “คนละประเด็น” เพราะปัญหาว่าอะไรเป็นสากลหรือสัมพัทธ์ในเรื่องความจริง, ศีลธรรม, สิทธิมนุษยชน, วัฒนธรรมเป็นประเด็นถกเถียงที่อยู่นอกเหนือจากข้อเสนอของผม

ที่สำคัญ ถ้าอ้างเรื่องความแตกต่างของบริบททางประวัติศาสตร์, ศาสนา, วัฒนธรรม หรือความเป็นสากลไม่สากลเป็นประเด็นหลัก เราคงเสนอเสรีประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชนเป็นต้นให้กับสังคมไทยไม่ได้

คำถามพื้นฐานคือ เมื่อชาวเสรีนิยม, โลกวิสัยในโลกตะวันตกเคลื่อนไหวบนความต้องการเสรีประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันเสรีภาพทางการเมือง, เสรีภาพทางศาสนา และความอดกลั้น, ความเสมอภาค/ความเป็นธรรมระหว่างความแตกต่างหลากหลายของความเชื่อ, คุณค่าแบบศาสนาและแบบไม่มีศาสนา พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอำนาจเทวสิทธิ์ของศานจักร, อำนาจเทวสิทธิ์ของระบบกษัตริย์ใช่หรือไม่

แน่นอน รัฐฮินดู, รัฐพุทธและรัฐที่อิงความเชื่อศาสนาอื่นๆ ในยุคสังคมจารีต แม้จะมีหลักความเชื่อและบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่างจากรัฐคริสเตียนในยุโรป แต่มันเป็น “เผด็จการ” และกดขี่เหมือนกันหรือไม่

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามหลอกว่า การปกครองโดยธรรมในประวัติศาสตร์รัฐไทยมีอารยะเหนือกว่ารัฐศาสนาแบบอื่นๆ และหลัง 2475 ถึงปัจจุบันก็ควรรักษาอุดมการณ์และโครงสร้างของศาสนจักรของรัฐที่ขึ้นตรงต่ออำนาจของกษัตริย์แบบที่สร้างขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้คงอยู่ตลอดไป

คำถามก็คือ ในบ้านเรา ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนาได้จริง ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจแบบไหน? คำถามนี้ทุกคนต่างรู้ชัดแจ้งอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีจุดยืนทางการเมืองแบบก้าวหน้า

สำหรับผม การเผชิญหน้ากับ “พุทธราชาชาตินิยม” คือพุทธแบบที่ “ในเชิง ideology” ยึดชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นอุดมการณ์สูงสุด และ “ในเชิงระบบโครงสร้าง” มีศาสนจักรของรัฐที่ขึ้นตรงต่ออำนาจสถาบันกษัตริย์ อันเป็นศาสนจักรทำหน้าที่สนับสนุน “อำนาจนำทางการเมืองและอำนาจนำทางวัฒนธรรม” ของสถาบันกษัตริย์ และเป็นศาสนจักรที่มีอำนาจทางกฎหมายขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองของนักบวช อีกทั้งรัฐมีการบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมทางศาสนาแบบพุทธราชาชาตินิยมในโรงเรียน ซึ่งขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาของพลเมือง เป็นต้น

เพื่อเสนอทางออกให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตย ที่ให้หลักประกันเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนาได้จริง ย่อมไม่ใช่เรื่องผิดฝาผิดตัวที่เราจะนำแนวคิดเสรีนิยมและโลกวิสัยมาตั้งคำถามต่ออำนาจพุทธราชาชาตินิยมดังกล่าว

แต่เป็นเรื่องที่มีเหตุผล และดีเบตกันได้ ควรดีเบตกันให้มากขึ้นๆ

 

 อ้างอิง

[1] George Crowder, Theory of Multiculturalism: An Introduction. (Polity Press, 2013), pp.18-19.

[2] ดูการอภิปรายแนวคิดเสรีนิยมเฉดต่างๆ ใน Michael Freeden, Liberalism: A very Short Introduction, (Oxford University Press, 2015).

[3] John Rawls, Political Liberalism, (Columbia University Press), p. 303

[4] Andrew Copson, Secularism: A Very Short Introduction, (Oxford University Press, 2019), p. 2.

[5] ดูการอภิปรายประเด็นแนวคิดโลกวิสัยแชร์ไอเดีย “ความเป็นธรรม” (fairness) กับรอลส์โดยละเอียดใน Copson, Ibid, pp. 50-55.

ที่มาภาพ https://www.thenation.com/article/archive/john-rawls-liberal-philosophy-review/ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net